ในโลกยานยนต์ จุดเริ่มต้นของซับแบรนด์ที่ถูกสื่อให้เห็นถึงจุดเด่นด้านความสปอร์ตและความแรงของแต่ละแบรนด์ไม่แตกต่างกัน เพราะทุกอย่างล้วนถือกำเนิดมาจากสนามแข่งเหมือนกัน และแบรนด์เหล่านั้นนำมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ การเข้าถึงความต้องการของลูกค้าที่มีเท้าขวาหนักเป็นพิเศษ เพียงแต่ Ralliart ของค่ายมิตซูบิชิอาจจะแตกต่างจากใครเพื่อน เพราะพวกเขาถือกำเนิดมาจากสนามแข่งทางฝุ่น ไม่ใช่ทางเรียบเหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ที่มักจะมาจากทางเรียบ
ช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 ถือว่าเป็นยุคเริ่มต้นของมอเตอร์สปอร์ตสมัยใหม่ และการเชื่อมโยงของผู้ผลิตรถยนต์กับการแข่งประเภทนี้มีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกลุ่มบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นนั้นถือว่า 4 ค่ายหลักมักจะมีซับแบรนด์คู่บุญที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีในสนามแข่งมาใช้กับรถยนต์ที่จำหน่ายในตลาด ซึ่งโตโยต้า มี TRD (Toyota Racing Development) ฮอนด้า มี Mugen Nissan มี Nismo และมิตซูบิชิ มี Ralliart หน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่ในการสนับสนุนงานด้านมอเตอร์สปอร์ตและนำองค์ความรู้ที่ได้จากสนามแข่งมาต่อยอดเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าและเชื่อม 2 โลกเข้าด้วยกัน
แน่นอนว่าเมื่อมองจาก 4 ค่ายนี้ ดูเหมือนว่าจะมีแค่ มิตซูบิชิเท่านั้นที่เอาจริงเอาจังในการนำซับแบรนด์ด้านความแรงของตัวเองเข้ามาสร้างความคุ้นเคยกับคนไทย และจะว่าไปแล้ว Ralliart เป็นที่รู้จักของคนไทยมายาวนาน แม้ว่าจะมีช่วงหนึ่งที่ขาดหายไป แต่ทว่าในตอนนี้ชื่อของ Ralliart ได้กลับมาสู่ตลาดบ้านเราอีกครั้ง
จุดกำเนิดจากสนามแข่งแรลลี่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 มอเตอร์สปอร์ตที่ยุโรปเบ่งบาน และการใช้ความสำเร็จจากสนามแข่งมาเป็นจุดแข็งในการสร้างความได้เปรียบเชิงการตลาดเพื่อผลักดันยอดขาย นั้นถือเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และทำให้แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นต่างบินข้ามน้ำเข้ามาสร้างชื่อและมองหาความท้าทายจากสนามแข่งเหล่านี้
มิตซูบิชิอาจจะแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ เมื่อพวกเขาเลือกที่จะโฟกัสการแข่งขันทางฝุ่นอย่างแรลลี่ ไม่ว่าจะเป็น Sprint Rally หรือ Rally-Cross และมี 2 รายการใหญ่เป็นสิ่งที่พวกเขาเน้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะของตัวรถ นั่นคือ WRC หรือ World Rally Championship และ Paris-Dakar ซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ Dakar Rally
การเข้ามาของมิตซูบิชิ ถูกทำผ่านทางทีม Andrew Cowan Motorsports (ACMS) ภายใต้ชื่อของ Ralliart Europe ซึ่งทีมนี้ได้รับการดูแลโดย Andrew Cowan ซึ่งเป็นนักแข่งรถที่ใช้รถแข่งของมิตซูบิชิในการแข่งแรลลี่ที่ยุโรปจนได้รับชัยชนะ และเพื่อนร่วมทีมของเขา Doug Stewart ซึ่งมิตซูบิชิได้มอบหมายให้ทั้งคู่ก่อตั้งทีมงานเพื่อดูแลและสนับสนุนการทำงานของมิตซูบิชิในโลกมอเตอร์สปอร์ตที่เกิดขึ้นในฝั่งยุโรป และนั่นได้นำไปสู่การก่อตั้ง Ralliart Europe เมื่อปี 1984
