xs
xsm
sm
md
lg

โตโยต้าฟิตรีดไขมัน เดิมพันอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โตโยต้าเดินหน้ารีดไขมัน พร้อมกันงบสำหรับเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างรถอัตโนมัติ อีวี และแบตเตอรี่ขั้นสูง
แม้ยึดตำแหน่งผู้ผลิตรถที่ทำกำไรสูงสุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แต่อากิโอะ โตโยดะ ยังไม่วางใจและสั่งให้โตโยต้าเตรียมพร้อมรัดเข็มขัดครั้งใหญ่อีกรอบ เพราะสถานการณ์ปีนี้อาจไม่ดีเหมือนปีก่อน นอกจากนั้นบริษัทยังต้องกันงบลงทุนสำหรับอนาคตกับรถอัตโนมัติ อีวี และแบตเตอรี่ขั้นสูง อย่างไรก็ตาม ค่ายรถเบอร์หนึ่งของญี่ปุ่นแห่งนี้เชื่อมั่นว่า ยังมีช่องทางขยับขยายเพิ่มยอดขายในเอเชียต่อเนื่อง

เพื่อรีดไขมันส่วนเกิน โตโยดะตั้งกลุ่มผู้บริหาร “7 เซียนซามูไร” ตามชื่อหนังของผู้กำกับบรมครู อากิระ คุโรซาวา และชี้แจงในงานแถลงผลประกอบการประจำปีการเงิน 2017 เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องกฎการแข่งขันและคู่แข่ง ทำให้การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดเข้าสู่มิติใหม่ที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน

ด้วยเหตุนี้การลดต้นทุนจึงมีความสำคัญ และยังเป็นการต่อสู้เพื่อฟื้นจุดแข็งดั้งเดิมของบริษัทคือระบบการผลิตแบบโตโยต้า (ทีพีเอส) ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดีและระบบอัตโนมัติ นอกจากนั้นโตโยต้ายังต้องร่วมมือกับซัปพลายเออร์เพื่อผลิตรถเมื่อจำเป็นและจำกัดของเหลือหรือส่วนเกินในกระบวนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด

ระบบการผลิตที่ริเริ่มใช้เมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งอิงกับชิ้นส่วนที่มีมาตรฐานมากขึ้นและสามารถใช้กับรถรุ่นต่างๆ ได้ จะช่วยลดต้นทุนได้อีกทาง

คำเตือนของประธานบริษัทออกมาทั้งที่โตโยต้าเพิ่งรายงานผลกำไรและรายได้ทุบสถิติทั่วโลก อย่างไรก็ดี ตัวเลขสวยหรูเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวคืออัตราแลกเปลี่ยนและมาตรการลดภาษีของอเมริกา

แต่สำหรับปีนี้ เงินเยนเริ่มแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์และสกุลเงินอื่นๆ ทำให้กำไรจากยอดขายและความสามารถในการแข่งขันนอกประเทศของโตโยต้าลดลง ขณะที่ยอดขายและศักยภาพการทำกำไรในอเมริกาเหนือตกวูบ

โตโยดะเตือนว่า โตโยต้าจำเป็นต้องเพิ่มส่วนต่างกำไรเพื่อนำไปลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ทุกอย่างตั้งแต่การขับขี่อัตโนมัติ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของรถ จนถึงรถไฟฟ้าและแบตเตอรี่ขั้นสูง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองความต้องการรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โคจิ โคบายาชิ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ขานรับว่า บริษัทจะจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา 35% จากทั้งหมดปีละ 10,000 ล้านดอลลาร์ให้เทคโนโลยีแห่งอนาคต

สำหรับเป้าหมายในการลดต้นทุนกำหนดไว้ที่ 1,220 ล้านดอลลาร์ในปีการเงินปัจจุบันที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2019 ซึ่งหมายถึงการปลูกฝังแนวคิดใหม่ภายในองค์กรตั้งแต่ระดับบนสุดจนถึงระดับล่าง โดยโตโยดะต้องการใช้ระบบทีพีเอสร่วมกับแนวคิดการปรับปรุงต่อเนื่องไม่สิ้นสุดแบบไคเซ็นทั้งในส่วนการผลิตไปจนถึงส่วนงานบริหารจัดการและศูนย์วิจัยและพัฒนา

