ถ้าจะมีกิจกรรมทดสอบรถครั้งไหนที่รู้สึกประทับใจและชวนจดจำ หนึ่งในนั้นต้องมีทริป ดูคาติ สแครมเบลอร์ 1100 เพรส เทสต์(Ducati Scrambler 1100 Press Test) รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน เพราะนี่เป็นครั้งแรกกับการขับขี่แบบไนท์ไรด์ ออกท่องราตรีด้วยบิ๊กไบค์คันโต ไร้แสงแดดกวนใจ มีเพียงแสงไฟเย้ายวนตา
สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรมที่มีความพิเศษดังกล่าว เริ่มล้อหมุนตั้งแต่เวลา 3 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 4 และ 5 กรกฎาคม 2561
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัด ว่ามีค่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อใดเคยจัดกิจกรรมทดสอบลักษณะนี้ขึ้นแล้วหรือไม่ นั่นอาจไม่สำคัญ เพราะอย่างน้อยนี่ก็เป็นครั้งแรกของดูคาติ และแน่นอนว่าเป็นครั้งแรกของผม รวมถึงสื่อมวลชนสายสองล้อหลายคนที่มาร่วมงานนี้ด้วย
เท่าที่สังเกตุบางคนมีท่าทีตื่นเต้น เดาไม่ยาก-เพราะคงไม่เคยได้สัมผัสบรรยากาศการทดสอบรถยามค่ำคืนมาก่อน หรืออีกมุมหนึ่งอาจเป็นเพราะนานทีปีหน เหล่าพ่อบ้านใจกล้าจะมีข้ออ้างขอกลับดึกเพราะติดงานจริงๆ แบบไม่ต้องผิดศีลข้อ 4 สักที
เหตุผลนี้คิดเล่นๆ แต่เอาจริงๆ อาจมีความเป็นไปได้
ส่วนตัวผมจะรู้สึกตื่นเต้นแบบไหนน่ะหรือ อย่าถามเลย ข้อนี้รู้ๆ กันอยู่
ขยายความสนุกเต็มพิกัด
กลับมาที่ ดูคาติ สแครมเบลอร์ ตามข้อมูลถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อปี 1962 ก่อนจะขาดช่วงการทำตลาดไปตั้งแต่ปี 1975 จนกระทั่งปี 2014 แบรนด์ดังจากอิตาลีนำชื่อรุ่นที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความสนุกของสิงห์นักบิดยุค 60-70 กลับมาปัดฝุ่นแจ้งเกิดอีกครั้ง ด้วยพิกัดเครื่องยนต์ 800 ซีซี.
ถัดมาอีกหนึ่งปีก็ขยายตัวเลือกสู่พิกัด 400 ซีซี. พร้อมใส่นามสกุลต่อท้ายชื่อรุ่นว่า ซิกซ์ตี้ทู(Sixty2) หลังจากนั้นเข้าสู่ปี 2017 เพิ่มไลน์โฉมแต่ง 3 เวอร์ชั่น ได้แก่ คาเฟ่เรซเซอร์(Café Racer), เดดเซิร์ท สเลด(Desert Sled) และมัค 2.0(Mach 2.0)
ด้านตัวเลขยอดขายหลังการรีบอร์น เริ่มตั้งแต่ปี 2015-2017 ทุกโมเดลของตระกูลสแครมเบลอร์ มียอดจำหน่ายสะสมทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 46,000 คัน และถ้าโฟกัสเฉพาะตลาดในบ้านเรา ในช่วงเวลาเดียวกันมียอดขายรวมอยู่ที่ 2,000 คัน
หากดูจากกระแสความนิยมในระยะเวลาเพียง 3 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยเลยทีเดียว และเพื่อต่อยอดความสนุกให้ครอบคลุมกลุ่มนักบิดได้กว้างขึ้น ล่าสุดปี 2018 นี้ ดูคาติจึงตัดสินใจเสริมทัพครั้งใหญ่ จัดการเติมเต็มความแรงขยายโมเดลใหม่สู่พิกัด 1 ลิตร ด้วยตัวเลือกในรหัสชื่อรุ่น สแครมเบลอร์ 1100
