xs
xsm
sm
md
lg

สองล้อติดหลังคาอันตราย ผู้เชี่ยวชาญห่วงแรงลมปะทะพาล้ม-ขนส่งฯ ชี้เข้าข่ายดัดแปลงสภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ครูฝึกขับขี่สองล้อค่ายปีกนกเตือน การติดตั้งหลังคากันฝนเสี่ยงอันตราย ห่วงแรงลมปะทะทำให้รถล้มได้ ด้านขนส่งฯ แจง หากเพิ่มอุปกรณ์ประเภทนี้เข้าข่ายดัดแปลงสภาพ ชี้ทำได้ถ้าผ่านการตรวจสอบ และต้องมีหนังสือรับรองความปลอดภัยจากจากวิศวกรที่ได้รับอนุญาต
(ภาพจากเพจ หลังคามอเตอร์ไซค์ กันแดด กันฝน)
กรณีอุปกรณ์กันฝนสำหรับรถจักรยานยนต์อันมีลักษณะคล้ายหลังคาและกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ โดยในส่วนของการใช้งานจริงบนท้องถนน หลายคนมองแล้วมีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย “MGR มอเตอริ่ง” จึงนำประเด็นดังกล่าวสอบถามไปถึงผู้เชี่ยวชาญการขับขี่รถจักรยานยนต์และเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกสอน ณ ศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า และได้รับคำแนะนำ ดังนี้

“การติดตั้งอุปกรณ์อะไรก็ตามที่เพิ่มขึ้นกับรถจักรยานยนต์ อันดับแรกต้องอ้างอิงกับตัวบทกฏหมายที่กำหนดไว้ก่อน โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ทำให้ตัวรถมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมีผลกับการขับขี่โดยตรง ถ้าผ่านการตรวจสอบว่าได้มาตรฐานเหมือนอย่างมอเตอร์ไซค์ยุโรปบางรุ่น ก็เคยผลิตชนิดที่มีหลังคาติดตั้งออกมาจากโรงงานแล้ว” ศิลาทอง กิติพัฒนาวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า กล่าวและว่า
(ภาพจาก chiangmainews)
“แต่ในบ้านเราจากที่ผมเห็น หลังคาที่ติดตั้งเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ใช้ไปหาซื้อและนำมาติดตั้งเพิ่มเอง ซึ่งไม่มีจุดยึดมั่นคง ไม่มีความแข็งแรง ขณะขับขี่หากหลุดลอยออกไป อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันได้ ขณะเดียวกันแม้จะกันฝนได้จากด้านหน้า แต่หากลมพัดเข้ามาด้านข้างก็เปียกเหมือนกัน เท่านั้นไม่พอ ลมปะทะที่รุนแรงยังส่งผลถึงการทรงตัว ซึ่งอาจทำให้เสียการควบคุม และสุดท้ายถึงขั้นรถล้มได้เลยทีเดียว”

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งของกรมการขนส่งทางบก เคยออกหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้วเช่นกัน ในหัวข้อเรื่อง “การดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์บังลมและหลังคาป้องกันแดดและฝน” โดยระบุว่า
bmw c1 200 (ภาพจาก moto.zombdrive)
“การนำอุปกรณ์สำหรับบังลมและหลังคาป้องกันแดดและฝนมาติดตั้งบนรถจักรยานยนต์ เป็นการแก้ไขดัดแปลงสภาพรถที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยสำกรับการใช้รถ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนร่วม การดำเนินการจะต้องกระทำภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ โดยเจ้าของรถจะต้องนำหลักฐานเป็นหนังสือรับรองความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยสำหรับการใช้รถ จากวิศวกรเครื่องกลที่ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกร พ.ศ.2542 ผู้ควบคุมการแก้ไขดัดแปลงแนบเอกสารประกอบคำอนุญาตแก้ไขดัดแปลงรถดังกล่าวด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น