xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก 3 แบรนด์รถไฟฟ้าสุดหรูจากเยอรมนี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จริงอยู่ที่นิสสันคือ แบรนด์แรกที่เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า BEV (Battery Electric Vehicle) ในแบบ Mass Production ออกสู่ตลาดกับรุ่น LEAF ในปี 2552 แต่ดูเหมือนว่าตลาดที่มีการขยับตัวอย่างจริงจังกับรถยนต์เสียบปลั๊กประเภทนี้กลับตกอยู่กับแบรนด์ระดับหรูหราเป็นหลัก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเทคโนโลยีแบตเตอรี่และระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก หรือ BEV ส่วนใหญ่แล้วจะฝังตัวอยู่ในกลุ่มของแบรนด์ระดับหรูเป็นหลัก

แน่นอนว่าบีเอ็มดับเบิลยู คือ แบรนด์ระดับหรูรายแรกที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และพวกเขาเปิดตัวแบรนด์ย่อยหรือ Sub-Brand ที่ชื่อว่า i ออกมาสู่ตลาดเพื่อรองรับกับการขยายตัวของตลาดกลุ่มนี้ และนั่นถือว่าเป็นการปลุกกระแสให้คู่แข่งร่วมชาติอย่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ และออดี้ เริ่มมาขยับตัวตาม จนทำให้ 3 แบรนด์หรูเหล่านี้ถือเป็นผู้เล่นหลักในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าระดับหรู

สำหรับวันนี้เรามาทำความรู้จักกับบรรดาซับแบรนด์ของทั้ง 3 แบรนด์หรูสัญชาติเยอรมนี ที่ในอนาคตน่าจะเป็นชื่อที่พวกเราคุ้นหูกันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และแบรนด์เหล่านี้มีรถยนต์ไฟฟ้าระดับหรูออกมาทดแทนบรรดารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในของตัวเองมากขึ้น

BMW-i3_Concep
BMW i เปิดตัว : 2011

บีเอ็มดับเบิลยู แนะนำซับแบรนด์ที่เรียกว่า i ออกมาเมื่อปี 2554 หลังจากเปิดตัวต้นแบบเป็นการชิมลางมาตั้งแต่ปี 2552 i เป็นการสื่อถึงรถยนต์เสียบปลั๊กของ บีเอ็มดับเบิลยู โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่พึงพิงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่อย่าง BEV หรือพวกไฮบริดที่มีการเสียบปลั๊กชาร์จไฟเพื่อนำมาใช้ใน EV Mode ที่มีอยู่ในตัวรถ

ณ วินาทีนั้น ในยุคที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ฟูฟ่องอย่างเต็มที่เหมือนกับช่วงหลังปี 2558 ทำให้ผลผลิตจากซับแบรนด์นี้จึงมีเพียงแค่ 2 รุ่นเท่านั้น นั่นคือ i3 ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV อย่างเต็มตัวที่เปิดตัวในปี 2556 และรถสปอร์ต i8 ที่เป็นสปอร์ตแบบไฮบริด Plug-in ซึ่งเปิดตัวตามหลัง 1 ปี


BMW-iX
อย่างไรก็ตาม เมื่อแนวโน้มและทิศทางของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมีความชัดเจนมากขึ้นว่ากำลังมุ่งหน้าไปทางไหน ซับแบรนด์อย่าง i ก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอชนิดที่เรียกได้ว่ารถยนต์บางรุ่นเปิดตัวออกมาภายใต้ชื่อ i ก่อนที่จะมีรุ่นปกติขายเสียอีก หรือบางรุ่นก็ถูกพัฒนามาเพื่อซับแบรนด์นี้เท่านั้น

แน่นอนว่า i มีรถยนต์ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ซับแบรนด์นี้ในการทำตลาดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวอยู่แล้ว ขณะที่ในกลุ่มของรถยนต์สันดาปภายในเองของบีเอ็มดับเบิลยู ก็จะมีรุ่น Hybrid-Plug-in ที่วางขายแยกส่วนกัน โดยจุดสังเกตคือ ถ้าเป็นความเกี่ยวพันกับรุ่นที่มีขายอยู่แล้วมักจะใช้คำว่า e ต่อท้าย เช่น 330e, 530e หรือ X1 xDrive25e เป็นต้น แต่ถ้าผลิตภายใต้ชื่อ i รถยนต์รุ่นนั้น ๆ จะนำหน้าด้วยตัว i เลย เช่น i4, i8 หรือ i3

