xs
xsm
sm
md
lg

ฮอนด้า Civic ใหม่ vs เก่า เปรียบเทียบจุดต่อจุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฮอนด้า ซีวิค (Honda Civic ) ใหม่ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 11
หลังจากเปิดคันต้นแบบมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ในที่สุดคันจริงของ ฮอนด้า ซีวิค (Honda Civic ) ใหม่ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 11 ของสายพันธุ์ก็เป็นคันจริงพร้อมขายในตลาดแล้ว และแน่นอนว่าแม้นี่จะเป็นเวอร์ชันอเมริกัน แต่ด้วยทิศทางและแนวทางในการทำตลาดของ ฮอนด้า ซีวิค ในช่วง 2 เจนเนอเรชั่นที่ผ่านมา พวกเขาไม่เน้นการแต่งหน้าตาและโครงสร้างตัวถังหลักให้มีความหลากหลายเพื่อสนองความต้องการที่เป็นของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มหรือภูมิภาคอีกต่อไป แต่จะเน้นการทำตลาดด้วยโครงสร้างเดียว แต่อาจจะต่างกันแค่ในเรื่องของรายละเอียดปลีกย่อยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกาและเมืองไทยถือว่ามีความสัมพันธ์กันอยู่ค่อนข้างนานในแง่ของผลผลิตที่เข้ามาขาย เพราะนับจากรุ่นเจนเนอเรชั่นที่ 9 หรือ FB เป็นต้นมา ฮอนด้า ซีวิค ที่ขายในเมืองไทยจะอิงอยู่กับหน้าตาของ ซีวิค ที่ขายอยู่ในสหรัฐอเมริกา เพราะปัจจุบันตลาดญี่ปุ่นไม่ใช่กลุ่มหลักของซีวิคอีกต่อไป เราก็เลยต้องย้ายการอ้างอิงสเป็กและหน้าตามาที่ตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาแทน

เปรียบเทียบด้านหน้า รูปลักษณ์ภายนอก รุ่นใหม่และรุ่นเก่า
ดังนั้น เมื่อเจนเนอเรชั่นที่ 11 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่เปิดตัวออกมา แน่นอนว่าความสนใจของลูกค้าในบ้านเราก็หันเหตามไปทันที เพราะนี่คือ รถยนต์ Compact รุ่นยอดนิยมของลูกค้าชาวไทยที่มีมาตลอด และสำหรับรุ่นใหม่เชื่อว่าบ้านเราก็น่าจะเข้ามาขายในช่วงปลายปี 2564 อย่างเร็วที่สุดอย่างแน่นอน

เชื่อว่าหน้าตาสำหรับรูปลักษณ์ภายนอกและภายในหลักๆ คงจะไม่แตกต่างจากที่เห็นอยู่นี้มากนักเหมือนกับที่เรายึดโฉมของซีวิคในการทำตลาดมาตั้งแต่รุ่น FB และ FK อย่างไรก็ตาม วันนี้มาลองเจาะสเป็ดกและเปรียบกันระหว่างซีวิค รุ่นใหม่ที่ยังไม่มีการยืนยันว่าจะใช้รหัสตัวถังอะไร กับซีวิครุ่นที่แล้ว ซึ่งก็คือรหัส FK ว่ามีความแตกต่างกันตรงไหนบ้าง


ด้ายท้าย ของรุ่นใหม่ และ เก่า
ปีที่เปิดตัว : ซีวิค รุ่นที่ 10 หรือ FK นั้นเปิดตัวออกสู่ตลาดโลกในปี 2558 ส่วนรุ่นใหม่เปิดตัวออกสู่ตลาดครั้งแรกในฐานะของเวอร์ชันอเมริกาหรือเมื่อปลายเดือนเมษายน 2564

ขนาดตัวถัง : อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องแปลกเหมือนกันที่ซีวิค เลือกเปิดตัวออกสู่ตลาดเพียงตัวถังเดียวก่อน ทั้งที่ตามปกติแล้วฮอนด้า มักจะเลือกชูตัวถัง Coupe ให้เป็นพระเอกอยู่เสมอเวลาที่พวกเขาเปิดตัวซีวิค ใหม่ที่เป็นเวอร์ชันสำหรับอเมริกาเหนือ จนตรงนี้เกิดคำถามตามมาว่าซีวิคใหม่จะมีกี่ตัวถัง ?

