xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดรถยนต์ 2564 800,000 คันถึงไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดรถยนต์ไทยในปี 2563 เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้ยอดขายของตลาดรวมจากระดับ 1 ล้านคัน ร่วงหล่นลงมาอยู่ที่ยอดขายเท่าใดนั้นยังคงต้องรอตัวเลขอย่างเป็นทางการอีกครั้ง แต่ในช่วงกลางปีมีการประเมินจากผู้บริหารของค่ายรถยนต์ต่างๆ ถึงขนาดว่าจะอยู่ในระดับ 6 แสนกว่าคันเท่านั้น ก่อนที่จะมีการปรับเป้าประมาณการขายใหม่หลายครั้ง


ซึ่งการประเมินดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานของยอดขายที่เกิดขึ้นจริงจากสถิติการรายงานยอดขายประจำในแต่ละเดือน โดยในเดือนมีนาคมและเมษายน ยอดขายติดลบเกินกว่า 50% ก่อนที่จะเริ่มกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จนถึงระดับที่เป็นบวกได้ในบางเดือนของช่วงไตรมาสสุดท้าย และมีบางค่ายรถยนต์สามารถทำยอดขายเป็นเพิ่มขึ้นได้อีกด้วยท่ามกลางภาวะวิกฤตเช่นนี้


ยอดขาย 11 เดือน เฉียด 700,000 คัน


รายงานสถิติการขายรถยนต์สะสม 11 เดือน มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 688,057 คัน ลดลง 24.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 34.5% และตลาดรถเพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 18.3%


ส่วนยอดการขายรถยนต์ประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 มียอดขายรวมทั้งสิ้น 79,177 คัน เพิ่มขึ้น 2.7% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 25,437 คัน ลดลง 7.2% รถเพื่อการพาณิชย์ 53,740 คัน เพิ่มขึ้น 8.2%ขณะที่ รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ มีจำนวน 42,763 คัน เพิ่มขึ้น 6.8%


การพลิกกลับมามียอดขายเติบโตได้อีกครั้งของตลาดรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำให้เห็นได้ว่าภาพรวมของตลาดเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศกำลังฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะ โครงการ “คนละครึ่ง” และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ กำลังซื้อของผู้บริโภคในหลายจังหวัดปรับตัวดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดส่งผลในเชิงบวกแก่ตลาดรถยนต์


ทั้งนี้ ภาครัฐฯ ยังคงออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนรวมถึงเศรษฐกิจไทยให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ รวมถึงค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่ออกแคมเปญพิเศษ และผลิตภัณฑ์ใหม่ ในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37 หรือ มอเตอร์ เอ็กซ์โป


ซึ่งยอดจองรถเฉพาะงานนี้มีมากถึงระดับ 30,000 คัน ทำให้ตลาดรถยนต์ในเดือนธันวาคมน่าจะคึกคักมากที่สุด แม้ว่าในช่วงปลายเดือนจะมีข่าวการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความกังวลขึ้นบ้าง แต่จะมาตรการล่าสุดที่ภาครัฐได้ประกาศออกมา ยังไม่มีการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจจะยังเป็นไปในแนวบวกได้อยู่


โควิด-19 ปัจจัยหลัก


สำหรับการประเมินตลาดรถยนต์ไทยในปี 2564 ปัจจัยหลักคงหนีไม่พ้นสถาการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 หากยังไม่สามารถหยุดการแพร่กระจายของเชื้อได้ จะเป็นที่คาดหมายได้ว่าสภาพตลาดรถยนต์ทั่วทั้งโลกนั้นคงอยู่ในภาวะทรงตัวหรือถดถอยอย่างแน่นอน


ขณะที่การคิดค้นวัคซีน ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด เวลานี้มีข่าวของหลายบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนได้เริ่มต้นฉีดให้แก่ผู้คนบางส่วนที่เป็นอาสาสมัครกลุ่มแรกในการทดลองฉีดจริง ก่อนที่จะมีการแจกจ่ายและจำหน่ายให้กับผู้สั่งซื้อ ซึ่งคาดว่ากว่าจะเห็นผลคาดว่าประมาณต้นปีถึงกลางปี 2564 หลังจากนั้นขึ้นกับว่ายอดการผลิตวัคซีนจะเพียงพอต่อการฉีดและคลอบคลุมประชากร จนถึงระดับที่ลดการแพร่ระบาดได้เมื่อใด


อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะชะลอตัวเช่นนี้ ยังมีส่วนที่ถือว่าเป็นเรื่องดีคือ แต่ละแบรนด์ ได้มีเวลาในการปรับปรุงและเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานใหม่ รวมถึงการปรับไลน์การผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนใหม่ๆ ที่หลายค่ายรถยนต์ต่างพิจารณากันใหม่ทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันทิศทางการพัฒนารถยนต์มุ่งหน้าไปในแนวทางของรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก ฉะนั้นการสร้างโรงงานหรือขยายกิจการจึงต้องประเมินให้คลอบคลุมส่วนนี้ด้วย


