xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผน SAIC Global MG นำทัพบุกตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

SAIC วางเป้า ดัน MG ขึ้นแท่นแบรนด์ระดับโลก ปูทางลุยทำตลาดทั่วทุกภูมิภาค ภายใต้นโยบายใหม่ SAIC Global ชู 4 แนวโน้มสำคัญในการแจ้งเกิด พร้อมวางไทยเป็นฐานสำคัญในการผลิตรถพวงมาลัยขวา ระบุปีนี้ตลาดรถยนต์ไทยมีทิศทางดีขึ้นคาดยอดขายทะลุ 8 แสนคัน

SAIC Motor หรือในชื่อเดิมคือ Shanghai Automotive Industry Corporation ปัจจุบันบริษัทฯ จีนรายนี้ได้ก้าวขึ้นแท่นกลายเป็นเบอร์ 1 ของผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ด้วยยอดการผลิตรถยนต์ที่ระดับ 6.5 ล้านคัน/ปี เมื่อปีที่ผ่านมา

การประสบความสำเร็จดังกล่าวในประเทศจีนของ แซค ทำให้เกิดการรุกคืบไปยังเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น ภายใต้คำว่า “SAIC Global” และผู้ที่จะให้คำตอบถึงความหมายและรายละเอียดของคำนี้ MGR มอเตอริ่ง สัมภาษณ์ “พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

“SAIC Global คือนโยบายในการบุกทำตลาดรถยนต์ไปทั่วโลกของ SAIC Motor ซึ่งในปัจจุบัน มีการขยายเครือข่ายครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของโลกแล้ว โดยปริมาณการขายอาจจะยังไม่มากเนื่องจากต้องผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศจีนให้เพียงพอก่อน แต่หลังจากนี้จะมีการขยายต่อเนื่องไป” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

สำหรับแบรนด์ในเครือของ แซค จะประกอบไปด้วย “เอ็มจี” “แม็กซัส” โรวี่” และ “วู่หลิง” โดยแบรนด์ที่จะเป็นหลักในการทำตลาดทั่วโลกนั้นก็คือ “เอ็มจี”

“เอ็มจี แบรนด์นี้เป็นที่รู้จักพอสมควร โดยเฉพาะในแถบอเมริกาใต้ และในประเทศอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงสะสมมานาน ทำให้ทำตลาดได้ง่ายขึ้น รวมถึงการทำตลาดในยุโรปด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าตลาดไหนที่ยอดขายดี เอ็มจีไปบุกทุกตลาด ที่มีโอกาสทางการขายเกิดขึ้น”

ส่วนทิศทางในการทำตลาดของรถยนต์ นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่าจะประกอบไปด้วย 4 แนวโน้ม ได้แก่ เรื่องแรกคือทางแซค มองเรื่องพลังงานเป็นหลัก เพราะปลายทางคงเป็นเรื่องของรถยนนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างแน่นอน จะเป็นไฟฟ้าล้วนหรือ ฟิวเซลล์เป็นไปได้ทั้งสิ้น เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าจะเด่นในแง่ของการควบคุมการใช้งานได้เป็นอย่างดีและเป็นพลังงานสะอาด

แนวโน้มที่ 2 เป็นในแง่ของระบบอัจฉริยะทั้งหลาย เช่นระบบช่วยจอด ระบบสั่งการด้วยเสียง ระบบไร้คนขับ จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น การพัฒนาจะก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง

แนวโน้มที่ 3 อินเตอร์เนตจะเข้ามามากขึ้น มีการซื้อขายผ่านเน็ตมากขึ้น รถยนต์ของแซคเองจะให้ความสำคัญกับระบบอินเตอร์เน็ต โดยรุ่นใหม่ๆ ทุกรุ่นจะมีระบบอินเตอร์เน็ตอยู่ในรถยนต์เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เช่น รุ่น แซดเอส เป็นต้น ส่วนในเมืองไทย ก็มีระบบ อินคราเน็ตรองรับอยู่

แนวโน้มที่ 4 ระบบคาร์ แชร์ริ่ง ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ เช่น รถยนต์รุ่น อี50 ที่แซคนำมาทำเป็นรุ่นแรกในการทำคาร์ แชร์ริ่ง โดยในเมืองใหญ่ที่มีระบบการจอดรถที่ดี คนไม่จำเป็นต้องซื้อรถ เวลาเดินทางใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน พอขึ้นมาก็มาเช่ารถใช้ขับต่อไปในระยะทางใกล้ๆ ซึ่งระบบนี้จะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในเยอรมนี, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และจีน ก็มีการทดลองใช้ระบบแบบนี้ เรียกว่ายังอยู่ในช่วงการพัฒนาทดลองใช้ แต่ในอนาคตจะเกิดอย่างแพร่หลาย

“ทั้ง 4 แนวโน้ม จะเป็นทิศทางในการแจ้งเกิดสำหรับ SAIC Global ให้ประสบความสำเร็จ โดยรถยนต์รุ่นแรกที่ถือว่าสร้างขึ้นเพื่อลุยตลาดโลกก็คือ “เอ็มจี แซดเอส” พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดตัวรถยนต์ต้นแบบ “เอ็มจี อี-โมชั่น” เพื่อเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์อันโดดเด่นของแบรนด์ เอ็มจี ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

