xs
xsm
sm
md
lg

Mercedes-Benz S350d เกิดมานุ่ม เพื่อคนนั่ง แต่...

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมื่อเอ่ยถึง เอส-คลาส (S-Class) รถธงของค่ายแห่งดวงดาว การนับรุ่นแรกตามตระกูลจะเริ่มในปี ค.ศ.1954 แต่หากนับเฉพาะเมื่อเปลี่ยนชื่อมาเป็น เอส-คลาส เจเนอเรชันแรกจะเริ่มในปี ค.ศ.1972 ภายใต้รหัสพัฒนา W116 ซึ่งหากนับจากรุ่นหลังนี้ เอส-คลาส เจเนอเรชันปัจจุบัน W222 จะถือว่าเป็นลำดับที่ 6 ในตระกูลสูงสุดนี้

เอส-คลาส ได้ชื่อว่าเป็นรถที่ดีที่สุดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่พัฒนาขึ้นสำเร็จจากฝ่ายวิจัย เอส-คลาส จะเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ได้ใช้งานเทคโนโลยีและฟังก์ชันต่างๆ เหล่านั้น โดยโมเดลล่าสุดนี้ เปิดตัวเมื่อปี 2014 ก่อนที่จะเฟซลิฟต์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ไมเนอร์เชนจ์ ภายใต้ MY2018 โดยเป็นการกลับมาทำตลาดเครื่องยนต์ ดีเซล อีกครั้ง ของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ส่วนจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง เชิญติดตามได้


ยกหน้าใหม่แน่นความปลอดภัย

สำหรับรุ่นเฟซลิฟต์ของเอส-คลาสนั้น ในเมืองไทยเปิดตัวทำตลาดด้วยเครื่องยนต์ ดีเซล ตัวใหม่ล่าสุด แบบ 6 สูบแถวเรียง เทอร์โบคู่ ที่มาพร้อมระบบวาล์วแปรผันเป็นครั้งแรกอีกด้วย เสื้อสูบยังคงเป็นอลูมินัม แต่ได้รับการปรับปรุงผนังเสื้อสูบใหม่ด้วยเทคโนโลยี Nanoslide

พิกัดความจุ 3.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 286 แรงม้า แรงบิดสุงสุดที่ 600 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 9 สปีด พร้อม Gearshift Paddles อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 6.0 วินาที ความเร็วสูงสุดที่ 250 กม./ชม. ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์ เคลมว่า เครื่องยนต์ตัวนี้ประหยัดน้ำมันมากขึ้นและปล่อยไอเสียน้อยลงกว่าเดิมด้วย EGR และการใช้ระบบวาล์วแปรผันเข้ามาช่วย

เอส350 ดี ตัวนี้ เป็นรุ่นแรกที่นำระบบช่วยเหลือการขับขี่มาใช้งานเต็มรูปแบบ ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการก้าวไปสู่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยมีการเพิ่มระบบช่วยเบรก, ระบบรักษาสมดุลของตัวรถเมื่อมีลมประทะด้านข้าง, ระบบช่วยเตือนการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ และที่ขาดไม่ได้ระบบป้องกันก่อนเกิดเหตุ (PRE-SAFE) ขณะที่ระบบมาตรฐานความปลอดภัยอื่นๆ ยังจัดเต็มเหมือนเดิม แต่ขอละไว้มิฉะนั้นจะเยอะมาก




ภายนอกมีการเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดคือ ชุดกระจังหน้า กันชนหน้า และไฟในดวงโคมที่มาในแบบ Multibeam LED พร้อมเส้นสายไฟแบบ 3 เส้น ดุจดั่งคบเพลิง ส่วนด้านท้ายโคมไฟยังคงรูปทรงเดิม แต่มีการเปลี่ยนดีไซน์ของดวงไฟใหม่ แบบไฟเบอร์ออฟติค มีความสดใสและชัดเจนมากขึ้น


ด้านอุปกรณ์ภายใน เป็นครั้งแรกของโลกที่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ นำระบบ Energizing comfort control มาใช้ โดยเป็นการรวมกันของระบบปรับอากาศ เครื่องเสียง แสงไฟภายในห้องโดยสาร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องเหมาะสมกับการขับขี่



