จะโควิด หรือไม่โควิด พ่อแม่ทุกคนก็รักและเป็นห่วงลูกอยู่เสมอ โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ มีน้องตัวเล็ก ๆ ที่ต้องการการทะนุถนอมเป็นพิเศษ การเดินทางไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย หรือท่องเที่ยว จึงเป็นเรื่องที่ทำเอาปวดหัวอยู่พอสมควร ต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง คาร์ซีทจำเป็นไหม และอีกหลาย ๆ คำถาม วันนี้เราจะไปหาคำตอบกัน
ตรงไหนปลอดภัยที่สุด
จัสมิน โบเซม (Jasmin Bozem) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของเด็ก ที่บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) บอกว่า หลังเบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าคือตำแหน่งที่ปลอดภัยที่สุด เพราะ 1) มีเข็มขัดนิรภัยติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน 2) เวลาจอดรถชิดขอบทาง ฝั่งนั้นจะอยู่ชิดทางเท้าซึ่งปลอดภัยกว่าอีกฝั่งที่อยู่ติดเลนถนน และ 3) เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ตำแหน่งนั้นจะปลอดภัยกว่าด้านหลังคนขับ อ้างอิงตามสถิติ
นั่งหน้าข้างคนขับได้ไหม
เคยเอาลูกไว้เบาะหลังแล้ว แต่แกไม่ยอม ร้องไม่หยุด สุดท้ายต้องย้ายมาไว้ข้างคนขับถึงจะเงียบ ... สำหรับบางประเทศ นั่นผิดกฎหมาย และตามสถิติ เบาะนั่งด้านหน้าข้างคนขับคือตำแหน่งที่ปลอดภัยน้อยที่สุด อีกอย่าง ที่ตำแหน่งนั้น สิ่งที่อันตรายกว่าคือแอร์แบ็ก แต่หากจำเป็นจริง ๆ ในคู่มือรถทุกคันมีระบุเอาไว้ว่า สำหรับเด็กแรกเกิดหรือเด็กอ่อน ต้องติดตั้งคาร์ซีทให้เด็กหันหลังไปทางหน้ารถและปิดการทำงานของแอร์แบ็ก สำหรับเด็กเล็ก ติดตั้งคาร์ซีทให้เด็กหันหน้าไปทางหน้ารถและต้องเลื่อนเบาะให้ห่างจากแอร์แบ็กมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
จะซื้อคาร์ซีท ต้องดูอะไรบ้าง
เวลาซื้อของสักอย่างให้ลูก พ่อแม่ส่วนใหญ่จะเสิร์ชหาข้อมูลเยอะมาก ละเอียดยิบ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ สำหรับคาร์ซีท เราสรุปมาให้สั้น ๆ ดังนี้
เด็กแรกเกิดหรือเด็กอ่อน
คาร์ซีทสำหรับเด็กแรกเกิดหรือเด็กอ่อนจะเป็นแบบหันหลังไปทางหน้ารถ รองรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 15 เดือนหรือน้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัมตามมาตรฐาน i-Size ซึ่งโบเซมแนะนำว่า "ควรให้เด็กนั่งหันหลังไปทางหน้ารถ นานเท่าที่จะเป็นไปได้"
เด็กเล็ก
คาร์ซีทสำหรับเด็กเล็กจะมีอยู่ 2 แบบ 1) Universal และ 2) Semi-Universal
Universal เป็นคาร์ซีทที่ใช้ได้กับรถทุกรุ่นทุกประเภท ยึดแน่นกับรถด้วยเข็มขัดนิรภัย หรือสายล็อค (LATCH) หรือขาล็อค (ISOFIX) ส่วน Semi-Universal จะติดตั้งได้กับรถบางรุ่นบางประเภทเท่านั้น โดยยึดแน่นเข้ากับรถด้วยสายล็อค (LATCH) หรือขาล็อค (ISOFIX)
ในสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการกำกับดูแลความปลอดภัยบนถนน (National Highway Traffic Safety Administration, NHTSA) แยกประเภทเบาะนั่งในรถออกเป็น 4 กลุ่ม เรียงตามลำดับอายุของผู้ใช้งาน ดังนี้ เบาะนั่งชนิดหันหลังไปทางหน้ารถ, เบาะนั่งชนิดหันหน้าไปทางหน้ารถ, เบาะเสริมหรือบูสเตอร์ และเข็มขัดนิรภัย (ไม่มีแยกชนิดเป็นเบาะเด็ก)
