xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐีทั่วโลกยังรวย ซูเปอร์คาร์ ยอดขายพุ่งทะยาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความระส่ำระสายไปทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจการบินที่โดนผลกระทบอย่างหนักถึงขั้นต้องล้มละลาย ขณะที่ธุรกิจยานยนต์ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทั้งปิดโรงงานและหยุดการผลิตชั่วคราว เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายเป็นวงกว้าง


ในส่วนของภาพรวมยอดขายรถยนต์ของแต่ละแบรนด์ต่างได้รับผลกระทบมียอดจำหน่ายที่ลดลง หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในบางตลาดที่ควบคุมการระบาดได้ดี อย่างไรก็ตามจากสำรวจยอดขายครึ่งแรกของปี2564ของแบรนด์ต่างๆ พบว่า เซกเมนท์ของแบรนด์รถในระดับซูเปอร์คาร์ สามารถทำยอดขายเติบโตได้อย่างน่าทึ่ง ส่วนแบรนด์ใดจะทำผลงานได้ยอดเยี่ยมเพียงไหน ติดตามกันดู


แอสตัน มาร์ติน +224%

หนึ่งในแบรนด์ซูเปอร์คาร์ระดับตำนานของอังกฤษที่มีอายุกว่า 100 ปี ในปีที่แล้วมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อ ซีอีโอ คนเก่งอย่าง แอนดี้ พลามเมอร์ ผู้พลิกฟื้น แอสตัน มาร์ตินถูกประกาศว่ากำลังจะจากไป และจะได้ตัวแทนคนใหม่คือ “โทเบียส มัวร์” เข้ามากุมบังเหียน

ต้นสายปลายเหตุ ไม่มีการระบุอย่างเป็นทางการ มีเพียงการวิเคราะห์ว่า น่าจะมาจากการที่ “ลอร์เลนซ์ สโตล” ซึ่งเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของแอสตัน มาร์ติน ทั้งคู่เคยมีปัญหากัน ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ แอนดี้ พลามเมอร์ จะต้องจากไป โดยในช่วงของการเปลี่ยนมือ บวกกับการแพร่ระบาดของโควิดที่รุนแรงทำให้รถของแอสตันมาร์ติน ค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก ยอดขายหดตัวอย่างหนัก มีการปิดโรงงานนานร่วม 6 เดือน(ระว่าง มี.ค.-ก.ย. 2563)

แต่เมื่อ โทเบียส มัวร์ ได้เข้ามาจัดการช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 และต่อเนื่องมาจนถึงครึ่งแรกของปี 2564 ผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้วยตัวเลขยอดขายครึ่งแรกของปีนี้ 2,901 คัน เทียบกับครึ่งปีแรกของปีก่อนมียอดขาย 895 คัน เติบโตขึ้น 224% โดยมี ดีบีเอ็กซ์เป็นตัวขายหลักกอบโกยยอดได้ถึง 1,595 คัน

แอสตัน มาร์ติน ดีบีเอ็กซ์
ผลงานดังกล่าวไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มาจากความสามารถและประสบการณ์ของโทเบียส มัวร์ เพราะเขาคือคีย์แมนคนสำคัญของเมอร์เซเดส-เอเอ็มจี ที่เป็นพาร์ทเนอร์ด้านเครื่องยนต์และระบบปฏิบัติการให้รถแอสตัน มาร์ติน จึงมีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์อย่างดีเยี่ยม ทำให้กลับมามียอดขายที่เป็นไปตามเป้าหมายได้อีกครั้ง

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่มีส่วนช่วยให้ แอสตัน มาร์ตินมียอดขายพุ่งทะยาน คือ การเข้าร่วมแข่งขันรถสูตรหนึ่งหรือ F1 ในนามทีม แอสตัน มาร์ติน โดยโทเบียส มัวร์ กล่าวว่า “ยอดผู้ติดตามบนสื่อโซเชียล มิเดีย ของแอสตัน มาร์ติน พุ่งขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์ของแบรนด์ การรับรู้ในแบรนด์นั้นหลั่งไหลเข้ามาชนิดไม่เคยพบมาก่อน”

