ปลุกกระแสรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยมานานข้ามปีสำหรับ “นิสสัน ลีฟ” พร้อมกับการปูทางเตรียมทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับงานขาย แต่แล้วเมื่อเปิดตัวอย่างเป็นทางการและประกาศราคา ทำเอาทั้งกองเชียร์และกองแช่ง ต่างหงายท้องกันเป็นแถบ ด้วยค่าตัวที่ 1,990,000 บาท และมีขายเฉพาะโชว์รูมเพียง 33 แห่งเท่านั้น
ซ้ำดาบสอง เหมือนฟ้าผ่าตรงเข้ากลางหม้อแปลง ค่าย เอ็มจี เปิดตัวรถไฟฟ้า ZS EV ออกมาขายในราคา 1,190,000 บาท ตอกย้ำทำให้ทุกคนรู้สึกว่า นิสสัน ขาย ลีฟ แพงยิ่งขึ้นไปอีก … นิสสัน ยืนยันว่า จะขายในราคานี้ต่อไป ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่เป็น “ราเมซ นาราสิมัน” เข้ามาดำรงตำแหน่งประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย แทนนาย อันตวน บาร์เตส ที่ถูกย้ายไป
“เกือบหนึ่งร้อยคัน” คือคำตอบจากนายราเมซ หัวเรือนิสสันคนใหม่ ที่ตอบผู้สื่อข่าวเมื่อถูกถามถึงยอดขายนิสสัน ลีฟ นับตั้งแต่เปิดตัวมาจนถึงปัจจุบัน (วันที่ถาม 22 กรกฎาคม 2562) ในงานทดลองขับ นิสสัน ลีฟ ที่เปิดโอกาสให้ สื่อมวลชน ได้ทดลองขับ ลีฟ อย่าง1วันเต็มกับการเดินทางไปไหนก็ได้ทั่วกรุงเทพฯ โดยมีจุดแนะนำ 5 ตำแหน่ง
หลังพูดคุยและสนทนาเกี่ยวกับแนวโน้มและทิศทางต่างๆ ของนิสสันกับการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ในเมืองไทย ต้องบอกว่า นิสสัน เอาจริงและตั้งใจทำอย่างมาก แต่จะสำเร็จและเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ถูกจริตผู้บริโภคชาวไทยหรือไม่นั้น คนที่ให้คำตอบได้อย่างแท้จริงคือ ลูกค้าตัวจริงของนิสสัน เท่านั้น สำหรับเราทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอร์ริ่ง ขอทำหน้าที่ของเราในการนำเสนอ บทความทดลองขับตามที่ได้สัมผัสมา ไปชมกันว่า ขับแล้วเป็นอย่างไรบ้าง
จิมคาน่า ท้าความเร็ว
จุดแรกเริ่มต้นด้วยการให้เราขับแบบจิมคาน่า เพื่อทดลองหาอัตราเร่งและความรู้สึกในการบังคับควบคุมพวงมาลัย ซึ่งขอบอกว่า พละกำลังตามสเปกของนิสสัน ลีฟที่ 150 แรงม้า กับแรงบิด 320 นิวตันเมตร นั้นมีแรงดึงมากพอทำให้เราหลังติดเบาะได้ ส่วนอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลา 7.9 วินาที
การได้ลองขับแบบจิมคาน่า หลายท่านไม่รู้จักขอบรรยายแบบสั้นๆ คือการขับแบบคดเคี้ยวไปมาตามเส้นทางที่กำหนดในพื้นที่จำกัดเพื่อทำเวลาให้เร็วที่สุด สิ่งสำคัญของรถที่ใช้สำหรับการขับขี่ประเภทนี้คือ ต้องมีจุดเด่นในเรื่องของอัตราเร่ง ช่วงออกตัวที่ดีเยี่ยม พวงมาลัยที่คมแม่นยำ และช่วงล่างที่สามารถยึดเกาะถนนได้อย่างมั่นใจ
สำหรับเวลาที่เราใช้คือ 49 วินาที โดยสื่อมวลชนที่ร่วมทดสอบรอบนี้มีทั้งสิ้น 20 ท่านจะทำเวลาการขับไล่ ๆ กันที่ระดับ 51-46 วินาที สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะขับเก่งมากหรือไม่เคยลองขับแบบนี้มาก่อน แต่ด้วยสมรรถนะของรถที่มีมาตรฐานจะทำให้คุณสามารถขับได้ไม่แตกต่างกันมากนัก
บทสรุปของการได้ลองขับแบบนี้แน่นอนว่า มันคือ การตอบสนองในเรื่องของความสนุกของการขับขี่ ซึ่ง นิสสัน ลีฟ สอบผ่านแบบที่เราสามารถให้คะแนน 10 เต็ม 10 ได้กับการขับแนวนี้ ซึ่งขอแนะนำให้ทุกท่านมาทดลองขับดูก่อน อย่าเพิ่งเชื่อเราในทันที เพราะจริตการขับขี่ของท่านกับของเราอาจจะไม่เหมือนกัน
