รถแบรนด์จีน พาเหรดเตรียมบุกตลาดไทย หลังเห็นความสำเร็จของ “เอ็มจี” และ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ไม่ว่าจะเป็น “ดีเอฟเอสเค ” ที่เปิดตัวพร้อมขาย Glory iAuto รถครอสโอเวอร์ 7 ที่นั่ง ส่วน “ฉางอัน” โยนหินถามทางเตรียมลุย ต่อด้วย “จีลี่” “เชอรี” “บีวายดี” พร้อมรอคืนชีพเปิดตัวอีกครั้ง
ตลาดรถยนต์ของไทยยังหอมหวลสำหรับค่ายรถยนต์จากประเทศจีนที่เวลานี้จ่อคิวเข้ามาบุกทำตลาดในเมืองไทย โดยมีทั้งเริ่มต้นและกำลังศึกษาหาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนส่งรถยนต์แบรนด์จีนเข้ามาตีตลาดหวังคว้าใจผู้บริโภคชาวไทย
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้แบรนด์รถยนต์จากประเทศจีนให้ความสนใจประเทศไทยมากขึ้น เนื่องมาจากความสำเร็จของแบรนด์จีนที่เข้ามาบุกเบิกสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าชาวไทยอย่าง “เอ็มจี” และล่าสุด “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ทั้งสองแบรนด์ได้รับการตอบรับที่ดีบวกกับมียอดขายอยู่ในระดับน่าพึงพอใจ
ฉะนั้น ทีมงาน “เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง” จึงรวบรวมข้อมูลของแบรนด์รถยนต์จีนในประเทศไทยว่ามีค่ายใดทำตลาดอยู่บ้างเป็นอย่างไรและจะมีแบรนด์ใดเข้ามาทำตลาดเพิ่มเติม
เอ็มจี / MG
เอ็มจี ถือว่าเป็นแบรนด์รถยนต์เจ้าแรกที่มาแจ้งเกิดอย่างเต็มตัว ปัจจุบันทำตลาดในประเทศไทยมานานกว่า 7 ปีโดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง เอสเอไอซี มอเตอร์ และ เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ในฐานะกลุ่มแบรนด์รถยนต์อันดับหนึ่งของประเทศจีน มูลค่าการร่วมลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาท
สำหรับการบุกตลาดเมืองไทย เอสเอไอซี มอเตอร์ ซีพี เลือกใช้แบรนด์ เอ็มจี เป็นหลักตามนโยบายของบริษัทฯ ที่ต้องการใช้แบรนด์ดังกล่าวในการบุกตลาดโลก และเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา มีกำลังการผลิตมากกว่า 100,000 คันต่อปี ปัจจุบัน เอ็มจี มียอดขายสะสมระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้ จำนวน 16,649 คัน เติบโตขึ้นราว 26% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีรถยนต์จำหน่าย 5 รุ่น ได้แก่ เอ็มจี เอชเอส, เอ็มจี แซดเอส, เอ็มจี5, เอ็มจี3, เอ็มจี เอ็กซ์เทนเดอร์ และมีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่าย 2 รุ่น คือ เอ็มจี แซดเอส อีวี และ เอ็มจี อีพี
เกรท วอลล์ มอเตอร์ / GWM
เกรท วอลล์ มอเตอร์ เป็นแบรนด์ที่เคยจะเข้ามาทำตลาดอยู่หลายครั้งแต่แล้วต้องยุติแผนไปจนกระทั่งล่าสุดมีการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการซื้อโรงงานประกอบรถยนต์ต่อจาก เจนเนอรัล มอเตอร์ส ที่ประกาศถอนตัวจากประเทศไทย โดยการเข้ามาครั้งนี้ของเกรท วอลล์ มอเตอร์ ใช้เม็ดเงินลงทุนเป็นมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อประกอบรถยนต์ในประเทศไทย และวางแผนระยะยาวให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกรถพวงมาลัยขวาไปทั่วโลก กำลังการผลิตสูงสุด 180,000 คัน/ปี
