xs
xsm
sm
md
lg

แอสตัน มาร์ติน DBS Superleggera เจาะลึกที่สุดแห่งสายจีที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชื่อของ แอสตัน มาร์ติน เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในฐานะรถยนต์แบรนด์หรูสไตล์สปอร์ตจากประเทศอังกฤษ ซึ่งหลายคนรู้จักแบรนด์นี้จากการเป็นพาหนะคู่ใจของหนังสายลับเรื่องดังอย่าง เจมส์ บอนด์ 007 ด้วยภาพลักษณ์ดังกล่าวที่แบรนด์ผูกติดอยู่กับซีรีส์หลากหลายตอนทำให้บางครั้งเป็นเรื่องยากในการสร้างสรรค์แบรนด์ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้นเมื่อแยกไม่ได้ แอสตัน มาร์ติน จึงเลือกเดินไปให้สุด ด้วยการนำรถทุกรุ่นไปปรากฏตัวในหนังภาคใหม่ที่กำลังจะออกฉายเร็วๆ นี้


สำหรับเรือธงของค่ายนี้ในสายการผลิตปกติ คือ รุ่นดีบีเอส ซูเปอร์เลจเจรา (DBS Superleggera) คันนี้เราได้เคยทดลองขับมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อคราวที่ไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถยนต์แอสตัน มาร์ติน ที่ประเทศอังกฤษ ส่วนวันนี้เป็นครั้งแรกที่ ดีบีเอส มีรถมาให้ลองขับในประเทศไทย ทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง จึงไม่พลาดขอลองขับอีกสักครั้ง


V12ของแรง กับตัวถังเบา

การมีคำต่อท้ายว่า ‘ซูเปอร์เลจเจรา’ (Superleggera) นั้นมากจากภาษาอิตาเลียน ตรงกับคำว่า Superlight ในภาษาอังกฤษ อันหมายความถึงการผลิตตัวถังให้มีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ เอกลักษณ์ของสำนัก ‘Touring’ ผู้ผลิตรถยนต์อิตาเลียนระดับตำนาน ซึ่ง แอสตัน มาร์ติน หยิบเอามาใช้เนื่องจาก ดีบีเอส คันนี้มีความพิเศษในเรื่องของน้ำหนักตัว

ด้วยโครงสร้างตัวถังอะลูมิเนียมผสมผสานกับการใช้คาร์บอนไฟเบอร์ ทำให้ ดีบีเอส มีความกว้างและบึกบึนกว่า แอสตัน มาร์ติน รุ่นอื่นๆ ทุกรุ่น แต่ในด้านของน้ำหนักของตัวรถแล้วยังเบากว่ารุ่น ดีบี11 ถึง 30 กิโลกรัม และสามารถเบาที่สุดได้มากกว่าถึง 70 กิโลกรัม เมื่อติดตั้งออปชันหลังคาคาร์บอนไฟเบอร์และอุปกรณ์ชิ้นอื่นแบบครบชุด


กระจังหน้ามากับดีไซน์รูปทรง 6 เหลี่ยม ส่วนฝากระโปรงหน้าทำจากคาร์บอนไฟเบอร์พร้อมช่องระบายอากาศ ช่วยลดน้ำหนักและระบายความร้อนจากห้องเครื่องยนต์ โดยมีการออกแบบการเปิดแบบพิเศษเพื่อลดแรงต้านของอากาศและการปิดด้วยระบบดูดไม่ต้องออกแรงปิด

ตัวถังด้านข้างถูกเจาะช่องระบายอากาศบริเวณซุ้มล้อหน้า เพื่อรีดอากาศให้สร้างแรงกดที่ด้านหน้าแทนการสร้างแรกยก พร้อมจัดเรียงอากาศให้ไหลผ่านตัวถัง สู่สปอยเลอร์หลังคาร์บอนไฟเบอร์ Aeroblade IITM ทำงานร่วมกับดิฟฟิวเซอร์ 2 ชั้น สร้างแรงกดได้มากที่สุดถึง 120 กิโลกรัมในช่วงความเร็วสูง
