BMW-i4
ในทศวรรษที่ 2010 บีเอ็มดับเบิลยู มุ่งเป้าในการพัฒนารถยนต์แบบเสียบปลั๊กอย่างต่อเนื่อง และในทศวรรษนี้จนถึงเดือนธันวาคม 2562 เมื่อนับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมทั้งรถยนต์ BEV และ Hybrid แบบต่าง ๆ รวมถึงภายใต้ชื่อแบรนด์ บีเอ็มดับเบิลยู และมินิ แล้ว บีเอ็มดับเบิลยู ทำยอดขายไปแล้วมากกว่า 500,000 คัน ขณะที่เมื่อแยกรุ่นออกมาอย่าง i3 นั้นมียอดขายราว 165,000 คัน และ i8 อยู่ที่ 20,000 คัน

เมื่อมองมาที่รถยนต์ของกลุ่ม i จะพบกว่าตอนนี้เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์แบบเสียบปลั๊กมีการขยายตัวอย่างต่อเรื่อง โดยปัจจุบันผลผลิตจาก i นอกเหนือจาก i3 และ i8 แล้วก็มี iX3 ที่เป็น SUV ขนาดคอมแพ็กต์ที่อยู่บนพื้นฐานของ X3 ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าที่เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 5 ของ บีเอ็มดับเบิลยู ตามด้วยรถยนต์ขนาดกลางแบบ Gran Coupe 4 ประตู อย่าง i4 ที่พัฒนามาจากต้นแบบ i4 Concept ที่เปิดตัวเมื่อปี 2563 และรุ่นล่าสุดคือ iX กับตัวถังแบบ SUV ขนาดใหญ่ที่พัฒนามาจากต้นแบบชื่อ Vision iNEXT โดยทั้ง 2 รุ่นนี้ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าล้วน

Mercedes-Benz-EQS
Mercedes-Benz EQ เปิดตัว : 2019

เช่นเดียวกับบีเอ็มดับเบิลยู ทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีซับแบรนด์ที่ถูกแยกออกมาต่างหากเพื่อเจาะตลาดรถยนต์แบบเสียบปลั๊ก แต่ที่ต่างกันคือ EQ ของค่ายดาว 3 แฉกจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV เพียว ๆ ส่วนหน้าที่ของพวก Plug-in Hybrid จะเป็นงานของรถยนต์รุ่นปกติที่มีขายอยู่ในตลาด

ถึงจะมาทีหลัง แต่แนวคิดในการก่อกำเนิดไม่แตกต่างกันเท่าไร คือ การมองเห็นถึงอนาคตในการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และการสร้างความชัดเจนในการเจาะตลาดระหว่างรถยนต์แห่งอนาคตกับรถยนต์ที่มีขายอยู่ในปัจจุบัน โดยแนวคิดของ EQ ถูกเปิดตัวออกมาตั้งแต่ปารีส มอเตอร์โชว์ 2559 ซึ่งตอนนั้น เมอร์เซเดส-เบนซ์ นำต้นแบบที่ชื่อว่า Generation EQ Concept มาจัดแสดง และอีกเพียง 3 ปีพวกเขาก็เปิดตัวรุ่นจำหน่ายจริงออกมา

Mercedes-Benz-EQC
EQC คือ รถยนต์รุ่นแรกที่เปิดตัวออกสู่ตลาด โดยจุดหลักของรถยนต์ในกลุ่มนี้คือ การแชร์พื้นฐานในแง่ของตัวถังร่วมกับรถยนต์ที่มีขายอยู่ในตลาด เรียกว่ามีการปรับและดัดแปลงก็แค่ในแง่ของรูปลักษณ์ภายนอกและภายใน รวมถึงส่วนขับเคลื่อนที่ถอดเอาแบบขับเคลื่อนที่มีขุมพลังสันดาปภายในออกและแทนที่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และชุดแพ็คของแบตเตอรี่ อย่าง EQC คือ การแชร์พื้นฐานร่วมกับ GLC-Class

ด้วยแนวคิดเช่นนี้ถือว่าทำให้ EQ สามารถรุกตลาดได้เร็วขึ้นกว่าคู่แข่ง เพราะใช้เวลาในการพัฒนาที่สั้นลง จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากนั้นพวกเขาทยอยส่งผลผลิตจาก EQ Brand ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องและมากขึ้น เช่น EQV ที่มาจากรถตู้ V-Class ในปี 2563 ตามด้วย EQA ที่พัฒนาจากพื้นฐานของ A-Class และ EQB ที่มาจากพื้นฐานของ GLB-Class ที่เปิดตัวในปี 2564

Mercedes-Benz-EQC
จะมีก็บางรุ่นที่ถือว่าเป็นรุ่นหวังผลในด้านภาพลักษณ์และการทำตลาดซึ่งอาจจะใช้วิธีนี้ไม่ได้ ก็จะมากับการพัฒนาและปรับปรุงใหม่ เช่น EQS และ EQS SUV ที่พัฒนาอยู่บนพื้นตัวถังรุ่น MEA-Modular Electric Architecture

