xs
xsm
sm
md
lg

กอส์นคุมเรโนลต์ต่อ มั่นใจอัลลายแอนซ์สายแข็ง“อีวี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คาร์ลอส กอส์น สยบข่าวลือ คุมเรโนลต์ต่ออีก 4 ปี
คาร์ลอส กอส์น คุยเรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ เป็นบริษัทรถที่มีความคืบหน้ามากที่สุดในด้านต้นทุนรถไฟฟ้าและ “อัลลายแอนซ์” อาจเป็นรายแรกที่ทำกำไรได้จากอีวี การเปิดเผยนี้มีขึ้นหลังจากกอส์นสยบข่าวลือและการคาดเดาทั้งหลายทั้งปวง ด้วยการแถลงข่าวนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการและซีอีโอเรโนลต์ต่ออีกสี่ปี

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างให้สัมภาษณ์เครือข่ายซีเอ็นบีซีของอเมริกา กอส์นย้ำว่า การผลิตรถไฟฟ้าหรืออีวี (Electric Vehicle) ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะทำกำไรได้ แต่สำหรับเขาเชื่อมั่นว่า กลุ่มพันธมิตรเรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ หรือ “อัลลายแอนซ์” เป็นบริษัทรถที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดในแง่ต้นทุนการผลิตรถไฟฟ้า และอาจเป็นบริษัทแรกที่ทำกำไรได้จากการขายอีวีตามที่ประกาศไว้เมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เดือนกันยายนที่ผ่านมา พันธมิตรกลุ่มนี้ที่เริ่มพัฒนารถไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2008 เปิดแผนผลิตอีวีใหม่ 12 รุ่นภายใน 5ปี

กอส์นสำทับว่า แม้ต้นทุนวัตถุดิบรถไฟฟ้าอาจเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่สามารถชดเชยได้ด้วยความรู้ความเข้าใจในวิธีผลิตแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการหาชิ้นส่วนบางอย่างมาใช้ทดแทน

ผู้บริหารระดับตำนานของวงการรถยนต์คนนี้ยังบอกว่า เรโนลต์เปิดทางเลือกไว้ทั้งหมดสำหรับโครงการพันธมิตรที่ดำเนินมาเกือบ 20 ปี และร่วมกันครองตำแหน่งบริษัทรถที่มียอดขายสูงสุดของโลกประจำปี 2017 ด้วยสถิติ 10.6 ล้านคัน

เขาบอกว่า เข้าใจดีที่คนมากมายอยากรู้อนาคตของกลุ่มอัลลายแอนซ์ เพราะเขาคงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้ตลอดไป ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการหาคำตอบที่จะรับประกันความมั่นใจของบริษัททั้งสามแห่ง ตลอดจนถึงผู้ถือหุ้นและตลาดทั้งในแง่องค์กรและกฎหมาย แต่ที่แน่ๆ ทั้งรัฐบาลฝรั่งเศส บอร์ดเรโนลต์ นิสสัน และมิตซูบิชิ ต่างเห็นพ้องว่า การร่วมเป็นพันธมิตรเป็นผลดีต่อทั้งสามบริษัท และควรที่จะรักษาความสัมพันธ์นี้ให้ยั่งยืนต่อไป

กอส์นยืนยันว่า บริษัทแต่ละแห่งจะยังคงมีอิสระในการตัดสินใจในตลาดของตัวเอง

ปัจจุบัน เรโนลต์ถือหุ้น 43.4% ในนิสสัน ขณะที่นิสสันถือหุ้น 15% ในเรโนลต์ และ 34% ในมิตซูบิชิ ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสถือหุ้น 15.01% ในเรโนลต์

กอส์นบอกกล่าวเรื่องนี้กับนักวิเคราะห์จากสำนักงานใหญ่เรโนลต์ในปารีสเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว หลังได้รับการแต่งตั้งทำหน้าที่ประธานกรรมการและซีอีโอบริษัทรถแดนน้ำหอมต่ออีก 4 ปี เป็นอันยุติการคาดเดาตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และรับประกันว่า เขาจะสานต่อภารกิจการนำเรโนลต์และอัลลายแอนซ์ผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์

ด้านเรโนลต์เผยว่า ก่อนจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส กอส์นที่รับตำแหน่งซีอีโอมาตั้งแต่ปี 2005 ต้องยอมลดเงินเดือนตัวเอง 30% นอกจากนั้นบอร์ดยังแต่งตั้งเทียร์รี บอลโลเร เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการเพื่อแบ่งเบางานให้กอส์นมีเวลาไปคุมอัลลายแอนซ์เต็มที่ และยังมีแนวโน้มว่า บอลโลเรจะเป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งของกอส์นในอนาคต

ในส่วนเรโนลต์-นิสสันนั้น กอส์นบอกชัดเจนว่า ไม่รีบร้อนและคงเป็นไปไม่ได้ที่จะผนวกกิจการกันเต็มตัว ถ้ารัฐบาลฝรั่งเศสยังถือหุ้นใหญ่ในเรโนลต์อยู่ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเงินของสองบริษัทจะต้องได้รับอนุมัติจากทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสและญี่ปุ่น

การต่อสัญญากอส์นยังสะท้อนเป้าหมายสำคัญสูงสุดของฝรั่งเศส โดยกอส์นจะสานต่อการโฟกัสแผนการเชิงกลยุทธ์ของเรโนลต์ที่ชื่อว่า “ไดรฟ์ เดอะ ฟิวเจอร์” ในการนำพาบริษัทผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งมาตรฐานมลพิษที่เข้มงวดขึ้น รถไฟฟ้า และเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ

นักธุรกิจเชื้อสายเลบานอน-บราซิล-ฝรั่งเศสผู้นี้ พิสูจน์ฝีมือให้เห็นครั้งแรกด้วยการพลิกฟื้นธุรกิจมิชลิน ผู้ผลิตยางรถยนต์ฝรั่งเศส ก่อนที่จะมาอยู่กับเรโนลต์และถูกส่งไปช่วยนิสสันให้รอดพ้นจากการล้มละลายเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว กอส์นบุกเบิกแนวทางโลกาภิวัตน์ที่นำมาซึ่งการเป็นพันธมิตรข้ามโลกระหว่างเรโนลต์-นิสสัน และขยายรวมมิตซูบิชิ มอเตอร์ หลังจากนิสสันเข้าไปต่อลมหายใจให้บริษัทร่วมชาติแห่งนี้ในปี 2016 และกอส์นรับงานถนัดในการยกเครื่องมิตซูบิชิ
ปัจจุบัน กอส์นยังคงเป็นประธานกรรมการของทั้งสามบริษัท หลังจากสละตำแหน่งซีอีโอของนิสสันเมื่อต้นปีที่แล้ว

แหล่งข่าวเผยว่า ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่า กอส์นจะส่งมอบตำแหน่งซีอีโอเรโนลต์ให้คนอื่น และย้ายไปเป็นประธานกรรมการดูแลอัลลายแอนซ์เต็มตัว แต่ที่สุดแล้วแผนการนี้มีอันต้องพับไปเนื่องจากบริษัทกับรัฐบาลฝรั่งเศสมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องทิศทางและรูปแบบในอนาคตของกลุ่มพันธมิตรนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น