xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกแผน EV SAIC จับมือไทยเป็นฐาน ผงาดเวทีโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์








ชื่อของ SAIC Motor เริ่มเป็นที่รู้จักในเมืองไทยพอสมควร แต่ถ้าเป็นที่ประเทศจีนแล้ว ชื่อของ SAIC นั้น คือ ผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของแดนมังกร ซึ่งมีแบรนด์ในเครือมากมายและมีการร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่จากตะวันตก อย่าง กลุ่มโฟล์คสวาเกน จากเยอรมัน และเจนเนอรัล มอเตอร์ จากอเมริกา

แรกเริ่ม SAIC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1955 ในชื่อ Shanghai Internal Combustion Engine Compenents ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมีรัฐบาลของเมืองเซียงไฮ้เป็นเจ้าของ

กระทั่งในปี 1995 จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Shanghai Automotive Industry Corp. เพื่อเริ่มต้นดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถยนต์ กิจการเติบโตเรื่อยมา จนถึงปี 2011 ทาง SAIC ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นบริษัท มหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พร้อมเปลี่ยนมาใช้ชื่อ SAIC Motor Corporation อย่างเช่นปัจจุบัน




ต่อมาเมื่อรัฐบาลจีนมีนโยบายเปิดตัวสู่ตลาดโลกมากขึ้นโดยให้ บริษัทต่างๆ ของจีน ขยายกิจการออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งทาง SAIC ได้ดำเนินนโยบายตามที่รัฐบาลต้องการ แต่การจะไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ทาง SAIC เคยทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จดังนั้น เมื่อจะทำอีกครั้งจึงต้องลดความเสี่ยงด้วยการหาพันธมิตรที่ดี ชื่อของ ซีพี จึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในทันที







ทั้งนี้ อย่างที่เราทราบกันดีว่า ซีพี หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ นั้นเป็นผู้นำในด้านธุรกิจอาหาร เหตุใดจึงเข้ามามีเอี่ยวกับธุรกิจยานยนต์ได้ คงต้องย้อนความไปถึงช่วงเวลาหนึ่งในปี 1985 ที่ทางซีพีได้เคยร่วมลงทุนกับ SAIC ในการผลิตและขายรถจักรยานยนต์ในประเทศจีน เปรียบเสมือน ซีพี เป็นเพื่อนเก่าคนหนึ่งที่เคยทำธุรกิจด้วยกันมาก่อน


ดังนั้น เมื่อทาง SAIC ต้องการที่บุกเบิกเปิดตัวเองสู่ตลาดโลก จึงต้องหาเพื่อนร่วมทุนที่ไว้ใจได้ และมีประสบการณ์ ซีพี จึงกลายเป็นตัวเลือกแรกของภารกิจนี้


SAIC - CP ปั้น MG ลุย


สำหรับแผนการบุกตลาดโลกครั้งนี้ของ SAIC จะใช้แบรนด์ในเครืออย่าง เอ็มจี (MG) เป็นแบรนด์หลักในการรุกตลาด ส่วนแบรนด์ โรวี่ (Roewe) นั้นจะทำตลาดในประเทศจีนเพียงอย่างเดียวซึ่งการที่ SAIC ได้มาจับมือกับทาง ซีพี นั้น สืบเนื่องมาจากแนวคิดที่ตรงกัน


SAIC กำลังมองหาผู้ร่วมลงทุนในแถบภูมิภาคอาเซียนเนื่องจากมองเห็นศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังมีโอกาสเปิดกว้างอยู่ โดยจะมีการลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ





ส่วน ซีพี มองว่าการจะทำตลาดรถยนต์ในประเทศไทย จะต้องเป็นการผลิตในประเทศเท่านั้น และเมื่อทาง SAIC มาปรึกษาถึงแนวทางการทำตลาด ทางซีพีจึงได้ดึงให้มาลงทุนในประเทศไทย ด้วยเหตุผลประกอบการตัดสินใจที่เอื้ออำนวยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยที่มีอยู่อย่างครบครัน


