xs
xsm
sm
md
lg

ปักหมุดเช็กจุดชาร์จไฟ ปี2565 ปูพรมทะลุ1,000 แห่งทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กระแสการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังเป็นที่กล่าวขานถึงอย่างมาก หลังการเปิดตัวของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ จากหลากหลายค่ายรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นค่ายจากฝั่งยุโรป, ญี่ปุ่น หรือจีน แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องถูกถามควบคู่กันอยู่เสมอคือ สถานีชาร์จไฟฟ้า หรือบางครั้งจะถูกเรียก รวมๆ ว่า โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อันหมายรวมถึง การมีพลังงานไฟฟ้าสำรองและจำนวนจุดชาร์จไฟฟ้าที่มากเพียงพอ

ทีมงาน เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง รวบรวมข้อมูลล่าสุดของสถานีชาร์จไฟฟ้า (ข้อมูล ณ วันที่15 ธันวาคม 2564) พร้อมแผนงานในอนาคตของหน่วยงาน, องค์กร และบริษัทฯ ต่างๆ ที่มีการประกาศในการสร้างและขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทย


ค่ายรถเน้นติดตั้งในโชว์รูม

ค่ายรถยนต์ที่มีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ล่าสุดมีจำนวน 13 แบรนด์ ได้แก่ อาวดี้ , บีเอ็มดับเบิลยู, เกรท วอลล์ มอเตอร์, ฮุนได, จากัวร์, เกีย, เลกซัส, เอ็มจี, มินิ, นิสสัน, ปอร์เช่, วอลโว่ และ เมอร์เซเดส-เบนซ์ (กำลังจะจำหน่ายในปี 2565) ขณะที่ยังมีอีก 2 ค่ายที่เป็นแบรนด์ใหม่และรถขนาดเล็ก ได้แก่ ฟอมม์ และป็อกโก้


ทุกค่ายที่กล่าวมาต่างมีแผนการขยายสถานีชาร์จที่โชว์รูมของตัวเองก่อน โดยจะเน้นที่ระบบการชาร์จแบบเร็วเป็นหลัก ซึ่งแบรนด์ที่ดูจริงจังที่สุดในการติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าดังกล่าวคือ เอ็มจี ที่เริ่มเห็นหัวชาร์จไฟฟ้าตามโชว์รูมหลากหลายจุดมากที่สุด ส่วนจำนวนล่าสุดระบุไว้ที่พร้อมใช้งาน 120 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมาย 500 แห่งภายในปีหน้า


ขณะที่อีกหนึ่งแบรนด์ที่กลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่อย่างเกรท วอลล์ มอเตอร์ มีการเปิดตัวสถานีชาร์จไฟฟ้าแห่งแรกที่ใจกลางสยามสแควร์ เพื่อรองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ORA Good Cat ในช่วงแรกและจะเปิดชาร์จทุกแบรนด์ในลำดับต่อไป โดยมีเป้าหมายสร้างจุดชาร์จไฟฟ้า 100 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2566


การไฟฟ้านครหลวง (MEA) 10 จุด

หน่วยงานหลักของการจ่ายกระแสไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่บุกเบิกการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าโดยใช้ชื่อว่า MEA EV ซึ่งจะทำงานผ่านแอปพลิเคชัน MEA EV

ปัจจุบันสถานีชาร์จไฟฟ้า MEA EV มีอยู่ 10 แห่ง (จากข้อมูลบนเว็ปไซต์ MEA.co.th) ดังต่อไปนี้สำนักงานใหญ่ เพลินจิต, กฟน. เขตวัดเลียบ, กฟน. เขตสามเสน, กฟน. เขตบางเขน, กฟน. เขตบางขุนเทียน, กฟน. เขตลาดกระบัง, กฟน. เขตบางใหญ่, กฟน. เขตสมุทรปราการ, กฟน. เขตราษฎร์บูรณะ และ กฟน. ที่ทำการบางพูด


ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่สนใจใช้บริการออกแบบและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ตามมาตรฐานความปลอดภัยของ MEA สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า โทร. 0 2476 5666-7 ระหว่างเวลา 07.30-15.30 น. ในวันเวลาทำการ หรือ MEA Call Center 1130


การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(EGAT) 13 จุด

การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) หรือ กฟผ. ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศไทย สร้างสถานีชาร์จในชื่อ EleX by EGAT โดยมีแอปพลิเคชัน EleXA เป็นตัวเชื่อมสำหรับการใช้งาน ปัจจุบันพร้อมใช้งานอยู่ 13 แห่ง และคาดว่าจะขยายให้ครบ 23 แห่งได้ ภายในปีนี้

สำหรับสถานี EleX by EGATแบ่งเป็นสถานีที่อยู่ในปั้มน้ำมัน PT จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สาขา PT ปากช่อง 3 จ.นครราชสีมา สาขา PT พยุหะคีรี 2 จ.นครสวรรค์ สาขา PT เขาย้อย จ.เพชรบุรี สาขา PT บ้านใต้ จ.กาญจนบุรี และสาขา PT บางพระ จ.ชลบุรี


ส่วนสถานีอื่นๆ จะอยู่ภายในเขื่อน,โรงไฟฟ้าและศูนย์การเรียนรู้ของ กฟผ. จำนวน 8แห่ง ซึ่งเปิดให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ได้แก่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา โรงไฟฟ้าวังน้อยจ.พระนครศรีอยุธยา เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี

ทั้งนี้ กฟผ. ตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จให้ครบ 48 สถานี บนเส้นทางทุก ๆ 200 – 250 กิโลเมตร และขยายให้ครบ 120 สถานี ภายในปี 2565 โดยจะเลือกพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานและตรงตามความต้องการของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด


การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) 73 จุด

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือ กฟภ. เปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าในชื่อ PEA VOLTA ซึ่งล่าสุด มีการขยายจุดเพิ่มขึ้นใหม่รวม 9 แห่ง ทำให้ ในปี 2564 PEA VOLTA มีสถานีชาร์จไฟฟ้าจำนวน 73 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ

สำหรับ 9 แห่งล่าสุดจะอยู่ในปั้มบางจาก ได้แก่ บางจาก ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่, บางจาก แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่, บางจาก ดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่, บางจาก ห้างฉัตร จังหวัดลำปาง, บางจาก ท่าม่วง (ติดโฮมโปร กาญจนบุรี) จังหวัดกาญจนบุรี, บางจาก เมืองนครปฐม (เพชรเกษม กม. 61 ขาเข้า) จังหวัดนครปฐม, บางจาก นาโคก (ขาออก) จังหวัดสมุทรสาคร, บางจาก สามพราน จังหวัดนครปฐมและ บางจาก แกลง จังหวัดระยอง

ทั้งนี้ภายในปี 2566 กฟภ. มีเป้าหมายเปิดให้บริการ PEA VOLTA เพิ่มเป็นจำนวนทั้งสิ้น 263 สถานี กว่า 1,000 หัวจ่าย ตามเส้นทางหลัก เส้นทางรอง สถานที่ราชการ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ รองรับการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล รถยนต์สาธารณะ และรถบรรทุกขนาดใหญ่ รวมถึงการพัฒนาระบบโครงข่ายให้มั่นคงยิ่งขึ้น

ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้บริการ PEA VOLTA Charging Station ได้ผ่านแอปพลิเคชัน PEA VOLTA ประกอบด้วยฟีเจอร์ต่างๆ เช่น ค้นหาสถานีชาร์จ นำทาง สั่งเริ่ม/หยุดการชาร์จ ชำระค่าบริการ และดูประวัติการใช้งานได้อย่างง่ายดาย พร้อมด้วยการดูแลการให้บริการ 24 ชั่วโมง


บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) 400 จุด

ทำตลาดสถานีชาร์จไฟฟ้าในชื่อEA Anywhere ปัจจุบัน มีสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้ากว่า 400 สถานี รวมทั้งสิ้นกว่า 1,600 หัวชาร์จ ครอบคลุมทั่วประเทศ ถือว่าเป็นผู้นำตลาดสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทย ผู้ใช้บริการจะต้องใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน “EA Anywhere” ทั้ง จอง จ่าย และชาร์จในคราวเดียวกันโดยมีการติดตั้งระบบชาร์จหลายรูปแบบตั้งแต่ธรรมดา หรือ AC Charger ไปจนถึงระบบชาร์จเร็วและทันสมัยที่สุด หรือ DC Super-Fast Charge ที่ใช้เวลาเพียง 15-20 นาที