“ดูคาติ สแครมเบลอร์ 1100 เปิดตัวในไทย ที่งานมอเตอร์โชว์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำหรับเอกลักษณ์ของงานออกแบบยังคงครบถ้วนจากรุ่นดั้งเดิมที่มีอุปกรณ์ 4 อย่างสำคัญ คือ Knobby Tyres ล้อที่ใส่ยางแบบเป็นบั้ง, SCR Seat เบาะนั่งที่มีลักษณะเฉพาะ, Drop Fuel Tank ถังน้ำมันทรงหยดน้ำ และ Larger Handlebar แฮนด์บาร์ขนาดใหญ่ทรงกว้าง”
คุณก้อง-ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดูคาทิสติ จำกัด หรือดูคาติไทยแลนด์ ให้ข้อมูลถึงพระเอกของงาน พร้อมเล่าต่อว่า คอนเซปต์การพัฒนาก็มี 4 หัวข้อเช่นกัน นำโดย ข้อแรก-Mature การเติมความบึกบึนแข็งแรง ข้อสอง-Advanced การอัพเกรดเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ข้อสาม-Enjoyable ความสนุกที่พร้อมตอบสนองผู้เป็นเจ้าของอันเป็นหัวใจของสแครมเบลอร์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม และข้อสี่-Refined ความพิถีพิถันในการเลือกใช้วัสดุ รวมถึงความประณีตของชิ้นงานการประกอบ
ขณะที่รายละเอียดของขุมพลังใช้เครื่องยนต์ L-Twin ขนาด 1,079 ซีซี. ระบายความร้อนด้วยอากาศ เกียร์ 6 สปีด ให้แรงม้าสูงสุด 86 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 88 นิวตันเมตร มาพร้อมเทคโนโลยีที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยระบบ Traction Control และ Cornering ABS ตลอดจนการเสริมตัวช่วยโหมดการควบคุม 3 รูปแบบ Active, Journey และ Cityเพื่อตอบโจทย์ด้านการใช้งาน
สำหรับตัวเลือกมี 3 รุ่นย่อย ได้แก่ สแตนดาร์ด ราคา 559,900 บาท, สเปเชียล ราคา 599,900 บาท และสปอร์ต ราคา 609,900 บาท โดยในแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันที่ออฟชั่นติดรถที่ให้มา
แรงกว่าเดิม เพิ่มเติมความนุ่มนวล
เส้นทางการท่องราตรีคืนนี้ ทีมงานดูคาติไทยแลนด์เลือกใช้ถนนพระอาทิตย์เป็นจุดสตาร์ท มุ่งหน้าออกไปที่ราชดำเนินนอก ก่อนขี่วนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อด้วยวิ่งทัวริ่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และสิ้นสุดกลับมาที่จุดเริ่มต้น รวมระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร
จากจุดออกตัวด้วยรุ่นสเปเชียล สัมผัสแรกเริ่มที่ท่านั่งยังคงให้ความรู้สึกที่สบาย ผ่อนคลาย และไม่เครียด โดยรวมใกล้เคียงกับโฉมความสนุกในพิกัดขนาด 800 ซีซี.
