xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสเปก “ฮอนด้า-ยามาฮ่า” แบบไหนถึงเรียกว่าไฮบริด(ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดรถจักรยานยนต์ไทยช่วงนี้ดูท่าจะคึกคักเป็นพิเศษ หลังสองค่ายยักษ์ใหญ่ “ฮอนด้า” และ “ยามาฮ่า” ต่างบังเอิญนัดกันเปิดตัวโมเดลใหม่ที่ใช้พลังงานแบบลูกผสม หรือที่เรียกติดปากกันว่าระบบ “ไฮบริด” เข้ามาติดตั้งในมอเตอร์ไซค์เป็นครั้งแรก พร้อมประกาศเตรียมเดินหน้าทำตลาดในบ้านเราอย่างเป็นทางการเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับสิ่งที่ผู้บริโภครับรู้กันแล้ว นั่นคือ ทั้งคู่เลือกประเดิมใช้เทคโนโลยีใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สกู๊ตเตอร์รุ่นยอดนิยมของตัวเอง รวมถึงเลือกช่วงเวลาการวางจำหน่ายไล่เลี่ยกัน ซึ่งจะเริ่มต้นในครึ่งปีหลังต่อจากนี้

ขณะที่ใจความสำคัญอย่าง รูปแบบการทำงานของระบบไฮบริดที่ทั้งสองแบรนด์เลือกใช้ มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

หรือตัวเลือกแบบไหนถึงเรียกว่าไฮบริด?

ประเด็นนี้เชื่อว่ารับทราบกันแล้วอีกเช่นกัน ทว่าอาจยังไม่ชัดเจน “เอ็มจีอาร์มอเตอริ่ง” อาสานำข้อมูลมานำเสนอเพื่อให้เกิดความเข้าใจกับผู้บริโภค ส่วนจะตัดสินใจเลือกใช้แบบไหน นั่นขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายและความต้องการของแต่ละคน

ยึดจากอันดับการทำตลาด ขอเริ่มกันที่ค่ายส้อมเสียงก่อน

ยามาฮ่า แกรนด์ ฟีลาโน่ ไฮบริด

ออโตเมติกแฟชั่นพรีเมียม “แกรนด์ ฟีลาโน่ ไฮบริด” โมเดลใหม่รุ่นที่ 4 ของยามาฮ่า จากทั้งหมด 6 รุ่นซึ่งมีกำหนดเปิดตัวในปีนี้ เผยโฉมและพร้อมทำตลาดทันที เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ด้วยตัวเลือก 2 รุ่นย่อย ได้แก่ รุ่น Standard ราคา 55,500 บาท และรุ่น ABS ราคา 62,000 บาท

“คำว่าไฮบริดมีความหมายว่า เป็นการนำพลังงานจาก 2 แหล่งมาช่วยขับเคลื่อนตัวรถ” ทาเคชิ นิชิมูระ หัวหน้าผู้ดูแลโปรเจกต์การพัฒนารถรุ่นนี้เกริ่นถึงคำนิยามของเทคโนโลยีใหม่ก่อนให้รายละเอียดต่อว่า
พงศธร เอื้อมงคลชัย(ซ้าย) และทาเคชิ นิชิมูระ(ขวา)
เครื่องยนต์บลูคอร์ แบบสูบเดียวขนาด 125 ซีซี. จะผสานการทำงานกับ SMG (SMART MOTOR GENERATOR) ควบคุมผ่านกล่อง SGCU (STARTER GENERATOR CONTROL UNIT) ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยส่งกำลังขณะการออกตัวหรือจากรถที่หยุดนิ่ง ส่งผลให้มีแรงบิดเพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้าที่ไม่มีระบบดังกล่าว

วิศวกรหนุ่มชาวญี่ปุ่นผู้ร่วมงานกับค่ายส้อมเสียงมานานกว่า 14 ปี อธิบายเพิ่มเติมว่า การจ่ายกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพื่อสั่งงานให้มอเตอร์ช่วยดันเพลาข้อเหวี่ยง เริ่มทำงานก็ต่อเมื่อผู้ขับขี่บิดคันเร่งแบบทันทีทันใดในช่วงออกตัว ย้ำว่าในช่วงออกตัวเท่านั้น โดยจะทำงานเป็นเวลาประมาณ 3 วินาที หลังจากนั้นพลังขับเคลื่อนของตัวรถจะใช้จากเครื่องยนต์ล้วน