สำหรับเป้าหมายการขยายสถานีชาร์จตั้งไว้ที่ 1,000 แห่ง ภายในปีนี้ แต่ยังไม่มีการแถลงข่าวระบุว่า สามารถทำสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้หรือไม่ โดยมีทั้งลงทุนเองทั้งหมดและร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี และปั้มน้ำมัน คาลเท็กซ์ ในการเป็นเครือข่ายจุดติดต้ังสถานีชาร์จไฟฟ้า


กลุ่มบริษัท ปตท. 30 จุด

อาจจะดูสับสนและซับซ้อน เนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่ จึงมีการแบ่งการบริหารผ่านบริษัทในเครือ โดยเริ่มต้นที่การขยายจุดชาร์จไฟฟ้าที่ปั้มน้ำมันจะให้ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ดำเนินการ ปัจจุบันมีการติดตั้งแล้ว 30 สาขา และได้มีการจัดทำ Application ‘EV Station’ เพื่อรองรับการใช้งานที่สะดวก

โดยมีแผนจะเปิดประมูลจัดหาอุปกรณ์ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในปีนี้เพิ่มเป็น 100 แห่งทั่วประเทศเน้นหัวเมืองหลักในแต่ละจังหวัด ในรูปแบบชาร์จเร่งด่วน (Quick Charge) ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จประมาณ 20-25 นาทีต่อคัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 ล้านบาทต่อสาขา และจะขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 300 แห่งภายในปี 2565 จาก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคอย่างครบวงจร


อีกด้านของการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ไม่ใช่พื้นที่ปั้มน้ำมัน กลุ่มปตท. จะดำเนินการโดยบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) ล่าสุดเปิดตัวสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า ออน-ไอออน แห่งที่ 3 ณ อาคารจอดรถ 2 ชั้น 1 ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (Energy Complex; EnCo) ต่อจากศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) และ True Digital Park สุขุมวิท 101 โดยมีแผนขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าอีกกว่า 1,000 เครื่อง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ภายในปี 2565


สำหรับพื้นที่ที่ อรุณ พลัส ตั้งใจจะเปิดได้แก่ พื้นที่ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงานเพื่อรองรับรถยนต์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV : Plug-in Hybrid) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV: Battery Electric Vehicle) ได้ทุกรุ่น ทุกแบรนด์ ที่มีหัวชาร์จแบบ Type 2 สามารถจองและควบคุมการใช้งานผ่าน on-ion Mobile Application ที่รองรับทั้งระบบ Android และ iOS


บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

บางจากฯ วางเป้าหมายเป็นกลุ่มธุรกิจผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขวิกฤตโลกร้อน เดินหน้าวางแผนเพิ่มสัดส่วนธุรกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว หนึ่งในแผนงานของบางจากฯ คือการติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในสถานีบริการน้ำมันบางจาก โดยเป็นการจับมือกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์หรือหน่วยงานของรัฐ ให้ใช้พื้นที่ของสถานีบริการติดตั้งชุดชาร์จไฟฟ้า ตั้งเป้าที่ 100 แห่งภายในปี 2565

ทั้งนี้ล่าสุดได้ร่วมมือกับค่ายรถยนต์ เอ็มจี ติดตั้งชุดชาร์จไฟฟ้าพร้อมใช้งานแล้ว เป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 แห่ง และจะขยายเป็น 50 แห่งภายในสิ้นปีนี้


ถึงบรรทัดนี้พอจะเริ่มมองเห็นทิศทางกของการขยายสถานีที่ชัดเจนมากขึ้น โดยภาพรวมแล้วปัจจุบัน แม้ว่าจะมีเครือข่ายชาร์จไฟฟ้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว แต่จะยังคงไม่สะดวกสำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ากรณีต้องการเดินทางไกล โดยเฉพาะแต่ละจุดชาร์จแต่ยี่ห้อจะใช้แอปพลิเคชันของตัวเอง ฉะนั้น ในช่วงเริ่มต้นแบบนี้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจึงควรชาร์จไฟที่บ้านเป็นหลัก หากต้องเดินทางไกลจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้า หรือใช้รถยนต์ปกติไปก่อน

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า คือ ปัจจุบันกฎระเบียบยังไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการทั่วไปจัดเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ ยกเว้นการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ดังนั้น หากภาครัฐต้องการให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเร่งออกกฎหมายเพื่อให้สัมพันธ์กับนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเชื่อมโยงการส่งเสริมทั้งอุตสาหกรรมและมีมาตรการทางด้านภาษีออกมาสนับสนุนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น