ทั้งนี้ ผลประกอบการปีการเงินที่ผ่านมาฟ้องว่า มาตรการควบคุมต้นทุนครั้งที่แล้วยังรีดส่วนเกินออกไม่หมด เพราะถ้าไม่มีการลดต้นทุนอย่างดุเดือดและอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นใจ แทนที่จะสร้างสถิติใหม่ ผลกำไรจากการดำเนินงานตลอดปีการเงินที่แล้วอาจกลับกลายเป็นลดลง

ดังนั้น โตโยต้าจึงต้องพยายามอีกตั้งเพื่อรับมือความท้าทายจากการแข่งขันใหม่ๆ นั่นหมายถึงว่า จะไม่มีการประชุมหรืองานเอกสารที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป และจะไม่มีการปล่อยผ่านสเปกรถลวกๆ แต่ต้องตรวจสอบและปรับปรุงอย่างละเอียด

โคบายาชิ 1 ใน 7 ทีมซามูไร บอกว่า การเพิ่มความคล่องตัวในกระบวนการบริหารและการประชุมที่มีขนาดเล็กลง ทำให้การตัดสินใจและการดำเนินการต่างๆ กระชับฉับไวขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงการวิเคราะห์ต้นทุนและมาตรฐานทางเทคนิคให้แม่นยำขึ้น

นอกจากโตโยดะและโคบายาชิ อีก 5 เซียนซามูไรที่ต้องร่วมกันหั่นต้นทุนของโตโยต้าประกอบด้วยดิดิเญร์ ลีรอย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแข่งขัน, จิม เลนซ์ ซีอีโอประจำอเมริกาเหนือ โดยคู่นี้กำลังร่วมกันฟื้นกำไรในภูมิภาคดังกล่าว, ชิเกกิ เทราชิ ประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนาและวิศวกรรมขั้นสูง, มิสึรุ คาวาอิ รองประธานบริหารที่มีหน้าที่กำกับดูแลโรงงาน และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความปลอดภัยและสุขภาพ, ชิเกกิ โทมายามะ ประธานเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทีพีเอส การพัฒนาธุรกิจ และระบบสารสนเทศ และโมริทากะ โยชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายรถยนต์ขนาดกลางและสถาปัตยกรรมระดับโลกใหม่ของโตโยต้า หรือแพล็ตฟอร์มรถแบบโมดูลาร์ใหม่

โตโยดะสำทับว่า ทุกตารางนิ้วของโตโยต้าจะได้รับคำสั่งให้ทบทวนต้นทุนคงที่ และคาดหวังว่า การลดต้นทุนครั้งนี้จะทำให้กำไรจากการดำเนินงานในปีการเงินปัจจุบันเพิ่มขึ้นราว 1,170 ล้านดอลลาร์

ปีการเงินที่ผ่านมา บริษัทรถเบอร์หนึ่งของญี่ปุ่นแห่งนี้มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นถึง 20% เป็น 21,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าโฟล์คสวาเกนและเดมเลอร์ของเยอรมนี และครองตำแหน่งบริษัทรถที่ทำกำไรสูงสุดของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

สำหรับปีการเงินนี้ โตโยต้าตั้งเป้าสร้างสถิติยอดขายใหม่ที่ 10.5 ล้านคันทั่วโลก จาก 10.44 ล้านคันในปีที่ผ่านมาโดยมีเอเชียเป็นขุมทรัพย์ใหญ่

บริษัทคาดว่า ยอดขายในเอเชียปีนี้จะเพิ่มขึ้น 8.2% เป็น 1.67 ล้านคัน สวนทางกับอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดและมีแนวโน้มยอดขายวูบลงเหลือ 2.8 ล้านคัน


กำลังโหลดความคิดเห็น