กระแสของรถเอนกประสงค์กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้รถยนต์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้มีการบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมา บางท่านทราบที่มาที่ไปเป็นอย่างดี แต่บางคนไม่ทราบ รวมถึงเจอคำทางการตลาดที่หยิบมาใช้จนทำให้เกิดความสับสนเข้าไปอีก
ทีมงาน MGR Motoring จึงขอนำเสนอบทความที่จะทำให้ท่านเข้าใจว่า แต่ละคำเรียกขานนั้นแตกต่างกันอย่างไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร จะได้ไม่สับสนหรืองงไปกับคำโฆษณาจากบรรดาเซลล์ที่จ้องแต่จะปิดการขายให้ได้
-SUV – Sport Utility Vehicle
รถเอสยูวี หรือ รถยนต์นั่งเอนกประสงค์ ซึ่งในต่างประเทศทั่วโลก คือ รถยนต์นั่งแบบ 5 ประตู หรือสเตชั่นวากอน, ยกสูง และมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (หรือจะไม่มีก็ได้) คลอบคลุมทุกชนิดของรถที่เข้าข่ายนี้ ซึ่งในยุคแรกเริ่มให้นึกภาพรถจิ๊ปหรือรถแลนด์ โรเวอร์ ในอดีต จะเห็นภาพชัดเจนของจุดเริ่มต้นรถเอสยูวี
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวถังวางบนเฟรม(แชสซีส์) หรือตัวถังแบบขึ้นรูปชิ้นเดียว(โมโนคอค) ต่างถือว่าเป็นรถแบบเอสยูวีด้วยทั้งสิ้น โดยยังรวมไปถึงรถแบบ 4 ประตู หรือ 3 ประตู มีกระบะท้าย และยกสูง ก็ถูกเรียกรวมว่า รถเอนกประสงค์เช่นเดียวกัน
ขณะที่ในเมืองไทย เรียกรถแบบนี้อย่างเป็นทางการว่า “รถยนต์นั่งตรวจการณ์ หรือ รถยนต์นั่งเอนกประสงค์สมรรถนะสูง” ซึ่งเรียกได้ทั้งสองแบบ โดยอ้างอิงจากเอกสารการเผยแพร่ทั่วไปจากทางราชการที่มีการเรียกทั้งสองชื่อ
ปัจจุบันรถเอนกประสงค์ ได้รับการพัฒนาต่อยอดแตกแขนงออกไปอย่างมากมายตามความต้องการของตลาด โดยพื้นฐานทั่วไปจะแบ่งตามขนาดของตัวรถเป็นหลัก ได้แก่ Mini SUV หรือ ขนาดเล็ก, Compact SUV ขนาดกระทัดรัด, Mid-Size SUV ขนาดกลาง และ Full Size SUV ขนาดใหญ่ โดยจะมีขนาดใหญ่พิเศษหรือ Extended Lengh SUV ด้วยในประเทศสหรัฐอเมริกา
-Crossover ลูกผสมยกสูง
ทั้งนี้ นอกเหนือจากพิกัดมาตรฐานดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกพิกัดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ภายใต้คำเรียกขานว่า Crossover ซึ่งจะเป็นพิกัดที่คาบเกี่ยวระหว่างขนาดเล็กและขนาดกระทัดรัด โดยจะมีจุดสังเกต คือ รถครอสโอเวอร์นั้นจะถูกพัฒนาขึ้นมาจากรถรุ่นอื่น แล้วนำมายกสูง ยกตัวอย่างที่ทุกคนน่าจะจำกันได้เป็นอย่างดี นั่นคือ วอลโว่ เอ็กซ์ซี70 ซึ่งจะมีพื้นฐานมาจากรุ่น V70 ที่ได้รับการยกสูงแล้วเพิ่มระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เข้าไป
ปัจจุบัน จากตลาดของรถเอสยูวีที่ขยายตัวอย่างมาก ทำให้หลายค่ายรถยนต์ ได้เพิ่มทางเลือกรถครอสโอเวอร์เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งการพัฒนาขึ้นโดยตรงและพัฒนามาจากตัวถังรุ่นอื่นๆ โดยรถประเภทนี้ยังถือว่าเป็นหนึ่งในรถประเภทเอสยูวีที่จะมีขนาดคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างซับ-คอมแพคและคอมแพค ทำให้มีการจัดหมวดหมู่รถในลักษณะนี้ว่าเป็น B-SUV ซึ่งไม่แปลกแต่ประการใด
สำหรับตัวอย่างของรถครอสโอเวอร์โมเดลปัจจุบัน ได้แก่ มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ที่เป็นการผสมระหว่าง MPV และSUV, มาสด้า ซีเอ็กซ์-3 พัฒนามาจาก มาสด้า2 นำมายกสูง, ฮอนด้า เอชอาร์-วี ที่พัฒนามาจากโครงสร้างพื้นฐานของรุ่นแจ๊ซ และโตโยต้า ซี-เอชอาร์ ที่พัฒนาขึ้นใหม่ ตามแนวคิด TNGA เป็นต้น
