การตั้งชื่อรถอาจเป็นงานยากสำหรับบางบริษัท ชื่อที่ดีที่โดนสามารถดึงดูดลูกค้าได้ แต่ถ้าชื่อประหลาดก็อาจทำให้ลูกค้าสับสนและยอดขายรถพลอยฟ้าพลอยฝนซึมไปด้วย ต่อไปนี้คือรถ 10 รุ่นที่ตั้งชื่อแหวกแนวที่สุด
ซูซูกิ คาปูชิโน (Suzuki Cappuccino)
คุณอาจประหลาดใจ แต่จริงๆ แล้ว มีรถมากกว่าหนึ่งรุ่นที่ยืมชื่ออาหารและเครื่องดื่มมาใช้ เช่น ฮอตด็อก, เฌอรี่ และคาปูชิโน
ปลายทศวรรษ 1980 ซูซูกิมีแผนการในใจในการพัฒนารถสปอร์ตหรืออย่างน้อยก็รถที่หน้าตาคล้ายรถสปอร์ต และคาปูชิโนจึงถือกำเนิดขึ้นมา
แม้พัฒนาโดยอิงกับความสำเร็จของ Kei car หรือรถทรงกล่องในญี่ปุ่น แต่ซูซูกิส่งคาปูชิโนออกไปขายนอกบ้านไกลถึงสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย
ฟอร์ด โพรบ (Ford Probe)
โพรบอาจเป็นหนึ่งในรถชื่อพิลึกที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยมีการขึ้นสายการผลิตระหว่างปี 1989-1997 เท่านั้น แรกทีเดียวฟอร์ดหมายมั่นปั้นรถรุ่นนี้มาแทนมัสแตงในอเมริกาเหนือและคาปรีในยุโรป แต่ด้วยชื่อรถทำให้แผนการนี้แป้กสนิท เป็นไปได้ว่า คนยุโรปรู้สึกว่าชื่อนี้แรงเกินไป ขณะที่คนอเมริกันเองบอกว่า ฟังแล้วนึกถึงเอเลี่ยนกับการตามล่าหาข้อพิสูจน์
ซูซูกิ มารูติ ดีไซร์ (Suzuki Maruti DZire)
ชื่อนี้อาจไม่แปลกเท่าไหร่ แค่ดูผิดที่ผิดทางไปบ้างและสะดุดตาที่ตัวสะกด
มารูติ ดีไซร์เปิดตัวในปี 2008 และขายในตลาดอินเดียเท่านั้น โดยเป็นร่างทรงของสวิฟต์แฮตช์แบ็ก นับจากนั้น ดีไซร์ก็กลายเป็นหนึ่งในรถซับคอมแพคที่ได้รับความนิยมสูงสุดในอนุทวีป สะท้อนว่าบางครั้งชื่อก็ไม่ได้สำคัญไปเสียทั้งหมด
มิตซูบิชิ มิราจ ดิงโก (Mitsubishi Mirage Dingo)
ชื่อรถรุ่นนี้มีที่มาที่ไปที่หลายคนอาจไม่รู้ Dingo มาจากคำว่า Bingo ที่คนญี่ปุ่นมักนำไปโยงกับความโชคดี ส่วน D มาจาก Diamond เพราะโลโก้ของมิตซูบิชิคือรูปเพชร 3 เม็ด
แต่ถึงรู้ที่มาที่ไปแล้ว ก็ยังยากที่จะลืมได้ว่า Dingo ในภาษาอังกฤษแปลว่า หมาป่าดิงโกที่ชอบคาบทารกวัยแบเบาะไปกิน
เกีย โปร_ซีด จีที (Kia Pro_cee’d GT)
ชื่อนี้น่าจะมาจากการคิดนอกกรอบของเกีย แต่เป็นฝันร้ายของครูสอนภาษาอังกฤษ
เกียอาจคิดว่า “Proceed GT” ธรรมดาเกินไป เลยจงใจเอาเครื่องหมายวรรคตอนและเส้นใต้มาใส่ให้ดูมีอะไรๆ มากขึ้น นอกจากนั้นความที่ Cee’d เป็นรถรุ่นแรกที่ออกแบบและผลิตในยุโรป เกียจึงอยากจารึกหลักไมล์สำคัญนี้ด้วยการหยิบยืมตัวอักษรแรกของ European Community (ประชาคมยุโรป) มาใส่ไว้เป็นเกียรติในรถรุ่นนี้ด้วย
มิตซูบิชิ พิสตาชิโอ (Mitsubishi Pistachio)