พอขี่มาถึงจุดจอดถ่ายรูป จึงถือโอกาสไปลองนั่งคร่อมรุ่นย่อยอื่นบ้าง ผมว่าตัวเลือกที่ชอบมากที่สุดและเหมาะสมกับรถสไตล์นี้ คือ รุ่นสแตนดาร์ด เนื่องจากองศาแฮนด์ของเขาอยู่สูงกว่าตัวสเปเชียลและสปอร์ต ซึ่งสำหรับผมมองว่ามันให้สัมผัสการควบคุมที่ลงตัวที่สุด
ในด้านสมรรถนะขุมพลัง หากดูค่าตัวเลขจะเห็นว่าแรงบิดมหาศาลที่เพิ่มจากเดิม 67 นิวตันเมตร เป็น 88 นิวตันเมตร แถมมาในรอบที่ต่ำลงด้วยเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า ก่อนล้อหมุนคิดในใจ ของเดิมก็ดุดันมากอยู่แล้วนะ หากแต่พอลองของจริงถึงได้รู้ว่า สแครมเบลอร์รุ่นล่าสุดนอกจากขยายความแรงเต็มพิกัดแล้ว ยังมีการปรับจูนความนุ่มนวลของคันเร่ง พร้อมปรับลดความกระด้างในทิศทางสวนกันด้วย
รับรองได้ “มือเก๋าสะใจแน่ มือใหม่สบายใจด้วย”
พูดถึงความแรงของเครื่องยนต์ที่ใหญ่ขึ้น เป็นเรื่องธรรมดาที่ความร้อนย่อมมากขึ้นตามไปด้วย ถามว่าร้อนมากมั้ย ตอบเลยว่า “ไหม้” นี่คือในกรณีจอดติดเครื่อง จากช่วงที่จอดติดไฟแดงและจอดรอปรับขบวนเพื่อถ่ายรูป ในทางกลับกัน ถ้ารถเคลื่อนตัวแล้ว แม้ในความเร็วต่ำเพียง 10-20 กม./ชม. ไม่น่าเชื่อว่าไอความร้อนที่จ้องแผดเผาน่องขาจะหายวับไปทันที
ระหว่างรอชักภาพ ตามประสาคนอัธยาศัยดี ผมใช้เวลาช่วงนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับไบค์เกอร์สาว “แอนนี่” ปริศนา ปัญญาศิรินุกูล นักบิดสาวไทยหนึ่งเดียวที่ได้เดินทางไปสัมผัสสแครมเบลอร์ 1100 ในรอบทดสอบระดับนานาชาติไกลถึงประเทศโปรตุเกสมาแล้ว
“แอนว่าเขามีเสน่ห์นะ เข้ากับเราง่าย ท่าขี่สบาย มีความคล่องตัว แม้ตัวรถถือว่าใหญ่เลยเมื่อเทียบกับรูปร่างของเรา แต่การควบคุมกลับทำได้อย่างที่ใจคิด ใช้งานง่ายมากๆ ยิ่งเวลาเลี้ยวเหมือนไม่ได้ขี่บิ๊กไบค์เลย” เธอตอบพร้อมรอยยิ้ม
“ใครก็ตามที่สนใจรถรุ่นนี้อยู่ แต่ยังกล้าๆ กลัวๆ โดยเฉพาะผู้หญิง แอนยืนยันว่าขี่ได้แน่นอนค่ะ”
จากสัมผัสแรกในระยะทางสั้นๆ ขี่มาจนถึงจุดจอดถ่ายรูป ผมพยักหน้าเห็นด้วย แต่ก่อนจะเอ่ยประโยคขอแลกไลน์กันไว้เผื่อใช้เป็นข้อมูลการเขียนเพิ่ม
“คนต่อไปใครครับ” เสียงช่างภาพตะโกนดังลั่น คล้ายตั้งใจขัดจังหวะอะไรสักอย่าง
เช่นเดียวกับการสัมผัสความสนุกของ สแครมเบลอร์ 1100 เผลอแป๊ปเดียวกลุ่มสื่อมวลชนก็ขี่วนกลับมาถึงจุดสตาร์ท ซึ่งเป็นปลายทางของทริปไนท์ไรด์ครั้งแรกของดูคาติแล้ว
ก่อนแยกย้ายหลายคนเปรยว่า การจัดกิจกรรมท่องราตรีด้วยบิ๊กไบค์คันโต พร้อมพ่วงการทดสอบรถไปด้วยนั้นให้ความประทับใจ เพราะอากาศไม่ร้อน หากเป็นไปได้อยากให้จัดขึ้นซ้ำอีกหลายรอบ
พูดลอยๆ บอกไว้ก่อน เผื่อคนที่บ้านจะได้เข้าใจ ว่าทำไมกลับดึกบ่อยจัง.