ทั้งนี้ เบาะนั่งคู่หน้าและคู่หลังหุ้มหนัง Exclusive nappa ตัดเย็บลายเบาะแบบ diamond design สามารถปรับระดับด้วยระบบไฟฟ้า พร้อมหน่วยบันทึกความจำ และฟังก์ชั่นอุ่นที่นั่งและระบายอากาศ โดยเบาะผู้โดยสารด้านหน้า สามารถปรับเลื่อนไปด้านหน้าได้อีก 4 ซม.และเลื่อนด้านบนได้อีก 3.7 ซม. ช่วยเพิ่มพื้นที่บริเวณห้องโดยสารด้านหลังให้กว้างขวางขึ้น


ในแง่ของภาพรวมในการเปลี่ยนแปลงอ้างอิงจากทีมวิศวกรผู้พัฒนา เอส-คลาส ระบุว่า มีการเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนมากกว่า 6,500 ชิ้นสำหรับรุ่นปรับปรุงใหม่นี้



นุ่มสบายเพื่อคนนั่ง

จริงๆ แล้วในส่วนของการขับขี่แทบไม่ต้องบรรยายใดๆ เพราะ เอส-คลาส คือ รถที่ดีที่สุดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอาเป็นว่า ถ้าคุณเป็นสาวกแห่งดวงดาวและต้องการรถรุ่นที่ได้รับการยอมรับว่าที่สุด ก็ซื้อได้เลยไม่ต้องคิดอะไรมากมาย เพราะยังไงตัวเองเป็นคนนั่งมีพนักงานขับรถให้อยู่แล้ว แต่สำหรับใครก็ตามที่เป็นคนชอบขับขี่ เชิญติดตามอ่านต่อได้





ความรู้สึกแรกเมื่อได้ประจำการในตำแหน่งสารถี คือ หรูหรา แบบขีดสุด แสงสี ภายใน กลิ่นของห้องโดยสารช่างสมราคาระดับ 7 ล้านกว่าบาท ลูกเล่นฟังก์ชันต่างๆ มีเพียบมากมายเกินกว่าจะเล่นได้หมดในเวลาอันสั้น ชอบมากกับดีไซน์ของพวงมาลัยที่กระชับมือ น้ำหนักเบาสบายขับง่าย


ทัศนวิสัย ชัดเจนทุกมุมมอง แม้ตัวรถจะมีขนาดใหญ่ แต่กลับไม่รู้สึกว่าเทอะทะแต่ประการใด เมื่อต้องขับขี่ในสภาพการจราจรหนาแน่นกลางกรุงเทพฯ และตำแหน่งที่ดีที่สุดของเอสคลาส คือ การได้นั่งทางด้านหลังฝั่งซ้ายมือ เพราะทุกสิ่งอย่างจะเอาใจคนนั่งตำแหน่งนี้ไม่ว่าจะเป็นเบาะปรับเอนได้ ที่รองขาแบบปรับระดับได้พร้อมที่รองเท้า



เปรียบเทียบความสบายระหว่างคนขับกับผู้โดยสารตอนหลัง ยืนยันตรงนี้อีกครั้งว่า นั่งเบาะหลังสบายกว่าแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย ความนุ่มนวลของการขับขี่ต้องขอบคุณระบบช่วงล่างแบบถุงลม (Airmatic) ข้อดี คือ นุ่มและปรับระดับได้ แต่ข้อเสีย คือ ถ้าเสียไม่ต้องซ่อม เปลี่ยนใหม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีราคาสูงมากตามค่าตัวรถนั่นเอง