ความร่วมมือนี้ได้นำไปสู่การเข้าร่วมการแข่งขัน WRC ครั้งแรกในปี 1989 ด้วยตัวแข่ง Galant VR-4 ก่อนที่จะมาสร้างชื่ออย่างสุดๆ จนครองศักราชทางฝุ่นคู่กับซูบารุ ในการแข่งขันรายการนี้คือ การนำตัวแข่งรุ่น Lancer Evolution มาใช้ครั้งแรกปี 1993 และประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์โลกครั้งแรกปี 1996 ด้วยฝีมือของ Tommy Makinen พร้อมกับคว้าแชมป์โลกถึง 4 สมัยติดต่อกันคือ 1996-1999
ขณะที่ในรายการ Paris-Dakar เป็นหน้าที่ของ Pajero และ มิตซูบิชิเข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้มานานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 และสามารถคว้าแชมป์มาครองได้ถึง 12 สมัย อีกทั้งยังมีส่วนในการผลักดันนักแข่งชาวไทยเข้าไปสัมผัสประสบการณ์การแข่งสุดโหดด้วย ทั้งพรสวรรค์ ศิริวัฒนกุลที่ลงแข่งระหว่างปี 1992-1995 ส่วนอีกคนคือ มานะ พรศิริเชิด ที่ลงแข่งในปี 2009 ก่อนที่ชื่อของ Ralliart จะหายไปจากสนามแข่งเพราะการถอนตัวของมิตซูบิชิอย่างเป็นทางการในปี 2010
สนามแข่งสู่การสร้างแบรนด์แก่งความสปอร์ต
แน่นอนในแง่ของวิศวกรรมนั้น การเข้าร่วมมอเตอร์สปอร์ตคือ การพิสูจน์ความสามารถ และประสิทธิภาพของรถยนต์ที่แบรนด์เหล่านั้นพัฒนาขึ้นมาว่าเจ๋งขนาดไหนเมื่อต้องอยู่บนสังเวียนที่ต้องใช้องค์ความรู้ด้านยานยนต์ระดับสูงสุด แต่ในทางกลับกัน ชัยชนะเหล่านี้ยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ในการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ และงานด้านการตลาดเพื่อนำไปสู่ยอดขายในที่สุดทั้งรถยนต์รุ่นที่ถูกนำไปใช้ในการแข่งขัน และอุปกรณ์ตกแต่ง
ตรงนี้คือ สิ่งได้รับจากการใช้มอเตอร์สปอร์ตเป็นตัวนำ และ Ralliart ได้นำสิ่งที่เรียกว่า ‘Mitsubishi-ness Driving’ ซึ่งเป็นประสบการณ์ในการขับขี่ที่แตกต่างและมีรูปแบบเฉพาะตัวจากรถยนต์ที่ถูกปรับแต่งด้วยแผนก Ralliart มาเป็นสิ่งดึงความสนใจ
ตลอดเวลาของการที่มีส่วนร่วมอยู่ในตลาด เราได้เห็นผลผลิตที่เป็น Homologation Rule จากการแข่งขันแรลลี่ระดับโลกถูกผลิตออกขายในท้องตลาดตามข้อบังคับของการแข่งขัน ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ สายพันธุ์ Evolution ของทั้ง Lancer และ Pajero รวมถึงชุดแต่งที่ผลิตออกขายเพื่อรองรับกับรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่ขายอยู่ในตลาดของมิตซูบิชิทั้งญี่ปุ่น และตลาดโลก แน่นอนว่า สิ่งนี้ได้ทำให้เกิดกลุ่มคนและแฟนพันธุ์แท้ของมิตซูบิชิขึ้นมาทั่วโลก
กลับมาอีกครั้งหลังจากหายไปกว่า 10 ปี
หลังจากถอนตัวออกจากการแข่งขันระดับโลก ประกอบกับสถานการณ์ด้านยอดขายรถยนต์ของมิตซูบิชิ ไม่ค่อยดีเท่าไร ส่งผลให้ชื่อของ Ralliart หายหน้าจากตลาดไปด้วย อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางปี 2021 เราได้ยินข่าวดี และมิตซูบิชิวางแผนในการนำชื่อ Ralliart กลับมาสู่ตลาดอีกครั้งเพื่อสนับสนุนด้านการทำตลาดรถยนต์ และการกระตุ้นเหล่าแฟนๆ ให้เตรียมพร้อมกับการสัมผัส ‘Mitsubishi-ness Driving’ กันอีกครั้ง
