ปอร์เช่เริ่มต้นโครงการรถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขาในชื่อPorsche Mission E ซึ่งการเผยโฉมอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นครั้งแรกที่งาน“แฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์” ในปี2015ก่อนที่ในปี2019 เวอร์ชันขายจริงจะปรากฏตัวพร้อมกับชื่อรุ่นว่าไทคานน์ (Taycan) มีที่มาจากภาษาตุรกี โดยมีความหมายว่าม้าหนุ่มที่มีความร่าเริง ซึ่งตรงกับโลโก้ของปอร์เช่นั่นเอง
ก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการยอดจองของ ไทคานน์ มีการเปิดเผยว่า อยู่ในระดับมากกว่า20,000 คัน และทันทีที่ตัวจริงออกสู่สายตาชาวโลกยอดจองพุ่งทะลุ50,000 คันในเวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ส่วนประเทศไทยก่อนการเปิดตัวมียอดจองจากตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการราว 70 คัน จนถึงเวลานี้มียอดมากกว่า200 คันเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นหากคุณจองวันนี้ บอกได้เลยว่าต้องรอรถประมาณ1 ปี
สำหรับการทำตลาดในเมืองไทย เอเอเอส ออโต้เซอร์วิส ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการนำเข้ามาทำตลาดแบบครบถ้วนทุกรุ่นย่อย โดยในคราวนี้ทีมงานปอร์เช่ เปิดโอกาสให้เราได้ทดลองขับ ไทคานน์ รุ่นเทอร์โบ แบบเต็มพิกัดหนึ่งวัน ไปชมกันว่าเจ้าม้าผู้ร่าเริงนี้เป็นอย่างไรบ้าง
หรูหรา แรง ล้ำโลก
เริ่มต้นกันที่เรื่องราวของเทคโนโลยีที่ปอร์เช่คิดค้นและนำมาใช้งานกับเจ้าไทคานน์เป็นรายแรก นั่นคือการนำเอาเทคโนโลยีแรงดันไฟฟ้า800 โวลต์ มาใช้แทนระบบแรงดันไฟฟ้า400 โวลต์ ที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปในรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อต่างๆ รวมถึงรถยนต์ไฮบริดด้วย ที่โดยปรกติจะใช้แรงดันตั้งแต่320-380 โวลต์ แล้วแต่เทคโนโลยีของแต่ละแบรนด์
การหันมาใช้เทคโนโลยีแรงดัน800 โวลต์ มีเหตุผลสำคัญคือทำให้การชาร์จมีระยะเวลาสั้นลง โดยสามารถชาร์จจาก5-80% ใช้เวลาเพียง22.5 นาที เมื่อชาร์จด้วยชุดเครื่องชาร์จแบบเร็ว (DC) โดยในประเทศไทยมีติดตั้งพร้อมให้บริการแล้ว ที่ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของปอร์เช่ โชว์รูม วิภาวดี2 หัวชาร์จ และที่ โชว์รูมพัฒนาการ1หัวชาร์จ โดยช่วงแรกยังเปิดให้ชาร์จได้ฟรี สำหรับลูกค้าที่ซื้อรถกับเอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส เท่านั้น
