ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ตามเวลาของสหรัฐอเมริกา (หรือวันที่ 18 สิงหาคมตามเวลาบ้านเรา) นิสสันจะเปิดตัวโฉมใหม่ของรถสปอร์ตสุดคลาสสิคอย่าง Z-Car ออกมาให้เห็น หลังจากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยเผยโฉมที่เป็น Prototype ออกมาให้สัมผัสเมื่อปลายปีที่แล้ว
แน่นอนว่านี่จะเป็นอีกครั้งในการรุกตลาดรถสปอร์ตทั่วโลกของนิสสัน ด้วยผลผลิตที่น่าสนใจ แต่เหนืออื่นใดตรงนี้ถือเป็นอีกครั้งที่เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของชื่อ Z-Car ที่แม้ว่าจะผ่านอุปสรรคมาขนาดไหน แต่ก็ยังได้รับความเชื่อมั่น และไม่หายตัวไปจากตลาด
จุดเริ่มต้นของวิกฤต และผู้รอดตาย
ถ้ายังจำกันได้ในยุคทศวรรษที่ 1970-1990 ตลาดรถยนต์ของญี่ปุ่นถือว่ามีขนาดที่ใหญ่และมียอดขายที่ดี แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ไม่ได้ใหญ่อะไรมากมาย และที่สำคัญแต่ละบริษัทรถยนต์ต่างมีความหลากหลายของผลผลิตในระดับที่เข้าขั้นซับซ้อนเลยทีเดียว ส่วนตลาดรถสปอร์ต แค่แบรนด์เดียวก็มีให้เลือกมากมายหลายระดับตลาด
อย่างไรก็ตามช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ความนิยมของชาวญี่ปุ่นต่อรถสปอร์ตลดลงและบางบริษัทเช่นนิสสันตกอยู่ในสภาวะวิกฤตด้านการบริหารจัดการ จนกระทั่งสุดท้ายแล้วพวกเขาต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งนั่นทำให้นอกจากจะต้องลดจำนวนพนักงานแล้วรถยนต์ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนในด้านการทำตลาดก็จะเป็นต้องถูกจัดการด้วยไม่ว่าจะเป็นตัวถังแบบไหนก็ตาม นั่นทำให้รถสปอร์ตของนิสสันที่ชื่อคุ้นหูบ้านเราเช่น Silvia และนิสสัน Skyline รวมถึงตัวแรงอย่าง GT-R จำเป็นต้องยุติบทบาทลงไป ยกเว้นรถสปอร์ตเพียงรุ่นเดียวเท่านั้นที่อยู่รอดจากวิกฤตครั้งนั้นและสามารถทำตลาดอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั่นคือ Z-Car หรือที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันในชื่อ Fairlady Z
การเข้ามาของผู้บริหารคนใหม่ที่เป็นทั้งฮีโร่และในเวลาต่อมากลายเป็นผู้อื้อฉาวอย่าง Carlos Ghosn ได้จัดการปรับปรุงทุกอย่างของนิสสันตั้งแต่บนยันล่าง รวมถึงการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่จะต้องวางขายด้วย และแม้ว่า Skyline GT-R จะคือความภูมิใจของนิสสันแต่ในเมื่อยังไม่ถึงเวลาในการไปต่อ Ghosn ก็จัดการยกเลิกการผลิตและทำให้ Skyline GT-R สิ้นสุดอยู่แค่ R34 เท่านั้น ด้วยเหตุผลเดียวคือ ตลาดรถสปอร์ตจะต้องไม่มีความซ้ำซ้อน พร้อมกับง่ายในการควบคุมต้นทุนทั้งเงินและเวลาซึ่งถ้าต้องมีเพียงรุ่นเดียวจะต้องเป็นชื่อรุ่นที่คนรู้จักทั่วโลกไม่ใช่แค่ผลผลิตที่จำหน่ายในประเทศตามสไตล์ JDM หรือมีขายแค่ไม่กี่ประเทศทั่วโลก นั่นคือเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ Skyline GT-R ไม่ได้ไปต่อ
