xs
xsm
sm
md
lg

ส่องแผน“โฟล์ค” ใต้ปีก “วิทิต” เน้น”รถตู้”ปูทางรอบริษัทแม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - โฟล์คสวาเกน ปรับโครงสร้างบริหารในเมืองไทย พร้อมย้ายที่ทำการ ปรับโชว์รูมตามมาตรฐานใหม่ เน้นบริการหลังการขาย เสริมหน่วยบริการเคลื่อนที่ Mobility Service ตั้งเป้าขาย 500 คันปีนี้หลังได้ “คาราเวลล์” โมเดลใหม่ ระบุทำรถตู้เพียงอย่างเดียว อุบไต๋เก็บที่ดินส่วนโรงงานประกอบรถยนต์เอาไว้ รองรับแผนการลงทุนของบริษัทฯแม่
นัทธี โกมลเชกุล
ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ สำหรับแบรนด์ “โฟล์คสวาเกน” ในเมืองไทย หลังจากที่ “วิทิต ลีนุตพงษ์” ตัดสินใจดึงเอา แบรนด์ โฟล์คสวาเกน, บริษัท ไทยยานยนตร์ จำกัด และโรงงานประกอบรถยนต์ เก็บไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียว พร้อมกับการอำลาตัวเองจากกลุ่มชิน คอร์ป เพื่อมาดูแลแบรนด์ โฟล์คสวาเกน และดึงมือดีเข้ามาเสริมทัพด้านการบริหาร

สำหรับการปรับโครงสร้างครั้งนี้ของ “โฟล์คสวาเกน” เริ่มด้วยการแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ “นายนัทธี โกมลเชกุล” เข้ามาดำรงตำแหน่ง ซีโอโอ หรือประธานเจ้าหน้าปฏิบัติ ซึ่งข้ามห้วยมาจากกลุ่มธุรกิจสื่อสาร โดยมากับแนวคิดในการบริหารที่เน้นเรื่องของการบริการหลังการขายเป็นสำคัญ
โฟล์คสวาเกน คาราเวลล์
“นโยบายสำคัญของผมคือ มองตัวเราเป็นทางแก้ปัญหาของลูกค้า สร้างความอุ่นใจใจให้กับลูกค้าทุกคน ว่าเมื่อใช้รถของเราแล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างแน่นอน โดยเราจะเริ่มโครงการ Mobility Service หรือรถบริการเคลื่อนที่ ให้การซ่อมฉุกเฉินในทุกเส้นทางเพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินทางต่อไปได้” คำกล่าวแรกของนาย นัทธี เกี่ยวกับนโยบายเร่งด่วนของโฟล์คสวาเกนยุคใหม่นี้

ซึ่ง โครงการ Mobility Service จะเริ่มต้นด้วยรถบริการ 1 คัน พร้อมกับศูนย์กลางcall center ที่คอยรับเรื่องแจ้งซ่อมฉุกเฉิน โดยอนาคตจะเพิ่มจำนวนขึ้นตามยอดขายของรถยนต์ และจะทำควบคู่ไปกับระบบรถทดแทนใช้ระหว่างซ่อม หากว่า รถของลูกค้าจำเป็นต้องซ่อมด้วยระยะเวลานานกว่า 4 วัน ทางโฟล์คสวาเกนจะมีรถทดแทนให้ใช้งานอีกด้วย

นอกจากปรับโครงสร้างการบริหารแล้ว ยังจะมีการย้ายสำนักงานใหญ่จากโชว์รูมที่ถนนวิภาวดี ไปอยู่ที่ตึกแห่งใหม่ริมถนนพระราม 9 โดยมีกำหนดการย้ายให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งทางโชว์รูมแห่งใหม่บนถนนพระราม 9 จะเป็นศูนย์ซ่อมขนาดเล็กแบบ express service จำนวน 4 ช่องซ่อม โดยใช้งบประมาณ 15-20 ล้านบาทสำหรับการทำโชว์รูมใหม่ตามมาตรฐานของโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป เยอรมนี
นัทธี โกมลเชกุล
ส่วนในแง่ของศูนย์บริการและดีลเลอร์นั้น จากปัจจุบันมี 4 แห่งจะกลายเป็น 6 แห่งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัดจาก 3 แห่งจะกลายเป็น 9 แห่ง คลอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการยุบและย้ายจากโชว์รูมเดิมไปโชว์รูมใหม่พร้อมกับเปิดรับดีลเลอร์รายใหม่อีกด้วย