เกรท วอลล์ มอเตอร์ เปิดตัวทำตลาดด้วยการสร้างการรับรู้ใหม่ ผ่านสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เช่นเดียวกับเปิดรูปแบบการขายใหม่ ใช้การจองรถผ่านแอพพลิเคชันของ GWM โดยรถยนต์รุ่นแรกที่จำหน่ายคือ Haval H6 hybrid พร้อมกับประกาศการทำตลาด 4 รุ่นในปีแรกของการเปิดตัวแบรนด์ในประเทศไทย
สำหรับยอดขาย 2 เดือนแรกของ Haval H6 ทำได้รวม 428 คัน ถือว่ามีจำนวนมากเกินกว่าที่เกรท วอลล์ มอเตอร์ประเมินไว้ ขณะที่อีกหนึ่งรุ่นใหม่เตรียมจำหน่ายคือ Ora Good Cat รถยนต์ไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี่ มีการคาดหมายว่าจะเปิดตัวช่วงเดือนตุลาคม ส่วนการขายและส่งมอบจะมีขึ้นภายในเดือนธันวาคมนี้
โฟตอน/ Foton
โฟตอน เปิดตัวทำตลาดในไทยมาหลายปีด้วยผลิตภัณฑ์รถปิกอัพ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ก่อนที่จะยุติการทำตลาดไป แต่ด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนที่แนบแน่น ทำให้มีการเจรจาดึงกลุ่ม ซีพี เข้ามาร่วมทุนทำตลาดอีกครั้งในปี 2562 โดยเป็นการเจาะตลาดรถบรรทุกและรถบัสขนส่งเป็นหลัก ภายใต้ชื่อแบรนด์ CP-Foton
ขณะที่ตลาดรถปิกอัพและรถอื่น ๆ ของโฟตอน ทางซีพี-โฟตอน ตัดสินใจไม่ทำตลาด เนื่องจากเป็นการให้เกียรติทางกลุ่มเอสเอไอซีมอเตอร์ ที่ร่วมทุนกันทำตลาดแบรนด์รถยนต์เอ็มจีอยู่แล้ว
ดีเอฟเอสเค /DFSK
นับเป็นแบรนด์จีนล่าสุดที่เปิดตัวสู่ตลาดเมืองไทย แม้จะดูเหมือนเป็นแบรนด์ใหม่ แต่ดีเอฟเอสเค ที่จีนเป็นแบรนด์ในเครือของ ตงฟง มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับท็อป 5 ของประเทศจีน ซึ่งอดีต ตงฟง เคยทำตลาดรถยนต์ปิกอัพขนาดเล็กในประเทศไทยมาก่อนแต่ยุติการขายไปคงเหลือไว้เพียงส่วนของการบริการหลังการขาย
แม้เบื้องหลังหากดูชื่อผู้แทนจำหน่ายจะเป็นรายเดิม แต่ในแง่ของการบริหารจัดการ มีการแยกส่วนอย่างชัดเจนโดยมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อดูแลแบรนด์ ดีเอฟเอสเค ต่างหาก ส่วนรถยนต์รุ่นแรกที่จำหน่ายคือ Glory iAuto แบบครอสโอเวอร์ 7 ที่นั่ง นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย เปิดตัวด้วยราคาแนะนำ 899,000 บาท พร้อมตั้งเป้ายอดขาย 300 คัน/ปี นับเป็นตัวเลขที่ท้าทายอย่างมากท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ขณะที่ศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่ายช่วงแรกมีทั้งสิ้น 8 แห่งทั่วประเทศ และเตรียมขยายเป็น 12 แห่งในปีหน้า รวมถึงการเปิดตัวรถรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่จะตามมาในปีถัดไป
บีวายดี/ BYD
บีวายดี คืออีกหนึ่งแบรนด์ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยนานหลายปี และมีการเปลี่ยนผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายหลายครั้งหลายราย สืบเนื่องมาจากเงื่อนไขในการให้สิทธิ์ของทางบีวายดี ที่ไม่มีการกำหนดแบบตายตัวว่าจะให้รายหนึ่งรายใดเพียงรายเดียว
