อังกฤษเตรียมทดสอบระบบไฟจราจรอัจฉริยะ เพื่อลดปัญหาความแออัดบนท้องถนน ระบบนี้สามารถระบุประเภทรถเพื่อให้รถพยาบาลและรถประจำทางได้ไฟเขียวเร็วกว่ารถยนต์นั่งทั่วไปและรถบรรทุก และในอนาคตข้างหน้าจะเพิ่มฟังก์ชันให้สามารถสื่อสารกับรถอัตโนมัติได้ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนอีกขั้น
มิลตัน คีนส์เป็นเมืองแรกที่ประกาศแผนติดตั้งระบบไฟจราจรอัจฉริยะที่สามารถตรวจจับได้ว่า บริเวณใดมีรถหนาแน่นและปรับจังหวะสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องเพื่อลดความแออัดของถนน
มิลตัน คีนส์ โดยการสนับสนุนจากอินโนเวต ยูเค, แทร็กซิส, ดาวนิ่ง เวนเจอร์ส และลอนดอน โค-อินเวสต์เมนต์ ฟันด์ กำลังลงทุน 3 ล้านปอนด์ (ประมาณ 134 ล้านบาท) ในโครงการที่มีชื่อว่า “วีวาเอ็มเค” โดยจะเริ่มต้นใช้งานระบบไฟจราจรอัจฉริยะตั้งแต่เดือนกันยายนปีหน้า
หยาง ลู่ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของวีวาซิตี้ แล็บส์ บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีไฟจราจรอัจฉริยะอธิบายว่า ไฟจราจรในปัจจุบันจะเปิดสลับตามลำดับแดง-เหลือง-เขียว แต่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ทำปฏิกิริยากับสภาพการจราจรโดยรอบ นอกจากนั้นการติดตามและวิเคราะห์สภาพการจราจรยังเป็นแบบแมนนวลโดยผู้เชี่ยวชาญในศูนย์ที่อยู่ไกลจากสภาพการจราจรจริง
แต่ด้วยการอัพเดตระบบแมนนวลเหล่านี้ วีวาซิตี้ แล็บส์กำลังติดตั้งกล้องปัญญาประดิษฐ์ (AI) 2,500 ตัวตามสี่แยกใหญ่ๆ และที่จอดรถในพื้นที่ประมาณ 80 ตารางกิโลเมตร เพื่อติดตามสภาพการจราจร และปรับเปลี่ยนจังหวะสัญญาณไฟเพื่อป้องกันไม่ให้รถติดด้วยการเร่งระบายรถในจุดที่การจราจรหนาแน่น เช่น เปิดไฟเขียวสำหรับทางตรงยาวต่อเนื่องถ้าไม่มีรถรอเลี้ยวขวา รวมทั้งระบุประเภทรถ เพื่อให้รถบางประเภทได้ไปก่อน เป็นต้นว่าหากกล้องตรวจพบว่า มีรถประจำทาง รถพยาบาล หรือจักรยานติดอยู่ที่สี่แยกจำนวนมาก อาจเปิดไฟเขียวให้นานกว่าปกติ
หยูแจงว่า กล้อง AI จะระบุและรายงานสภาพการใช้ถนนอย่างแม่นยำ จึงช่วยขจัดภาระการตีความแบบแมนนวลและลดแนวโน้มการเกิดความผิดพลาดของคนลงได้อย่างมาก
เทคโนโลยีนี้ช่วยยกระดับความปลอดภัยสำหรับคนเดิน นักปั่น และผู้ขับขี่ด้วยการเชื่อมโยงระบบการจัดการไฟจราจรปัจจุบัน เพื่อจัดลำดับความสำคัญของประเภทรถที่ควรได้ไฟเขียวให้ผ่านไปก่อน หรือเปลี่ยนสัญญาณไฟเพื่อระบายการจราจรที่ติดขัด รวมทั้งส่งสัญญาณเตือนไปที่หน้าปัดรถเพื่อให้คนขับรถบรรทุกระวังจักรยานที่วิ่งเข้ามาใกล้หรืออยู่ในจุดอับสายตา และในอนาคตระบบไฟจราจรอัจฉริยะจะสามารถสื่อสารกับรถไร้คนขับเพื่อเตือนเวลามีคนข้ามถนน
อินโนเวต ยูเค ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพในสังกัดกระทรวงธุรกิจของอังกฤษ อัดฉีดเงินทุนให้โปรเจ็กต์นี้ 1.7 ล้านปอนด์ (ประมาณ 76 ล้านบาท) อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ “เมืองอัจฉริยะ” เพื่อขับเคลื่อนให้เมืองต่างๆ ในอังกฤษใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการใช้เซ็นเซอร์และระบบข้อมูลแบบเปิดเพื่อควบคุมทุกสิ่งตั้งแต่การจัดการขยะไปจนถึงระดับมลพิษ
มิลตัน คีนส์เป็นผู้บุกเบิกความเคลื่อนไหวนี้ด้วยการเปิดตัวเทคโนโลยีในการติดตามการใช้พลังงานและน้ำ และทำให้ระบบขนส่งของเมืองมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น
เมืองนี้จะเริ่มติดตั้งไฟจราจรอัจฉริยะในเดือนกันยายน และคาดว่า ระบบนี้จะพร้อมใช้งานภายในหนึ่งปี
มาร์ค นิโคลสัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของวีวาซิตี้ แล็บส์ บอกว่า บริษัทกำลังติดต่อกับทรานสปอร์ต ฟอร์ ลอนดอน (TFL – การคมนาคมลอนดอน) เกี่ยวกับโครงการไฟจราจรอัจฉริยะ ซึ่งหากโครงการนำร่องในมิลตัน คีนส์ราบรื่นด้วยดี ก็อาจขยายผลไปติดตั้งในลอนดอนต่อไป
ซีอีโอของวีวาซิตี้ แล็บส์ยังแจกแจงว่า เริ่มแรกนั้นกล้อง 2,500 ตัวที่ติดตั้งจะสร้างแผนที่เส้นทางที่การจราจรติดขัดแบบเรียลไทม์และที่จอดรถที่ว่างอยู่ และหลังจากรวบรวมข้อมูลครบ 12 เดือน ระบบไฟจราจรอัจฉริยะจะพร้อมเชื่อมโยงกับระบบจัดการการจราจร
นิโคลสันเสริมว่า ระบบไฟจราจรอัจฉริยะเป็นวิธีการหนึ่งในการส่งเสริมให้คนใช้จักรยานหรือรถประจำทางมากขึ้นเพื่อช่วยลดความแออัดบนท้องถนนและลดมลพิษในอากาศ