ตะเวนทั่วกรุงเทพฯ 104 กม. ไฟฟ้าเหลือเกือบครึ่ง
หลังจากนั้น เป็นการลองขับบนถนนจริงวิ่งทะลุผ่านเมืองออกไปแถบปริมณฑลด้วย โดยเรารับหน้าที่เป็นผู้โดยสารนั่งบอกทางผ่าน กูเกิล แมพ (Google Map) เนื่องจาก ตัวรถไม่มีระบบนำทางหรือ Navigator ให้แต่อย่างใด แม้จะมีราคาค่าตัวเฉียด 2 ล้านบาท รวมถึงหน้าจอที่ต้องขอใช้คำว่า เล็กเกินไปสำหรับรถยุคนี้ แต่ก็ยังดีที่มีกล้องมองหลังและกล้องมองรอบคันไว้ดูเพื่อความปลอดภัยได้อีกด้วย
ความรู้สึกในการเป็นผู้โดยสารตลอดการเดินทางกว่า 50 กม. ผ่านทั้งสยามสแควร์บางรัก สีลม ข้ามสะพานสาธร ออกมาวิ่งถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ก่อนมาจบลงที่ ร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่ง ภาพรวมคือ นั่งสบาย แม้บางช่วงบางตอนผู้ขับทำความเร็วทะยานแตะถึง 155 กม./ชม. สูงกว่าที่สเปกของรถที่ระบุไว้ที่ 140 กม./ชม. ตัวรถขับนิ่ง มั่นใจได้ในความปลอดภัย
จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้าคือ ความเงียบ แน่นอนจะมีเพียงเสียงของยางบดถนนและเสียงจากเครื่องยนต์ของรถคันอื่นดังลอดเข้ามาให้ได้ยินบ้าง แต่อย่างไรก็ตามห้องโดยสารให้ความรู้สึกที่เงียบกว่ารถในระดับเดียวกันแบบสัมผัสได้
เมื่อถึงคิวของเราเป็นผู้ขับบ้าง แตะคันเร่งออกตัวไป รถตอบสนองทันใจดี ไม่รู้สึกว่ารถหนักหรือรอรอบแต่อย่างใด บางช่วงที่กดคันเร่งแบบคิกดาวน์แรงๆ ดูเหมือนรถจะเบาเสียด้วยซ้ำ โดยสามารถคิกดาวน์ได้ทุกย่านความเร็ว เร่งแซงได้อย่างมั่นใจในทุกจังหวะ ผู้เขียนพยายามจะลองหาความเร็วสูงสุดบ้างแต่ทำได้เพียง 140 กม./ชม. เท่านั้น เนื่องจากเส้นทางไม่เอื้ออำนวย
ขณะที่การขับขี่บนทางคู่ขนานลอยฟ้า แม้จะมีลมแรงและวิ่งด้วยความเร็วระดับ 90-100 กม./ชม. แต่ก็ไม่รู้สึกว่ารถลอยหรือร่อนแต่อย่างใด รวมๆ แล้วเรียกว่า ทรงตัวได้ดี เมื่อขับเข้าเมืองท่ามกลางการจราจรที่ติดขัดจังหวะเปลี่ยนเลนคล่องตัว เข้าซอยแคบๆ ได้แบบไม่ต้องห่วง
ก่อนจบทริป มีให้ทดลองใช้งานระบบ e-pedal หรือการใช้งานแป้นคันเร่งเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องเหยียบเบรก เราทดลองใช้วิ่งจริงบนถนน เรียนตามตรงคือ ผู้เขียนไม่ถนัดอย่างมาก ต้องทำความคุ้นเคยใหม่ และจะมีอาการคล้ายการขับรถกอล์ฟหรือรถบั๊มตามงานวัด เพราะทันทีที่คุณปล่อยคันเร่ง รถจะเบรกโดยไม่ต้องแตะเบรก ดังนั้นต้องปรับการปล่อยคันเร่งให้ดีๆ มิฉะนั้นจะหัวทิ่มได้ง่าย แต่ข้อดีคือ ถ้าใช้คล่องแล้วจะไม่ต้องยกเท้าไปแตะเบรกเลย
กลับมาถึงจุดสิ้นสุดหันไปดูตัวเลขระยะทางวิ่งไปทั้งสิ้น 104 กม. แบตเตอรี่คงเหลือ 47% ดังนั้นหมายความว่า ใช้แบตเตอรี่ไปครึ่งหนึ่งสามารถวิ่งได้ระยะทางราว 100 กม. กับการใช้งานในเมืองและวิ่งเต็มสปีดนอกเมือง นี่คือตัวเลขการใช้งานจริง ท่ามกลางสภาวะของเมืองไทยที่ร้อนและรถติดแบบสุดๆ
คำนวณเป็นค่าไฟฟ้าคร่าวๆ 50%ของแบตเตอรี่นิสสัน ลีฟจะเท่ากับ 20kWh (แบตเตอรี่มีความจุ 40kWh) หรือเท่ากับ 20 หน่วย คูณด้วยค่าไฟฟ้าที่ หน่วยละ 5 บาท เท่ากับเราเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 100 บาท ต่อระยะทาง 100 กม. ภายใต้สภาวะการใช้งานที่กล่าวมา ถือว่า ถูกกว่ารถใช้น้ำมันอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าบ้านคุณมีระบบโซล่า เซลล์ นั่นหมายความว่า คุณอาจจะไม่ต้องจ่ายค่าเดินทางเลยแม้แต่บาทเดียว