ทาง SAIC วางให้โรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยนั้นเป็นฐานในการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาเพื่อส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก ซึ่งจะมีตลาดที่สำคัญคือ อังกฤษ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์และ อาเซียนทั้งหมด โดยก่อตั้ง SAIC Motor CP บริษัทร่วมทุนเป็นผู้ดูแล โดยมีการลงทุนไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 10,000 ล้านบาท กำลังการผลิตปัจจุบันอยู่ที่ 100,000 คัน


แนวทางในการผลิตจะเน้นไปที่รถขนาดเล็กซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าในประเทศไทย พร้อมกับรถเอสยูวีอย่าง เอ็มจี แซดเอส และเอชเอส ที่กำลังจะเปิดตัวในไทยช่วงปลายปีนี้ ขณะที่อีกหนึ่งโมเดลไฮไลท์ มีแผนจะเปิดตัวในปีนี้นั่นก็คือ รถปิกอัพ เอ็มจี โดยยังไม่มีการเผยชื่อในการทำตลาดเมืองไทยอย่างเป็นทางการออกมา



นอกจากโมเดลรถแบบเครื่องยนต์ปกติแล้ว ทาง SAIC ยังวางแผนให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย เรียกว่าเป็นการให้ความสำคัญกับโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยอย่างยิ่ง โดยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่จะทำตลาดคือ เอ็มจี แซดเอส อีวี





SAIC Motor CP ได้ยื่นขอสนับสนุนการลงทุนกับบีโอไอ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่ ประการใด หากว่าได้รับไฟเขียวแล้ว จะมีการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า100% รุ่น เอ็มจี แซดเอส ในประเทศไทยได้ราวปีหน้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยอย่างมาก ในฐานะผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคนี้

แน่นอนว่าปัจจัยที่ทำให้จีน รุกหนักในด้านรถยนต์ไฟฟ้านั้น มีเหตุผลสำคัญคือ เมื่อจีนคิดจะเป็นผู้นำในกลุ่มยานยนต์แล้ว หากยังผลิตรถใช้เครื่องยนต์อยู่ ไม่ว่าอย่างไรก็ยากที่จะไล่ตามผู้ผลิตค่ายยุโรป, ญี่ปุ่น และอเมริกาได้ทัน แต่ถ้าจีนหันมาผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นทิศทางในอนาคตของตลาดโลก จะถือว่าจีนเริ่มต้นพร้อมกันกับทุกค่ายดังนั้น ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกว่ากันสักเท่าใดนัก

ทั้งนี้หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ไทยจะกลายเป็นพันธมิตรหลักที่สำคัญอย่างยิ่ง ประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตและประกอบแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีจีนหนุนหลังซึ่ง SAIC Motor CP วางแผนระยะยาวให้โรงงานสามารถรองรับปริมาณการผลิตมากถึง 200,000 คันต่อปี เพื่อตอบสนองการขายทั้งขายในประเทศไทยและส่งออก







ดังนั้น จึงเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยในการจัดหาชิ้นส่วนเหล่านี้มาป้อนให้กับโรงงานผู้ผลิต โดยเฉพาะชิ้นส่วนต่างๆ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า, อุปกรณ์เกี่ยวเนื่องกับการชาร์จไฟฟ้า, สายไฟ, ตัวแปลงไฟ และสวิทช์ จะมีความจำเป็นที่ต้องใช้งานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือว่ามีคู่แข่งไม่มากในช่วงเวลานี้



อย่างไรก็ตามในช่วงเริ่มต้น อาจจะต้องนำเข้าจากประเทศจีนก่อน แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปถึง ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตเองได้ จะช่วยให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนในการเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน


ถึงบรรทัดนี้ ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์เบอร์หนึ่งของประเทศจีน ให้ความเชื่อมั่นเต็มร้อยแก่พันธมิตรอย่างซีพีและพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่มีความแข็งแรง แล้วคนไทยอย่างเราด้วยกันจะไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยเช่นนั้นหรือ




กำลังโหลดความคิดเห็น