xs
xsm
sm
md
lg

ยานยนต์ไทย 2018 ก้าวแรกสู่ “ไฮบริด-ไฟฟ้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ประกอบการขานรับนโนบายยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลลุงตู่ ค่ายญี่ปุ่น-ยุโรป-จีน รวมถึงรถจักรยานยนต์ พร้อมเดินหน้าส่งรถรุ่นใหม่ในโมเดลทั้งไฮบริด-ปลั๊กอินไฮบริด และรูปแบบพลังงานไฟฟ้าล้วน นำทัพโดย “โตโยต้า” ที่ส่ง “C-HR” ประเดิมเป็นรุ่นแรกภายใต้โปรเจกต์ 2 หมื่นล้านบาท ฝั่ง “มาสด้า” คุยบีโอไอเตรียมทุ่ม 1.14 หมื่นล้านบาท ผลิต “3ไฮบริด” ด้าน “เบนซ์” อุบเม็ดเงินลงทุนแต่เผยเตรียมผลิต “PHEV โมเดลใหม่ล่าสุด” ปีนี้ได้เห็น เช่นเดียวกับ “บีวายดี” ได้ตัวแทนใหม่รุกตลาดเต็มกำลัง มุ่งเจาะกลุ่มแท็กซี่และรถเมล์ไฟฟ้า ขณะที่ค่ายสองล้อ “ฮอนด้า” และ “ยามาฮ่า” ประกาศชัดเตรียมปล่อยโมเดลไฮบริดลุยตลาดปีนี้แน่นอน เหนืออื่นใดค่ายพลังงาน ประกาศสร้างสถานีชาร์จ ตั้งเป้าคลอบคลุม 1,000 แห่งภายในสิ้นปี

นโยบายส่งเสริมการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ถูกพูดถึงมานานนับปี แต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปร่างอย่างชัดเจน จนกระทั่งในปีนี้ เค้าลางของการได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งในเมืองไทยมีความกระจ่าง หลังจากที่ค่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์จัดงานแถลงข่าวประจำปีเพื่อรายงานผลประกอบการของตัวเอง และต่างพร้อมใจประกาศเริ่มก้าวแรกกับการส่งโปรดักต์ใหม่พร้อมทิศทางการทำตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังจะมาให้เห็นมากขึ้นในปีนี้ “MGRมอเตอริ่ง” รวบรวมมาให้ว่ามีค่ายไหนกำลังจะทำอะไรกันบ้าง
ไมเคิล เกรเว่ (ที่2จากซ้าย) เผยแผนเดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย
“เบนซ์” ปรับไลน์เดินเครื่องลุย “PHEV+EV”

เมอร์เซเดส-เบนซ์ หลังจากรุกทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV อยู่หลายรุ่น และได้รับการตอบรับที่ดี นายใหญ่ประกาศกลางวงผู้สื่อข่าว กำลังดำเนินการปรับปรุงแผนการผลิตของโรงงานใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชนิดปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบอีวี (EV) โดยจะยังคงผลิตที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีกำลังการผลิตรองรับถึง 40,000 คันต่อปี
ว่าที่รถรุ่นใหม่ค่ายตราดาวปี 2018
“นโยบายของรัฐบาลไทยเวลานี้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าถือว่าดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในส่วนของการสนับสนุนการผลิตและการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค ทำให้เราตัดสินใจเดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งตรงกับแนวทางของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั่วโลกที่วางแผนในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ยุคใหม่” นายไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

สำหรับโมเดลที่จะเริ่มต้นประกอบในประเทศ จะเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดที่ยังไม่เคยทำตลาดในประเทศไทยมาก่อน และจะเริ่มทำตลาดได้ในปีนี้ ส่วนมูลค่าการลงทุนไม่สามารถเปิดเผยได้ ตามนโยบายของเมอร์เซเดส-เบนซ์ อย่างไรก็ตาม จะเป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากรถยนต์แบบ PHEV และครอบคลุมไปถึงรถแบบ EV ในอนาคต รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ด้วย
ซี-เอชอาร์ ประเดิมลุยไฮบริด
โตโยต้าประเดิม “C-HR ไฮบริด” มี.ค.นี้

พี่ใหญ่แห่งวงการรถยนต์ไทยอย่างโตโยต้า หลังจากทำตลาดรถยนต์แบบไฮบริดเป็นเจ้าแรก ทั้งการขึ้นไลน์ประกอบและยังคงทำตลาดอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันที่มี คัมรี่ ไฮบริด เป็นตัวชูโรง แต่อย่างที่ทราบกัน โตโยต้า เตรียมส่ง ซี-เอชอาร์ (C-HR) รถเอสยูวี น้องใหม่ล่าสุดเข้ามาทำตลาด โดยมีรุ่นไฮบริดจำหน่ายด้วย

“แผนประกอบรถยนต์ไฮบริดของโตโยต้ามูลค่า 20,000 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติเรียบร้อย พร้อมดำเนินการได้ทันที โดยมี ซี-เอชอาร์ เป็นรุ่นแรกในการทำตลาด ซึ่งจะส่งมอบให้ลูกค้าได้ในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนโรงงานผลิตแบตเตอรี่พร้อมผลิตรองรับในปี2019” คือคำกล่าวของ นายมิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมยังเสริมอีกว่า

“เรามองว่ารถยนต์ไฟฟ้า คือ อนาคตที่มาอย่างแน่นอน แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอุปสรรคมากทั้งขนาดของแบตเตอรี่ที่ยังไม่เพียงพอต่อการเดินทาง, สถานีชาร์จน้อย และต้นทุนสูง แต่อย่างไรก็ตาม ค่ายรถเยอรมันรุกทำตลาดรถแบบปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV เป็นสิ่งที่ดี หากผู้บริโภคตอบรับดีโตโยต้าก็มีรถ PHEV พร้อมทำตลาดเช่นกัน”