คาด2564 ตลาดรถยนต์ 800,000 คัน


สำหรับตัวเลขยอดขายรถยนต์ไทยในปี 2563 ประเมินไว้ว่าจะปิดที่ยอดประมาณ 730,000-760,000 คัน ดังนั้นหากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย คือวัคซีนเริ่มต้นแจกจ่าย ไวรัสเริ่มลดการแพร่กระจายลง หลายค่ายรถยนต์ในไทยต่างมองเป็นมุมบวก คือตลาดรถยนต์จะเติบโตขึ้นราว 5-10% นั่นคือตัวเลขประมาณ 800,000 คัน


ทั้งนี้ อย่างที่เกริ่นนำไว้ตอนต้นปัจจัยสำคัญของยอดขายระดับ 800,000 คัน มีสาเหตุจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เป็นหลัก ส่วนปัจจัยรองที่ตามมาในปีหน้านั้นมีอยู่ได้กันหลายประการ


ประการแรก การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของค่ายรถ ซึ่งตามปกติเมื่อมีรถยนต์รุ่นใหม่ยอดขายจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากทั้งการเป็นรถใหม่ที่ประชาชนให้ความสนใจจับจองกันมากเป็นพิเศษแล้ว ยังมีอีกแรงหนุนคือก่อนการเปิดตัวรถใหม่นั้น รถรุ่นเก่ามักจะไม่มีแล้วและขาดตลาดทำให้ยอดขายหดหายไป


ซึ่งในช่วงปลายปี 2563 มีรถยนต์เปิดตัวใหม่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถที่สร้างกระแสได้เป็นอย่างดี เช่น ฮอนด้า ซิตี้ แฮทช์แบ็ก, เมอร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลเอและเอ-คลาส เป็นต้น โดยรถรุ่นใหม่เหล่านี้กว่าจะส่งมอบและบันทึกการขายจะเข้าสู่ยอดขายของปี 2564


ขณะเดียวกัน รถยนต์ที่มีแผนเปิดตัวใหม่ในปี 2564 ค่อนข้างชัดเจนคือ “มาสด้า บีที-50” ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวช่วงเดือนมกราคม โดยเป็นรถปิกอัพอยู่ในหมวดหมู่ของรถเพื่อการพาณิชย์ ที่ในปีนี้ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์เรียกว่าเป็นพระเอกสามารถสร้างยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ ทำให้ภาพรวมของตลาดรถยนต์ฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว


แน่นอนว่าเมื่อมีรถรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด นอกจากการทำตลาดแบบเต็มที่ของแบรนด์มาสด้าแล้ว บรรดาคู่แข่งย่อมต้องเดินเกมส์รุกเต็มที่ด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นภาพการแข่งขันของตลาดปิกอัพในปีหน้า คาดหมายได้ว่า สนุกแบบห้ามกระพริบตา


ปัจจัยประการต่อมาคือ การทำแคมเปญของค่ายรถยนต์ โดยในปี 2564 เชื่อมั่นได้เลยว่า แต่ละค่ายรถยนต์ต่างต้องใช้แคมเปญในการช่วยเพิ่มยอดขายอย่างแน่นอนและจะต้องรวดเร็วรุนแรงตั้งแต่ต้นปี เพื่อตุนยอดขายเอาไว้ เนื่องจากไม่สามารถประเมินการระบาดของไวรัส โควิด-19 ได้ เพราะเป็นไวรัสที่พร้อมจะกลับมาแพร่ได้ระบาดอีกเสมอ ดังเช่นที่ประเทศไทยกำลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ในช่วงนี้ (ตั้งแต่ 17-22 ธันวาคม 2563 มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในประเทศมากกว่า 1,000 คนแล้ว)


สำหรับปัจจัยอีกหนึ่งประการที่ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับการตัดสินใจซื้อรถใหม่ คือ สินเชื่อหรือไฟแนนซ์ หากในปีหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการผ่อนปรนมาตรการรัดเข็มขัดจะช่วยให้มีการปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ก็จะทำให้ค่ายรถยนต์สามารถเพิ่มยอดขายได้ เพราะมากกว่า 80% ของการออกรถยนต์ใหม่นั้นเป็นการซื้อแบบผ่อน


เหนือสิ่งอื่นใด ยังมีเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่อาจจะมีโครงการอื่นๆ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย คลอดออกมาช่วยให้ยอดขายดีขึ้นได้ หรือนำโครงการ รถเก่าแลกรถใหม่ มาพิจารณาอีกครั้ง หลังจากที่เคยโยนหินถามทางแล้ว ได้รับการตอบรับที่ดี ประชาชนให้ความสนใจ จนทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อ เพื่อดูเงื่อนไขของโครงการ แต่เมื่อไม่มีความชัดเจนในเงื่อนไขทำให้ผู้ประกอบการเสียประโยชน์ จากการชะลอการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ดังนั้นโครงการนี้จึงถูกพับไปก่อน


