xs
xsm
sm
md
lg

โตโยต้านำร่องปั้น CH-R รับโรงงานผลิตไฮบริดดึงแชร์คืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โตโยต้า หวังเปลี่ยนเกมส์เข้าสู่ยุคไฮบริดเต็มตัว ประกาศมั่นใจภายในปีค.ศ.2020 จะผลิตแบตเตอรรี่แบบโซลิดสเตทให้สำเร็จ พร้อมใส่ในรถทุกรุ่น ระบุการตั้งโรงงานผลิตไฮบริดในเมืองไทยเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดให้กลับคืนมา เหตุปัจจัยเอื้อจากรัฐสนับสนุนเต็มที่ เตรียมปล่อยโมเดลใหม่ “โตโยต้า ซีเอช-อาร์” เวอร์ชั่นไฮบริดมาแน่ ส่วนเครื่องยนต์อื่นอดใจลุ้นสเปคอีกครั้ง
ดิดิเยร์ เลอรอย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น
“โตโยต้า” แบรนด์นี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก ในฐานะยักษ์ใหญ่เบอร์ต้นๆ ของวงการยานยนต์โลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งทุกครั้งมีการขยับไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีหรือเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ย่อมสร้างกระแสได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากงาน โตเกียว มอเตอร์ โชว์ 2017 ที่กำลังจัดขึ้นอยู่ในช่วงเวลานี้ โตโยต้า เปิดตัวรถคอนเซ็ปต์ใหม่ถึง 7 รุ่น รวมถึงรถรุ่นล่าสุดที่เรียกได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของโตโยต้า

สำหรับทีเด็ดไฮไลท์ของรถรุ่นต่างๆ ใครที่ติดตามตลอดคงทราบเป็นอย่างดีว่ามีอะไรบ้าง เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ขอรวบรัดตัดความโฟกัสไปที่เรื่องราวซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทยซึ่งทางโตโยต้า ได้เปิดโอกาสให้ทีมสื่อมวลชนจากประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เข้าร่วมสัมภาษณ์ “ดิดิเยร์ เลอรอย” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน จำกัด

“การลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับไฮบริดในประเทศไทยนั้น เพื่อปกป้องรักษาสัดส่วนทางการตลาดของโตโยต้า ให้อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ และทราบว่าทางรัฐบาลไทยเองให้การสนับสนุนแนวทางเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของโตโยต้าในการร่วมมือกับรัฐบาลไทย” นั่นคือคำตอบของ ดิดิเยร์ เลอรอยที่มีต่อคำถามเกี่ยวกับการลงทุนตั้งโรงงานผลิตมูลค่ารวมเกือบ 20,000 ล้านบาทในประเทศไทย
โตโยต้า ซีเอช-อาร์ ไฮบริด
หลังจากนั้นดิดิเยร์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการร่วมมือกันระหว่างโตโยต้า,มาสด้าและเดนโซ่ในการพัฒนารถยนต์แบบไฟฟ้าล้วน(EV)ไว้ว่า เนื่องจากทรัพยากรที่มีจำกัดทั้งในส่วนของบุคคลากรและเครื่องมือต่างๆ ในการวิจัย โตโยต้า ยังจะต้องทำ วิจัยทุกอย่างทั้งด้านพลังงานอื่นๆ เช่น ฟิวเซลล์และ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ดังนั้นโตโยต้าจึงต้องหาพันธมิตรที่เข้ามาช่วยในส่วนนี้ด้วย

“โตโยต้าต้องทำให้ครบทุกอย่าง ไม่เพียงเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด แต่เป็นการทำเพื่อส่วนรวมและพัฒนาให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้รถยนต์ได้อย่างปลอดภัย100% เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ซึ่งโตโยต้ามีเป้าหมายในปี ค.ศ.2050 จะพัฒนาให้รถยนต์ทุกคันใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 90% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน” ดิดิเยร์ กล่าว

สำหรับกลยุทธ์ในการทำให้รถยนต์ไฮบริดสามารแจ้งเกิดได้นั้น ดิดิเยร์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความน่าเชื่อถือในการใช้งาน ต้องใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องชาร์จ การเติมไฟต้องรอไม่นาน และรถไฮบริดจะต้องมีราคาที่ประชาชนมีความสามารถในการซื้อหาเป็นเจ้าของได้ ทั้งหมดนี้คือความท้าทายที่โตโยต้ากำลังพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จ โดยมีพันธกิจสำคัญที่ประกาศไว้กลางเวทีโตเกียว มอเตอร์โชว์ นั่นก็คือ การพัฒนา โซลิตสเตท แบตเตอรี่ ให้สำเร็จ

“ภายในปี 2020โตโยต้า จะเปลี่ยนเกมส์ของรถไฟฟ้าทั้งหมด ด้วยการพัฒนาแบตเตอรี่แบบ โซลิด-สเตท Solid-state (ขนาดเล็ก ความจุสูง ชาร์จไว) (ขนาดเล็ก ความจุสูง ชาร์จไว) ให้สำเร็จซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อแบตเตอรี่แบบนี้สำเร็จแล้วจะหยุดโครงการพลังงานอื่นเช่น ฟิวเซลล์ไป แต่ทุกอย่างจะยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการใช้งาน”
โตโยต้า ซีเอช-อาร์ ไฮบริด
ทั้งนี้ปัจจุบัน หากมองในส่วนของยอดขายรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (รวมทุกชนิดทั้งแบบไฮบริด-อีวี) โตโยต้ามีสัดส่วนการตลาดมากกว่า 50% ทั่วโลก โดยโตโยต้ามียอดขายสะสมรวมกว่า 11 ล้านคัน ยอดขายปัจจุบันปีละเกือบ 1.5 ล้านคันใน 90 ประเทศ จากรถยนต์โตโยต้าที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 36 รุ่น

สำหรับ รถยนต์แบบไฮบริดในประเทศไทย จากการทุ่มลงทุนสร้างโรงงานดังกล่าว แม้จะยังไม่มีความชัดเจนจากคำกล่าวของทีมผู้บริหารโตโยต้า แต่แหล่งข่าวจากดีลเลอร์ของโตโยต้า โมเดลใหม่ล่าสุดที่จะนำร่องในการแจ้งเกิดไฮบริดรอบนี้คือรุ่น ซี-เอชอาร์ (C-HR) ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยปลายปีนี้ ส่วนวันจำหน่ายอย่างเป็นทางการยังไม่แน่นอน

ในส่วนของสเปค โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ไฮบริด ตัวถังสร้างขึ้นภายใต้ TNGA แพลตฟอร์ม อันเป็นพื้นฐานโครงสร้างตัวถังแบบใหม่ที่โตโยต้าจะใช้แบบเดียวกันทั่วโลก หัวใจหลักแบบไฮบริด(ตามสเปคญี่ปุ่น) จะเป็นเครื่องยนต์ รหัส 2ZR-FXE THS II ขนาด 1.8 ลิตร กำลังสูงสุด 98 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 142 นิวตันเมตร มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 72 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 163 นิวตันเมตร ขับเคลื่อน 2 ล้อ อัตราการบริโภคน้ำมันเฉลี่ย 30.2 กม./ลิตร (ภายใต้การทดสอบตามมาตรฐานของญี่ปุ่น)

ถึงบรรทัดนี้ คงต้องจับตาดูกันว่า โตโยต้า ประเทศไทย จะมีกลยุทธ์อย่างไรในการนำเสนอให้ “ผู้บริโภค” เข้าถึง“ซี-เอชอาร์” ได้ง่ายเหมือนอย่างที่ ดิดิเยร์ เลอรอย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวเอาไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น