ทีมแข่ง F1 ของแอสตัน มาร์ติน และรถเซฟตี้คาร์ ประจำการแข่งขัน
ส่วนต้นเหตุของการเข้าร่วมดังกล่าว มาจาก ลอร์เลนซ์ สโตล ในฐานะนักธุรกิจอีกบทบาทหนึ่งเขาเป็นเจ้าของทีมแข่ง F1 ชื่อ Racing Point อยู่แล้ว จึงได้เปลี่ยนชื่อทีมแข่งเป็น Aston Martin Racing Team สำหรับการเข้ามาในธุรกิจรถยนต์ของสโตล เกิดจากลูกชาย แลนซ์ สโตล ที่เป็นนักแข่งรถของทีมนั่นเอง

อีกหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้ยอดขายของแอสตัน มาร์ติน กลับมาอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ มาจากการปรับรูปแบบการขายและการสต็อกรถ โดย แอสตัน มาร์ติน จะผลิตรถตามคำสั่งของลูกค้า มิใช่การผลิตมารอจำหน่ายแล้วให้ดีลเลอร์สต็อกรถไว้ ดังนั้น ลูกค้าจะได้รถที่ตรงความต้องการ สามารถเลือกออพชันได้ตามใจ เช่นเดียวกับ ดีลเลอร์ ไม่จำเป็นต้องเร่งปิดการขายหรือกังวลว่ารถในสต็อกที่สั่งมาจะขายไม่ได้อีกต่อไป




เฟอร์รารี่ +32%

เจ้าของแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของอุตสาหกรรมรถยนต์ มีซูเปอร์คาร์อยู่ในระดับราคาแพงติดอันดับต้นๆ ของโลกหลากหลายรุ่น ในช่วงปีที่ผ่านมา “เฟอร์รารี่” มีการเปลี่ยนแปลงหัวเรือใหญ่เช่นเดียวกัน เมื่อ “หลุยส์ คามิลเลรี่” ประกาศลงจากตำแหน่ง ทำให้ “จอห์น เอลคานน์” ประธานกรรมการต้องเข้ามาควบหน้าที่ ซีอีโอ จนกว่าจะหาคนใหม่มาดำรงตำแหน่งแทนได้

สำหรับผลการดำเนินงาน เฟอร์รารี่ มียอดขาย ครึ่งปีแรก 5,456 คัน เทียบกับครึ่งปีแรกของปีก่อนมียอดขาย 4,127 คัน เติบโตขึ้น 32% และหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ที่ไม่มีสถานการณ์โควิด-19 ยอดขายเฟอร์รารี่ปีนี้ยังสูงกว่า 0.5% นั่นหมายความว่า ถ้าเฟอร์รารี่ยังคงรักษาระดับการขายให้คงที่เอาไว้ได้ ปีนี้เฟอร์รารี่จะสร้างสถิติยอดขายสูงสุดใหม่อย่างแน่นอน

เฟอร์รารี่ มอนซ่า หัวใจ V12
ทั้งนี้ เฟอร์รารี่ มิได้มีการจำแนกรายการตามรุ่นรถที่จำหน่ายแต่รายงานแยกตามประเภทของเครื่องยนต์เป็นหลัก และระบุเพียงสัดส่วนการเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่มีตัวเลขจำนวนคัน

รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบ V8 มีการเติบโตอย่างมากด้วยยอดขายครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นถึง 42.9% ซึ่งรถที่ใช้เครื่องยนต์ V8 ได้แก่รุ่น เอฟ8, เอสเอฟ90, โรม่า และ พอร์โตฟิโน่ ส่วนรถที่ใช้เครื่องยนต์แบบ V12 ได้แก่รุ่น 812 และ มอนซ่า มียอดขายทรงตัวไม่แตกต่างจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

เฟอร์รารี่ 296จีทีบี
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายของเฟอร์รารี่เติบโตขึ้น มาจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งแบบรุ่นใหม่หมดจดอย่าง โรม่า และการมีทางเลือกรุ่นย่อยเพิ่ม ในรุ่น เอฟ8 สไปเดอร์, 812 จีทีเอส และ เอสเอฟ90 สไปเดอร์ รวมถึงการเปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ พอร์โตฟิโน่ เอ็ม โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงปีกว่าเท่านั้น

