xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอ NEX แนะรัฐลดภาษี-หนุนเงินส่วนต่างรถ EV กระตุ้นใช้รถไฟฟ้า-ดันไทยเป็นฐานผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา
ซีอีโอ NEX แนะรัฐบาล ออกมาตรการด้านราคากระตุ้นการซื้อรถ EV พร้อมลงทุนปัจจัยพื้นฐานรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า เชื่อลด PM 2.5 ตัวการสร้างมลพิษ ส่งเสริมให้คนไทยมีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งช่วยลดขาดดุลการค้าที่ต้องนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลงจากต่างประเทศ วอนสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศเพื่อดันไทยเป็นผู้นำการผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน และฐานการผลิตสำคัญของโลก

นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ มีมติเร่งรัดให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 100% ในปี 2578 โดยในปี 2573 จะต้องผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ 50% ของปริมาณการผลิตรถทุกชนิด ซึ่งสำนักนโยบายและแผนพลังงานคาดว่า จะมีการใช้รถ EV จำนวน 138,918 คันภายในปี 2568 เพื่อที่ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิต EV สำคัญของโลก ทั้งตั้งเป้าเร่งผลิต EV สะสมไว้ที่ 1,051,000 คันภายในปี 2568 และจะเพิ่มการผลิตสะสมที่ 6,224,000 คันภายในปี 2573 นั้น จากภาพรวมตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่ายอดจดทะเบียนในแต่ละปีมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับยานยนต์เชื้อเพลง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่กีดขวางการเติบโตของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มาจากปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้งาน ราคาจำหน่ายรถ EV ภายในประเทศค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับยานยนต์ปกติ และที่สำคัญคือความไม่ชัดเจนของนโยบายภาครัฐ ในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV ส่งผลให้ประชาชนยังไม่มีความมั่นใจในการเปลี่ยนแปลงมาใช้รถ EV จึงยังไม่สามารถกระตุ้นการซื้อรถ EV ได้


“ที่ผ่านมารัฐบาลประกาศแผนเส้นทางอนาคตของตลาดรถ EV และจะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV ที่สำคัญของโลก แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆออกมา จึงอยากเสนอแนะต่อรัฐบาลว่ารัฐควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า โดยอาจจะพิจารณาความเหมาะสมจากแนวทางดำเนินการของประเทศต่างๆ อาทิ การลดภาษีสรรพสามิตและภาษีการครอบครองรถยนต์ EV ของจีน อุดหนุนเงินส่วนต่างระหว่างราคารถ EV กับรถเบนซิน ของญี่ปุ่น การให้เงินอุดหนุนเพื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ของอังกฤษ หรือการให้ Tax credit และอุดหนุนการซื้อรถ EV ของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ตลาดรถ EV ในยุโรป มีการจดทะเบียนในปี 2020 ไปแล้ว 54% เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2519 โดยประเทศเนเธอร์แลนด์ 82% นอร์เวย์ 73% อังกฤษ 62% และฝรั่งเศส 60% ส่วนสหรัฐอเมริกา ลดลงเหลือ 78% 295,000 คัน เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่ 327,000 คัน ขณะที่จีนจดทะเบียนสูงถึง 80% ”ซีอีโอ NEX ระบุ


นายคณิสสร์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้รัฐควรกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การลงทุนในปัจจัยพื้นฐานสำหรับการใช้งานรถ EV ให้เงินสนับสนุนการซื้อรถเชิงพาณิชย์กับผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาต เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการภายในประเทศ รวมทั้งมาตรการและแนวทางในการจัดหารายได้ให้กับภาครัฐ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งมาตรการและแนวทางดังกล่าวนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดรายได้จากการผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศและดุลการค้าระหว่างประเทศในเชิงบวก แล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้รถ EV ภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดอัตราขาดดุลการค้าจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลงจากต่างประเทศ โดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตเองได้ภายในประเทศ ทั้งยังเป็นการเพิ่มความสามารถทางด้านเศรษฐกิจในการเป็นผู้นำด้านการผลิตและประกอบยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน


ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวด้วยว่า และที่สำคัญคือจะช่วยลดปัญหามลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สันดาป ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน และปัญหา PM 2.5 ซึ่งจากเว็บไซต์ The World Air Quality Project 2563 ระบุว่าค่า PM 2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครสูงติดอันดับ ท็อปเท็นของโลก และนับวันปัญหายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น การหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นพลังงานบริสุทธิ์ จะส่งผลให้คนไทยมีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นเมืองสีเขียวและประเทศสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ อันจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่น และปลุกวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลให้กลับคืนมา


กำลังโหลดความคิดเห็น