เหนืออื่นใด ด้วยเทคโนโลยีเครื่องยนต์ปัจจุบัน ทำให้ขนาดความจุของเครื่องยนต์มิใช่การวัดพิกัดของเซกเมนท์ เนื่องจากในรถยนต์แต่ละรุ่นมีขนาดเครื่องยนต์ที่หลากหลาย และทุกค่ายต่างพัฒนาไปในแนวทางลดขนาดความจุของเครื่องยนต์ลง แต่คงระดับพละกำลังเอาไว้ ดังนั้น ขนาดความจุของเครื่องยนต์จึงไม่สามารถชี้พิกัดได้อีกต่อไป
-PPV – Pick Up Passenger Vehicle
พีพีวี ถือเป็นรถชนิดพิเศษที่ใช้เรียกสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก” ซึ่งในตลาดโลกนอกเหนือจากประเทศไทยต่างก็จัดหมวดรถประเภทนี้ไว้รวมกับรถเอนกประสงค์-SUV ตามขนาดตัวถังเป็นหลัก
ความพิเศษของพีพีวีในประเทศไทย เริ่มขึ้นมาจากการได้รับอัตราภาษีพิเศษ เพื่อส่งเสริมการประกอบรถยนต์ในประเทศ ด้วยอัตราภาษีสรรพสามิตที่ต่ำกว่ารถยนต์นั่งแบบเอนกประสงค์ที่ค่อนข้างมากยุคนั้น
ขณะเดียวกันเนื่องจากมีการปรับอัตราการจัดเก็บภาษีใหม่หลายครั้ง ส่งผลให้ปัจจุบัน รถแบบพีพีวี มีพิกัดภาษีที่ 20-40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าต่ำกว่ารถยนต์เอนกประสงค์แบบเดียวกันที่จะต้องเสียภาษีในอัตราระหว่าง 25-40 เปอร์เซ็นต์ ตามพิกัดเครื่องยนต์และปริมาณการปล่อยไอเสียตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่หากเทียบพิกัดเดียวกันแล้ว พีพีวีจะเสียภาษีสรรพสามิตที่อัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ แต่หากจัดเก็บแบบรถยนต์นั่งจะต้องเสียถึง25-30 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม จะเข้าเงื่อนไขการได้สิทธิพิเศษทางภาษีในหมวดพีพีวีได้ จะต้องทำตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครบทุกข้อ ได้แก่ เป็นรถยนต์นั่งที่สร้างขึ้นบนโครงสร้างของรถยนต์กระบะที่เป็นแบบเดียวกับรุ่นที่มีการผลิตในประเทศ และมีการจำหน่ายเป็นการทั่วไปหรือส่งออกเป็นปกติวิสัย และจดทะเบียนเป็นกระบะบรรทุกตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
รวมถึงต้องมีระยะฐานล้อ ไม่น้อยกว่า 2,750 มิลลิเมตรโดยต้องเป็นรหัสโมเดลและแชสซีส์เดียวกันกับรถยนต์กระบะรุ่นนั้น และต้องไม่มีกระบะท้ายยื่นออกมา หรือส่วนท้ายยื่นออกมาเหมือนรถเก๋ง เหนือสิ่งอื่นใด คือ ต้องไม่เป็นกระบะดัดแปลง ซึ่งขออนุญาตขยายความดังต่อไปนี้
กระบะดัดแปลงตามกฎหมายดังกล่าว ปัจจุบันหมายถึงรถยนต์กระบะหรือแชสซีส์และกระจกบังลมหน้า หรือภาษาการขายเรียกกันง่ายๆ ว่า “กระสือ” คือมีแต่หัวรถไม่มีกระบะท้าย ซึ่งจะนำมาดัดแปลงติดตั้งเป็นรถส่งของจำพวกรถตู้เย็นหรือรถตู้ทึบ โดยจะมีการจัดเก็บในอัตราที่แตกต่างออกไป
กล่าวโดยสรุป พีพีวี จะต้องถูกพัฒนาขึ้นจากกระบะที่มีขายในประเทศไทย ซึ่งเมื่อเทียบกับรถเอสยูวีแบบอื่นๆ จะมีข้อได้เปรียบตรงที่เรื่องของความแข็งแรงทนทาน การซ่อมบำรุงและอะไหล่หาง่ายเช่นเดียวกับการดูแลรถกระบะ แต่ก็จะมีข้อเสียเปรียบในเรื่องของความนุ่มนวล
ถึงบรรทัดนี้ คงจะพอเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างการเรียกรถยนต์ทั้ง 3 รูปแบบได้พอสมควร ส่วนรถแบบไหนจะตรงใจคุณ แนะนำว่าไปทดลองขับดูก่อน โดยไม่ต้องเกรงใจเซลล์ แต่พึงระลึกว่า รถคนอื่นเราต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่มากกว่ารถของเราเองทุกครั้ง.