xs
xsm
sm
md
lg

ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ปักหมุดไทยฐานผลิตบุกเอเชีย ดีเดย์ปี 2019

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ในบ้านเราหรือที่ใครๆ ต่างก็เรียกติดปากว่า “บิ๊กไบค์” กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักมาจากราคาจำหน่ายที่เข้าถึงได้สะดวก เหตุเพราะตัวเลือกหลากหลายยี่ห้อนั้นพร้อมใจเข้ามาตั้งโรงงานผลิตและประกอบในไทย ส่งผลให้ไร้กำแพงภาษีนำเข้า ซึ่งล่าสุด ค่ายสองล้อเมืองมะกัน “ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน” คือ อีกหนึ่งแบรนด์ชั้นนำที่สำนักข่าวหลายแห่งต่างยืนยันตรงกันว่า เตรียมขยายฐานการผลิตในบ้านเรา อีกทั้งยังมีแผนดันให้เป็นศูนย์กลางฮับการส่งออกเพื่อบุกตลาดในเอเชียอีกด้วย ข้อเท็จจริงนี้มีรายละเอียดอย่างไร...เช็กความคืบหน้าได้ที่นี่
ธนบดี กุลทล ผู้จัดการประจำประเทศของฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ประเทศไทย
บริษัทแม่ลุยเอง-เน้นเซอร์วิสประทับใจ

“ก่อนหน้านี้ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน เข้ามาทำตลาดในไทยผ่านรูปแบบดีเลอร์ตั้งแต่ปี 2008 หลังจากนั้นในปี 2015 บริษัทแม่จากสหรัฐฯ จึงตัดสินใจเข้ามาทำตลาดเอง โดยการเข้ามาของฮาร์ลีย์ฯ จะไม่เหมือนกับการเข้ามาของบริษัทแม่ที่เป็นค่ายรถยนต์ ซึ่งจะเน้นเรื่องของเครือข่ายการขายเป็นหลัก แตกต่างกับเราที่ต้องการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า เพราะเน้นงานบริการด้านเซอร์วิสก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด”

นั่นเป็นคำกล่าวของ “ธนบดี กุลทล” ผู้จัดการประจำประเทศของฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ประเทศไทย ที่ให้สัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟกับทีมงาน “เอ็มจีอาร์มอเตอริ่ง” ก่อนเพิ่มเติมข้อมูลต่อว่า

“เราเริ่มจากเปิดศูนย์เซอร์วิส ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ยูนิเวอร์ซิตี้ เอเชีย แปซิฟิก(Harley-Davidson University Asia Pacific) หรือมหาวิทยาลัยฮาร์เลย์-เดวิดสัน ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมสำหรับผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮาร์ลีย์ฯ ในประเทศไทย ตลอดจนเครือข่ายอื่นๆ ในภูมิภาคนี้”

เกี่ยวกับศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าว เป็นอาคารขนาด 2 ชั้น เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นปี 2016 ตั้งอยู่บนถนนพระราม 3 เขตบางโคล่ แขวงบางคอแหลม กทม. ครอบคลุมพื้นที่ 1,512 ตารางเมตร มีห้องฝึกด้านเทคนิค จำนวน 2 ห้อง และมีผู้เชี่ยวชาญ 16 คนประจำการเพื่อช่วยถ่ายทอดความรู้ นอกจากนี้ ยังมีห้องประชุม 3 ห้อง รองรับผู้เข้าฝึกอบรมได้ 100 คน และยังมีพื้นที่รีแลกซ์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ผ่อนคลายด้วย

คาดโรงงานคลอดรถคันแรกปี 2019

“เมื่องานบริการหลังการขายทำได้อย่างที่ตั้งใจแล้วค่อยขยายดีลเลอร์เน็ตเวิร์ก โดยขั้นตอนต่างๆ เราปูทางเพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจหลังจากมีโรงงานเกิดขึ้นแล้ว” ผู้บริหารค่ายสองล้อจากเมืองลุงแซม กล่าวและว่า

“อย่างไรก็ตาม สำหรับรายละเอียดของโรงงานขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ทุกอย่างเป็นไปตามที่สำนักข่าวหลายแห่งต่างนำเสนอไปแล้ว และผมเองคงไม่สามารถบอกเล่าหรือให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะด้านตัวเลขการลงทุนต่างๆ เท่าที่เห็นยังไม่มีการเปิดเผยออกมา แต่ผมเชื่อว่า การที่ฮาร์ลีย์ฯ เข้ามาลงทุนในไทยครั้งนี้ จะเป็นการลงทุนที่สำคัญมาก”

