xs
xsm
sm
md
lg

“รถไฟฟ้ามหานิยม” ยอดลงทุนทั่วโลกทะลุ $9 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หลังเปิดตัวคอนเซ็ปท์คาร์ “คิว อินสไปเรชัน” ในมอเตอร์โชว์ที่ดีทรอยต์ อินฟินิตี้ ค่ายรถหรูในเครือนิสสัน ประกาศว่า นับจากปี 2025 รถทุกรุ่นของบริษัทจะเป็นรถไฟฟ้า ยกเว้นเฉพาะเอสยูวีขนาดใหญ่
ปรากฏการณ์อีวีแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ บริษัทรถทั่วโลกเทงบทะลักทลายจนยอดการลงทุนวันนี้ทะลุ 90,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว และคงไม่ได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้

แปลกแต่จริง รายงานการวิเคราะห์จากสำนักข่าวรอยเตอร์บอกว่า มูลค่าการลงทุน 90,000 ล้านดอลลาร์ดังกล่าวทุ่มให้กับรถไฟฟ้าหรืออีวีที่มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดขายรถ 90 ล้านคันโดยประมาณในแต่ละปี และเป็นพื้นที่ที่ครอบงำโดยเทสลาของอีลอน มัสค์ ที่มียอดขายกว่า 100,000 คันจากรถที่เพิ่งผลิตออกมาแค่ 3 รุ่น

นอกจากนั้น ขณะที่ค่ายรถชั้นนำของโลกเตรียมเปิดตัวรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่และรถไฮบริดที่ใช้น้ำมันและไฟฟ้ารวมแล้วนับสิบรุ่นในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหลายรุ่นในจำนวนนี้จะประเดิมกันที่ตลาดจีนนั้น ผู้บริหารกลุ่มใหญ่ยังเฝ้าถามตัวเองว่า ใครจะซื้อรถมากมายเหล่านี้

บิลล์ ฟอร์ด จูเนียร์ ประธานบริหารฟอร์ด มอเตอร์ ที่ประกาศลงทุน 11,000 ล้านดอลลาร์ในโครงการพัฒนารถไฟฟ้ากลางงานนอร์ธ อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล ออโต้โชว์ที่ดีทรอยต์เมื่อวันอาทิตย์ (14) บอกว่า ฟอร์ดลงเล่นในเซ็กเมนต์นี้เต็มตัวแล้ว เหลือคำถามเดียวก็คือ ลูกค้าจะเล่นด้วยหรือไม่

ไมค์ แจ็คสัน ประธานบริหารออโต้เนชั่น เชนขายปลีกรถยนต์ใหญ่ที่สุดในอเมริกา คาดว่า ภายในปี 2030 อีวีจะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 15-20% ของยอดขายรถป้ายแดงในอเมริกา และสำทับว่า เทสลากำลังจะเจอของจริงคืออีวีจากสารพัดค่าย

ดีเทอร์ เซทเช ประธานบริหารเดมเลอร์ ตอกย้ำความคิดนี้กับนักข่าวที่ดีทรอยต์ว่า แม้เทสลาเป็นบริษัทรถไฟฟ้าที่โดดเด่นที่สุดในเวลานี้ แต่ไม่นานจะมีผู้เล่นมากมายเบียดกันล้นเวที

เดมเลอร์นั้นประกาศลงทุนอย่างน้อย 11,700 ล้านดอลลาร์เพื่อเปิดตัวรถไฟฟ้าและไฮบริด 10 รุ่น รวมทั้งยังตั้งใจทำรถทุกประเภทตั้งแต่มินิคอมแพคจนถึงปิ๊กอัพทนงานหนักเป็นเวอร์ชันไฟฟ้า

เซทเชเองก็ยังไม่แน่ใจเหมือนผู้บริหารวงการเดียวกันอีกหลายคน เขาบอกว่า คงต้องดูกันต่อไปว่า ความนิยมในอีวีจะพายอดขายวิ่งฉิวสบายๆ หรือว่าบริษัทต้องหาวิธีไล่จับลูกค้า

การลงทุนในรถไฟฟ้าที่มีการประกาศกันจนถึงวันนี้นั้นครอบคลุมเงินทุนอย่างน้อย 19,000 ล้านดอลลาร์ของบริษัทรถในอเมริกา, 21,000 ล้านดอลลาร์ในจีน และ 52,000 ล้านดอลลาร์ในเยอรมนี

