สิ้นสุดไตรมาสแรกอย่างเป็นทางการพร้อมกับตัวเลขรายงานยอดขายรถยนต์ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษในตลาด B-SUV หรือตลาดรถเอนกประสงค์ขนาดเล็ก ที่กำลังอยู่ในช่วงสนุกสนาน หลังจากที่ทุกค่ายเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อย มาดูกันว่ายอดขายแต่ละค่ายเป็นอย่างไรกันบ้างในเซกเม้นท์สุดร้อนแรงนี้
เริ่มต้นด้วย นิสสัน จู๊ค ที่ยังคงมียอดขายอยู่แม้จะยุติการทำตลาดไปแล้ว โดยมีการรายงานตัวเลขจำหน่ายจำนวน 3 คัน ในไตรมาสแรกของปี 2561 นี้ ขณะที่ ฟอร์ด เอโคสปอร์ต และ ซูบารุ เอ็กซ์วี ซึ่งยังคงมียอดจำหน่ายอยู่ แต่ทางทีมงานไม่สามารถหาตัวเลขยืนยันอย่างเป็นทางการได้จึงขออนุญาตไม่นำเสนอ เพื่อป้องกันความผิดพลาด
สำหรับอันดับที่ 5 เป็นของ มาสด้า ซีเอ็กซ์-3 ด้วยยอดจำหน่าย 958คัน อันดับ 4 ฮอนด้า บีอาร์-วี 1,139 คัน อันดับ 3 โตโยต้า ซี-เอชอาร์ 2,184 คัน อันดับ 2 ฮอนด้า เอชอาร์-วี 2,906 คัน และอันดับ 1 เอ็มจี แซดเอส 3,210 คัน
ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่แชมป์ยอดขายของรถยนต์ในเซกเมนท์นี้ เปลี่ยนมือจาก ฮอนด้า เอชอาร์-วี ที่ครองอันดับ 1 มาโดยตลอด กลายมาเป็น เอ็มจี แซดเอส ก้าวขึ้นมาครองตำแหน่งยอดขายสูงสุดประจำไตรมาสได้ อะไรคือ ปัจจัยที่ทำให้ เอ็มจี แบรนด์รถยนต์น้องใหม่ สามารถฝ่าด่านคู่แข่ง ขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ ทีมงาน เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง มีคำตอบ
“ลำดับแรกคือ แบรนด์เอ็มจีเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ตั้งแต่ตัวผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด เช่น สมรรถนะการยึดเกาะถนน การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คุณภาพการผลิต ประกอบกับการขยายเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจต่อแบรนด์เอ็มจีมากขึ้นเรื่อยๆ” ประโยคแรกของ พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัดที่กล่าวถึงปัจจัยในการก้าวขึ้นมาสู่ยอดขายอันดับ 1 ได้ของ เอ็มจี แซดเอส และยังกล่าวต่อด้วยว่า
“สำหรับปัจจัยเฉพาะตัวของเอ็มจี แซดเอสจะมีความโดดเด่นที่เหนือกว่ารถ SUV ทั่วไป เช่น ติดตั้งระบบอัจฉริยะ i-Smart ที่สามารถสั่งการได้ด้วยเสียงภาษาไทยครั้งแรกในโลก รูปลักษณ์ภายนอกและภายในได้รับการออกแบบที่เน้นความหรูหรามีเอกลักษณ์ ห้องโดยสารกว้างขวางสะดวกสบายและให้อรรถประโยชน์ครบถ้วนในแบบรถอเนกประสงค์ สมรรถนะของเครื่องยนต์สามารถตอบสนองการใช้งานคล่องตัวและประหยัดน้ำมันให้ความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของด้วยการติดตั้ง Panoramic Sunroof ที่มีในรถระดับราคามากกว่าหนึ่งล้านบาทขึ้นไป และการวางตำแหน่งราคาที่เรียกได้ว่าสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายอีกด้วย”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องขอการเสนอการบริการที่เหนือกว่าภายใต้ชื่อ Passion Service ที่รถยนต์ เอ็มจีทุกรุ่นให้การรับประกันที่ยาวนานถึง 4 ปีหรือ 120,000 กม. รวมถึงมีรถ Mobile Service ที่สามารถบริการตรวจเช็คระยะหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องนอกสถานที่ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ เอ็มจี แซดเอส ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย
กล่าวโดยสรุปคือ มาจากการมีองค์ประกอบที่ครบถ้วน ทั้งตัวรถและบริการหลังการขาย ถูกต้องตรงใจลูกค้า ในราคาเหมาะสมเริ่มต้นที่ 679,000บาท และตัวท็อปราคาเพียง 789,000บาท เทียบกับคู่แข่งที่ราคาเริ่มต้นราว 900,000 -1,100,000บาท จึงไม่น่าแปลกใจที่ เอ็มจี ประกาศเป้ายอดจำหน่ายปีนี้ไว้ถึง 30,000 คัน แล้วมาลุ้นกันว่า จะทำได้สำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ประการใด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปิดไตรมาสแรกแล้ว เอ็มจี แซดเอส จะครองแชมป์ได้ แต่การครองแชมป์ว่ายากแล้วการรักษาแชมป์นั้นยากกว่า ดังจะเห็นได้จากการเปิดตัวอย่างร้อนแรงของ “โตโยต้า ซี-เอชอาร์” ที่เริ่มขายเดือนแรก มีนาคม กวาดยอดขายไปแล้วถึง 2,184 คัน เป็นไปตามแผนที่โตโยต้าวางเอาไว้
ซึ่งโตโยต้า หมายมั่นปั้นมือกับ ซี-เอชอาร์ เอาไว้อย่างมาก โดยเฉพาะกับรุ่นเครื่องยนต์ ไฮบริด ที่ทางโตโยต้าเคลมว่า 80% ของยอดขายดังกล่าวเป็นรถเครื่องยนต์ไฮบริด เนื่องด้วยโตโยต้า ลงทุนกับการสร้างโรงงานผลิตเครื่องยนต์ไฮบริดแบบครบวงจร มูลค่าเฉียด 2 หมื่นล้านบาท ดังข่าวที่เคยรายงานไป
ทั้งนี้หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่ทางโตโยต้าคาดการณ์ไว้ “ซีเอช-อาร์” จะได้รับการจารึกชื่อว่าเป็น ผู้ครองอันดับหนึ่งประจำปี ในเซกเมนท์รถยนต์เอนกประสงค์ขนาดเล็กได้อย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากโตโยต้าวางเป้าจำหน่ายไว้ที่ระดับ 2,000 คันต่อเดือน ซึ่งไม่น่าใช่เรื่องยากแต่ประการใด ด้วยกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ที่ได้ทดลองขับแล้วรวมถึงความสนใจของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่มีความเด่นชัด
แม้กระนั้นก็ตาม ในสมรภูมิการแข่งขัน จะปล่อยให้คู่แข่งตีกินก้อนเค้กอยู่ฝ่ายเดียวคงจะไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน ดังนั้น ทางฝากฝั่งของมาสด้า ขยับอย่างชัดเจนด้วยการประกาศ เตรียมทำตลาด “มาสด้า ซีเอ็กซ์-3 รุ่นไมเนอร์เชนจ์” ในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งได้รับการปรับเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีอย่างชนิดที่มีนัยยะสำคัญต่อการขับขี่ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นมาสด้าขอให้รอถึงช่วงการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเสียก่อน
ขณะที่เจ้าตลาดเดิม แม้จะยังไม่ส่งสัญญาณใดๆ ออกมา แต่ภาพของ “ฮอนด้า วีเซล” โฉมไมเนอร์เชนจ์ (ชื่อเรียกของ เอชอาร์-วี ที่ทำตลาดในญี่ปุ่น) ได้ปรากฎออกมาอย่างเป็นทางการในญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็น “ฮอนด้า เอชอาร์-วี ไมเนอร์เชนจ์” เร็วๆ นี้ในประเทศไทย
ซึ่งฮอนด้า วีเซล ไมเนอร์เชนจ์ นั้น มีการเพิ่มเติมระบบความปลอดภัยเข้าเป็นหัวใจสำคัญในชื่อของ ฮอนด้า เซนซิ่ง แบบเต็มระบบทุกรุ่นโดยเวอร์ชั่นทำตลาดในเมืองไทยน่าจะมากับระบบดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนเรื่องเครื่องยนต์ไฮบริด ที่ญี่ปุ่นมีทำตลาดด้วย แต่สำหรับเมืองไทย รอลุ้นวัดใจทีมผู้บริหารว่าจะลุยแบบหมัดต่อหมัดกับโตโยต้าหรือไม่ เพราะระบบไฮบริดของฮอนด้า เวลานี้ก็ไม่ได้ด้อยกว่าใครในสากลโลก
ถึงบรรทัดนี้ หากมองภาพของตลาดรถยนต์ เอนกประสงค์ขนาดเล็ก มีทางเลือกให้ผู้บริโภคคบหาอย่างครบคันและทุกค่ายต่างแข่งขันด้วยการเอาใจใส่ให้ลูกค้า ทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยี ,รูปทรงที่โฉบเฉี่ยวโดนใจ รวมไปถึงอรรถประโยชน์ที่หลากหลายและการบริการหลังการขายอย่างเข้มข้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เซกเมนท์นี้จะมีค่ายรถต่างให้ความสนใจเปิดตัวรถใหม่เข้ามาลุย ซึ่งผลดีย่อมตกกับผู้บริโภคอย่างไม่ต้องสงสัย