xs
xsm
sm
md
lg

กรุยทาง “ซูบารุ” ดันไทยขึ้นชั้น ฟอเรสเตอร์ ประเดิมโรงงานใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ตันจง กรุ๊ป พร้อมเต็มกำลัง โรงงานใหม่ในไทย ประกาศเดินหน้าผลิตได้ มีนาคม 2562 ประเดิมรุ่นแรก “ฟอเรสเตอร์” เอสยูวี โฉมใหม่ล่าสุด พร้อมรับจองปลายปีนี้ เผยแผนลงทุนมูลค่ากว่า 4,300 ล้านบาท ดันประเทศไทยขึ้นฐานการผลิตเพื่อส่งออก กำลังผลิตสูงถึง 50,000 คันต่อปี ส่วนช่วงแรกคาดผลิตได้จริง 15,000 คัน/ปี

ช่วงปีที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ของทาง ซูบารุ ที่ประกาศเปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ สร้างกระแสความคึกคักให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยขึ้นมาอีกครั้ง นับจากวันที่ประกาศจนถึงช่วงเวลานี้ ซูบารุมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ทีมงาน เอ็มจีอาร์ ออนไลน์ พาไปค้นหาคำตอบ



“โรงงานคืบหน้าดีมาก ตอนนี้สามารถทดลองประกอบรถคันแรกสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ยังไม่รีบ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป” คำกล่าวของ เกลน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ดูแลการจัดจำหน่ายรถยนต์ซูบารุ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งลงทุนและรับผิดชอบในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์แห่งนี้ทั้งหมด




ตามที่ ซูบารุ เคยประกาศไว้ รถยนต์รุ่นแรกที่จะออกจากโรงงานแห่งนี้ คือ ฟอเรสเตอร์ โดยคาดหมายว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการผลิต รุ่น Pre Production ได้ราวปลายปีนี้ และเวอร์ชั่นขายจริงนั้น จะเริ่มต้นราวเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเรื่องที่น่าเป็นห่วง ซึ่ง เกลน ตัน ให้ความใส่ใจมากที่สุด คือ ส่วนของ Paint Shop หรือการทำสี ที่ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่


“โรงงานในไทยแห่งนี้ จะมีกำลังการผลิตสูงสุด 50,000 คันต่อปี เป็นโรงงานแห่งที่ 4 ที่ผลิตรถยนต์ซูบารุ ต่อจากญี่ปุ่น, อเมริกา และมาเลเซีย โดยเป็นโรงงานแห่งแรกที่เป็นการลงทุนของ ตันจง กรุ๊ป เกือบทั้งหมด มูลค่า 125 ล้านดอลล่าสหรัฐหรือราว 4,300 ล้านบาท ซึ่งทางซูบารุ ญี่ปุ่น ประทับใจเป็นอย่างมาก เรามุ่งหวังในเรื่องของคุณภาพการประกอบ ตามมาตรฐานสูงสุดของซูบารุ จึงต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพของสี” เกลน ตัน กล่าว

สำหรับเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวถือว่า ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ให้มีการเติบโตขึ้นได้เป็นอย่างดี รวมถึงสร้างงานให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในเมืองไทยอีกด้วย เนื่องจากทาง ซูบารุ เลือกใช้ชิ้นส่วนในประเทศราว 40% ของการประกอบรถทั้งคัน ขณะนี้ อยู่ในระหว่างการเจรจาต้นทุนการผลิตกับซัพพลายเอร์ เพื่อทำให้ราคาขายต้นทุนของ ฟอเรสเตอร์ สามารถแข่งขันในตลาดได้







ในช่วงแรกของการประกอบที่โรงงานลาดกระบังแห่งนี้ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตราว 15,000 คันต่อปี โดยกำลังผลิตส่วนที่เหลือจะส่งออกไปขายทั่วภูมิภาคอาเซียน เช่น เวียดนาม และ มาเลเซีย เป็นต้น ขณะที่การลงทุนอื่นๆ ยังคงต้องรออนาคตและเงื่อนไขจากทางบีโอไอว่าเหมาะสมเพียงใด