Z-Car เปิดตัวรุ่นแรกในปี 1969 และถูกส่งออกมาขายในตลาดต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่สหรัฐอเมริกาด้วยตามไอเดียของ Yutaka Katayama ประธานของ Nissan USA. ที่มองเห็นความสำคัญในการวางขายของรถสปอร์ตที่มีราคาที่เข้าถึงได้ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งนั่นทำให้ชื่อของ Z-Car เป็นที่รู้จักนับจากนั้น และถูกวางรากฐานและปูทางจนนำไปสู่การเป็นที่รู้จัก และเข้าถึงคนทั่วโลกมากกว่ารถสปอร์ตรุ่นอื่นของนิสสัน
แค่พักชั่วครู่แต่สุดท้ายก็กลับมา
ช่วงปี 1997 เมื่อนิสสันมีปัญหาทางด้านการเงิน และมีการควบรวมกิจการกับทาง Renault ของฝรั่งเศส พร้อมกับมีการล้างทีมผู้บริหารชาวญี่ปุ่น และส่ง Carlos Ghosn เข้ามาเป็น CEO ของนิสสันแน่นอนว่า Ghosn มองเห็นความสำคัญของตลาดสหรัฐอเมริกาในแง่ยอดขายเพียงแต่ช่วงแรกขอเน้นรถยนต์อเนกประสงค์ หรือเอสยูวีที่กำลังได้รับความนิยมก่อนดังนั้นความสนใจในช่วงแรกจึงทุ่มเทให้กับตลาดประเภทนี้ก่อน จนกระทั่งปี 1999 จึงถึงเวลาในการทำตลาดรถสปอร์ตซึ่งถือว่าคนอเมริกันยังให้ความสนใจและนิยมรถยนต์ประเภทนี้อยู่
เจนเนอเรชั่นที่ 4 ของ Z-Car ที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า 300ZX ถึงเวลาสิ้นสุดในการทำตลาดเมื่อปี 2001 หลังจากขายมาตั้งแต่ปี 1989 ดังนั้น ด้วยความที่ชื่อของ Z-Car มีความเป็น International มากกว่ารถสปอร์ตรุ่นอื่นมากกว่า ดังนั้น แผนการต่อมาคือ การผลักดันให้เจนเนอเรชั่นที่ 5 ของ Z-Car ออกมาทำตลาด พร้อมกับเปิดตัวรุ่นต้นแบบที่ชื่อว่า 240Z Concept ออกมาในปี 1999 พร้อมกับคำประกาศของ Ghosn ที่ว่า ‘เราจะผลิต Z-Car และนี่จะเป็นรถสปอร์ตที่ช่วยทำกำไรให้เรา
Renault เข้ามาถือหุ้น Nissan 44.4% ในปี 1999 และใช้เวลาอีก 2 ปีในการผลักดันให้ Z-Car รุ่นที่ 5 ออกสู่ตลาด ซึ่งเมื่อดูตามไทม์ไลน์ในการทำตลาดของ 300ZX ที่สิ้นสุดในปี 2001 เท่ากับว่าชื่อของ Z-Car ไม่ได้หยุดทำตลาดแต่อย่างใด และเป็นการทำตลาดอย่างต่อเนื่องไปเลยผิดกับ Silvia/200SX/240SX หรือ Skyline GT-R ที่ไม่ได้ไปต่อ และถูกยุติการผลิตท่ามกลางคำคัดค้านของผู้บริหารญี่ปุ่นของนิสสัน
รุ่นแรกของ Z-Car ซึ่งมากับชื่อ 350Z ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมากทั้งในแง่ของการออกแบบและสมรรถนะของตัวรถ และตลอดปีที่ทำตลาด 2002-2008 Z-Car ทำยอดขายในตลาดสหรัฐอเมริกาได้มากถึง 161,878 คัน และนั่นยังไม่รวมยอดขายในตลาดแห่งอื่นทั่วโลก อย่างยุโรปขายได้อีก 23,000 คัน ถือเป็นการเปิดตัวในยุคใหม่ของนิสสันได้อย่างยอดเยี่ยมและยิ่งใหญ่