ด้านสมรรถนะ ไทคานน์ มีให้เลือก3 พิกัดความแรง เริ่มต้นที่รุ่นท็อปสุด เทอร์โบ เอส ตัวแรงที่สุด พิกัดกำลังสูงสุด761 แรงม้า แรงบิด1050 นิวตันเมตร รองลงมาเป็นรุ่น เทอร์โบ ที่เราได้ขับในคราวนี้ กำลังสูงสุด680 แรงม้า อีกหนึ่งรุ่นคือ4เอส กำลังสูงสุด530 แรงม้า และสามารถเพิ่มกำลังเป็น571 แรงม้าได้หากติดตั้งชุดPerformance Battery Pack ซึ่งจะมีขนาดแบตเตอรี่ 93.4 กิโลวัตต์ เท่ากับรุ่นเทอร์โบและเทอร์โบ เอส
สำหรับระยะทางการวิ่งสูงสุดของรุ่นเทอร์โบ ที่เราขับในคราวนี้คือ450 กิโลเมตร ส่วนความเร็วสูงสุดคือ260 กม./ชม. และสิ่งที่เป็นจุดเด่นที่สุดคือ อัตราเร่ง0-100 กม./ชม. ใช้เวลาเพียง3.2 วินาที
การออกแบบตัวถังภายนอกยังคงเอกลักษณ์ดีเอ็นเอความเป็นสปอร์ตเอาไว้ในทุกอณู ด้านหน้ามากับไฟLED แบบ4 ดวงที่ถือว่าโดดเด่นที่สุด ด้านท้ายไฟทรงยาวตลอดทั้งฝากระโปรงท้าย โดยทรงหลังคาเป็นหลังคาแก้วขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ ส่วนท้ายลาดลงเพื่อความลู่ลมตามหลักอากาศพลศาสตร์ มือจับเป็นแบบซ่อนเก็บ เมื่อรถล็อกและจะกางออกมาเมื่อผู้ที่ถือกุญแจเดินเข้ามาใกล้รถ
ส่วนภายในมากับดีไซน์ใหม่ที่ให้ครบทั้งความหรูหรา สะดวกในการใช้งาน และความรู้สึกเหมือนอยู่ในห้องคอบคุมอากาศยาน โดยหน้าปัดมีขนาดใหญ่ถึง16.8 นิ้วที่มีการแสดงผลอย่างครบถ้วน หน้าจอกลางด้านบนขนาด10.9 นิ้ว ควบคุมฟังก์ชันต่างๆ ด้วยPCM (Porsche Communication Management) รูปแบบใหม่ ที่มีทั้งระบบความบันเทิงและระบบนำทางแบบออนไลน์ รวมอยู่ด้วยกัน
ขณะที่คอนโซลกลางตรงกลางจะเป็นจอสัมผัสขนาด 8.4นิ้ว ที่มี Menu Bar สามารถควบคุมระบบนำทาง, เชื่อมต่อโทรศัพท์ Apple CarPlay รวมถึงการสั่งการเปิด-ปิดฝาที่ชาร์จแบตเตอรี่ โดยสามารถแสดงสถานะของการชาร์จไฟและแบตเตอรี่ได้อย่างครบถ้วนทั้งนี้รายละเอียดปลีกย่อยของไทคานน์นั้นมีหลากหลายฟังก์ชันมากมาย ฉะนั้นถ้าจะให้บรรยายหมดเนื้อที่คงไม่พอจึงขอคัดมาเฉพาะจุดที่โดดเด่นเป็นพิเศษเท่านั้น
แรงกว่าซูเปอร์คาร์
สำหรับสมรรถนะในการขับขี่ของไทคานน์ ส่วนตัวเราได้เห็นข้อมูลเบื้องต้นทั้งจากสื่อต่างประเทศและการจำลองอัตราเร่งในงานแสดงรถยนต์ “แฟรงเฟิร์ต ออโต้ โชว์” เมื่อปี2019 ที่เป็นการโชว์ตัวครั้งแรกของไทคานน์ ที่แสดงให้เห็นว่ามีการออกตัวที่เร็วกว่า หลายสิ่งอย่างเช่น เครื่องบินเจ็ท เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อได้มาลองขับคันจริง บนถนนจริงในเมืองไทย สิ่งแรกที่เราลองทำคือ การลองออกตัวแบบคิกดาวน์ เนื่องจากอยากทราบความรู้สึกว่าเป็นอย่างไร ผลลัพธ์คือคำเดียวสั้นๆว่า“เหวอ” มันคือแรงดึงหลังติดเบาะชนิดที่ไม่เคยพบในรถคันใดมาก่อนตลอดการขับรถยนต์ทุกคันในชีวิตของผู้เขียน ซึ่งมีทั้งซูเปอร์คาร์ระดับราคา20-30กว่าล้านบาทแรงดึงที่ว่านั้น ไม่เพียงแค่ทำให้ฮอร์โมนอดีนาลีนหลั่งไหลพรั่งพรูออกมา แต่ยังสร้างความสุขและความสนุกในการขับ รวมถึง ไม่ต้องกังวลว่ารถจะเสียหลัก ตราบใดที่ล้อของคุณยังตั้งอยู่ในแนวตรง
เราได้หาสถานที่ปิดปลอดภัยไร้ซึ่งรถคันอื่น ทดลองออกตัวลักษณะนี้อีกหลายครั้งโดยบางครั้งลองแบบล้อเอียง (หักเลี้ยวนิดๆ) ดูบ้าง พบว่ามีอาการเหมือนจะเสียการทรงตัวเล็กน้อย แต่ด้วยระบบช่วยเหลือทำให้สามารถนำรถกลับสู่การควบคุมได้เพียงแค่จับพวงมาลัยให้อยู่ในแนวตรง ไม่ต้องห่วงแต่ประการใด เว้นเสียแต่ว่าคุณจะตกใจจนไม่สามารถกำพวงมาลัยให้อยู่ในแนวตรงได้
ที่เขียนเช่นนี้ มิใช่ว่า อยากให้ทุกคนนำไปทดลองทำ แต่เชื่อว่าทุกท่านที่เห็นคลิปจะต้องอยากทำและอยากสัมผัสประสบการณ์เช่นว่านี้ เราจึงต้องกล่าวถึงก่อนเป็นลำดับแรก เพราะหากคุณตกใจ จนทำให้รถนั้นเสียอาการ ไม่ว่าระบบจะดีมากเพียงใด ก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือคุณได้ ดังนั้นขอให้ตั้งสติและประเมินทักษะของตัวเองก่อนจะลองขับในลักษณะเช่นว่านี้
นอกจากความโดดเด่นในเรื่องของอัตราเร่งแล้ว ระบบช่วงล่างเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขอใช้คำว่า“ยอดเยี่ยม” สมกับการเป็นรถที่มีDNA ของม้าหนุ่มแห่งเมืองสตุทการ์ท ด้วยหลักการทางวิศวกรรมที่ปอร์เช่คำนึงถึงเรื่องของการกระจายน้ำหนักเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้รถยนต์ทุกคันนั้นมีการขับขี่ที่สมดุล ทำให้การทรงตัวกลายเป็นจุดเด่นที่สุดของรถปอร์เช่ทุกรุ่น
โดยเฉพาะ ไทคานน์ ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้ามีปัญหาใหญ่ในเรื่องนี้คือ แบตเตอรี่ จะมีน้ำหนักมาก ทำให้การวางตำแหน่งและการเลือกใช้ระบบกันสะเทือนจึงต้องมีการออกแบบเป็นพิเศษใหม่ทั้งหมด นำมาซึ่งผลลัพธ์ของการขับขี่ที่ได้ทั้งความนุ่มนวลแบบหรู และสมรรถนะการเกาะถนนที่เยี่ยมไม่ต่างจากรถสปอร์ตระดับซูเปอร์คาร์
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปอร์เช่ ไทคานน์ ตอบสนองได้ดีมาจากการเลือกใช้มอเตอร์ไฟฟ้า2 ชุด ตัวแรกติดตั้งเพื่อขับล้อคู่หน้าและอีกชุดเพื่อขับล้อหลัง ทำให้ ไทคานน์ กลายเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา ซึ่งจะโดดเด่นในเรื่องของการเกาะถนนมากกว่ารถขับเคลื่อนสองล้อ โดยรุ่นขับเคลื่อนสองล้อหลัง ใหม่ล่าสุด เปิดตัวในตลาดโลกเรียบร้อย