ผู้บริหารบริษัทยานยนต์อเมริกันและเยอรมนีให้สัมภาษณ์ข้างเวทีดีทรอยต์ มอเตอร์โชว์ว่า เงินทุนเหล่านั้นจำนวนมากทุ่มให้กับตลาดรถไฟฟ้าจีนที่รัฐบาลเอาจริงเอาจังถึงขั้นกำหนดโควตายอดขายอีวีโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

บริษัทรถยังต้องรับมือเป้าหมายการลดการปล่อยไอเสียจากเชื้อเพลิงฟอสซิลของผู้คุมกฎในยุโรปและแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งยังถูกกดดันจากความสำเร็จของเทสลาที่สร้างสรรค์ซีดานและเอสยูวีไฟฟ้ามากระตุ้นต่อมอยากของผู้บริโภคกระทั่งมียอดสั่งจองล้มหลามผลิตกันไม่ทันเลยทีเดียว

สำหรับตอนนี้ ลีฟจากนิสสัน มอเตอร์ ยังคงครองตำแหน่งรถไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลกหลังเปิดตัวมา 7 ปี และเป็นรุ่นเดียวของนิสสันที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เพียวๆ แต่อีกไม่นานตลาดจะท่วมท้นด้วยอีวีจากค่ายต่างๆ ซึ่งคงทำให้ลีฟอยู่ยากขึ้น และการแข่งขันดุเดือดน่าจะมีผลกดดันในการตั้งราคาอยู่ไม่น้อย

จิม เลนซ์ ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการในอเมริกาเหนือของโตโยต้า มอเตอร์ บอกว่า บริษัทใช้เวลาถึง 18 ปีในการเข็นยอดขายรถไฮบริดให้ได้ถึง 3% ของยอดขายทั้งหมดในตลาด ทั้งที่รถประเภทนี้ราคาถูกกว่าอีวี ไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานในการชาร์จไฟ และไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง เพราะฉะนั้น เขาจึงคิดว่า อีวีต้องใช้เวลานานกว่านั้นในการปั้นยอดขายให้ได้ 4-5%

ทั้งนี้ บริษัทที่ลงทุนในอีวีหนักที่สุดคือกลุ่มโฟล์คสวาเกนจากเยอรมนี ที่มีแผนใช้เงิน 40,000 ล้านดอลลาร์แปลงรถที่มีอยู่กว่า 300 รุ่นเป็นเวอร์ชันไฟฟ้าภายในปี 2030

สำหรับในอเมริกา เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) แบแผนเปิดตัวรถไฟฟ้าและรถเซลล์เชื้อเพลิงใหม่ 20 รุ่นภายในปี 2030 ซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตบนแพล็ตฟอร์มเฉพาะแบบแยกส่วนได้ที่จะเปิดตัวในปี 2021

แมรี่ บาร์รา ประธานบริหารจีเอ็ม ไม่ได้แจงว่าจะลงทุนกับรถไฟฟ้าเท่าไหร่ บอกแต่ว่า เงินทุนก้อนใหญ่จะโอนไปที่จีนซึ่งจะเป็นฐานการประกอบอีวีหลายรุ่น และบริษัทจะใช้แบรนด์คาดิลแลคเป็นหัวหอกบุกตลาดรถไฟฟ้าแดนมังกร

อย่างไรก็ตาม เส้นทางของจีเอ็มและค่ายรถอื่นๆ ที่ต้องการยึดหัวหาดตลาดจีนไม่ได้ง่ายเลยเพราะบรรดาหุ้นส่วนท้องถิ่นทั้งของจีเอ็มเอง, ฟอร์ด และโฟล์คสวาเกน ต่างประกาศแผนการลงทุนเชิงรุกในเซ็กเมนต์นี้กันอย่างคึกคัก

ขณะเดียวกัน ใช่ว่าบริษัทรถข้ามชาติทุกรายจะมีแผนรุกกร้าวในตลาดรถไฟฟ้าเหมือนกันหมด

ตัวอย่างเช่น เซอร์จิโอ มาร์คิโอเน ประธานบริหารเฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ (เอฟซีเอ) ที่เพิ่งแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้เมื่อวันจันทร์ (15) ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุเฉพาะเจาะจงว่า จะผลิตรถไฟฟ้าใหม่ออกมากี่รุ่น และย้ำว่า เอฟซีเอไม่ได้กดดันอะไรกับกระแสอีวี แต่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการปล่อยไอเสียอย่างเคร่งครัด ก่อนปิดท้ายว่า อย่างไรเสียอีวีก็มีแนวโน้มกลายเป็นโจทย์บังคับในยุโรปจากกฎด้านการปล่อยไอเสียของภาครัฐอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น