การขับขี่เราทดลองใช้งานทั้งในเมืองและออกต่างจังหวัด วิ่งทางยาวๆ อัตราเร่งดีไม่มีอึด แม้จะเป็นรถขนาดใหญ่ เรียกว่า เครื่องยนต์ดีเซลตัวนี้ ให้กำลังที่เหมาะสม จังหวะเร่งแซงสบายๆ ไม่ต้องลุ้นเหนื่อย แต่จะมีสิ่งที่ผู้เขียนไม่ชอบเวลาขับ คือ เมื่อวิ่งด้วยความเร็ว 80-120 กม./ชม. เจอถนนที่เป็นคลื่น หรือหลุมตื้นๆ จะออกอาการโยนตัวไปหน่อย อัตราการบริโภคน้ำมันเฉลี่ย 14 กม./ลิตร กับระยะทาง 290 กม. ต้องใช้คำว่า ยอดเยี่ยม แถมเป็นดีเซลด้วย


ขณะเดียวกันผู้เขียนได้เจอกับเหตุการณ์ที่เรียกว่า “เบรกหัวทิ่ม” เนื่องจากระบบความปลอดภัยของรถที่ทำงานดีเกินไป ด้วยเหตุที่มีรถจักรยานยนต์ขับผ่านหน้าไปแล้ว (จากซ้ายไปขวา) และผู้เขียนได้กดคันเร่งให้รถเดินหน้า แต่เอส-คลาสกลับเลือกที่จะเบรกหนักแบบรถหยุดนิ่งทันที คาดว่าน่าจะมาจากการทำงานของระบบเสริมความปลอดภัยอะไรสักอย่างที่ติดตั้งไว้ โดยทางผู้เขียนได้ติดต่อทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เพื่อขอคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นการทำงานของระบบใด อย่างไร แต่ทางผู้รับผิดชอบในส่วนที่จะตอบคำถามนี้ แม้จะไม่ได้ปฎิเสธแต่ก็ไม่ตอบรับการนัดหมายเพื่อพูดคุย เราจึงไม่สามารถหาคำตอบมาให้ท่านผู้อ่านได้ (ขอติดไว้ก่อน ถ้าได้คำตอบแล้วจะนำเสนอในคราวถัดไป)



ทำไมเราจึงให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นี้ เนื่องจากยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันแบบหาข้อยุติไม่ได้ในระดับโลก สำหรับประเด็นของ “ความรับผิด” ว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น เมื่อรถใช้งานในโหมดขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งทางค่ายรถยนต์บอกว่า ผู้ขับขี่ที่อยู่หลังพวงมาลัย ต้องเป็นคนรับผิดชอบ100% แต่จากเหตุการณ์นี้ แม้จะเป็นเพียงระบบกึ่งอัตโนมัติ แค่เข้ามาช่วยเพียงบางฟังก์ชัน ก็แสดงให้เห็นว่า รถยนต์สามารถเลือกที่จะปฏิเสธคำสั่งของผู้ขับขี่ได้ และเลือกกระทำตามโปรแกรมที่ถูกกำหนดไว้โดยวิศวกร แทนที่จะทำตามคำสั่งของผู้ขับขี่ ดังนั้น โดยหลักของกฎหมายแล้ว ผู้รับผิดชอบ คือ ผู้กระทำการ เมื่อผู้ขับขี่ไม่ได้กระทำ จะให้รับผิดชอบได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ สำคัญอย่างที่สุดสำหรับบริษัทประกันภัยทั่วโลก






ทำความเข้าใจกันก่อนว่า เหตุการณ์นี้ ไม่ใช่ความบกพร่องของระบบ หรือตัวรถแต่อย่างใด ทุกอย่างทำงานปกติสมบูรณ์แบบตามที่วิศวกรได้บรรจงสร้างสรรค์ขึ้น เพียงแค่ว่า หากมีกรณีเกิดอุบัติเหตุใครจะเป็นคนรับผิดชอบ







เหมาะกับใคร


สำหรับสาวกแห่งดวงดาว เอส-คลาส คือที่สุดของดวงใจ ส่วนใครที่เคยใช้งานเอส-คลาส ในรุ่นก่อนหน้ามาแล้ว บุคลิกในการขับขี่ยังคงเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติม คือ ระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่อัดแน่นมามากกว่าเดิม โดยเฉพาะการเติมความสบายแบบที่สุดให้กับคนนั่งเบาะหลังฝั่งซ้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น