xs
xsm
sm
md
lg

Mercedes-Benz SLC300 เล็ก แรง จี๊ดจ๊าด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชื่อของ SLC หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคย หรือบางคนสับสบกับตระกูล SLC ในยุค 80s (รหัสพัฒนา R107-C107) ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันแต่อย่างใด จึงต้องขอท้าวความเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันก่อน SLC โฉมปัจจุบันคือรุ่น SLK (รหัสพัฒนา R172) นั่นเอง

การเปลี่ยนชื่อเกิดจากแนวคิดในการตั้งชื่อรุ่นปัจจุบันของค่ายดาวสามแฉกที่จะตั้งชื่อรุ่นรถตามเซกเมนท์ของรถให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันของทั้งแบรนด์ และบังเอิญที่ในปี 2016 SLK ครบรอบ 20 ปีการถือกำเนิดขึ้น แต่กลับเปลี่ยนชื่อรุ่นลบทิ้งไป ก็แปลกๆ ดี โดย SL มาจากคำว่า Sport Leicht ในภาษาเยอรมันที่หมายถึงรถสปอร์ตน้ำหนักเบา ซึ่งจะเป็นชื่อรถสปอร์ตของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ส่วน C มาจาก C-Class ซึ่งบ่งบอกถึงขนาดและเซกเมนท์ของตัวรถที่ทำตลาด

สำหรับ SLC คันนี้เป็นโฉม “ไมเนอร์เชนจ์” ไม่ใช่ โมเดลเชนจ์ แม้จะเปลี่ยนชื่อรุ่น และเฉพาะเมืองไทยมีการปรับเปลี่ยนรุ่นในการทำตลาด จากเดิมขายรุ่น SLK200 แต่เมื่อSLC เผยโฉม เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เลือกรุ่น SLC300 ในการทำตลาดเป็นหลัก นัยว่าเพื่อสร้างความแตกต่างและป้องกันความสับสนกับโฉมก่อนอีกด้วย แล้วเจ้า SLC300 มีอะไรน่าสนใจเพียงใด เชิญชมได้

เครื่องแรงขึ้น ภายในเปลี่ยน

หากว่ากันด้วยตัวรถแล้ว การปรับเปลี่ยนจุดใหญ่ของ SLC คือ กระจังหน้าแบบใหม่ มีประกายที่รังผึ้งด้านหน้า กันชนหน้าใหม่ ด้านท้ายเสริมสปอยเลอร์เล็กๆบนฝากระโปรงหลัง และปรับดีไซน์กันชนท้ายพร้อมท่อไอเสีย ให้ความรู้สึกเป็นสปอร์ตมากขึ้น โคมไฟหน้าและโคมไฟท้ายปรับใหม่ แต่ถ้ามองแบบผิวเผินในแง่ภาพกว้างของตัวรถ ไม่ได้นำมาจอดเปรียบเทียบ คงไม่รู้สึกถึงความแตกต่างเท่าใดนัก นอกจากตัวอักษรท้ายรถ

หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนในครั้งนี้ คงเป็นเรื่องของ เกียร์ที่ใช้ จากเดิมเกียร์อัตโนมัติแบบ 7 สปีด กลายมาเป็น 9 สปีดมาตรฐาน และ สำหรับเมืองไทย นั่นคือ การเปลี่ยนรุ่นที่ทำตลาดโดย SLC300 เป็นเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตรที่มีพละกำลัง 245 แรงม้า แทนรุ่น SLK200 ที่มีกำลังเพียง 184 แรงม้า ดังนั้นนี่คือจุดแตกต่างสำคัญของการทำตลาดรุ่นนี้ในเมืองไทย

ส่วนดีไซน์ภายใน รายละเอียดย่อยเปลี่ยนเยอะมาก หากไล่ทุกรายการเนื้อที่คงไม่พอ ขอนำเสนอเฉพาะจุดเด่นๆ ได้แก่ พวงมาลัยเปลี่ยนดีไซนทรงใหม่ ท้ายตัด , แผงหน้าปัดตรงคนขับปรับใหม่ แสดงผลเป็นจอสี เฉกเช่นทุกรุ่นในปัจจุบัน พร้อมเสริมด้วยเรือนไมล์ลายเคฟล่าร์, เบาะนั่งหนังตัดเย็บลายใหม่ รวมถึง นาฬิกาที่อยู่บนคอนโซลหน้าก็เปลี่ยนด้วยเช่นกัน และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ ยังคงมีอยู่ครบถ้วนตามความต้องการ