ตามเป้าหมายของเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีการวางแผนเอาไว้ว่าจะเปิดตัวรถยนต์จาก EQ ออกสู่ตลาดรวมทั้งหมด 10 รุ่นภายในปี 2565 โดย 3 รุ่นในนั้นจะเป็นการพัฒนาบนพื้นฐานของแบรนด์อย่าง Smart โดยทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของแนวคิด Electrified Effort ที่ประกาศโดย Dieter Zetsche CEO ของ Daimler AG ที่ประกาศชัดเจนว่า ภายในปี 2568รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมียอดขายอยู่ในระดับ 15-25% ของยอดขายรวมทั้งหมดทั่วโลกของแบรนด์

Audi-e-tron
Audi e-Tron เปิดตัว : 2009

เอาเข้าจริง ๆ แล้วออดี้ จริงจังกับตลาดขุมพลังแบบเสียบปลั๊กมาก่อนใครเพื่อน เพียงแต่ว่าไม่ดัง และไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนกับที่บีเอ็มดับเบิลยูและเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทำ ช่วงแรกของพวกเขาไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร เพราะอย่าง e-Tron ที่เป็นต้นแบบในปี 2552 สุดท้ายก็ถูกส่งไปเป็นโมเดลเชนจ์ของ Audi TT ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเปิดตัวเป็นทางเลือกใหม่สำหรับตลาดพลังไฟฟ้า

ขณะที่รุ่นตามหลังมาก็เป็นทั้งต้นแบบแต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการผลิตจริง รวมถึงการเป็นรถยนต์ทดสอบไม่ได้มีวางขาย เช่น A3 แบบไฟฟ้าล้วนที่เปิดตัวในปี 2554 จนกระทั่งในปี 2556 ชื่อ e-Tron ก็ถูกนำมาใช้ แต่ก็เป็นแค่รุ่นย่อยในรถยนต์รุ่นหลัก โดย e-Tron จะถูกใช้ตั้งเป็นชื่อรุ่นย่อยสำหรับรถยนต์แบบไฮบริด Plug-in เช่น A3 e-Tron Plug-in ที่ผลิตขายในปี 2556-2561 หรือไม่ก็ผลิตแบบจำกัด เช่น R8 e-Tron ที่เปิดตัวในปี 2558 แบบรุ่นพลังไฟฟ้าล้วน และมีผลิตไม่ถึง 100 คัน

Audi-e-tron
เรียกว่ามาก่อนแต่ขาดความชัดเจนในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้และรับทราบ จนกระทั่งปี 2561 ทางออดี้ จึงมีความชัดเจนในเรื่องของการใช้ชื่อนี้เพื่อเป็นซับแบรนด์ในการทำตลาดรถยนต์แบบเสียบปลั๊กของตัวเองมากขึ้น จริงอยู่ที่ว่า e-Tron รุ่นแรกที่เปิดตัวออกมาในปี 2561 จะมีหน้าตาที่ดูคล้ายกับผลผลิตพวก SUV ที่มีขายอยู่แล้วอย่าง Q5 หรือ Q7 แต่ทว่าตัวรถได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่บนพื้นตัวถังในรหัส MLB และเป็น SUV ระดับหรูหราที่มีตัวถังขนาด 4,901 มิลลิเมตร พร้อมความสามารถในการขับเคลื่อนระดับ 168 และ 188 แรงม้าจากมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด

หลังจากการเปิดตัว e-Tron ในปี 2561 เหมือนกับเขื่อนที่กักการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ของออดี้ พังทลายลง เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นแบบออดี้ส่งผลผลิตจากซับแบรนด์ e-Tron ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น Q2L e-Tron ที่เป็นเวอร์ชันพลังไฟฟ้าของ Q2 ในปี 2562 ตามด้วย e-Tron Sportback ในปี 2563 e-Tron GT ในปี 2564 และในปีเดียวกันนี้ออดี้ยังมีคิวเปิดตัวรุ่น Q e-Tron ทั้งรุ่นธรรมดา และรุ่นท้ายลาดแบบ Sportback

Audi-Q4_e-tron
แน่นอนว่าเมื่อมีความชัดเจนเช่นนี้ การตอบรับจากลูกค้าย่อมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โรงงานผลิตของ Audi e-Tron ที่เมืองบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เพิ่งจะฉลองครบรอบการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้คันที่ 100,000 ซึ่งถือว่าใช้เวลาเร็วมากเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้นในการทำตัวเลขถึงระดับนี้

ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางในการดำเนินนโยบายที่ถูกต้องของออดี้กับตลาดกลุ่มนี้ และแสดงให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอย่างที่ผู้บริโภคเคยวาดภาพเอาไว้อีกต่อไป

Logo

Audi-RS_e-tron_GT


กำลังโหลดความคิดเห็น