xs
xsm
sm
md
lg

โตโยต้า โซรา บัสรักษ์โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โตโยต้า ประกาศเปิดตัวยานยนต์ต้นแบบโซรา (Sora) รถประจำทางพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (FC bus) โดยวางแผนจะจำหน่ายรถรุ่นดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ในปี 2018 และคาดว่าจะนำ โซรา กว่า 100 คันมาใช้ภายในพื้นที่เทศบาลนครโตเกียว ก่อน Tokyo 2020 Olympic และ Paralympic Games

โตโยต้าพัฒนารถต้นแบบ โซรา จากวิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้าง “สัญลักษณ์เมืองที่ยั่งยืน” จากความคิดหลักสองประการคือการใช้ลักษณะเฉพาะของเครื่องยนต์เซลล์เชื้อเพลิงให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารที่ใช้รถประจำทาง

แนวคิดที่ 1 รถสำหรับให้บริการ เพื่อทุกคนในชุมชน

โตโยต้ามีเป้าหมายผลิตรถประจำทางที่มีประโยชน์ต่อโลกและผู้คน มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถทำประโยชน์ให้กับชุมชนได้มากกว่าบริการเพื่อการเดินทาง ระบบพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงโตโยต้า (Toyota Fuel Cell System-TFCS) ซึ่งใช้ในรถพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง “มิไร” ถูกนำมาใช้ในรถรุ่นนี้ เพื่อประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมระดับสูงสุด กล่าวคือในขณะที่รถวิ่งจะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือสารที่มีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์(Substance of Concern-SoC)ออกมาแต่อย่างใด

โซรา ติดตั้งสุดยอดระบบจ่ายพลังงานภายนอกที่สามารถจ่ายไฟฟ้ากำลังการผลิตสูง (ผลิตไฟฟ้าสูงสุด 9 kw และจ่ายกระแสไฟฟ้า 235 kWh2) ทั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานฉุกเฉินได้ในกรณีเกิดภัยพิบัติ

แนวคิดที่ 2 การออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มและฟังก์ชั่นที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง

เนื่องจากรถประจำทางรุ่นนี้ พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับผู้โดยสารจำนวนมากได้ในทุกสถานการณ์ โตโยต้าได้ใส่ใจด้านความสะดวกสบาย ความปลอดภัยและอุ่นใจ เพื่อให้ผู้โดยสารทุกคนได้รับประสบการณ์การเดินทางที่น่าพอใจ และรู้สึกต้องการใช้บริการรถประจำทางอยู่เสมอ

รถประจำทางติดตั้งที่นั่งแนวนอนพร้อมกลไกพับเก็บอัตโนมัติ เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับรถเข็นเด็กหรือรถวีลแชร์ และเมื่อไม่มีรถเข็นเด็กหรือรถวีลแชร์ ก็จะเป็นการเพิ่มจำนวนที่นั่งให้กับผู้โดยสาร ปลอดภัยด้วยกล้องวงจรปิดความละเอียดสูง 8 ตัว ติดตั้งทั้งด้านในและด้านนอกรถ ทำหน้าที่ตรวจจับภาพคนเดินเท้าและจักรยานรอบรถ เป็นฟังก์ชั่นตรวจสอบรอบนอกที่ช่วยเตือนคนขับด้วยเสียงและภาพ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย

สำหรับความปลอดภัยของผู้โดยสารที่ยืนอยู่ ฟังก์ชั่นควบคุมการเร่งจะทำให้ไม่เกิดการเร่งรถด้วยความเร็วฉับพลันและทำให้ออกรถได้อย่างนุ่มนวล รวมทั้ง ผู้โดยสารจะไม่เกิดอาการเซเนื่องจากรถไม่มีการเปลี่ยนเกียร์

ระบบควบคุมการจอดอัตโนมัติจะจับเส้นนำทางบนพื้นถนน และใช้ระบบควบคุมและชะลอความเร็วอัตโนมัติ เพื่อหยุดรถประจำทางให้อยู่ห่างจากป้ายรถประจำทางประมาณ 3 ถึง 6 ซม. และภายในระยะ 10 ซม.ก่อนหรือหลังจุดหยุดรถ ช่วยอำนวยความสะดวกในการขึ้น-ลงของผู้โดยสารที่มีรถเข็นเด็กและรถวีลแชร์

ด้วยระบบ ITS Connect เชื่อมการสื่อสารระหว่างรถกับรถ (vehicle-to-vehicle) และรถกับโครงสร้างพื้นฐาน (vehicle-to-infrastructure) เพื่อให้ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย พร้อมสนับสนุนรถประจำทางให้สามารถวิ่งเป็นขบวนและช่วยให้ได้สิทธิ์ก่อนเมื่ออยู่ที่สัญญาณไฟจราจร (PTPS5)

การออกแบบเน้นดีไซน์แบบสามมิติที่แตกต่างจากทรงหกเหลี่ยม (ทรงกล่อง) แบบรถประจำทางทั่วไป ไฟหน้าและไฟท้ายใช้หลอดไฟ LED ด้วยดีไซน์เฉพาะตัวนี้ ผู้ใช้บริการทราบได้ทันทีว่านี่คือ รถประจำทางพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง FC Bus






กำลังโหลดความคิดเห็น