ทั้งนี้ ในส่วนของ ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ ได้เปิดตัวที่ไต้หวัน เรียบร้อยแล้ว ส่วนของเมืองไทยนั้น มีกำหนดแนะนำตัวในช่วงงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป ปลายปีนี้ โดยจะมีการรับจองสิทธิ์ ส่วนตัวรถจริงจะเริ่มส่งมอบได้ราวเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการตั้งเป้าจำหน่ายในเมืองไทยเอาไว้ที่ 500 คันต่อเดือน

เหนืออื่นใด เมื่อถามถึงภาพรวมและทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เกลน ตัน ได้แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ตลาดรถยนต์แบบเอสยูวีจะกลายมาเป็นส่วนใหญ่ของตลาด ดูจากการหดตัวลงของตลาดรถซีดานขนาดคอมแพค ที่ปัจจุบันเหลือเพียง ฮอนด้า ซีวิค, โตโยต้า โคโรลล่า และ มาสด้า 3 เท่านั้น



“คนรุ่นใหม่ เมื่อมีรถคันแรกจะหันไปหารถขนาดเล็ก ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีโครงการรถคันแรกเมื่อ 5 ปีก่อน กระแสแรงมากและเมื่อครบกำหนดการถือครอง คนเหล่านั้นได้เปลี่ยนรถจากอีโคคาร์หรือรถคันเล็ก หันมาเลือกใช้รถเอสยูวี มากขึ้น ซึ่งตลาดรถเอสยูวี มีอัตราการเติบโตราว 15-20% ต่อปี และมีทิศทางเพิ่มขึ้นทุกปี” เกลน ตันกล่าว

ดังนั้น ทิศทางการทำตลาดของรถยนต์ซูบารุ จึงมุ่งเน้นไปที่การออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ซูบารุทยอยเปิดตัวออกมานั้น จะมาในรูปแบบของรถเอนกประสงค์ หรือเอสยูวี แทบทั้งสิ้น

ส่วนภาพรวมของกลุ่มตันจงในการจำหน่ายรถยนต์ซูบารุทั่วภูมิภาคเอเชีย ในปีที่แล้ว มียอดขายราว 22,400 คัน และในปีนี้คาดว่าจะสามารถทำได้ราว 25,000 คัน (ไม่รวมยอดขายในประเทศจีน) ทั้งนี้ เมื่อโรงงานแห่งใหม่ในเมืองไทยแล้วเสร็จ คาดว่า ประเทฅไทยจะก้าวขึ้นมาติดอันดับต้นๆ ในประเทศที่จำหน่ายรถยนต์ซูบารุของกลุ่มตันจง



สำหรับปีนี้ ซูบารุตั้งเป้าจำหน่ายในประเทศไทยไว้ที่ 3,659 คัน โดยผ่านครึ่งปีแรกมียอดจำหน่ายราว 1,400 คัน คาดว่าจะไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เนื่องจากจำนวนรถไม่เพียงพอต่อการส่งมอบ ด้วยกระแสความต้องการรถรุ่น เอ็กซ์วี ที่ประเทศมาเลเซีย มีมากเป็นพิเศษ ทำให้โควต้าที่ส่งให้ประเทศไทยลดน้อยลง ส่งผลให้ลูกค้าของซูบารุ ที่จองไว้แล้วรอไม่ไหว ตัดสินใจถอนจองไปเป็นจำนวนมาก

ถึงบรรทัดนี้ แม้จะข่าวของการปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยของบางยี่ห้อไป แต่ก็ยังมีข่าวของการเปิดโรงงานใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด และเป็นฐานการผลิตรถยนต์ป้อนให้กับตลาดอื่นๆ ได้อีก นับว่า ประเทศไทย ยังคงมีศักภาพในอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ไม่ใช่น้อย มิฉะนั้น ใครจะกล้ามาลงทุนขนาดนี้





กำลังโหลดความคิดเห็น