สำหรับแผนการขาย ทาง บริษัท ไทยยานยนตร์ จำกัด ได้เจรจากับทางโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป เยอรมนี ในการตัดสินใจที่จะทำตลาดด้วย รถตู้ “คาราเวลล์” เพียงรุ่นเดียวไปก่อน เนื่องจากตลาดรถยนต์นั่งของไทยนั้นทำการแข่งขันยากเมื่อเป็นรถนำเข้า เพราะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่ารถยนต์ประกอบในประเทศ ทำให้มีราคาขายสูงกว่าคู่แข่งในตลาด 

“รถทุกคันของเรา นำเข้ามาจากประเทศเยอมนี ดังนั้นจึงมั่นใจได้ในเรื่องของคุณภาพ โดยทุกคันที่เราเป็นผู้จำหน่ายจะจดทะเบียนถูกต้องแบบ 11 ที่นั่ง ปัจจุบันมีทำตลาดเพียงรุ่นเดียวคือ คาราเวลล์ ที6 ราคา 3.55 ล้านบาท ส่วนการตกแต่งภายในจะเปลี่ยนเป็นอย่างไรนั้นขึ้นกับลูกค้าหลังจากที่ซื้อรถจากเราไปแล้ว” นายนัทธี กล่าว
โฟล์คสวาเกน คาราเวลล์
ส่วนยอดขายเมื่อปีที่ผ่านมาทาง ไทยยานยนตร์ ทำได้ไม่ดีนัก มียอดจำหน่ายเพียง 100 กว่าคันเท่านั้น อันเนื่องมาจากอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนโมเดลใหม่ของ คาราเวลล์ โดยปีนี้ได้รุ่นใหม่ มาทำตลาดเรียบร้อย จึงตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 500 คัน/ปี ซึ่งลูกค้าให้การตอบรับดีมียอดจองเข้ามาอย่างต่อเนื่องราว 200 คันแล้ว คาดว่าสิ้นปีจะสามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ในแง่ของกลยุทธ์ของการเข้าถึงลูกค้า จะเน้นกลุ่มลูกค้าระดับ วีวีไอพี เป็นหลัก โดยจะพยายามเข้าหาลูกค้าใหม่ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันกับพันธมิตรเช่น ธนาคาร ซึ่งได้ผลตอบรับดีจากลูกค้าเป็นจำนวนไม่น้อย อีกทั้งยังจะมีการจัดอบรมให้กับพนักงานขับรถของลูกค้าและตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าให้มีความใกล้ชิดมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงเรื่องของ ดีเซลเกต มีผลกระทบอย่างไรกับโฟล์คสวาเกนในเมืองไทยหรือไม่ ทางผู้บริหารของไทยยานยนตร์ ยืนยันอย่างชัดเจนว่า “ไม่มีผล” ทั้งในแง่ของรถยนต์ที่นำเข้ามาจำหน่ายและแผนการลงทุนต่างๆ ของโฟล์คสวาเกน ซึ่งได้เข้ามาเก็บข้อมูล เพื่อศึกษาตลาดรถยนต์ในเมืองไทยอยู่หลายครั้งหลายครา

ภายในของ โฟล์คสวาเกน คาราเวลล์
“แผนการเข้ามาทำตลาดรถยนต์ในเมืองไทยของ โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป นั้น ล่าสุดไม่มีความคืบหน้าใดๆ หลังจากที่เราแจ้งเรื่องการปรับโครงสร้างการบริหารภายในของ ไทยยานยนตร์ ใหม่ไปให้ทราบ บริษัทฯ แม่ก็อนุมัติให้เราดำเนินการได้อย่างอิสระ โดยมีข้อกำหนดเพียงโชว์รูมใหม่ทุกแห่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่โฟล์คสวาเกน เยอรมนีกำหนดไว้ให้เท่านั้น” นายนัทธี กล่าว

ถึงบรรทัดนี้ คนไทยยังคงต้องร้องเพลงรอต่อไปสำหรับการเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยของ โฟล์คสวาเกน แต่การที่ “วิทิต ลีนุตพงษ์” หนีบเอาส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์มาด้วย มีนัยยะสำคัญ เพราะนั่นหมายความว่า ถ้า โฟล์คสวาเกน จะเข้ามาประกอบรถยนต์ในเมืองไทย ทาง “วิทิต ลีนุตพงษ์” มีความพร้อมรองรับเต็ม 100% ในทันที
โฟล์คสวาเกน คาราเวลล์
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ MGR Motoring


กำลังโหลดความคิดเห็น