เมื่อกล่าวถึงแบรนด์ มาสด้า ภาพความจำของใครหลายคนคงเป็นเรื่องราวของเครื่องยนต์โรตารี่ หรือไม่ก็ สโลแกนติดหูอย่าง “มาสด้าเขาให้” และ “ซูม ซูม” ซึ่งความทรงจำเหล่านี้ ก่อตัวขึ้นมานับจากปี 2542 ที่มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดตั้ง บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อทำตลาดรถยนต์แบรนด์ มาสด้า ในเมืองไทย จนกระทั่ง ทุกวันนี้ มาสด้า ได้ผ่านร้อน ผ่านหนาว รวมแล้วถึง 20 ปี จนก้าวขึ้นสู่แบรนด์รถยนต์แถวหน้าในตลาดเมืองไทย
นับจากนี้ ถือเป็นการก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของมาสด้า แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น ที่เข้ามาเติบโตในไทย จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร ให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง …. เราลองมาย้อนกันดูว่า “มาสด้า” ผ่านอะไรมาบ้างจนเติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกวันนี้
จุดกำเนิด “มาสด้า”
ย้อนกลับเมื่อปี 2463 หรือ 99 ปี ที่ผ่านมา มาสด้า ถูกก่อตั้งขึ้นโดย “จูจิโร มัทสึดะ” เริ่มจากการเป็นผู้ผลิตจุกไม้ก๊อก ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น แต่ด้วยความหลงใหลเทคโนโลยีในรถจักรยานยนต์ ปี 2474 หรืออีก 11 ปี ต่อมา จึงได้ทำการผลิตรถยนต์คันแรก ในนาม “มาสด้า” เป็นรถบรรทุกสามล้อกระบะหลังคาเปิด และถือเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ถือกำเนิด ในช่วงเดียวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังครุกรุ่น รถรุ่นนี้ จึงถูกตั้งชื่อว่า Green Panel เพื่อเป็นตัวแทนของคำว่า “สันติภาพ ความสงบสุข และวัยหนุ่มสาว”
แต่หลังจากนั้น 14 ปี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2488 โรงงานมาสด้าได้รับความเสียหายอย่างหนักจากระเบิดปรมาณู เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฮิโรชิมา แต่ด้วยสปิริตและจิตวิญญาณแห่งความเป็นนักสู้ ให้หลังเพียง 4 เดือน โรงงานที่ได้รับผลกระทบหนัก กลับมาเดินสายการผลิตได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นขวัญกำลังใจให้ชาวเมืองฮิโรชิมาได้เป็นอย่างดี
6 ทศวรรษ “รถยนต์มาสด้า”
สำหรับประเทศไทย มาสด้า เข้ามามีบทบาทในไทยนานเกือบ 60 ปี ในนามของ กมลสุโกศล คือ เริ่มตั้งแต่ปี 2503 โดยรถรุ่นแรกที่จำหน่ายเป็นรถกระบะสามล้อนำเข้าจากฮิโรชิมา ก่อนที่จะมีรถรุ่นอื่นตามมาอีกหลายรุ่น เช่น มาสด้า R360 คูเป้, มาสด้า 929, มาสด้า 808, มาสด้า 323 เป็นต้น
กระทั่งเดือน พฤศจิกายน 2538 มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรก่อตั้ง โรงงาน ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) หรือ AAT ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์มาสด้าที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของโลก ในจังหวัดระยอง และเริ่มทำการผลิตในเดือนธันวาคม ปี 2540 ทั้งนี้ กำลังการผลิตในช่วงแรก สามารถทำได้ 120,000 คัน และมีการลงทุนขยายไลน์การประกอบเพิ่มจนกระทั่งปัจจุบันโรงงาน ออโต้อัลลายแอนซ์ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 275,000 คันต่อปี
“โรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2540 โดย มาสด้า ไฟเตอร์ (Mazda Fighter) เป็นรถคันแรกที่ออกจากสายพานการผลิตประมาณ เดือนพฤษภาคม 2541 ต่อมาในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน เรามีการส่งออกไปจำหน่าย 142 ประเทศทั่วโลก ” นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการผลิตรถยนต์มาสด้าในประเทศไทย
ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย วันที่ 22 มีนาคม 2542 มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ต้องการขยายธุรกิจในประเทศไทย ด้วยการเพิ่มสัดส่วนและผู้แทนจำหน่าย โดยจัดตั้ง บริษัท มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้น เพื่อทำการตลาด การขาย การบริการ รวมถึงการนำเสนอรถยนต์มาสด้ารุ่นต่างๆ พร้อมทั้งขยายเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มาสด้ากับ 4 จุดเปลี่ยนแห่งความสำเร็จ
ภายใต้การเติบโตอย่างต่อเนื่องขององค์กร ย่อมมีเหตุและผลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะตัวเลขยอดขายเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึงความสำเร็จดังกล่าว จากปี 2546 มาสด้า มียอดขายประมาณ 10,000 คัน แต่ในปีที่ผ่านมา 2561 มาสด้า มียอดขายแบบก้าวกระโดดสูงขึ้น 70,000 กว่าคัน เติบโตถึง 7 เท่าตัว ในเวลาเพียง 15 ปี อะไรคือปัจจัยดังกล่าว
ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวไว้ว่า มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ๆ ถึง 4 ประเด็น ที่ทำให้ มาสด้า เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน โดยจุดเปลี่ยนแรกเป็นการฉีกทุกแนวคิดการตลาดแบบเดิม ๆ สร้างความจดจำด้วยแนวคิด ZOOM ZOOM
การที่เราได้นำเสนอภาพลักษณ์ ตราสินค้าแบบใหม่ ที่เราเรียกว่า ซูมซูม ที่มาของการเปลี่ยนการสื่อสารการตลาดในช่วงนั้น คือ ความเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้า ลูกค้าเลือกซื้อรถมาสด้า เพราะความสนุกที่เขาได้รับจากการขับรถมาสด้า ทำให้เกิดความชัดเจนในกลุ่มลูกค้า ส่งผลให้มาสด้ามีความโดดเด่นที่แตกต่างจากยี่ห้ออื่นชัดเจน
จุดเปลี่ยนที่ 2 มาสด้า เริ่มคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างรถยนต์ที่มีสมรรถนะที่ดีที่สุดจากแนวคิด “กล้าที่จะต่าง” กำเนิดเป็น สกายแอคทีฟ โดยเปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2556 กับเอสยูวี ซีเอ็กซ์ 5 เจเนอเรชันที่ 1 ซึ่งมีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์ เบนซิน สกายแอคทีฟ จี และดีเซล สกายแอคทีฟ ดี และในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี จนปัจจุบัน เทคโนโลยี สกายแอคทีฟ ถ่ายทอดไปยังรถยนต์นั่ง ในเจนเนอเรชันที่ 6 ทุกรุ่นแล้ว
“การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี สกายแอคทีฟ และ โคโดะ ดีไซน์ ทำให้เกิดเป็นจุดเปลี่ยนที่สามารถให้มาสด้า พัฒนาในด้านแบรนด์ ยอดขาย ส่วนแบ่งการตลาด ขยายเครือข่ายผู้จำหน่าย เพิ่มขึ้น บวกกับทางเราพยายามสรรหาผลิตภัณฑ์ที่ดีเข้ามาให้คนไทยได้ใช้รถ หลากหลายรุ่น และถูกใจมากยิ่งขึ้น” นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ กล่าว