ทั้งนี้ สำหรับ โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค มียอดจองสิทธิ์ล่วงหน้ากว่า 3,000 คัน โดย 75% ของยอดจองเป็นการจองรถในรุ่นไฮบริด กระแสรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาจริงๆ
Axela ในญี่ปุ่นหรือมาสด้า 3 มีตัวเลือกแบบไฮบริด
มาสด้าถก “บีโอไอ” ลุ้นผลิต “3ไฮบริด”

เรียกว่าเป็นเซอร์ไพร์สแรกของปีนี้ เมื่อมาสด้าที่ไม่เคยมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้ามาก่อน ผู้บริหารกล่าวยอมรับกลางเวทีแถลงข่าวว่า กำลังพูดคุยกับบีโอไอในการขอสนับสนุนการลงทุนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้กรอบวงเงินลงทุนมูลค่า 11,400 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับคณะกรรมการบีโอไอถึงเงื่อนไขต่างๆ และความเป็นไปได้ในการดำเนินการ

“สำหรับโมเดลไฮบริดนั้นทางมาสด้า มี มาสด้า 3 ไฮบริด ทำตลาดอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเพียงโมเดลเดียว ดังนั้นหากว่าการเจรจาเงื่อนไขกับบีโอไอบรรลุข้อตกลงได้ คาดว่า มาสด้า 3 ไฮบริดจะเป็นโมเดลแรกที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย” นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์(ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
อภิชาติ ลีนุตพงษ์ เริ่มลุยรถไฟฟ้าในปีนี้
BYD ได้ตัวแทนใหม่ เจาะกลุ่มขายแท็กซี่

ด้าน บีวายดี (BYD) ผู้นำในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ซึ่งเคยทำตลาดในเมืองไทยมาแล้วผ่านตัวแทนจำหน่ายหลายรายจนกระทั่งล่าสุด กับตัวแทนรายใหม่ AJ และ Sharich ร่วมมือกันทำตลาด โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายแตกต่างไป เน้นที่ไปที่ลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่, รถเมล์ และรถใช้งานเฉพาะทางอย่างรถลากกระเป๋าในสนามบิน หรือรถโฟล์คลิฟไฟฟ้า

“รถยนต์ไฟฟ้าของบีวายดี เราพุ่งไปที่กลุ่ม Public Transport เนื่องจากรถยนต์ของเราตอบโจทย์ตรงนั้นได้ พร้อมทั้งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ขนาดของแบตเตอรี่ที่ 80 กิโลวัตต์มากพอสำหรับการเดินทางแบบใช้งานจริงที่ระยะทางกว่า 300 กม. ด้วยตัวรถที่มีราคาสูง การซื้อไปใช้งานส่วนตัวจึงยังไม่คุ้ม แต่หากนำมาประกอบการ จะช่วยลดต้นทุนได้มาก คุ้มค่าการลงทุนที่จ่ายแพงกว่าในครั้งแรก แต่ระยะยาวจะถูกว่า” อภิชาติ ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชาริช โฮลดิ้ง จำกัด กล่าว
พีซีเอ็กซ์ ไฮบริด เตรียมทำตลาดในไทยแน่นอน
ค่ายสองล้อยันพร้อมลุยไฮบริด

มาดูทางฝั่งของค่ายสองล้อกันบ้าง นำทัพโดย เอ.พี. ฮอนด้า เจ้าตลาดรถจักรยานยนต์ของไทย ประกาศอย่างชัดเจนที่สุด ด้วยการนำ “พีซีเอ็กซ์ ไฮบริด” เข้ามาทำตลาดอย่างแน่นอนในปีนี้ พร้อมกับเวอร์ชั่น EV ที่อยู่ในแผนการเปิดตัวด้วยเช่นกัน ขณะที่ค่ายยามาฮ่าไม่น้อยหน้า ยืนยันในปีนี้จะได้เห็นโมเดลไฮบริดแถมผลิตในเมืองไทยเสียด้วย ด้านรายละเอียดไม่เกินกลางปีคงได้รู้กัน
แถลงข่าวเปิดตัวสถานีชาร์จ EA Anywhere
กลุ่มพลังงานปูพรมเปิดสถานีชาร์จไฟ

เรียกว่าเป็นของคู่กันกับรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อมีรถก็ต้องมีที่ชาร์จไฟฟ้า ทางกลุ่มของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ร่วมมือกับ การไฟฟ้านครหลวง เปิดตัวสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่จะกระจายทั่วเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยตั้งเป้าขยายให้ถึง 1,000 แห่งภายในปีนี้
จุดชาร์จหน้าตาแบบนี้เตรียมขยายถึง 1,000 แห่งในปี 2018
“EA Anywhere Charging Station Powered by MEA จะกระจายเปิดตัวโดยมีระยะห่างราว 5 กิโลเมตรในแต่ละจุด เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่การใช้งาน และอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า อัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ชั่วโมงแรก 50 บาท ไปจนถึงสูงสุด 4 ชั่วโมง 150 บาท” ธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด บริษัทย่อยในเครือบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้พอจะมองเห็นภาพอนาคตที่ชัดเจน หลังจากที่บรรดาค่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมถึงค่ายพลังงาน พร้อมใจประกาศแผนเดินหน้าที่เป็นรูปธรรม ใช้งานได้จริง ประชาชนจะมีทั้งรถให้เลือกซื้อและสถานีชาร์จให้เติมไฟ ส่วนจะเปลี่ยนผ่านได้อย่างรวดเร็วขนาดไหน คงยังไม่มีใครตอบได้ ต้องรอดูกันยาวๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น