บีเอ็มดับเบิลยู พร้อมรบเตรียมทัพรถยนต์ใหม่อวดโฉมตลอดทั้งปี เติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคให้ครบทุกเซกเมนท์ ชูจุดเด่นเงื่อนไขทางการเงินที่หลากหลายทำให้เป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น มุ่งหน้าทำตลาดดิจิตอลมากขึ้น
อเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปี 2563 บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดรถยนต์หรูในประเทศไทยได้ ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ด้วยทางเลือกที่หลากหลายจากแนวคิด Power of Choice ซึ่งสามารถทำให้ฟันฝ่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากมายมาได้
“แน่นอนว่าสำหรับปี 2564 นี้ เรายังคงรุดหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อยอดความสำเร็จในฐานะผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดรถยนต์พรีเมียม ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เร้าใจยิ่งกว่าเดิม เช่นการเปิดตัวรถใหม่พร้อมกัน 4 รุ่น ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทั้งยังเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าอย่างทั่วถึงทุกความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความหรูหราสง่างามในสไตล์สปอร์ต ไปจนถึงความตื่นตาตื่นใจจากสนามแข่งและความเพลิดเพลินจากการดื่มด่ำบรรยากาศของการเดินทาง”
นอกจากนั้น กลยุทธ์สำคัญของปีนี้จะเน้นสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าต่อไป เพื่อสานต่อนวัตกรรมมากมายที่จะเกิดขึ้นจากการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ให้ครอบคลุมหลากหลายความสนใจของกลุ่มลูกค้า โดยเริ่มต้นจากโครงการ BMW Motorrad Tour Experience ที่จะนำเหล่าไบค์เกอร์ออกสัมผัสความสวยงามจากเหนือจรดใต้ของประเทศไทยในมุมมองใหม่ ๆ ตลอดทั้งปีนี้
รักษาระดับยอดขาย มุ่งดิจิตอล
ภาพรวมตลาดโลกปีที่ผ่านมา บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำระดับโลกในตลาดรถยนต์พรีเมียมอย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดการส่งมอบรถยนต์ บีเอ็มดับเบิลยู มินิ และโรลส์-รอยซ์ รวมทั้งหมด 2,324,809 คันทั่วโลก ขณะที่ยอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 31.8% จากปีก่อนหน้า ด้วยยอดส่งมอบรวม 192,646 คันจากบีเอ็มดับเบิลยูและมินิ สะท้อนถึงความต้องการด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก ด้านบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ก็สร้างสถิติการเติบโตด้วยยอดส่งมอบรถมอเตอร์ไซค์และสกูตเตอร์ทั้งหมด 169,272 คัน
สำหรับตลาดเมืองไทยในปี 2563 บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย สามารถขยายส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มรถยนต์พรีเมียมขึ้นมาที่ 51.2% ด้วยยอดการส่งมอบรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูและมินิรวมถึง 12,426 คัน ทำให้บริษัทก้าวขึ้นสู่อันดับหนึ่งในเซกเมนต์ดังกล่าวได้สำเร็จ และมีส่วนแบ่งตลาดพรีเมียมเติบโตขึ้นถึง 7.3% นับเป็นสถิติอัตราการเติบโตสูงสุดในเครือข่ายของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ทั่วโลกอีกด้วย
ยอดการส่งมอบรถยนต์ทั้งสองแบรนด์นับว่าเป็นผลงานที่สวนทางกับภาพรวมของตลาดรถยนต์นั่ง ซึ่งมียอดขายลดลงถึง 31% ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ยังคงรักษาระดับยอดการส่งมอบไว้ได้ที่ 1,224 คัน
“สถานะผู้นำในเซกเมนต์พรีเมียมของเรา ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความรวดเร็วของเราในการปรับตัวรับมือเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย และความมุ่งมั่นทุ่มเทของเหล่าพันธมิตรในเครือข่ายผู้จำหน่ายของเรา เพื่อตอบสนองต่อทั้งความต้องการของลูกค้าและปัจจัยความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก” บารากา กล่าวเสริม
สำหรับแผนการทำตลาดมีการปรับเน้นช่องทางดิจิทัลให้กว้างขวางขึ้นจากปีก่อน ควบคู่ไปกับการจัดแสดงรถยนต์หน้างานจริงและข้อเสนอพร้อมเงื่อนไขทางการเงินที่หลากหลายรูปแบบ เช่นเดียวกับงาน BMW Xpo ได้ปรับรูปแบบให้ใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้นด้วยการจัดงานในหลายสถานที่ทั่วกรุงเทพฯ