เหนืออื่นใด ประเทศไทย มีส่วนสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งของ SAIC Global ด้วยเนื่องจาก แซค ได้ลงทุนร่วมกับ กลุ่มซีพี ของไทย ในการสร้างโรงงานเพื่อประกอบรถยนต์เอ็มจี โดยเป็นฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวา ตอบสนองความต้องการของประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น และประเทศในแถบอาเซียน

“การลงทุนในเมืองไทยของแบรนด์ เอ็มจี ตัวเลขที่แท้จริงบอกได้ยาก เพราะเมื่อมีโมเดลใหม่ออกสู่ตลาดนั่นหมายความว่า จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมทั้งในส่วนของโมล สแตมปิ้ง เพ้นท์ติ้ง การลงทุนแต่ละครั้งหลักหลายร้อยล้านบาท ไม่เว้นแม้แต่ไมเนอร์เชนจ์ก็ต้องลงทุนใหม่” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

ส่วนการลงทุนในส่วนโรงงานทั้งหมดรวมทุกเฟส เฉพาะของตัวโรงงานอย่างเดียวราว 6,000 บาท โรงงานแรก 900 ล้านบาท มีกำลังการผลิตมากกว่า 100,000 คัน Job per Hour (JPH) 20 คันต่อชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม โรงงานแห่งนี้จะผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศไทยเป็นหลักก่อน โดยทิศทางในประเทศไทย เอ็มจี ชัดเจนว่า เป็น รถยนต์นั่ง แม็กซัสเป็น รถเพื่อการพาณิชย์ ยอดขายของเอ็มจีปีนี้ตั้งเป้าขั้นต่ำไว้ที่ 16,000 คัน และมีเป้าท้าท้ายที่ 20,000 คัน

“ปัจจัยคือ เราเป็นแบรนด์ใหม่ สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ ตัวสินค้าสามารถแข่งขันได้ เครือข่ายมีอยู่ 60 แห่งขายแห่งละ 300 คันต่อที่ เป็นไปได้ ปีนี้มีแผนเพิ่มเป็น 90 แห่งทั้งเก่าและใหม่ กทม. 18 แห่ง ที่เหลือกระจายไปต่างจังหวัด ปัจจุบันยอดขายอยู่ที่กทม. 40%” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

สำหรับรุ่นใหม่ในปีนี้ จะทำตลาดด้วยเอ็มพีวี (ในชื่อรุ่น เอ็มจี จีวี) ช่วงแรกจะเป็นการนำเข้ามาก่อน แล้วก็ศึกษาตลาดไปพร้อมกัน หากพบว่ามีช่องทางและยอดจำหน่ายที่ดี จะขึ้นไลน์ประกอบในประเทศไทยทันที คาดว่าจะเห็นภายในครึ่งปีแรกของปีนี้ ซึ่งเลือกทำตลาดรถเอ็มพีวีเพราะ ตัวเลือกในตลาดมีไม่มาก รุ่นที่เอ็มจีมีอยู่พอแข่งขันได้

ส่วนอีกหนึ่งรุ่นคือ “แซดเอส” เน้นเรื่องความคุ้มค่า เทียบกันรุ่นต่อรุ่น เอ็มจีให้ออพชันที่ดีกว่า ถ้าในรุ่นที่ออพชันเท่าๆ กัน เอ็มจีจะราคาถูกกว่าเล็กน้อย รถเอสยูวี เป็นเทรนด์ใหม่ ที่มาแทนรถซีดาน ตลาดเอสยูวีหลายๆ แบรนด์ มีโปรดักซ์เข้ามามากขึ้น การขับขี่ ทัศนวิศัยดีกว่า ซีดาน ด้านความหรูหราและ ดีไซน์สวยงามกว่าเดิม

“กระแสตอบรับต่อแบรนด์เอ็มจี ดีขึ้นมาก เราเข้ามา 3 ปี การรับรู้ดีกว่าเดิม แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง จำเป็นต้องสร้างแบรนด์กันต่อไป ยิ่งเมื่อมีสินค้าให้เลือกซื้อ เกิดการบอกต่อ ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ที่สำคัญลูกค้าเน้นเรื่องความปลอดภัยมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ลูกค้าที่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยตามมาตรฐานยุโรปกล้าซื้อเอ็มจี” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

“สุดท้ายอยู่ที่ตัว โปรดักซ์ ถ้าดี น่าสนใจ จะแจ้งเกิดได้ จากนั้นก็เป็นเรื่องของเครือข่าย ยิ่งมีมากขึ้นก็จะช่วยสร้างความมั่นใจได้เป็นอย่างดี ประกอบกับเรื่องของการบริการหลังการขายที่เราเพิ่มเติมทั้ง โมบาย เซอร์วิส เรื่องของ การดูแลซื้อขายรถมือสอง ก็ช่วยได้”

ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นายพงษ์ศักดิ์ ให้ความเห็นว่า ในไตรมาสแรก เติบโตกว่า 10 % เอ็มจีเองขายดีเติบโต 65% คาดกว่าตลาดรวมจะขายเกิน 800,000 คัน ปัจจัยมาจากเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดี การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเริ่มเห็นผล ราคาพึชผลเกษตรดีขึ้น ทำให้ตลาดรถยนต์ไทยกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง

กำลังโหลดความคิดเห็น