คำตอบคือ ยังไม่มีการยืนยัน แต่ที่แน่ ๆ ซีดาน 4 ประตูมีขาย ขณะที่แฮทช์แบ็ก 5 ประตูมีตามมาแน่ ๆ หลังจากที่ฮอนด้า เลือกนำตัวถังนี้เข้ามาขายในตลาดทั่วโลกพร้อมกับเปลี่ยนนิยามของ ซีวิค แฮทช์แบ็คในตลาดยุโรปที่เป็นแบบอ้วนๆ สั้นๆ ให้มาเป็นแบบตัวถังยาวที่ดูคล้ายกับฟาสต์แบ็ค แถมฮอนด้า ยังนำตัวถังแฮทช์แบ็คมาเปิดตลาดอเมริกาเหนือด้วย

ด้านข้างของรุ่นใหม่
ดังนั้น คาดว่าตัวถังหลักของซีวิคใหม่ที่จะมีขายในตลาดคือ ซีดาน และแฮทช์แบ็ค ส่วนคูเป้ ตอนนี้ยังมีเครื่องหมายคำถามสำหรับในรุ่นใหม่อยู่

สำหรับมิติตัวถังถือเป็นสิ่งที่หลายคนสนใจและตั้งตารอว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างซีวิค รุ่นเดิมในรหัส FK มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเมื่อนำสเป็กของทั้ง 2 รุ่นที่เป็นเวอร์ชันอเมริกามาเปรียบเทียบนั้น เราจะพบกับความแตกต่างใหญ่ๆ 2 จุดคือ ความยาวที่เพิ่มขึ้นในระดับ 34 มิลลิเมตร แต่นั่นยังไม่น่าแปลกใจเท่ากับระยะฐานล้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 36 มิลลิเมตร และตรงนี้น่าจะส่งผลต่อความกว้างขวางของห้องโดยสารโดยตรงโดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่วางเท้าของเบาะนั่งหลัง ซึ่งที่ผ่านมาคือ จุดเด่นของซีวิค มานับตั้งแต่รุ่น FD หรือเจนเนอเรชั่นที่ 8 ว่ากว้างขวาง และนั่งสบาย


รูปลักษณ์ภายนอก : สำหรับซีวิคใหม่ได้รับอิทธิพลในการออกแบบที่ปรากฏออกมาผ่านทางรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่เปิดตัวออกมาก่อนหน้านี้ เช่นแอคคอร์ด และซิตี้ ซึ่งมีความเด่นอยู่ที่ด้านหน้าซึ่งเป็นการออกแบบให้ฝากระโปรงหน้าและกระจังหน้ามีลักษณะที่เชื่อมกันและดูเหมือนมีความนูนสูงขึ้นมา ขณะที่ตัวถัง 4 ประตูยังได้รับอิทธิพลของการออกแบบในสไตล์ 4 ประตูท้ายสั้นแถมด้วยช่องกระจกตรงเสาหลัง หรือ C-Pillar เหมือนกับที่เคยใช้อยู่ในรุ่นที่แล้ว ซึ่งทำให้ตัวรถดูปลอดโปร่งและสปอร์ตขึ้น


ห้องโดยสารภายใน : นับจากเจนเนอเนชั่นที่ 8 เป็นต้นมาฮอนด้าพยายามนำเสนอรูปแบบของการใช้มาตรวัดในแบบดิจิตอลมาโดยตลอด เพียงแต่ในรุ่นที่ 8 และ 9 รวมถึง 10 ยังเป็นแบบ Analog ที่ผสมกับ Digital ในการแสดงผลอยู่ในอัตราส่วนมากบ้างน้อยบ้างตามความใหม่ที่เจนเนอเรชันรุ่นนั้น ๆ เปิดตัวออกมา จนกระทั่งพวกเขามาประสบความสำเร็จในการก้าวข้ามจากยุคแบบก้ำกึ่งมาสู่การแสดงผลในแบบดิจิตอลอย่างเต็มตัวผ่านหน้าจอ LCD ขนาดใหญ่ที่มีขนาด 10.2 นิ้ว ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นมาตรวัดในการแสดงผลทั้งความเร็ว และรอบเครื่องยนต์ โดยที่ยังมีหน้าจอขนาด 7 นิ้วในการเป็นหน้าจอ Infotainment การควบคุมและแสดงผลการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในรถยนต์