เหนือสิ่งอื่นใด ทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอริ่งมั่นใจว่า เฟอร์รารี่ จะสามารถสร้างสถิติยอดขายสูงสุดใหม่ได้ในปีนี้ เนื่องจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด “296GTB” ที่เป็นเครื่องยนต์แบบ V6 ปลั๊กอินไฮบริด วางกลางขับหลัง ที่เปิดตัวมาด้วยราคาเริ่มต้นประมาณ 269,000 ยูโร (ประมาณ 10,000,000 บาท) สูงกว่ารุ่น เอฟ8 เพียงเล็กน้อย แต่ได้เทคโนโลยีและความแรงที่มากกว่ามาก รวมถึงประหยัดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โดย 296GTB มีกำหนดเริ่มต้นส่งมอบในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ดังนั้นยอดขายของเฟอร์รารี่จึงมีแนวโน้มที่จะพุ่งทะลุทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ใหม่ได้อีกครั้ง


ลัมโบร์กินี +37%

แบรนด์ซูเปอร์คาร์สัญชาติอิตาลีที่อยู่ใต้ร่มเงาของกลุ่มโฟล์คสวาเกน จากเยอรมัน ซึ่งเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจมิอาจมีใครทราบได้ ลัมโบร์กินี เปลี่ยนประธานและซีอีโอด้วยเช่นเดียวกัน โดยผู้ที่เข้ามารับช่วงต่อคือคนคุ้นเคย “สเตฟาน วิงเคิลแมน” ผู้ซึ่งปลุกปั้นแบรนด์กระทิงเปลี่ยวมาตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2559

เป็นที่ทราบกันดีว่า วิงเคิลแมน คือผู้พลิกโฉมหน้าโมเดลต่างๆ ให้แก่ลัมโบร์กินี่ โดยเฉพาะ กัญญาโด ที่ถือว่าเป็นโมเดลสร้างชื่อให้ลัมโบร์กินี่กลับมายีดอกอย่างโดดเด่นบนเวทีซูเปอร์คาร์ระดับโลกได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร ทั้งในเรื่องของผลิตภัณฑ์และยอดขายที่เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ

สเตฟาน วิงเคิลแมน
สำหรับครึ่งแรกของปีนี้ ลัมโบร์กีนี สร้างสถิติยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยตัวเลข 4,852 คัน เติบโตขึ้น 37% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (ไม่มีการรายงานยอดขาย 6 เดือนแรกของปี 2563 แต่ใช้วิธีการคำนวณย้อนกลับจะได้ตัวเลขประมาณ 3,541 คัน)

พระเอกที่สร้างยอดขายให้เป็นกอบเป็นกำคือ เอสยูวีที่ได้ชื่อว่าแรงที่สุดในโลก “อูรูส” ด้วยจำนวนส่งมอบ 2,796 คัน เติบโตถึง 35% ส่วน “ฮูราคัน” สามารถสร้างอัตราการเติบโตที่น่าทึ่งถึง 46% จากยอด 1,532 คัน ขณะที่ “อเวนทาดอร์” พี่ใหญ่ของเครือทำยอดได้ 524 คัน เติบโต 21%

เหนือสิ่งอื่นใด ยอดจองปัจจุบันของลัมโบร์กินี่ ครอบคลุมไปถึงการผลิตในช่วงเดือนเมษายนปี 2565 นั่นหมายความว่า ลูกค้าที่สั่งจองนับจากนี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการรอรถอย่างเร็วที่สุดคือ 10 เดือน ตามเงื่อนไขการสั่งแบบปกติ