นี่คือชื่อรถอีกรุ่นที่ตั้งตามชื่อของกิน แฮตช์แบ็กสามประตูรุ่นนี้เปิดตัวปลายปี 1999 เพื่อขายให้หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นของญี่ปุ่นอันเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ต่อสู้กับปัญหาการปล่อยไอเสีย รถขนาด 700 กิโลกรัมของมิตซูบิชิรุ่นนี้ใช้น้ำมันประมาณ 3.3 ลิตรต่อระยะทาง 100 กิโลเมตร แม้พิสตาชิโอที่มีให้เลือกเพียง 2 สีคือเขียวและเหลือง ขายไปทั้งสิ้น 50 คันเท่านั้น แต่ปัจจุบันรถรุ่นนี้ยังคงครองใจคนญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งอย่างเหนียวแน่น
ไดฮัทสุ มิดเจ็ต (Daihatsu Midget)
ไดฮัทสุ มิดเจ็ตเป็นรถเล็กสมชื่อ (midget แปลว่าคนแคระหรือเล็กมาก) ชื่อนี้อาจฟังไม่ทะแม่งเท่าไหร่ตอนที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปลายทศวรรษ 1950 ในรูปรถสามล้อติดเครื่องยนต์ จนกระทั่งมีการปรับโฉมครั้งใหญ่ในปี 1996 เช่นเดียวกับรถทรงกล่องรุ่นอื่นๆ ของญี่ปุ่น มิดเจ็ตมีน้ำหนักเบาและใช้เครื่องยนต์ขนาด 660 ซีซีเท่านั้น
เปอโยต์ บิปเปอร์ ทีปี (Peugeot Bipper Tepee)
บิปเปอร์ ทีปีเป็นรถที่มีห้องโดยสารกว้างขวางและเพดานหลังคาสูงมาก ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่เปอโยต์เลือกคำว่า Tepee ที่แปลว่ากระโจมอินเดียนแดงมาตั้งชื่อรถ ส่วน Bipper น่าจะเป็นศัพท์แสลงที่มีเพียงฮิปสเตอร์ที่รู้ความหมาย
สตูเดอเบเกอร์ ดิกเตเตอร์ (Studebaker Dictator)
ช่วงกลางทศวรรษ 1920 ดิกเตเตอร์ยังไม่ใช่คำที่ทำให้คนอเมริกันสะดุ้ง ดังนั้น ชื่อรถรุ่นนี้จึงไม่ได้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทันควัน แต่สำหรับยุโรปที่รู้ซึ้งถึงคำว่าผู้นำเผด็จการดี รถรุ่นนี้จึงต้องวางจำหน่ายในชื่ออื่นคือ ไดเร็กเตอร์ จนกระทั่งทศวรรษ 1930 ที่อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์เถลิงอำนาจ สตูเดอเบเกอร์จึงเลิกใช้ชื่อดิกเตเตอร์และเปลี่ยนเป็นคอมมานเดอร์ถาวร
นิสสัน ลีฟ (Nissan Leaf)
แน่นอน รถชื่อลีฟต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม! นิสสัน ลีฟเป็นรถไฟฟ้าที่คว้าทั้งรางวัลและกล่อง เพราะนอกจากจะทำยอดขายสูงสุดในโลกในหมวดรถไฟฟ้าสองปีซ้อนคือในปี 2013 และ 2014 แล้ว ลีฟยังกวาดรางวัลมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ยูโรเปียน คาร์ ออฟ เดอะ เยียร์ 2011
นิสสันบอกว่า ที่ตั้งชื่อนี้เพราะต้องการสื่อว่า ลีฟช่วยทำให้อากาศบริสุทธิ์เช่นเดียวกับใบไม้ ด้วยการลดการปล่อยไอเสีย