สำหรับโรงงานประกอบจักรยานยนต์ “ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน” ในประเทศไทย ตามรายงานข่าวระบุว่า ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง ซึ่งปัจจุบันบิ๊กไบค์ชื่อดังจากอเมริกา มีโรงงานผลิตแค่ 4 แห่ง เท่านั้น อยู่ในสหรัฐฯ 2 แห่ง บราซิลและอินเดีย อีกประเทศละ 1 แห่ง โดยทั้งสองแห่งที่อยู่นอกประเทศต้นกำเนิดเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผลิตจากโรงงานในสหรัฐฯ มาประกอบภายในประเทศก่อนการจำหน่าย ขณะที่โรงงานในไทยก็จะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

ทั้งนี้ อีกหนึ่งผู้บริหารของฮาร์ลีย์-เดวิดสัน โยฮัน ไคลน์ชตอยเบอร์ กรรมการผู้จัดการตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย เคยให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวไว้ว่า โรงงานผลิตในไทย นอกจากจะรองรับตลาดในประเทศที่ขยายตัวแล้ว ยังจะใช้เป็นฐานการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและจีนอีกด้วย โดยจำนวนการผลิต รุ่นที่จะผลิต รวมถึงจำนวนส่งออกอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดอีกขั้น

“ตามข่าวโรงงานเตรียมเปิดไลน์การผลิตภายในปลายปี 2018 หรืออย่างช้าที่สุด ผมคาดว่ารถคันแรกน่าจะออกจากสายพานการผลิตได้ในช่วงต้นปี 2019” ธนบดี กล่าวเสริม

เครือข่าย 9 แห่งพร้อมให้บริการรถเกรย์ฯ

ทางด้านเป้าหมายของการทำตลาด ธนบดี เผยว่าคงไม่สามารถให้ข้อมูลตัวเลขอะไรได้มากนัก เพียงแต่สรุปสั้นๆ ว่า ในบ้านเรามีโมเดลที่นำเข้ามาทำตลาดเกือบครบเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ราคาเริ่มตั้งแต่ 3 แสนกว่าถึง 3 ล้านกว่าบาท ขณะที่ปัจจุบันมีดีลเลอร์ทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่ พระราม 9, หลักสี่, พระราม 4, เชียงใหม่, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, พัทยา, ภูเก็ต และหาดใหญ่ พร้อมกับมองว่าเพียงพอและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว

“ประชากรฮาร์ลีย์ฯ ในไทย คาดการณ์ว่าจะมีถึง 2-3 หมื่นคัน ถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฮาร์ลีย์ฯ คือรถเก็บสะสม จะเห็นขี่โชว์เฉพาะเวลามีการรวมตัวเท่านั้น ซึ่งตรงส่วนนี้เองขอย้ำว่า ศูนย์เซอร์วิสของเราเปิดให้บริการสำหรับรถเกรย์มาร์เก็ตด้วย เพราะเราเชื่อมั่นว่าไบค์เกอร์ทุกคนคือครอบครัว จะขี่รถยี่ห้ออะไร รุ่นอะไรก็แล้วแต่ไม่สำคัญ สำคัญที่ทุกคนมีความชอบเหมือนกัน” ผู้จัดการประจำประเทศของฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ประเทศไทย กล่าวและว่า
สปอร์ต ไกลด์ รุ่นล่าสุดเพิ่งเปิดตัวที่งาน BMF 2018 ราคา 1,399,000 บาท
“จริงๆ เราอยากให้คนที่เป็นเจ้าของฮาร์ลีย์ฯ ได้มาลองใช้บริการที่ศูนย์บริการของเราด้วยซ้ำ ด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่มีเรียกเก็บเพิ่มแต่อย่างใด เราอยากให้ลูกค้าเราได้รับความประทับใจที่ดีจากงานบริการ ยิ่งบางช่วงเวลา บางดีลเลอร์ก็มีโปรโมชันไม่เก็บค่าบริการด้วย”

“ด้านกิจกรรมเราปล่อยให้ดีลเลอร์มีอิสระในการเข้าร่วมงานอีเว้นท์ สำหรับสองงานใหญ่อย่าง มอเตอร์โชว์และมอเตอร์ เอ็กซ์โป จะดูแลการจัดงานโดยฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ไทยแลนด์ ส่วนงานอื่นๆ เราเปิดโอกาสให้เครือข่ายที่สนใจไปร่วมงานได้โดยอิสระ” ธนบดี กล่าวสรุป

นี่คือเรื่องราวอัพเดตล่าสุดจากบิ๊กไบค์แบรนด์หรูสัญชาติอเมริกัน เชื่อว่าแฟนคลับที่ตั้งตารอคอยหรือนักบิดที่กำลังให้ความสนใจ น่าจะได้รับทราบถึงความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้น ไม่มากก็น้อย.


กำลังโหลดความคิดเห็น