ทั้งนี้ เมื่อแบตเตอรี่ต้องรับภาระหนักขึ้นในการกักเก็บและจ่ายกระแสไฟ ดังนั้น แกรนด์ ฟีลาโน่ ไฮบริด จึงต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่จากเดิมที่มีแรงดันไฟฟ้า 12 โวลต์ ความจุ 3 แอมป์ ราคาต่อหน่วยประมาณ 500 บาท เปลี่ยนเป็นความจุ 5 แอมป์(แรงดันเท่าเดิม) ในราคาประมาณ 900 บาท

ขณะเดียวกันนอกจากช่วยเรื่องแรงบิดออกตัวแล้ว จุดขายที่โดเด่นยังมีฟังก์ชั่น STOP & START SYSTEM ที่จะดับเครื่องยนต์อัตโนมัติเมื่อรถจอดหยุดนิ่งเกิน 5 วินาที อันนำมาซึ่งผลลัพธ์ความประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น 9 เปอร์เซ็นต์ หรืออยู่ที่อัตราเฉลี่ย 55.5 กิโลเมตรต่อลิตร ตามเงื่อนไขการทดสอบของยามาฮ่าอีกด้วย

สองล้อไฮบริดที่ทำตลาดรุ่นแรกในไทย ในภาพรวมดูเหมือนจะให้น้ำหนักไปที่เรื่องราวของความประหยัดเป็นหลัก โดยเฉพาะการออกตัวของรถออโตเมติกที่ต้องอาศัยกำลังเครื่องยนต์และเป็นช่วงที่กินน้ำมันมากที่สุด

ส่วนเรื่องของเทคโนโลยี เหตุผลที่ยังเลือกใช้แบตเตอรี่แบบเดิมซึ่งเป็นตะกั่ว แทนที่จะเป็นแบบลิเทียมไอออนเหมือนที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ไฮบริดอย่างที่ผู้บริโภคชาวไทยคุ้นเคย เพราะไม่อยากให้ตัวรถมีราคาสูงจนเกินไปจากกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้

“แกรนด์ ฟีลาโน่ เป็นออโตเมติกรุ่นที่ขายดีที่สุดของเรา มียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 คันต่อเดือน ส่วนรุ่นไฮบริดนี้จะเข้ามาทำตลาดแทนที่ ตั้งเป้ายอดขายขยับจากโมเดลก่อนหน้า เพิ่มเป็น 7,000 คันต่อเดือน” พงศธร เอื้อมงคลชัย ผู้จัดการใหญ่ด้านการค้า บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด กล่าวถึงผลการตอบรับที่คาดหวังจากลูกค้า

คลิ๊กชมคลิปอธิบายการทำงานระบบไฮบริดของยามาฮ่า


ฮอนด้า พีซีเอ็กซ์ ไฮบริด

ฝั่งค่ายปีกนกหลังบริษัทแม่เคยเปิดตัว “พีซีเอ็กซ์ ไฮบริด” ไปแล้วที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายปีก่อน ต่อเนื่องกับการนำมาอวดโฉมในไทย ที่งานบางกอก มอเตอร์โชว์ 2018

ล่าสุด วันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เอ.พี.ฮอนด้า จัดงานแถลงข่าวให้รายละเอียดตัวรถ โดยชูประเด็นใหญ่ย้ำว่า นี่คือรถจักรยานยนต์ไฮบริดรุ่นแรกของโลกที่ใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน พร้อมเผยคิวทำตลาดอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นต้นเดือนสิงหาคมนี้ ด้วยราคาจำหน่ายไม่เกิน 120,000 บาท
สุคติ สรรพวัฒน์
“เรากำลังก้าวข้ามไปอีกเจเนอเรชั่น เรากำลังเปลี่ยนประวัติศาสตร์ในการทำรถจักรยานยนต์ เราเลือกลิเทียมไอออนแบตเตอรี่เพื่อที่จะให้เกิดกำลังในการขับเคลื่อนมอเตอร์ ซึ่งจะเสริมการทำงานของเครื่องยนต์ เพิ่มแรงบิดมากขึ้นถึง 26 เปอร์เซ็นต์” สุคติ สรรพวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานแผนผลิตภัณฑ์ เอ.พี. ฮอนด้า กล่าวในวันแถลงข่าว

“คอนเซ็ปต์หลักของระบบไฮบริดที่ฮอนด้านำมาใช้ มุ่งหวังไปที่การเติมสมรรถนะด้านการขับขี่เข้าไปให้กับรถเอทีระดับพรีเมียม จากเดิมที่มีความหรูหราและความสะดวกสบายเป็นทุนเดิม เราเพิ่มคำว่า วากุวากุ ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมีความหมายว่า ความสนุกตื่นเต้นเข้าไปด้วย”

สำหรับการทำงานมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งมีน้ำหนักรวมกันประมาณ 4.7 กิโลกรัม เริ่มจาก 1. แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนติดตั้งอยู่ใต้เบาะที่นั่ง ให้แรงเคลื่อนไฟฟ้าขนาด 48 โวลต์(แบตเตอรี่เดิมที่เป็นตะกั่ว 12 โวลต์ ก็ยังคงมีอยู่และทำงานตามปกติอย่างการจ่ายกระแสไฟไปที่เรือนไมล์แสดงสถานะ เป็นต้น)

2.กล่องควบคุม PDU (Power Deliver Unit) ทุกครั้งที่มีการบิดคันเร่งแบบเฉียบพลัน ไม่ว่าขณะออกตัวหรือเมื่อล้อหมุนไปแล้ว จะทำการสั่งงานไปยังแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ให้จ่ายไฟไปยังมอเตอร์ไฟฟ้า

และ 3.มอเตอร์ไฟฟ้า (Motor Assist) ทำหน้าที่ส่งกำลังเสริมการทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ eSP ขนาด 150 ซีซี. ช่วยเพิ่มแรงบิดได้สูงสุด 26 เปอร์เซ็นต์ ที่ 4,000 รอบต่อนาที เมื่อเทียบกับรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์เพียงอย่างเดียว พร้อมกับชาร์จไฟกลับไปที่แบตเตอรี่ทุกครั้งเวลาผ่อนคันเร่งหรือติดเครื่องในรอบเดินเบา

โดยการเสริมพลังแรงบิดนี้ สามารถส่งกำลังได้เต็มประสิทธิภาพประมาณ 3 วินาที หลังจากนั้นตัวมอเตอร์ไฟฟ้าจะค่อยๆ ลดระดับการทำงานลง หากแต่ผู้ขับขี่ต้องการตัวช่วยเพื่อเพิ่มแรงขับเคลื่อนอีกครั้ง เพียงยกคันเร่งและบิดต่อแบบหมดปลอกในทันที องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนก็จะประมวลผล และให้การตอบสนอง “วากุวากุ” อีกครั้ง

ขณะที่รายละเอียดของแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่หลายคนมีความกังวลใจ ทั้งในด้านราคาและอายุการใช้งาน สุชาติ อรุณแสงโรจน์ รองประธานกรรมการบริหาร เอ.พี. ฮอนด้า ให้คำตอบว่า ตัวแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่นำมาติดตั้งในรถจักรยานยนต์ไฮบริดรุ่นแรกของโลก มีอายุการใช้งานประมาณ 6-8 ปี โดยฮอนด้าให้การรับประกันคุณภาพ 3 ปี หรือ 30,000 กิโลเมตร เช่นเดียวกับตัวรถ

“หากเกิดปัญหาแล้วต้องซื้อเปลี่ยน ราคาปัจจุบันตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท แต่อย่างที่บอก แบตเตอรี่ชนิดนี้มีความทนทานสูง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เราเชื่อมั่นว่าเมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยน เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในตอนนั้นน่าจะทำให้ราคาลดลงกว่านี้มาก”

“ฮอนด้า พีซีเอ็กซ์ เป็นรถเอทีระดับพรีเมียม ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้ที่ชื่นชอบสินค้าที่สร้างความภูมิใจในการครอบครอง ในรุ่นปกติราคา 82,300 บาท ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มียอดขายเฉลี่ย 9,000 คันต่อเดือน ส่วนในรุ่นไฮบริด ขั้นแรกเราขอศึกษาตลาดก่อนว่ามีความต้องการมากน้อยขนาดไหน จากการตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 2,000 คันต่อปี เตรียมวางจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ราคาเบื้องต้นไม่เกิน 120,000 บาท” รองประธานกรรมการบริหาร เอ.พี.ฮอนด้า กล่าว

คลิ๊กชมคลิปอธิบายการทำงานระบบไฮบริดของฮอนด้า



...ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลและรายละเอียด รวมถึงความคาดหวังจากทั้งฮอนด้าและยามาฮ่า ที่มีต่อเทคโนโลยีใหม่ของตัวเอง ตลอดจนนับเป็นการพร้อมใจกันผลักดันตลาดมอเตอร์ไซค์ไฮบริดแบบคู่ขนาน นำโดยสองค่ายยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการตอบรับจากลูกค้าจะทำได้ตรงตามเป้าหมายหรือไม่ และเช่นกันไม่ว่าแบบไหนจะเรียกว่าไฮบริด นั่นขึ้นอยู่กับผู้บริโภคเป็นคนตัดสินใจ

แค่เริ่มก็สนุกแล้ว การทำตลาดไฮบริดแบบไฮบริด หลังจากนี้ยังต้องสู้กันอีกยาว.


กำลังโหลดความคิดเห็น