รถยนต์พลังงานทดแทนยังเป็นธงนำ
การขับเคลื่อนนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ทั่วโลก ยังคงเดินหน้าต่อไป เช่นเดียวกับในประเทศไทยด้วยการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบอย่าง มินิ คูเปอร์ เอสอี ในปีที่ผ่านมา พร้อมด้วยรถยนต์ PHEV อีกสี่รุ่นในตระกูลซีรีส์ 3 ซีรีส์ 7 X3 และ X5 ซึ่งมีสัดส่วนการขายมากกว่า 30% โดยในปีนี้จะยังคงมีแผนการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ ChargeNow มีจำนวนหัวจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 111 หัวจ่ายใน 67 จุดบริการทั่วประเทศ
โรงงานผลิตพร้อม-ส่งออกฉลุย
ในด้านการผลิต บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย สามารถต้านทานแรงกดดันจากสภาพตลาดรถยนต์โดยรวม รวมถึงสถานการณ์ขาดแคลนชิ้นส่วนต่าง ๆ ด้วยยอดการประกอบรถยนต์และมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยูรวมกว่า 32,052 คัน เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นยอดการประกอบรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู 23,177 คัน ลดลง 10% และยอดประกอบมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราดที่ 8,875 คัน เพิ่มขึ้น 43%
ปีที่ผ่านมาในด้านการส่งออกมีการส่งออกรถยนต์และมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู รวม 23,143 คัน เพิ่มขึ้นถึง 24% โดยแบ่งเป็นรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูกว่า 15,079 คัน เพิ่มขึ้น 3% และมีการส่งออกมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด กว่า 8,064 คัน เพิ่มขึ้นถึง 97% นับเป็นสถิติการส่งออกที่สูงที่สุดสำหรับทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู
ส่วนปีนี้ การเปิดตัว บีเอ็มดับเบิลยู X7 xDrive30d M Sport ใหม่ รุ่นประกอบในประเทศ ทำให้โรงงานประกอบยานยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยู ณ จังหวัดระยอง สามารถประกอบรถยนต์และมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยูในประเทศได้ถึง 17 รุ่น โดยรวมถึงรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด 5 รุ่น และมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด อีก 9 รุ่น
เงื่อนไขทางการเงินสนับสนุน
บีเอ็มดับเบิลยู ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ประเทศไทย ยังคงให้การสนับสนุนด้านการขายอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งเป็นสถิติใหม่ในหลายด้านตลอดปีที่ผ่านมา มียอดสินเชื่อใหม่กว่า 16,770 ล้านบาทในปี 2563 นับเป็นสถิติสูงสุดของบริษัท แม้จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากโควิด-19
ด้วยเหตุนี้ ยอดสินเชื่อรวมในพอร์ตของบริษัทจึงทะยานสู่หลัก 50,500 ล้านบาท นับเป็นสถิติใหม่อีกเช่นกัน ส่วนโปรแกรมทางการเงินอย่าง Freedom Choice ที่มอบทางเลือกและอิสรภาพสูงสุดให้กับลูกค้า มีจำนวนสัญญาเช่าซื้อเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ขณะที่ประสบการณ์และข้อเสนอในช่องทางดิจิทัลของ บีเอ็มดับเบิลยู ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ประเทศไทย ได้ขยายตัวและเพิ่มความหลากหลายขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในรูปแบบของบริการค้นหารถยนต์ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ที่สุด (Preference Finder) การสัมผัสรถบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 2 และ ซีรีส์ 3 แบบเสมือนจริงผ่านระบบ Augmented Reality และการร่วมนำเสนอบริการผ่านช่องทางออนไลน์ในงานมอเตอร์โชว์และมอเตอร์ เอ็กซ์โป กับบีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย ทำยอดสินเชื่อเติบโตขึ้นดังที่กล่าวมาทั้งหมด
ถึงบรรทัดนี้ มองเห็นความพร้อมของบีเอ็มดับเบิลยูในตลาดเมืองไทยแล้ว เชื่อมั่นได้เลยว่าการแข่งขันของตลาดรถยนต์หรูจะต้องดุเดือดกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ส่วนผลประโยชน์จากการแข่งขันนั้นย่อมตกอยู่กับผู้บริโภคอย่างไม่ต้องสงสัยด้วยเช่นเดียวกัน