xs
xsm
sm
md
lg

เผยแนวคิด“คาร์ลอส กอส์น” ต่อนิสสัน-มิตซูบิชิ ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการของ “มิตซูบิชิ” โดยกลุ่มพันธมิตร “เรโนลต์-นิสสัน” เมื่อหลายเดือนก่อน เป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการอุตสาหกรรมยานยนต์อีกครั้ง เพราะนั่นหมายถึง การก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ด้วยยอดขายรถยนต์รวมทั้ง 3 แบรนด์ ในปี 2559 ที่ 9.96 ล้านคัน โดยมี “คาร์ลอส กอส์น” นั่งกุมบังเหียน

ซึ่ง MGR มอเตอริ่ง ได้เป็นหนึ่งในนักข่าวไทยไม่กี่คนได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมภาษณ์พิเศษอย่างเป็นทางการระหว่างการมาเยือนเมืองไทยของ คาร์ลอส กอส์น ที่ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ เรโนลต์ , ประธานของ นิสสัน และมิตซูบิชิ โดยเป็นผู้กำหนดบทบาทสำคัญต่อทิศทางในอนาคตของรถยนต์ทั้ง 3 แบรนด์

สิ่งที่น่าสนใจต่อการตอบคำถามที่ว่า “ให้ความสำคัญกับแบรนด์ใดมาก่อนเป็นลำดับแรก” คาร์ลอส กอส์นตอบว่า เขาคือประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เรโนลต์ ไม่ใช่ของนิสสันและมิตซูบิชิ แต่ยังคงเป็นประธานของทั้ง 3 แบรนด์ การบริหารงานของนิสสันและมิตซูบิชิ เป็นหน้าที่รับผิดชอบของคนอื่นที่ได้รับการแต่งตั้ง

สำหรับการให้น้ำหนักความสำคัญของทั้ง 3 แบรนด์จะขึ้นกับความสามารถของแต่ละแบรนด์ โดยในปีที่ผ่านมา เรโนลต์มีอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดด น่าประทับใจ (ตามการรายงานประจำปี 2016 เรโนลต์ มียอดขายทั่วโลก 3,182,625 คัน เติบโตขึ้น 13.3%) ขณะที่นิสสัน ก็มียอดขายที่เติบโตขึ้นได้เช่น (ยอดขายทั่วโลก 5,559,902 คัน เติบโตขึ้น 5.4%) ส่วนมิตซูบิชิ กำลังอยู่ระหว่างการปรับตัว (ยอดขายทั่วโลก 934,013 คัน ลดลง 13%)

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการบริหารความร่วมมือกันระหว่างทั้ง 3 แบรนด์จะเป็นไปในทิศทางใด คาร์ลอส กอส์น กล่าวว่า การบริหารของแต่ละแบรนด์จะเป็นอิสระต่อกัน แต่ความร่วมมือ เช่น เทคโนโลยี , โครงสร้างพื้นฐาน, โรงงานผลิต , ซัพพลายเออร์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ และการแก้ไขปัญหาธุรกิจ จะร่วมมือกันอย่างแน่นอน

“ยกตัวอย่าง นิสสัน มีปิกอัพ “นาวารา” ส่วน มิตซูบิชิ มีปิกอัพ “ไทรทัน” แต่ละแบรนด์ก็ทำการตลาดขายไปตามปกติของตัวเอง ส่วนการพัฒนา ก็จะมีการแชร์เทคโนโลยีซึ่งกันและกัน ในอนาคต เราอาจจะได้เห็น แพลตฟอร์มใหม่ที่มาจากทั้ง 2 แบรนด์ร่วมมือกันทำขึ้น เท่ากับว่า เราจะมีแพลตฟอร์มให้เลือกใช้ได้ถึง 3 รูปแบบ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้”

ทั้งนี้เมื่อถามถึงความเห็นต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คาร์ลอส กอส์น ตอบอย่างกระตือรือร้นว่า “แข่งขันสูง” และกล่าวต่ออีกว่า ได้ไปเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถยนต์ของมิตซูบิชิ ที่แหลมฉบังมา พบว่า 80% ของการผลิต เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ตำแหน่งที่ตั้งของโรงงานเหมาะสม ประทับใจอย่างยิ่ง

“ประเทศไทย เป็นประเทศที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก โดยตำแหน่งที่ตั้งสามารถส่งออกไปยัง ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา โอเชียนเนีย ได้อย่างสะดวก โดยโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตถึง 424,000 คัน และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของการส่งออกรถยนต์ของไทยได้ด้วยยอด 309,915 คัน”

สำหรับการลงทุนเพิ่มเติม คาร์ลอส กอส์น บอกว่าจะยังไม่มีการลงทุนใดๆ เพิ่มช่วงเวลานี้ เนื่องจากโรงงานของทั้งนิสสันและมิตซูบิชิ ยังคงมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ สิ่งสำคัญที่จะทำเป็นอย่างแรกคือ การหาทางใช้ประโยชน์จากการลงทุนเดิมที่ทำไว้ให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ส่วนของแบรนด์นิสสันในประเทศไทยนั้น คาร์ลอส กอส์น มองว่าเป็น “โอกาสที่ดี” ตลาดของไทยยังคงมีศักยภาพสูง และ ยอดขายนิสสันในไทยมีสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น เมื่อเทียบกับนิสสันทั่วโลก (ปี 2016 ในเมืองไทยนิสสันขายได้ 42,677 คัน) น่าจะมีบางอย่างผิดพลาด และมีงานที่ต้องทำเพิ่มอีกมากเพื่อสร้างยอดขายในเมืองไทยให้เป็นไปตามเป้าหมาย

เหนืออื่นใด ในการตอบคำถามเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า คาร์ลอส กอส์น ตอบอย่างชัดเจนว่า “นโยบายของรัฐ” คือหัวใจสำคัญที่สุดในการแจ้งเกิดรถยนต์ไฟฟ้า ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ และต้องทำเป็นสิ่งแรกก่อนอย่างอื่น โดยไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องของความต้องการของผู้บริโภค

“คุณไปดูนะ ประเทศที่มีรถยนต์ไฟฟ้าขาย อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และจีน ประเทศเหล่านี้เริ่มต้นด้วยนโยบายของภาครัฐทั้งสิ้น ในด้านของโปรดักซ์และเทคโนโลยี นิสสัน เราพร้อม 100% และพร้อมมานานแล้ว ดูอย่าง นิสสัน ลีฟ เราขายเป็นอันดับหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ขอเพียงภาครัฐเริ่มต้นด้วยนโยบายชัดเจน เราสามารถแจ้งเกิดรถยนต์ไฟฟ้าได้ทันที”

ทั้งหมดนี้คือ แนวคิดของ ซีอีโอ คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลกยานยนต์ยุคนี้ “คาร์ลอส กอส์น” ที่ไม่แน่ว่า การยืนในอันดับ 3 ของยอดขายรถยนต์โลก คงจะไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของเขาอีกต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น