xs
xsm
sm
md
lg

เจ็บไม่ว่า เสียหน้ายอมไม่ได้! แอปใหม่ดัดนิสัยวัยรุ่นขับรถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แอปพลิเคชันเซฟ แอนด์ ซาวด์ที่ผู้ใช้โทรศัพท์แอนดรอยด์สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้แม้ไม่ใช่ลูกค้าของโตโยต้าก็ตาม
โตโยต้า ยุโรป ร่วมกับเอเจนซีโฆษณารุ่นเก๋าของอังกฤษ ซาทชิ แอนด์ ซาทชิ ลอนดอน มอบอาวุธยุคดิจิตอลใหม่ให้พ่อแม่ใช้รับมือลูกวัยคะนองที่มีสัญชาติญาณการขับขี่ชวนหวาดเสียวให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น นี่ยังเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของโตโยต้าในการทำให้ถนนปลอดภัยขึ้น

พ่อแม่หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ห่วงหน้าพะวงหลัง เมื่อลูกที่เพิ่งสอบได้ใบขับขี่มาขอยืมรถออกไปฉลองหรือพาสาวนั่งกินลมโก้ๆ เพราะใจหนึ่งก็หวงรถ แต่อีกใจก็ไม่อยากทัดทานลูก ที่สำคัญที่สุดคือห่วงลูก

Safe and Sound คือนวัตกรรมที่จะมาช่วยให้พ่อแม่เบาใจและเป็นทางออกสำหรับปัญหาหนุ่มสาวชอบใช้สมาร์ทโฟนขณะขับรถ โดยแอปพลิเคชันนี้ไม่เพียงเปิดโหมด “ห้ามรบกวน” ในโทรศัพท์คนขับเท่านั้น แต่ยังมอบอำนาจการควบคุมเพลย์ลิสต์ในรถให้พ่อแม่ เมื่อใดก็ตามที่ลูกละเมิดกติกาที่ตกลงกันไว้

สำหรับวัยรุ่นหรือหนุ่มสาว ความสุขของการขับรถคือถนนโล่งๆ กับสารพัดเพลงโปรดที่เลือกได้จากปลายนิ้ว ไม่ว่าจะขับคนเดียวหรือมีเพื่อนนั่งไปด้วยก็ตาม แต่ในทางกลับกัน นั่นคือเวลาที่พ่อแม่เครียดที่สุด

งานวิจัยพบว่า วัยรุ่นและหนุ่มสาวมีความเสี่ยงขับรถชนมากกว่าผู้ใหญ่ และ 1 ใน 4 ของคนอายุ 18-24 ปี มีแนวโน้มขับรถชนภายใน 2 ปีที่ได้ใบขับขี่ใบแรก สาเหตุหลักคือสมาร์ทโฟนและความเร็ว

คนขับรุ่นใหม่มักห้ามใจไม่ค่อยอยู่เมื่อโทรศัพท์ดัง โดยเนชันแนล เซฟตี้ เคาน์ซิลในอเมริกาพบว่า 26% ของอุบัติเหตุทั้งหมดบนถนนเกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างไม่เหมาะสม, คนขับหนุ่มสาว 80% โทรออกหรือรับสายขณะขณะขับรถ, 72% พิมพ์ข้อความ และ 1 ใน 3 ของอุบัติเหตุร้ายแรงบนถนนของคนช่วงวัยนี้ในอเมริกาล้วนเกี่ยวข้องกับความเร็ว

ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในช่วงเวลาที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตของพ่อแม่ก็คือตอนที่ลูกได้ใบขับขี่ครั้งแรก เพราะถึงแม้ไว้ใจในความสามารถของลูก แต่ความเสี่ยงยังอยู่ที่คนขับรถคนอื่นๆ บนถนนด้วย โดยพ่อแม่ 74% บอกว่า ห่วงลูกขับรถชนมากกว่าจะไปข้องเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายหรือยาเสพติด

เซฟ แอนด์ ซาวด์จึงถือกำเนิดขึ้นจากโจทย์ในการหาวิธีทำให้พ่อแม่สบายใจมากที่สุดควบคู่ไปกับพยายามควบคุมหรือโน้มน้าวให้ลูกใช้รถอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น

กลไกการทำงานของแอปพลิเคชันนี้คือ ทั้งพ่อแม่และลูกที่ต้องการยืมรถไปขับ ต้องดาวน์โหลดเซฟ แอนด์ ซาวด์ และระบบจะจับคู่โทรศัพท์ของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งซิงค์บัญชี Spotify ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสตรีมเพลงของทั้งคู่

เมื่อรถออกตัว แอปพลิเคชันนี้จะเปิดโหมด “ห้ามรบกวน” บนสมาร์ทโฟนของลูกทันที ทำให้ทั้งการโทรออก/รับสาย รับ-ส่งข้อความ และสัญญาณแจ้งเตือนโซเชียลมีเดียทั้งหลายแหล่ถูกปิดใช้งาน

จากนั้น เซฟ แอนด์ ซาวด์จะใช้เทคโนโลยีกูเกิล แมปส์ เอพีไอตรวจสอบความเร็วของรถ ถ้าพบว่า ลูกขับรถเร็วกว่าที่พ่อแม่กำหนดไว้ หรือหยิบสมาร์ทโฟนมาใช้ เพลงที่เล่นผ่านสปอติฟายในขณะนั้นจะปิดทันทีและถูกแทนที่ด้วยเพลงโปรดของพ่อแม่ที่นอกจากจะทนฟังไม่ได้แล้ว ยังทำให้ลูกได้อายต่อหน้าเพื่อนที่นั่งไปด้วย แต่เมื่อลูกเลิกพยายามเล่นโทรศัพท์หรือเบาคันเร่งลงอยู่ภายในระดับที่ตกลงกัน เพลงที่เลือกไว้เองก็จะกลับมาเล่นต่อ

นอกจากนั้นทั้งพ่อแม่และลูกยังสามารถดูข้อมูลสรุปการเดินทางหลังจบทริป
แม้แอปพลิเคชันนี้อาจดูไร้สาระเล็กน้อย แต่ก็สนุกสนานและทำให้พ่อแม่เบาใจลงได้บ้างตอนที่ปล่อยให้ลูกเอารถออกไปขับ

เจสัน เมนเดส เอ็กเซ็ฟคิวทีฟ ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ของซาทชิ แอนด์ ซาทชิ อธิบายว่า ถ้าบอกวัยรุ่นให้ปิดโทรศัพท์เวลาเข้าโรงหนัง พวกเขาจะทำตามแต่โดยดี แต่ถ้าบอกให้ปิดเวลาอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง เช่น ขับรถ เกือบร้อยทั้งร้อยจะไม่เชื่อ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของวัยรุ่นคือ การกลัวเสียหน้ามากกว่ากลัวเจ็บตัว และข้อเท็จจริงนี้ทำให้บริษัทนำมาพลิกแพลงสร้างสรรค์แอปพลิเคชันนี้ ซึ่งไม่ได้มีเพียงลูกค้าโตโยต้าเท่านั้นที่ใช้ได้ แต่บุคคลทั่วไปที่ใช้โทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์ก็สามารถดาวน์โหลดมาทดลองกัน

ดาริโอ กิสตินี ผู้จัดการอาวุโสแผนกแบรนด์และการสื่อสารของโตโยต้ายุโรป ปิดท้ายว่า โตโยต้ายึดแนวทางปลอดภัยไว้ก่อน และกำหนดภารกิจให้ตัวเองในการทำให้ถนนปลอดจากอุบัติเหตุโดยสิ้นเชิงในวันหนึ่งข้างหน้า และแอปพลิเคชันเซฟ แอนด์ ซาวด์เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้คนขับหนุ่มสาวตื่นตัวเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้โทรศัพท์อย่างไม่เหมาะสมขณะขับรถ
กำลังโหลดความคิดเห็น