เรื่องของแนวทางการออกแบบฮอนด้ายังยึดมั่นกับคอนเซ็ปต์ MM หรือ Man Maximum / Machine Minimum รวมถึงการออกแบบเพื่อให้ผู้ขับขี่โฟกัสอยู่ในจุดที่เอื้อต่อการควบคุมตัวรถ เพื่อความปลอดภัย และการบังคับรถยนต์ได้อย่างยอดเยี่ยม ส่วนสีสันของการตกแต่งในห้องโดยสาร สำหรับเวอร์ชันอเมริกันจะมีสีให้เลือกถึง 8 สี รวมถึงยังมีเครื่องเสียงระดับเทพด้วยชุดเครื่องเสียงพร้อมลำโพง 12 ตัวจาก Bose

ภายในซีวิค รุ่นใหม่
เครื่องยนต์ : สำหรับเวอร์ชันอเมริกาจะทำตลาดด้วยกัน 2 รุ่นสำหรับเวอร์ชันมาตรฐาน นั่นคือ เครื่องยนต์ 2,000 ซีซีแบบ 4 สูบ 158 แรงม้า ที่ 6,500 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 19.1 กก.-ม. ที่ 4,200 รอบ/นาที และมาพร้อมกับระบบ Idle-Stop ซึ่งจะหยุดการทำงานของเครื่องยนต์เมื่อจอดติดอยู่กับที่ และมีการปรับปรุงแคตาไลติก คอนเวอร์เตอร์ใหม่เพื่อช่วยลดมลพิษ ส่วนอีกรุ่นคือ 4 สูบ 1,500 ซีซี เทอร์โบ ที่มีการปรับกำลังขยับขึ้นเป็น 180 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที (+6 แรงม้า) และแรงบิดสูงสุด 24.4 กก.-ม. ที่ 1,700-4,500 รอบ/นาที (+2.07 กก.-ม.) และส่งกำลังด้วยเกียร์ ทั้ง 2 รุ่นส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่องหรือ CVT และไม่มีรุ่น 1,800 ซีซีเหมือนกับเมืองไทย


สำหรับเมืองไทย คาดว่าเครื่องยนต์ที่ทำตลาดน่าจะเหมือนกับรุ่นที่แล้วคือ เริ่มต้นที่เครื่องยนต์ 1,800 ซีซี และมีรุ่น 1,500 ซีซีเทอร์โบเป็นรุ่นท็อป เพียงแต่กำลังขับเคลื่อนจะขยับขึ้นตามไหมต้องรอดูกันต่อไป

ภายในของซีวิค รุ่นเก่า
ระบบความปลอดภัย : รุ่นใหม่-จะมาพร้อมระบบความปลอดภัย Honda Sensing เหมือนกับรุ่นที่แล้ว โดยเพิ่มกล้องจับภาพมุมกว้างด้านหน้าใหม่ ทำงานร่วมกับระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ (Traffic Jam Assist) และระบบเบรกอัตโนมัติในความเร็วต่ำ (Low Speed Braking Control) เวอร์ชั่นใหม่ การออกแบบถุงลมนิรภัยคู่หน้าใหม่เพื่อลดความรุนแรงของการบาดเจ็บทางสมอง และคอ หากเกิดอุบัติเหตุ โดยเป็นครั้งแรกที่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้างสำหรับผู้โดยสารด้านหลังอีกด้วย

ด้านข้างของรุ่นเก่า
รุ่นเก่า-เปรียบเทียบกับรุ่นท็อปในรหัส RS นั้น ระบบ Honda Sensing มาครบในตอนที่เปิดตัว ประกอบด้วยระบบเตือนการชนรถและคนเดินถนนพร้อมระบบช่วยเบรก (CMBS), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (LKAS), ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ (RDM with LDW), ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (AHB), ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันพร้อมระบบปรับความเร็วตามรถยนต์คันหน้าที่ความเร็วต่ำ (ACC with LSF)


กำลังโหลดความคิดเห็น