หัวใจมากับเครื่องยนต์เบนซิน วี12 สูบ 5.2 ลิตร ทวินเทอร์โบ กำลังสูงสุด 715 แรงม้า (bhp) แรงบิดสูงสุด 900 นิวตันเมตร สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของรถในสายการผลิตปกติของ แอสตัน มาร์ติน โดยเป็นเครื่องยนต์ที่ทีมงานของแอสตัน มาร์ตินในไทยยืนยันว่าเป็นเทคโนโลยีการผลิตของแอสตัน มาร์ตินเอง


ระบบส่งกำลังเลือกคบหากับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ของ ZF ที่มีอุโมงค์เพลาส่งกำลังติดตั้งแบบพิเศษ ซึ่งมีน้ำหนักเบา ด้านสมรรถนะอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เคลมไว้ภายใน 3.4 วินาที ความเร็วสูงสุด 340 กม./ชม.




การออกแบบภายใน เน้นในเรื่องของความประณีตในการเลือกวัสดุและการตัดเย็บ เช่น พวงมาลัยหุ้มหนังอัลคันทารา พร้อมแพดเดิลชิฟท์แบบก้านยาวช่วยให้การเปลี่ยนเกียร์เป็นเรื่องง่าย ระบบอินโฟเทนเมนต์และระบบนำทางด้วยดาวเทียม แสดงข้อมูลผ่านจอทีเอฟทีขนาด 8 นิ้ว ที่ให้ผู้ขับขี่สามารถสั่งการผ่านทัชแพด, เสียง หรือการเคลื่อนไหวได้อีกด้วย

ระบบช่วงล่างมาพร้อมโช้กอัพปรับความหนืดอัตโนมัติ ADS (Adaptive Damping System) พร้อมจานเบรกคาร์บอนเซรามิก ขนาดหน้า 410 มิลลิเมตร หลัง 360 มิลลิเมตร เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน จับคู่กับล้อแม็กฟอร์จขอบ 21 นิ้ว และยางพิเรลลี่ P Zero หน้า 265/35/21 หลัง 305/30/21




ขับสั้นแต่ได้ความมันส์เต็มร้อย

การขับเป็นครั้งที่ 2 ในประเทศไทยของเรา ทีมงานแอสตัน มาร์ติน แบงกอก เลือกใช้เส้นทางวิ่งวนเป็นวงกลมบนทางด่วนโดยมีการวิ่งพื้นถนนปกติเพียงเล็กน้อย เพื่อให้เราได้ลองสมรรถนะแบบเต็มที่สุดเท่าที่สภาพการจราจรจะเอื้ออำนวย

ความรู้สึกแรกคือการย้อนกลับไปรำลึกถึงเมื่อคราวได้ลองขับที่ประเทศอังกฤษราว 2 ปีก่อนเปรียบเทียบกัน แน่นอนว่าอาจจะทำไม่ได้ทั้งหมด แต่มีบางส่วนที่จำแม่นยำมาก คือ จังหวะคิกดาวน์ ครั้งนั้นเราได้ลองทำดับเบิลคิกดาวน์ แล้วบอกได้คำเดียวว่า เหวอมากจากแรงดึงมหาศาลที่ทำให้ท้ายมีอาการปัดให้สะดุ้ง แต่ควบคุมอยู่มือ


คราวนี้ด้วยการมีทีมงานนั่งไปด้วย เราจึงทำได้เพียงแค่ลองคิกดาวน์ปกติแบบตั้งใจ พบว่าก็มีอาการท้ายปัดออกเล็กน้อยให้รู้สึกได้ ไม่ถึงกับเหวอขนาดนั้น ซึ่งทีมงานบอกว่าสิ่งนี้คือความตั้งใจของวิศวกร แอสตัน มาร์ติน เพื่อทำให้รถมีบุคลิกโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ตรงจุดนี้ขอยอมรับว่าทีมวิศวกร แอสตัน มาร์ติน ทำได้ประทับใจเรามาก