การขับขี่แบบใช้งานทั่วไปในเมือง ขอใช้คำว่า ขับง่าย คล่องตัว เหมือนการขับรถซีดานทั่วๆ ไป การตอบสนองคันเร่งปกติ (เพียงแค่คุณไม่กระแทกคิกดาวน์) และเบรกเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ต้องชื่นชมว่าสามารถหยุดความแรงของ ไทคานน์ ได้อย่างอยู่หมัด ด้วยเบรกหน้าแบบ6 พอร์ต จะห่วงเพียงอย่างเดียวคือ กลัวมอเตอร์ไซค์หรือคนเดินมาชน เนื่องจากไม่มีเสียงของเครื่องยนต์ดังให้ได้ยินภายนอกรถ
เมื่อกล่าวถึงเรื่องของเสียง ไทคานน์ ภายนอกจะเงียบมาก ส่วนภายในห้องโดยสารแท้จริงแล้วก็เงียบเช่นเดียวกัน แต่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารจะได้ยินเสียงเวลาที่กดคันเร่ง เหมือนเสียงของรถในภาพยนตร์ไซไฟ ตามน้ำหนักในการกดคันเร่ง นั้นเป็นเพราะ ระบบเสียงสังเคราะห์ที่ปอร์เช่สร้างขึ้นและปล่อยให้ดังในห้องโดยสารผ่านระบบลำโพงนั่นเอง
ส่วนการขับด้วยความเร็วสูง หายห่วงรถทรงตัวดี ลู่ลม พวงมาลัยหนักมือ ตัวรถนิ่ง ยิ่งขับเร็ว ยิ่งสนุก และยังสามารถกระชากได้อีกเมื่อคุณคิกดาวน์ แม้จะขับด้วยความเร็วเกินกว่า140 กม./ชม. แล้วก็ตาม เรียกว่า พร้อมทะยานสร้างแรงดึงหลังติดเบาะได้ในทุกย่านความเร็ว ซึ่งเราแนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำเช่นนี้ เมื่อมีผู้โดยสารอยู่ทางเบาะหลัง เพราะเขาจะคลื่นไส้ทันที หากคุณกดคันเร่งเช่นนี้เพียง2-3 ครั้ง
ด้านการบริโภคไฟฟ้า จากที่ได้ทดลองขับมาเต็มวันด้วยระยะทางรวมวิ่งไปกว่า250 กม. การขับครบถ้วนดังที่กล่าวมา รวมทั้งจอดติดเครื่องไว้เฉยๆ แบตเตอรี่ยังเหลือราว 30กว่า% โดยเมื่อแบตเตอรี่เหลือ50% ตัวเลขระยะทางวิ่งไปประมาณ200 กม. ฉะนั้นหากคำนวณแบบหยาบๆ ชาร์จเต็ม 1 ครั้งวิ่งได้จริงราว400 กม. ถือว่าตอบโจทย์การใช้งานแบบเช้าไป-เย็นกลับ กทม.-หัวหินได้ ซึ่งหากในอนาคตมีการขยายสถานีชาร์จรองรับตามหัวเมืองใหญ่ เชื่อมั่นได้ว่าBEV จะแจ้งเกิดได้อย่างแน่นอน
เหมาะกับใคร
คันที่เราขับคือ ไทคานน์ เทอร์โบ ซึ่งเรียกว่าครบถ้วนทั้งการตอบสนองทุกรูปแบบการขับขี่ แต่ด้วยราคาที่9.9 ล้านบาท สูงกว่ารุ่น4เอส ถึง2.8 ล้านบาท (4เอส ราคา7.1 ล้านบาท) ทำให้คนที่ไม่ได้ต้องการสมรรถนะแรงมากมายจะเลือก4เอส ก็ไม่ผิด แต่หากอยากแรงแบบสวนซูเปอร์คาร์ราคา20กว่าล้านบาท ไทคานน์ เทอร์โบ ก็เพียงพอ หรือถ้าเงินเหลือจะขยับไปหา ไทคันน์ เทอร์โบ เอส เป็นอันว่าที่สุดจริงๆ