‘สำหรับลูกค้าของเราที่มีความต้องการสัมผัสถึงความเป็น ‘Mitsubishi-ness Driving’ ของเรา แน่นอนว่าเราจะทำการเปิดตัวอุปกรณ์ตกแต่งออกมารองรับกับรถยนต์ที่จำหน่ายอยู่ในตลาด เช่นเดียวกับการกลับมาเข้าร่วมการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง’ Takao Kato CEO ของ Mitsubishi Motors กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวในครั้งนั้น
ส่วนหนึ่งมีการให้ความเห็นว่าเป็นเพราะ DNA ของแบรนด์ในด้านมอเตอร์สปอร์ตที่หลับใหลมานานได้ถูกปลุกขึ้นหลังจากคู่แข่งสำคัญอย่างโตโยต้า ประสบความสำเร็จในสนามแข่งแรลลี่โลก WRC เมื่อปี 2018 และทำให้มิตซูบิชิและซูบารุซึ่งเป็นอีก 2 ชื่อที่ประสบความสำเร็จอย่างมากใน WRC เกิดความฮึกเหิมในการกลับมาสู่โลกแห่งการแข่งขันอีกครั้ง และก็เช่นเดียวกัน พวกเขานำชื่อ GR เข้ามาสู่ตลาดด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ในเมื่อคุณมี Heritage หรือมรดกแห่งความสำเร็จในอดีตที่ถือว่ามีความเป็นมายาวนาน แล้วทำไมถึงจะไม่นำสิ่งเหล่านี้มาต่อยอดในตลาดรถยนต์ละ ? นี่คือเครื่องหมายคำถามที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าเป็นเหตุผลหลักในการทำให้ชื่อของ Ralliart กลับมาอีกครั้ง ไม่เฉพาะในสนามแข่งเท่านั้น แต่จะต้องรวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่วางขายอยู่ในตลาด
ในงาน Motor Expo 2021 ที่บ้านเรามิตซูบิชิได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่พวกเขาวางแผนเอาไว้กับการเปิดตัวรถยนต์ของพวกเขาอย่าง Pajero Sport และ Triton โดยที่มีคำว่า Ralliart แปะท้ายเอาไว้ด้วย
นี่คือจุดเริ่มต้นของการกลับมา แต่อย่าเพิ่งหวังไกลถึงขนาดที่ชื่อของ Lancer Evolution ที่ถือเป็นตัวแรงขวัญใจคนรักรถยุค 90 จะกลับมาสู่ตลาดอีกครั้งหลังจากที่ชื่อนี้สิ้นสุดในการทำตลาดเพียงแค่เจนเนอเรชันที่ 10 เท่านั้น…งานนี้คงต้องรอดูกันต่อไป
ดีเอ็นเอของความเป็นแชมป์ส่งต่อมารุ่นปัจจุบัน "ปาเจโร่ สปอร์ต แรลลี่อาร์ต"- "ไทรทัน แรลลี่อาร์ต"
เออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้เรียนรู้3 คุณค่าสำคัญจากชัยชนะมากมายจากการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตรายการสุดหฤโหดทั้งการแข่งปารีส-ดาการ์ แรลลี่ และรายการแข่งขันแรลลี่ชิงแชมป์โลกโดยหลังการเอาชนะเกมการแข่งขันสุดโหดมาได้นั้น เราได้เรียนรู้ว่ารถยนต์ของเราต้องมี‘สมรรถนะชั้นยอด’‘ความแข็งแกร่งทนทาน’ และ‘ความสะดวกสบาย’ จึงสามารถคว้าชัยชนะมาครองได้อย่างมั่นใจซึ่งดีเอ็นเอของความเป็นแชมป์จากการแข่งขันทั้งหมดนี้ฝังอยู่ในรถยนต์รุ่นปัจจุบันของเราและแรลลี่อาร์ทถือเป็นแบรนด์ที่ดีที่สุดที่สามารถสะท้อนดีเอ็นเอและแรงบันดาลใจอันแรงกล้าของมิตซูบิชิมอเตอร์ส ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม” นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์แรลลี่อาร์ทที่กลับมาใหม่อีกครั้ง
มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต แรลลี่อาร์ต ใหม่ ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากรถแข่งแรลลี่ในอดีต ซึ่งมิตซูบิชิมอเตอร์สเคยคว้าชัยชนะรวมทั้งสิ้น34 สนาม ในช่วงระหว่างปี2516 - 2548 โดยมิตซูบิชิระบุว่า“แรลลี่อาร์ต” ได้ตระหนักถึงความต้องการในธุรกิจรถยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลง ต้องการรถยนต์ที่มีรูปลักษณ์การดีไซน์ที่โดดเด่น สามารถสัมผัสได้ถึงความสปอร์ต ความปราดเปรียว และจิตวิญญาณแห่งชัยชนะ โดยไม่จำเป็นต้องปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อเพิ่มสมรรถนะ
มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต แรลลี่อาร์ต ใหม่ ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของรุ่นGT Plus ตกแต่งภายนอกด้วยชุดแต่งแรลลี่อาร์ต ประกอบด้วย ชุดแต่งกันชนหน้า-หลังแรลลี่อาร์ต, ชุดแต่งบังโคลนซุ้มล้อแรลลี่อาร์ต, แผ่นกันโคลนสีแดงแรลลี่อาร์ต และสติกเกอร์ด้านข้างแรลลี่อาร์ตโลโก้ ขณะที่ห้องโดยสารมาพร้อมพรมปูพื้นตกแต่งด้วยสัญลักษณ์แรลลี่อาร์ต
ขณะที่ชุดแต่งอื่นๆ ของปาเจโร สปอร์ต แรลลี่อาร์ต ประกอบด้วย กระจังหน้าสีดำ, ไฟหน้าพร้อมแถบตกแต่งสีดำ, หลังคาสีดำ, ราวหลังคาสีดำ, เสาอากาศแบบครีบฉลามสีดำ, สปอยเลอร์หลังสีดำ และล้ออัลลอยสีดำขนาด18 นิ้ว สามารถเลือกตัวถังได้ 2 สี ประกอบด้วย สีขาวไวท์ไดมอนต์หลังคาดำ และสีดำเจ็ทแบล็กไมก้า
ขุมพลังของ ปาเจโร สปอร์ต แรลลี่อาร์ต เป็นเครื่องยนต์คลีนดีเซล 4 สูบ ขนาด 2.4 ลิตร ให้กำลังสูงสุด181 แรงม้า ที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด430 นิวตัน-เมตร ที่ 2,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ รองรับน้ำมัน B20 ได้ และมีให้เลือกเฉพาะรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อเท่านั้น
สำหรับ ไทรทัน แรลลี่อาร์ต ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของรุ่น GLX เมกะแค็บ 2 ประตูตอนครี่ง และดับเบิลแค็บ4 ประตู (ตัวเตี้ย) มาพร้อมชุดแต่งแรลลี่อาร์ตจากญี่ปุ่น ได้แก่ ชุดตกแต่งใต้กันชนหน้าแรลลี่อาร์ต, แผ่นกันโคลนสีแดงแรลลี่อาร์ต, สติกเกอร์ด้านข้างแรลลี่อาร์โลโก้, พื้นปูกระบะแรลลี่อาร์ต และพรมปูพื้นแรลลี่อาร์ตภายในห้องโดยสาร
ส่วนชุดแต่งอื่นๆ ของไทรทัน แรลลี่อาร์ต ประกอบด้วย กระจังหน้าสีดำ, หลังคาสีดำ, กรอบกระจกมองข้างสีดำพร้อมไฟเลี้ยว, มือเปิดประตูด้านนอกสีดำ, มือเปิดกระบะท้ายสีดำ และล้ออัลลอยสีดำ โดยรุ่นเมกะแค็บเพิ่มเติมด้วยกันชนท้ายสีดำ และเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัส 7 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อApple CarPlay และAndroid Auto ได้
ขณะที่เครื่องยนต์ของ ไทรทัน แรลลี่อาร์ต ทั้ง 2 รุ่น เป็นเครื่องยนต์ดีเซล4 สูบเทอร์โบและอินเตอร์คูลเลอร์ ความจุ 2.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด128 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด240 นิวตัน-เมตร ที่ 1,500-3,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และมีให้เลือกเฉพาะรุ่นขับเคลื่อน2 ล้อเท่านั้น
รถยนต์รุ่นแรลลี่อาร์ท จะวางจำหน่ายใน 3 รุ่นย่อย จากรถยนต์จำนวน 2 รุ่น ที่ขายดีที่สุดของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย อย่างไทรทัน และปาเจโร สปอร์ต โดยราคาเริ่มต้นของไทรทัน แรลลี่อาร์ท เมกะ แค็บ อยู่ที่ 667,000 บาท รุ่นไทรทัน แรลลี่อาร์ท ดับเบิ้ล แค็บ อยู่ที่ 705,000 บาท ในขณะที่รุ่นปาเจโร สปอร์ต แรลลี่อาร์ท ราคา1,365,000 บาท