การได้ลองขับบนทางด่วนแม้จะเป็นระยะทางสั้นๆ ใช้เวลาไม่นานราว 20 กว่านาที เพียงพอที่จะช่วยให้รับรู้ได้ถึงพละกำลังที่เหลือเฟือ ความต่อเนื่องไหลลื่นของระบบส่งกำลังตอบสนองทันใจในทุกย่านความเร็ว แต่หากให้เทียบกับความรู้สึกของการขับเวอร์ชันอังกฤษ ขอบอกตามตรงว่าเหมือนคันที่อังกฤษจะแรงกว่า


ส่วนสิ่งที่เหมือนกันแบบไม่ต้องสงสัย คือ เสียงของท่อไอเสีย คำรามในแบบฉบับของซูเปอร์คาร์ แต่จะแตกต่างกันที่โทนเสียง แค่เพียงปรับโหมดการขับในตัวรถเสียงของท่อก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ขึ้นอยู่กับคุณชอบเสียงของสปอร์ตสไตล์อังกฤษ หรืออิตาลี หรือเยอรมนี คำตอบตรงนี้แล้วแต่คุณ




ระบบช่วงล่างของดีบีเอส ซูเปอร์เลจเจรา เกาะถนนหนึบและดูดซับแรงสะเทือนได้ดีกว่ารถซูเปอร์คาร์รุ่นอื่นๆ รวมถึงรุ่นเล็กกว่าอย่างแวนเทจ และดีบี11 เรียกว่า ขับแล้วให้ความรู้สึกสบายและไม่ล้าในการเดินทาง กลายเป็นรถที่สามารถขับทุกวันได้อย่างสบายใจ

ไฮไลต์สำคัญที่ทำให้เรายอมจ่ายเงินขนาดนี้ คือ การได้ขับด้วยความเร็วทีเกินกว่า 140 กม./ชม.ขึ้นไป คุณจะได้ทราบถึงสมรรถนะที่แท้จริงของการเป็นซูเปอร์คาร์ในระดับที่ใกล้การได้เป็นไฮเปอร์คาร์ แต่การลองที่เมืองไทยคราวนี้เราไม่มีถนนให้ได้ลองแบบนั้น แต่ขอบอกไว้ตรงนี้ว่า จากที่ได้เคยลองมาแล้วที่อังกฤษ ความเร็วระดับ 200 กม./ชม. คือสิ่งที่ ดีบีเอส ทำได้ไม่น้อยหน้าไฮเปอร์คาร์


หัวใจสำคัญของสมรรถนะลักษณะดังกล่าวมาจากเครื่องยนต์ V12 ตัวนี้ ที่เราขอย้ำเรื่องความลับบางอย่างอีกครั้งที่เรียกว่า off record เพราะสิ่งนี้คือเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดมาจากไฮเปอร์คาร์ตัวดังระดับตำนานรุ่นหนึ่งของโลกยานยนต์นั่นเอง

สุดท้ายการตัดสินใจเป็นเจ้าของดีบีเอส ซูเปอร์เลจเจรา นั้นคงไม่ใช่เรื่องของความคุ้มค่า แต่เป็นการตอบสนองความต้องการของหัวใจและการแสดงให้บุคคลอื่นเห็นว่าคุณคือคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต


เหมาะกับใคร

หากมองในมุมนักลงทุน ดีบีเอส ซูเปอร์เลจเจรา ถือเป็นหนึ่งในรถที่น่าสะสม มีโอกาสในการขยับราคาขึ้นได้ในอนาคตเพราะจำนวนรถที่ผลิตน้อย และเมื่อเวลานั้นมาถึง 28.9 ล้านบาท อาจจะเป็นตัวเลขที่น้อยเกินกว่าจะได้เป็นเจ้าของดีบีเอสคันนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น