ลัมโบร์กินี่ ฮูราคัน และ อูรูส
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลัมโบร์กินี สร้างยอดขายทำลายสถิติได้ ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดตัวรถรุ่นพิเศษอย่างต่อเนื่อง และการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการขายใหม่ให้มีความยีดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างแบรนด์และลูกค้า ให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างไม่ขาดตอน แม้ว่าจะเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ โรงงานของลัมโบร์กินี เมื่อปีที่แล้วได้รับผลกระทบโดยตรงมีการหยุดผลิตและปรับไลน์การผลิตมาช่วยสร้างเครื่องมือแพทย์ รวมถึงหน้ากากเพื่อช่วยปกป้องชีวิตประชาชนในช่วงที่เกิดการระบาดอย่างหนักในอิตาลี ปัจจุบันโรงงานของลัมโบร์กินีกลับมาเดินหน้าอย่างเต็มกำลังเรียบร้อย ซึ่งหากทิศทางการขายยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปเชื่อมั่นได้ว่า ในปีนี้ลัมโบร์กินีจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้ง


ปอร์เช่ +31%

แบรนด์ซูเปอร์คาร์สัญชาติเยอรมัน “ปอร์เช่” ผู้บุกเบิกการทำตลาดรถยนต์ซูเปอร์คาร์รูปแบบของเอสยูวี จนทำให้ค่ายซูเปอร์ต่างเร่งสร้างรถแบบของเอสยูวีของตัวเองออกมาเพื่อรองรับความต้องการของตลาด และจากการมีรถยนต์ที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้นแต่คงไว้ซึ่งสมรรถนะระดับซูเปอร์คาร์ในราคาจับต้องได้ง่ายกว่า ทำให้ปอร์เช่มียอดขายสูงกว่าแบรนด์คู่แข่งอื่นๆ อย่างก้าวกระโดด

ยอดจำหน่ายของปอร์เช่ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 สร้างสถิติสูงสุดตลอดกาลใหม่อีกครั้งด้วยตัวเลข 153,656 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 116,964 คัน เติบโตขึ้น 31% และหากจำแนกย่อยลงไปในแต่ละรุ่นจะพบว่าทุกรุ่นนั้นมียอดขายที่เติบโตทั้งสิ้น

ปอร์เช่ ไทคานน์
นำทัพโดย คาเยนน์ มียอด 44,050 คัน เติบโต 12% ตามด้วยมาคันน์ 43,618 คัน เติบโต 27% ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตลาดของรถแบบเอสยูวีแบบซูเปอร์ยังคงได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รถสปอร์ตระดับตำนาน 911 มียอดขายอยู่ที่ 20,611 คัน เติบโต 22% ส่วนพานาเมรา มียอดขาย 13,633 คัน เติบโต 6% และรถสปอร์ตขนาดเล็กตระกูล 718 มียอด 11,922 คัน เติบโต 33%

เหนืออื่นใด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปอร์เช่มียอดขายเติบโตอย่างมากมาจาก “ไทคานน์” รถยนต์ไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี่รุ่นแรกของปอร์เช่ ที่ทำยอดขายครึ่งปีแรกได้ 19,822 คัน เติบโต 248% ยอดดังกล่าวเทียบเท่ากับยอดขายทั้งปี 2563 ของไทคานน์ โดยรายงานข่าวของปอร์เช่ยังระบุด้วยว่า ลูกค้าของไทคานน์ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าหน้าใหม่ที่ไม่เคยใช้รถยนต์ปอร์เช่มาก่อน

ปอร์เช่ 911
ยอดขายที่เติบโตขึ้นของไทคานน์ มิใช่เป็นเพียงแค่บ่งชี้ว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า โดยไม่กังวลถึงเรื่องของแบรนด์ เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าพร้อมเปลี่ยนจากแบรนด์อื่นมาลองใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของปอร์เช่มากขึ้นอย่างชัดเจน

ฉะนั้นแล้วในปี 2564 แนวโน้มยอดขายของปอร์เช่จึงมีทิศทางที่สดใสพร้อมทำสถิติยอดขายสูงสุดใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย

ถึงบรรทัดนี้ ตลาดรถยนต์ซูเปอร์คาร์ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตในระดับที่ใช้คำว่า มหัศจรรย์ ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง ความจริงบางอย่างของโลกใบนี้ แม้ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตของไวรัสโควิด-19 แต่สำหรับกลุ่มลูกค้าระดับเศรษฐีแล้ว อาจจะมีบางส่วนล้มละลายหายไป อย่างไรก็ตาม จะมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมาทดแทนเสมอ ดังนั้น ยอดขายของรถซูเปอร์คาร์ จึงพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น