ตัวหลักในการทำตลาดรถสปอร์ตให้นิสสัน
จริงอยู่ที่นิสสันจะส่ง GT-R ตามออกมาในปี 2009 แต่ทว่าก็มีการแบ่งตลาดอย่างชัดเจน เพราะ Z-Car ยังคงความเป็นรถสปอร์ตที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ในระดับราคาที่ไม่สูงมาก เริ่มต้นที่บวกลบ 30,000 เหรียญสหรับฯ ขณะที่ GT-R ถูกตั้งตำแหน่งทางการตลาดสูงกว่าและชนกับรถสปอร์ตจากเยอรมนีอย่าง Porsche 911 ด้วยราคา 110,000 เหรียญสหรัฐฯ
เจนเนอเรชั่นต่อมาของ Z-Car ที่เปิดตัวตามมาในปี 2009 และขายจนถึงปัจจุบันนั้นถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีในระดับหนึ่งแม้ว่ายอดขายจะไม่เท่ากับรุ่นแรกก็ตาม 370Z คือชื่อของสปอร์ตรุ่นนี้ และการทำตลาดในช่วงปี 2009-2020 นั้นมียอดขายเฉพาะในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 77,482 คัน ตามด้วยตลาดยุโรปอีก 10,912 คัน และในตอนนี้ 370Z กำลังจะปิดฉากลงเพื่อเปิดทางให้กับโฉมใหม่ที่กำลังจะเปิดตัว
รุ่นใหม่จะเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 7 โดยคาดว่าจะใช้รหัสตัวถัง Z35 ซึ่งต่อเนื่องจากรุ่นเดิมที่เป็นรหัส Z34 และเปิดตัวให้เห็นกันก่อนแล้วเมื่อปลายปี 2020 โดยใช้ชื่อว่า Nissan Z Proto ที่มาพร้อมกับการปรับปรุงรายละเอียดหลายจุด แต่ยังคงเอกลักษณ์ของรูปทรงและเส้นสายบนตัวถังที่สืบทอดสไตล์ของ Z-Car มาอย่างครบถ้วน
สำหรับ Z-Car ใหม่จะยังคงอยู่ในตำแหน่งทางการตลาดเดิมคือ การเป็นรถสปอร์ตในระดับราคา 30,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อเข้าถึงความต้องการของคนทั่วไป และไม่ขยับขึ้นไปเป็นรถสปอร์ตระดับไฮเอนด์ เพราะพื้นที่ตรงนั้น เป็นสัมปทานของ GT-R อยู่แล้ว โดย Z-Car จะเป็นรถสปอร์ตที่อยู่ในส่วนหนึ่งของแผนการ Nissan Next ที่เคยถูกประกาศออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งเน้นไปที่การนำเสนอความทันสมัยของเทคโนโลยียานยนต์ในยุคหน้า ไล่ไปจนถึงการพลิกฟื้นกิจการที่ประสบปัญหาอยู่ให้กลับมาสู่แดนบวกให้ได้ ซึ่ง Z-Car ใหม่ถือเป็นรถยนต์หนึ่งในหลายๆ รุ่นที่ถูกตั้งความหวังเอาไว้ว่าจะประสบความสำเร็จในด้านยอดขายและทำผลกำไรให้กับบริษัท
แน่นอนว่านี่คือ เส้นทางของรถสปอร์ตญี่ปุ่นรุ่นหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานับตั้งแต่ 55 ปีที่แล้ว ซึ่งรุ่นแรกเปิดตัวออกสู่ตลาดในปี 1969 จนถึงรุ่นปัจจุบันซึ่งจะเป็นรุ่นที่ 7 ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ และที่น่าสนใจคือ ถือเป็นไม่กี่ครั้งที่เราจะได้เห็นว่ารถยนต์ที่มีส่วนในการช่วยพลิกฟื้นกิจการของบริษัทสักแห่ง กลับมีรถสปอร์ตที่ดูแล้วมียอดขายไม่ได้เยอะมากเข้ามามีส่วนในแผนการนี้ด้วย