ด้วยยอดขายสะสมของยนตรกรรม สกายแอคทีฟ ที่วิ่งอยู่บนถนนในเมืองไทยกว่า 200,000 คันในระยะเวลาเพียง 5 ปี พร้อมด้วยรถปิกอัพ บีที 50 โปร ที่มียอดสะสมกว่า 1 แสนคัน ส่งผลให้ปัจจุบันมาสด้า กลายเป็นแบรนด์รถยนต์อันดับต้นๆ ที่ลูกค้าให้ความไว้วางใจเลือกให้เป็นพาหนะคู่กาย ตรงนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ 3 ของความสำเร็จรถมาสด้าในเจนเนอเรชันที่ 6
จุดเปลี่ยนที่ 4 คือ มาสด้า ประเทศไทย นับเป็นรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายเดียวที่มีคนไทยดำรงตำแหน่งประธานบริหาร และจากการก้าวกระโดดของมาสด้า ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นเครื่องชี้วัดศักยภาพ การบริหารงาน ของบุคลากรคนไทยได้อย่างชัดเจน
“ถ้ามองตัวผลงานในปีที่แล้ว ทางมาสด้า เซลส์ ประเทศไทย มียอดจำหน่ายรถยนต์สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ทะลุเกิน 70,000 คัน ซึ่งตรงนี้เกิดจากผู้แทนจำหน่าย พนักงานและลูกค้าที่ให้การสนับสนุน จนวันนี้ เรามีรถยนต์สกายแอคทีฟ วิ่งอยู่บนถนนเมืองไทยกว่า 200,000 คันแล้ว”
จับตาปีนี้กับรถใหม่ 6 รุ่น และเป้า 75,000 คัน
สำหรับในปีที่ผ่านมา มาสด้า มียอดขายทั้งสิ้น 70,475 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 37% ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 6.7% ถือว่าเป็นตลาดที่ มาสด้า สามารถครองส่วนแบ่งได้มากที่สุด เป็นอันดับ 2 ของตลาดทั่วโลก และเป็นอันดับ 6 หากนับในแง่ของจำนวนรถที่ขายได้
ขณะที่ยอดขายไตรมาสแรกปี 2562 มาสด้า เริ่มต้นได้อย่างน่าสนใจ ด้วยยอดขาย 16,579 คัน และตั้งเป้าหมายไว้ที่ 75,000 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 7% โดยในปีนี้ จะมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดมากถึง 6 รุ่น แต่ที่เป็นโมเดลใหม่ สดซิง 2 โมเดล คือ “มาสด้า 3” และ “มาสด้า ซีเอ็กซ์-8”
มาสด้า 3 ใหม่ จะมีการเปิดตัวในช่วงกลางปีนี้ โดยจะเป็นรถที่ประกอบในประเทศไทยจากโรงงานที่ระยอง ส่วนข้อมูลทางด้านเทคนิคต่างๆ คงต้องรอช่วงใกล้เปิดตัว เพื่อยืนยันอีกครั้ง ขณะเดียวกัน มาสด้า ซีเอ็กซ์-8 นั้น จะเปิดตัวในช่วงปลายปี โดยถือว่ารถรุ่นเรือธงรถตัวใหม่ แบบเอสยูวี 6 ที่นั่ง อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ของมาสด้า ซึ่งจะนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ รถใหม่สองรุ่นดังกล่าว จะมาเสริมไลน์การขาย เพื่อเป็นตัวเพิ่มยอดขายให้กับมาสด้า บรรลุเป้าหมายการขายที่ตั้งไว้
เพื่อสานต่อความสำเร็จให้ครบวงจร มาสด้า เพิ่มในเรื่องของการพัฒนาด้านการบริการหลังการขาย ที่มีส่วนสำคัญทำให้ภาพลักษณ์ของมาสด้าดีขึ้น จากอดีตที่เคยถูกมองว่าอะไหล่แพง ศูนย์หายาก ปัจจุบันภาพลบต่าง ๆ ได้หมดไปอย่างสิ้นเชิง จากโชว์รูมและศูนย์บริการ 40 แห่ง กลายมาเป็น 140 ทั่วประเทศในปัจจุบัน และยังคงมีแผนขยายศูนย์ซ่อมสีและตัวถังเพิ่มขึ้นจากที่เปิดไปแล้ว 21 แห่งทั่วประเทศ และจะเพิ่มเป็น 28 แห่งในปีนี้ และภายในปี 2021 จะเพิ่มขึ้นเป็น 58 แห่ง
ถึงบรรทัดนี้ต้องบอกว่า มาสด้า จากแบรนด์เล็กๆ ยอดขายไม่กี่พันคันต่อปี ก้าวขึ้นมาสู่แบรนด์ชั้นนำที่มียอดขายกว่า 70,000 หมื่นคัน คงต้องจับตาดูว่า มาสด้า จะมีอะไรมานำเสนอในศตวรรษที่ 3 อีกและจะสามารถไปแตะยอดขายระดับแสนคันต่อปีได้เมื่อใด เป็นเรื่องที่น่าติดตาม