ส่วนประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่แบ่งตามมาตรฐาน United Nations European Regional ECE-R44 ดังนี้
- กรุ๊ป 0 : สูงสุด 10 กิโลกรัม / 9 เดือน
- กรุ๊ป 0+: สูงสุด 13 กิโลกรัม / 18 เดือน
- กรุ๊ป 1: 9-18 กิโลกรัม / สูงสุด 4 ปี
- กรุ๊ป 2: 15-25 กิโลกรัม / สูงสุด 7 ปี
- กรุ๊ป 3: 22-36 กิโลกรัม / 7 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้มาตรฐานใหม่ i-Size (ECE-R129) ของยุโรป กำหนดให้คาร์ซีทต้องมีขาล็อค (ISOFIX) และน้ำหนักรวม (เด็ก+คาร์ซีท) ไม่เกิน 33 กิโลกรัม
เวลาซื้อคาร์ซีท
ดูที่ถูกกฎหมาย หรือกฎ หรือระเบียบ หรือมาตรฐาน ของแต่ละประเทศ สำหรับสหรัฐฯคือ Federal Motor Vehicle Safety Standards ส่วนในยุโรปและประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกคือ UN Economic Commission for Europe (ECE) ECE-R44/03, R44/04 และ R129 (i-Size)
การติดตั้งคาร์ซีท
สำหรับเด็กแรกเกิดหรือเด็กอ่อน ให้ติดตั้งคาร์ซีทโดยหันหลังไปทางหน้ารถ ยึดคาร์ซีทเข้ากับเบาะรถให้แน่น โดยใช้เข็มขัดนิรภัย หรือขาล็อค ISOFIX ซึ่งข้อดีของ ISOFIX คือติดตั้งง่ายและรวดเร็ว แต่ไม่ใช่ทุกคันที่ใช้ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต และควรอ่านคู่มือรถประกอบ
แน่นแค่ไหนถึงจะพอ
ไม่ว่ารีบแค่ไหน ก็ต้องเช็คให้ชัวร์ ว่าคาดเข็มขัดนิรภัยให้เด็กแน่นดีแล้ว อย่าเห็นแก่ความสบาย คาดไว้หลวม ๆ พึงระลึกไว้เสมอว่า "ความปลอดภัยมาก่อนความสบาย" โบเซมกล่าว พร้อมกับแนะนำว่า
- เข็มขัดนิรภัยต้องรัดแน่นพอดี ไม่หลวมหรือแน่นจนเกินไป ถ้าเด็กสวมเสื้อผ้าหนา ๆ อยู่ เช่น เสื้อกันหนาวหนา ๆ หรือเสื้อแจ็คเก็ต ให้ถอดออกก่อน
- แน่นพอดี หมายถึง ใช้ฝ่ามือสอดเข้าไประหว่างเข็มขัดนิรภัยกับตัวเด็กได้พอดี เช็คดูว่าเด็กต้องไม่ไถลหรือลื่นหลุดออกจากเข็มขัดนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
- ขยับเข็มขัดนิรภัยให้พอดีตัว โดยเฉพาะช่วงไหล่ ที่มักจะหลวมจนทำให้หลุดออกมาได้
- ปรับล็อคประตูหลังให้เป็นแบบล็อคป้องกันเด็ก (Child Lock) เพื่อป้องกันเด็กเปิดประตูเอง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
ถ้าต้องออกจากรถไปทำธุระ พาเด็กไปด้วย อย่าทิ้งไว้ในรถคนเดียว เพราะอุณหภูมิในรถจะสูงขึ้นจนเป็นอันตราย แม้จะแง้มกระจกไว้ก็ตาม หรืออีกกรณีหนึ่งคือ สตาร์ทรถเปิดแอร์ทิ้งไว้ แก้ปัญหาเรื่องอุณหภูมิได้ แต่เด็กอาจเผลอไปกดล็อคขังตัวเอง ซึ่งเป็นอันตรายเช่นกัน
นั่งคาร์ซีทได้นานแค่ไหน
เด็กแรกเกิดหรือเด็กอ่อน กล้ามเนื้อของเด็กค่อนข้างบอบบาง พัฒนาการยังไม่สมบูรณ์ การนั่งคาร์ซีทนาน ๆ ไม่ดีแน่ ระยะเวลาที่แนะนำคือ 2 ชั่วโมง ส่วนเด็ก 3 เดือนขึ้นไป สามารถเดินทางไกลได้แล้ว แต่ก็ควรแวะพักระหว่างทาง และอุ้มเด็กออกมาจากคาร์ซีทเพื่อผ่อนคลายด้วย
ทำอย่างไรให้เด็กนั่งนิ่ง ๆ ไม่งอแง
คนที่มีลูกจะรู้ว่า เสียงเด็กร้อง เป็นอะไรที่เสียดแทงโสตประสาทอย่างยิ่ง เครียด เสียสมาธิ ทำอย่างไรดีล่ะ เรามีคำแนะนำดังนี้
- ของเล่นที่เขาชอบเป็นพิเศษ เอาใส่ไว้ในมือ หาเชือกสั้น ๆ ผูกไว้ เวลาหล่นจะได้หยิบคืนได้ง่าย ๆ ที่สำคัญ ตุ๊กตาหมีเพื่อนซี้ อย่าลืมเด็ดขาด