อย่างไรก็ตามจากแหล่งข่าวล่าสุดแจ้งว่า มีกลุ่มทุนของไทยเจรจากับบีวายดีเพื่อคว้าสิทธิ์การเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน เราจะได้เห็น บีวายดี ทำตลาดอย่างเต็มรูปแบบในประเทศไทยเสียที รวมถึงจะมีการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทยอีกด้วย นับเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า บีวายดี เป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีน หากดีลนี้สำเร็จ เราจะมีโอกาสใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในราคาจับต้องได้อย่างแน่นอน
จีลี่ /Geely
อีกหนึ่งผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของจีน ที่เคยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแล้ว โดยมีกลุ่มยนตรกิจคว้าสิทธิ์มาทำก่อนที่จะยุติไปหลังการแบ่งสมบัติของตระกูลลีนุตพงษ์ อย่างไรก็ตามการกลับมาคราวนี้ บริษัทแม่ตั้งใจเข้ามาลงทุนทำตลาดด้วยตัวเองมิใช่ผ่านตัวแทนจำหน่าย
ซึ่งมีการศึกษารวบรวมข้อมูลมาเป็นระยะเวลานาน โดยแรกเริ่มกลุ่มจีลี่มองไปที่การฟื้นแบรนด์ โปรตอน กลับมาทำ เนื่องจากมีฐานลูกค้าอยู่จำนวนไม่น้อย แต่แล้วเมื่อเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้แผนดังกล่าวยุติลงพร้อมกับเปลี่ยนแปลงเตรียมบุกตลาดเมืองไทยด้วยการใช้แบรนด์ จีลี่ เป็นหลัก
แม้จะยังไม่มีความชัดเจนในแง่ของรุ่นรถที่จะทำตลาด แต่เชื่อมั่นว่า จีลี่ จะเข้ามาทำตลาดไทย โดยไม่ยอมน้อยหน้าแบรนด์เพื่อนร่วมชาติอย่างไม่ต้องสงสัย
เชอรี่/ Chery
กระแสข่าวการกลับมาอีกครั้งของแบรนด์รถยนต์เชอรี่ กลายเป็นประเด็นขึ้นมา สืบเนื่องมาจากมีการจับภาพรถยนต์ไฟฟ้าของเชอรี่กำลังวิ่งทดสอบในประเทศไทย ต่อมาทราบภายหลังว่าเป็นการวิ่งทดสอบระบบของทางกลุ่ม การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) ซึ่งยังไม่มีคำยืนยันหรือปฏิเสธอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างเชอรี่กับปตท.
ขณะที่ กลุ่มปตท. ถูกอ้างถึงในการแถลงข่าวของผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของไต้หวันอย่าง Foxconn Technology Group ประกาศว่ามีการร่วมมือกับปตท. ในการเตรียมทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าภายในไม่กี่ปีข้างหน้า วันนี้จึงยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนว่า เชอรี่จะกลับมาทำตลาดไทยอีกครั้งหรือไม่อย่างไร
ฉางอาน /Changan
แบรนด์รถยนต์จากจีนรายล่าสุดที่มีการส่งข่าวให้แก่สื่อมวลชนเพื่อสร้างการรับรู้ เป็นวงกว้างโดยเป็นการติดต่อตรงจากบริษัทแม่ของจีน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นคือ ฉางอันอยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อมูลการทำตลาดรถยนต์ในประเทศไทย แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่ามีความสนใจทำตลาดในประเทศไทย แต่จะพร้อมลงทุนหรือเปิดตัวเมื่อไหร่ ยังเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบอย่างเป็นทางการอีกรอบหนึ่ง
ถึงบรรทัดนี้ คงจะพอเห็นภาพของตลาดรถยนต์ไทยที่ดูเหมือนจะซบเซาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เบื้องหลังความเงียบยังมีกลุ่มแบรนด์รถยนต์จากจีนที่รอจังหวะโอกาสเพื่อแจ้งเกิดในประเทศไทยอยู่มิใช่น้อย ผลประโยชน์โดยตรงจากการมีผู้เล่นรายใหม่มากขึ้น ย่อมตกอยู่กับผู้บริโภคอย่างไม่ต้องสงสัย หากวิกฤตผ่านพ้นไปเตรียมจับตาดูแบรนด์จีนกันให้ดี ๆ สนุกสนานแน่นอน