สิ่งที่น่ากังวลซึ่งถือว่าเป็นจุดใหญ่ที่หลายคนสงสัยคือ การชาร์จไฟ ขอเรียนตามตรงว่า ยังเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องเรียนรู้และทำความคุ้นเคยอีกมาก โดยเฉพาะระบบการชาร์จที่ นิสสัน เลือกหัวชาร์จแบบ ไทร์ป 1 ซึ่งมี 5 รู ขณะที่เมืองไทยแม้จะยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการแต่เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า รัฐบาลแนะนำให้ใช้แบบ ไทร์ป 2 ที่มี 7 รู ดังนั้น หากจะชาร์จ นิสสัน ลีฟ กับที่ชาร์จสาธารณะ อาจจะต้องใช้หัวแปลงเพิ่มเติม หรือเช็คจุดชาร์จให้เป็นไทร์ป 1
อย่างไรก็ตามหากเป็นการชาร์จแบบเร็วหรือ DC นั้น จะสามารถชาร์จได้เลย แม้จะยังไม่แพร่หลายแต่ก็พอมี ซึ่งในลักษณะของการใช้งานจริง เราแนะนำให้ท่าน ชาร์จ ที่บ้านของท่านเอง โดยสามารถชาร์จได้ทุกวัน ชาร์จผ่านชุดมาตรฐาน ค่าการไหลของกระแสไฟ 3.6kWh ที่แถมมาให้ หรือ จะชาร์จผ่านชุดวอลล์บ็อก ส่วนมากจะมีค่าการไหลของกระแสไฟ7.2 kWh (นิสสันแนะนำให้ติดตั้งของยี่ห้อ เดลต้า) แต่กระแสไฟจะไหลเข้าได้จริงสูงสุด 6.6 kWh เนื่องจากชุดอุปกรณ์แปลงไฟภายในของนิสสัน ลีฟนั้นรองรับได้สูงสุดเพียงเท่านี้
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนค่อนข้างกังวลใจ คือ การดัดแปลงอุปกรณ์ชาร์จไฟเพื่อหวังให้ชาร์จได้เร็วขึ้น สิ่งนี้คือปัจจัยที่น่าห่วงมากที่สุด เนื่องจาก เมื่อคุณดัดแปลงอุปกรณ์ไฟฟ้า ไม่ว่าชนิดใด ทำให้โอกาสในการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร มีสูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนไฟฟ้าลัดวงจรแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นทุกท่านน่าจะทราบเป็นอย่างดี แค่เปรียบเทียบกับมือถือที่ใช้สายชาร์จปลอม มือถือยังระเบิดได้ ดังนั้น การดัดแปลงชุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเก่งขนาดไหน นี่คือความเสี่ยงในระดับสูงสุด
เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคัน กว่าจะผ่านห้องวิจัยเข้าสู่กระบวนการผลิตได้นั้น จะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นในแง่ของความปลอดภัยในการใช้งานครบทุกรูปแบบ ดังนั้นหากมีการดัดแปลงหรือแก้ไข ถือว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นทันที อีกทั้งยังจะทำให้การรับประกันต้องขาดไปอีกด้วย ดังนั้น ขอร้องไว้ตรงนี้ว่า อย่าทำการดัดแปลงเป็นอันขาด
เหมาะกับใคร
กล่าวโดยสรุป นิสสัน ลีฟ เป็นรถที่ขับสนุก คล่องตัวเมื่อใช้งานในเมือง มั่นใจเมื่อวิ่งทางยาวๆ เวลาออกต่างจังหวัด แต่ด้วยค่าตัวระดับ 1,990,000 บาท แบบนี้ นิสสัน ลีฟ จะไม่ใช่รถคันแรกหรือรถคันเดียวของบ้านอย่างแน่นอน แต่เป็นบุคคลผู้ซึ่งชื่นชอบเทคโนโลยี ชอบใช้สินค้าที่ก้าวล้ำนำหน้าคนอื่นๆ หรือคนที่ผู้นำเทรนด์และมีใจรักในแบรนด์นิสสัน และพึ่งใช้งาน นิสสัน ลีฟ เปรียบเหมือนของเล่นที่ให้ความสนุกและเติมเต็มความสุขในชีวิตของเขานั่นเอง