สุดท้ายปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าสำคัญไม่แพ้ปัจจัยอื่นๆ เพราะแม้ว่าประชาชนจะมีเงินหรือกำลังทรัพย์เพียงพอ แต่หากไม่มั่นใจแล้ว ผู้บริโภคจะชะลอการซื้อออกไปทันที รวมถึงการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กอย่างรถขายกับข้าวหรือรายใหญ่ เช่น กลุ่มโรงแรมหรือรถเช่า ที่ซื้อรถเข้าใช้งานรอบละหลายร้อยคัน


จากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดหากส่งผลบวกตามที่คาดหมาย เชื่อมั่นได้เลยว่าตลาดรถยนต์สามารถไปแตะที่ระดับ 800,000 คันได้อย่างไม่ยากเย็น แต่หากปัจจัยนั้นกลับด้านกันหรือมีปัจจัยลบอื่นที่อยู่นอกเหนือการคาดหมายเกิดขึ้นมาแน่นอนว่า ตลาดรถยนต์จะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอีกครั้งหนึ่ง
PM 2.5 รถยนต์คือผู้ร้าย


ฝุ่นพิษ PM2.5 ถือว่าอีกหนึ่งปัญหาที่เป็นปัจจัยสำคัญกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โดยตรง เนื่องจากผลการวิจัยระบุชัดเจนว่า รถที่ใช้เครื่องยนต์คือหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นพิษนี้ ฉะนั้นการจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดต้นเหตุของปัญหา รถยนต์จึงต้องได้รับการแก้ไข


สำหรับแนวทางในการแก้ไขแบบเร่งด่วนที่สามารถกระทำได้ทันที จากการเสนอของศูนย์วิจัย MOVE มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ คือ การให้ภาครัฐประกาศบังคับใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 5 และยูโร 6 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ จากปัจจุบันที่เป็นยูโร 4 เท่านั้น


ทั้งนี้ หากรัฐบาลประกาศบังคับใช้ตามคำแนะนำ ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการตามแผนเดิมที่เคยกำหนดไว้ (แต่มีการเลื่อนออกไปจากผลของโควิด-19) จะกระทบต่อการจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในทันที เพราะรถยนต์ที่ขายในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นมาตรฐานไอเสียยูโร4 จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนเพื่อให้ผ่านมาตรฐานไอเสียดังกล่าว


EV พระเอกรอแจ้งเกิด


รถยนต์ไฟฟ้า ได้รับการยอมรับว่าเป็นทิศทางที่การพัฒนาของค่ายยานยนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ต่างมุ่งหน้าไปในแนวทางนี้ทั้งสิ้น ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาเรื่องมลภาวะเป็นพิษ ทำให้แต่ละประเทศต่างออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้นเพื่อลดปริมาณไอเสียที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหามลพิษ



ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลของประเทศชั้นนำในโลกได้ออกกฎหมายทั้งห้ามจำหน่ายและห้ามรถเก่าวิ่งในเขตพื้นที่สำคัญ เพื่อลดปัญหามลพิษ ทำให้ค่ายรถยนต์ทุกค่ายต้องเร่งพัฒนาระบบขับเคลื่อนที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยบางประเทศนั้นมีการประกาศห้ามจำหน่ายรถใช้เครื่องยนต์เพียงอย่างเดียวตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป ดังนั้นในช่วงเวลา 5 ปี นับจากนี้เราจะทยอยเห็นรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น


เพื่อให้สอดรับกับทิศทางดังกล่าว ภาครัฐของไทยเองมีแผนการส่งเสริมการลงทุนที่มีค่ายรถยนต์ได้รับการอนุมัติแล้วในปี 2563 มากกว่า 30 โครงการ โดยทุกโครงสร้างที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนนั้นจะต้องเริ่มการผลิตภายในระยะเวลา 3 ปี นับจากที่ได้รับอนุญาต


ฉะนั้น ในปี 2564 จึงเป็นรอยต่อที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี จึงนับว่าเป็นเรื่องยากในเวลานี้ที่จะประเมินว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับการตอบรับดีเพียงใด


ถึงบรรทัดนี้ แม้ว่าเราจะประเมินภาพล่วงหน้ายาวๆ ไม่ได้แต่หากในระยะสั้นมีรถยนต์ที่ถูกต้องตรงใจกับลักษณะของการใช้งานของท่าน ขอให้เชื่อมั่นว่า สามารถซื้อและใช้งานได้ไปจนกว่าที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งน่าจะกินเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ภายใต้เงื่อนไขของรัฐบาลที่วางเอาไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น