ขับสนุก เร็ว แรง จิ๊ดจ๊าด

สำหรับการทดลองขับ เราอยู่กับเจ้า SLC เป็นเวลาหลายวันรวมระยะทางการขับร่วม 1,000 กิโลเมตร อย่างว่า รถขับสนุกมีเวลาเราก็อยากขับ ได้ลองทั้งการวิ่งในเมืองรถติดแบบแออัด รวมถึงการลองขับทางยาวแบบ ออกบ่าย กลับค่ำ อารมณ์ศิลปินหน่อยๆ เพราะคนที่เลือกซื้อรถสปอร์ต แน่นอนว่า อารมณ์ย่อมมาก่อนเหตุผลเสมอ ส่วนตัวผู้เขียนยังไม่เคยเห็นใครซื้อรถสปอร์ตแล้วอ้างเหตุผลที่ดีกว่า เพื่อชนะสมาชิกอื่นๆของบ้านได้เลยสักคนเดียว หรือใครมีเหตุผลดีๆ ก็บอกกันบ้าง

เริ่มด้วยการขับในเมือง ทัศนวิสัย คือสิ่งที่เราชอบมาก มุมมองกว้างดี แทบไม่ต่างจากรถนั่งอื่นๆ ทั่วไป พวงมาลัยน้ำหนักเบามือ ขับง่าย คล่องตัว ด้วยขนาดตัวถังที่เล็กกระทัดรัด จอดได้แม้ในพื้นที่แคบๆ วงเลี้ยวแคบดี การตอบสนองของคันเร่ง ทันใจ ออกตัวแบบคิดดาวน์มีอาการหลังติดเบาะนิดหน่อย พอเรียกน้ำย่อยได้

การเปิดหลังคาวิ่งในเมือง ควรทำยามค่ำคืนที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ซึ่งรุ่นใหม่นี้มีกระจกบังลมหวนจากด้านหลังช่วยให้เส้นผมไม่ปลิวจนถึงขั้นน่ารำคาญได้ โดยสามารถเปิด/ปิด ได้ที่การวิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 40 กม./ชม. อาศัยการกดปุ่มค้างเอาไว้จนกว่าจะมีเสียงดัง โดยพื้นที่ด้านฝากระโปรงหลังต้องพร้อมไม่มีของวางเกะกะ มิฉะนั้นอาจสร้างความเสียหายให้กับระบบเปิด/ปิดหลังคาได้ ซึ่งเบนซ์มีแผ่นปิดสำหรับป้องกันการวางของล้ำจุดที่เป็นอันตรายนี้ด้วย

ส่วนการขับทางยาวออกต่างจังหวัดนั้น SLC300 ทำได้ประทับใจอย่างยิ่ง สนุก เร่งแซงทันใจทุกย่านความร็ว เกาะถนน ทรงตัวดีเยี่ยม การรองรับแรงสะเทือนทำได้ดีไม่แพ้รถยนต์นั่งแบบซีดาน แม้ล้อจะมีขนาดใหญ่ถึง 18 นิ้ว และยางบางระดับซีรี่ส์ หน้า40 หลัง35 ก็ไม่ทรมานตับไตใส้พุงของเราเหมือนรถสปอร์ตคันอื่น บางรุ่น

ความเร็วสูงสุดที่เราลองขับคือ 180 กม./ชม. ในช่วงถนนโล่ง ความเร็วขึ้นได้ไวตามการกดคันเร่งและโหมดการขับ Dynamic Select ซึ่งมีด้วยกัน 5 โหมดได้แก่ อีโค,คอมฟอร์ต, สปอร์ต, สปอร์ต พลัส และอินดีวิดัล สำหรับเรา สนุกที่สุดคือ โหมดสปอร์ต เครื่องจะอยู่ที่รอบสูง พร้อมกระโจนไปข้างหน้าตลอดเวลา ส่วนโหมดที่ชอบคือ อีโค ให้ความรู้สึกสบายในการขับที่สุด ส่วนการขับขี่ยามค่ำคืน ทัศนวิสัยดีไม่ต่างจากกลางวัน แต่จะให้อารมณ์กว่าด้วยสีของไฟในห้องโดยสารปรับเปลี่ยนได้

การเก็บเสียงและการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก ทำได้ดีเยี่ยมไม่เสียชื่อยี่ห้อดาวสามแฉก แม้จะขับด้วยความเร็วกว่า 140 กม./ชม. ก็ยังแทบไม่ได้ยินเสียงลมปะทะเข้ามารบกวน อย่างไรก็ตามรถแบบโรดสเตอร์แน่นอนว่าจะต้องมีเสียงบ้างเมื่อขับขึ้นทางชันแล้วเลี้ยวเพราะตัวรถมีการบิดตัว ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติของรถแบบนี้

เหมาะกับใคร

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น ถ้าต้องมีการถกเถียงหาประชามติกับคนอื่นในบ้าน ยากที่จะเอาชนะด้วยเหตุผล เพราะเราสู้ได้แค่ “รัก, ชอบ, มันสวย, รถในฝัน, จะขับคันนี้ จบนะ” ดังนั้น SLC300 จึงไปกันได้กับคนโสดหรือครอบครัวที่ไปกันแค่ 2 คน ด้วยกระเป๋าเดินทางใบเดียว หรือเอาไว้เป็นรถขับสนุกๆ ยามค่ำคืนของบ้านก็เข้าท่าดี
















กำลังโหลดความคิดเห็น