- ของเล่นอื่น ๆ ที่ชอบน้อยหน่อย เอาใส่กล่องเก็บไว้ก่อน ถึงจุดหมายปลายทางแล้วค่อยแกะออกมาเล่น ไม่เช่นนั้นคุณจะขับรถไม่ได้แน่นอน
ถ้าเด็กงอแง ทำอย่างไรดี
เด็กงอแงร้องไห้ไม่หยุด มันต้องมีสาเหตุ อาจไม่สบายตัวอะไรสักอย่าง ก่อนเดินทางกินอะไรผิดสำแดงไปหรือเปล่า ความสะอาดภายในรถก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง หลังจบทริปเก็บขยะออกให้หมด ดูดฝุ่น เช็ดทำความสะอาดเบาะคอนโซล พ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อ นอกเหนือจากนี้แล้ว เรายังมีข้อแนะนำอื่น ๆ อีกดังนี้
- เปลี่ยนไปเดินทางตอนกลางคืนแทน เพราะเป็นช่วงเวลานอนของเด็ก ๆ เด็กหลับกวนคุณไม่ได้แน่นอน จริงไหม
- เปลี่ยนสไตล์การขับรถ ขับนิ่ม ๆ เบรกนิ่ม ๆ เลี้ยวเบา ๆ
- หาขนมให้เด็กทานระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะของโปรด เด็กกิน ร้องไม่ได้แน่ ๆ แต่ควรระวัง อย่าให้มากเกินไป เพราะอาจทำให้ปวดท้อง อันนี้จะยิ่งเครียด
อุปกรณ์เสริมที่ควรมีติดรถ
นอกจากม่านบังแดด ก็แผ่นรองคาร์ซีทนี่แหละ ที่ควรต้องมี เพราะเวลาใช้งานคาร์ซีท น้ำหนักของเด็กรวมกับน้ำหนักคาร์ซีทจะกดลงบนเบาะรถ ทำให้เกิดเป็นรอยบุ๋ม แผ่นรองคาร์ซีทจะช่วยบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนเบาะหน้า ก็ควรสวมผ้าคลุมเบาะให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนหรือคราบสกปรกที่เกิดจากความซนของเด็ก และช่วยให้ทำความสะอาดง่ายขึ้นด้วย
ถ้าเคยมีผู้ป่วย COVID-19 ใช้รถคันนี้
ทิ้งรถไว้ 4-5 วันเพื่อให้เชื้อตาย เชื้อ COVID-19 จะมีชีวิตอยู่บนผิววัสดุได้ไม่เกินนั้น หลังจากนั้นก็นำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนเดิม อย่างปลอดภัย แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้รถตลอด ก็ต้องทำความสะอาดทุกพื้นผิวด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาด ผึ่งแดดผึ่งลม ระบายอากาศระบายความชื้น และควรสวมถุงมือขณะใช้รถ
อ้างอิง : www.BMW.com
แม้ขณะนี้การระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยจะเบาบางลงแล้ว แต่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศยังคงต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับไวรัส COVID-19 ที่อาจแพร่ระบาดรอบ 2 ได้ทุกเมื่อ ซึ่งเราสามารถช่วยได้ง่าย ๆ ด้วยการดาวน์โหลดสติกเกอร์ไลน์
สติกเกอร์ชุด “BMW Fight COVID-19” สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อมอบรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายการเผยแพร่ให้กับ "กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ)" มีทั้งหมด 24 แบบ จำหน่ายในราคาชุดละ 60 บาท (100 Coins) สามารถใช้งานได้โดยไม่มีวันหมดอายุ ดาวน์โหลดได้ที่ https://line.me/S/sticker/11507632
นอกจากดาวน์โหลดสติกเกอร์เพื่อใช้งานเองแล้ว ยังสามารถส่งสติกเกอร์เป็นของขวัญให้เพื่อนได้ หรือร่วมสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา ได้โดยตรง ที่บัญชี “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ )” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสวนจิตรลดา บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 067-300487-3