xs
xsm
sm
md
lg

คาราวานรุ่นใหญ่ใจดีอีโคทรัค รถบรรทุกจอมพลังอนุรักษ์โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

-  โปรเจ็กต์ พอร์ทัล รถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนของโตโยต้า (ภาพจากโตโยต้า)
ครอบครัวรถเพื่อสิ่งแวดล้อมของโตโยต้ามีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาอีกรุ่น คราวนี้เป็นรถบรรทุกคันโตใช้เซลเชื้อเพลิงไฮโดรเจนภายใต้ชื่อโครงการ “โปรเจ็กต์ พอร์ทัล” เพื่อพิสูจน์แนวคิดรถบรรทุกปลอดไอเสียโดยจะเริ่มทำการทดสอบบริเวณท่าเรือลอสแองเจลีสช่วงฤดูร้อนนี้

ขณะที่เดมเลอร์ร่วมรณรงค์กระแสรักษ์โลกด้วยการเปิดแผนการผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหมดป้อนตลาดยุโรปปลายปีนี้ ด้านวอลโว่เผยความคืบหน้าสำคัญในการติดตั้งระบบส่งกำลังไฮบริดในคอนเซ็ปท์ ทรัค ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาต่อเนื่องที่กำหนดเป้าหมายสูงสุดไว้ที่การลดการใช้เชื้อเพลิงลง 50% จากรถบรรทุกปกติ

โตโยต้า มอเตอร์ ค่ายรถเบอร์ 1 ของญี่ปุ่น ร่วมกับตัวแทนจากคณะกรรมการทรัพยากรอากาศแคลิฟอร์เนีย (CARB), คณะกรรมการพลังงานแคลิฟอร์เนีย (CEC) และท่าเรือลอสแองเจลีส พิสูจน์แนวคิดรถบรรทุกปลอดไอเสียที่ท่าเรือลอสแองเจลีส ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่ทดสอบความเป็นไปได้ในการใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงรองรับงานหนักโดยจะเริ่มต้นในช่วงฤดูร้อนนี้

รถบรรทุกของโตโยต้าเป็นรถไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากก้อนเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (แบบเดียวกับที่ใช้ในรถมิราอิของโตโยต้า) 2 ก้อน เพื่อให้พลังงานแก่ชุดแบตเตอรี่ 12 kWh และระบบส่งกำลังทางไฟฟ้าที่ให้ขุมกำลัง 670 แรงม้า และแรงบิด 1,325 ปอนด์-ฟุต รองรับน้ำหนักรวม 36,287 กิโลกรัม สามารถวิ่งได้ระยะทางกว่า 321 กิโลเมตรโดยประมาณต่อเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนอัด 40 กิโลกรัม และสิ่งที่ปล่อยออกจากท่อไอเสียมีเพียงไอน้ำบริสุทธิ์เท่านั้น

จากการสังเกตการณ์ของผู้สื่อข่าวบางสำนักระบุว่า รถบรรทุกโปรเจ็กต์ พอร์ทัลสามารถเร่งความเร็วจาก 40-88.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในเวลาเพียง 6.3 วินาที ยิ่งถ้าไม่ได้ขนสัมภาระจะสามารถปั่นความเร็วได้ถึง 96.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลา 10 วินาทีเท่านั้น

แพล็ตฟอร์มของโปรเจ็กต์ พอร์ทัลออกแบบมาเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระยะทางสั้นๆ รอบท่าเรือหรือระหว่างเรือกับคลังสินค้า จากข้อมูลของโตโยต้าและเจ้าหน้าที่ท่าเรือนั้น รถขนาดใหญ่คือตัวการสำคัญในการปล่อยไอเสีย และบทเรียนที่ได้เรียนรู้ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ได้รับจากการศึกษานี้อาจช่วยให้อากาศบริเวณท่าเรือและโดยรอบสะอาดยิ่งขึ้น

โปรเจ็กต์ พอร์ทัลพัฒนาขึ้นภายใต้แผนปฏิบัติการอากาศสะอาดของท่าเรือลอสแองเจลีส ซึ่งมีเป้าหมายลดการปล่อยไอเสียในบริเวณท่าเรือลอสแองเจลีสและท่าเรือลองบีชในระยะเวลา 12 ปี

ส่วนโตโยต้า มิราอินั้นเป็นรถยนต์นั่งเซลเชื้อเพลิงไฮโดรเจนรุ่นแรกของโตโยต้าที่เปิดตัวในปีที่ผ่านมา ทำยอดขายไปแล้วกว่า 1,000 คัน และบริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ปีละ 3,000 คัน

สำหรับโปรเจ็กต์ พอร์ทัล โตโยต้าไม่ได้ให้กรอบเวลาเวอร์ชันที่จะผลิตออกจำหน่าย แต่เกริ่นว่า บริษัทอาจเป็นเจ้าแรกที่ส่งรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนลงตลาด โดยอาจอยู่ภายใต้แบรนด์ฮีโน่

นอกจากโตโยต้าแล้ว ค่ายรถชั้นนำที่แตกไลน์พัฒนารถบรรทุกเพื่อสิ่งแวดล้อมและมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวออกมาระยะนี้ยังรวมถึงเดมเลอร์และวอลโว่
เดมเลอร์ บริษัทแม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์นั้น มีแผนผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์ที่ใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหมดสำหรับตลาดยุโรป เริ่มแรกจะผลิตออกมาในจำนวนไม่มากนักเพื่อจัดส่งให้ลูกค้าทดลองในระยะ 12 เดือน โดยจะเริ่มจัดส่งปลายปีนี้

การตัดสินใจนี้อิงกับกระแสตอบรับที่ดีที่มีต่อเมอร์เซเดส-เบนซ์ เออร์บัน ต้นแบบรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดกลางที่เปิดตัวในงานไอเอเอ คอมเมอร์เชียล เวฮิเคิลส์ 2016 ภายใต้ภารกิจหลักในการขนส่งสินค้าในระยะทางสั้นๆ ภายในเมือง ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดปัญหาเรื่องการหาสถานีชาร์จที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความพยายามในการพัฒนารถบรรทุกไฟฟ้าวิ่งระยะไกลในขณะนี้

รถบรรทุกไฟฟ้ารุ่นใหม่ของเดมเลอร์ใช้ชุดแบตเตอรี่ 212 kWh วิ่งได้ระยะทาง 199.5 กิโลเมตร และแรงบิด 737 ปอนด์-ฟุต โดยจะจำหน่ายภายใต้แบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์

สเตฟาน บุชเนอร์ ประธานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทรัคส์ เปิดเผยระหว่างงานแถลงข่าวเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ว่า เดมเลอร์กำลังคุยกับว่าที่ลูกค้าประมาณ 20 รายในอุตสาหกรรมอาหาร ลอจิสติกส์ และการกำจัดขยะ และว่า รถบรรทุกไฟฟ้ารุ่นใหม่จะจัดส่งให้ลูกค้าในเยอรมนีเป็นที่แรก ก่อนกระจายไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป
เดมเลอร์ยังไม่มีแผนชัดเจนในการนำรถรุ่นนี้ไปเปิดตัวในสหรัฐฯ แต่เป็นไปได้ว่า อาจส่งรถไฟฟ้ารุ่นอื่นไปขายในอเมริกาเหนือเร็วๆ นี้

นอกจากรถบรรทุกเมอร์เซเดซแล้ว เดมเลอร์ยังมีแผนขึ้นสายการผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็ก อีแคนเตอร์ภายใต้แบรนด์ฟูโซในปีนี้ ในจำนวนเพียง 150 คันในระยะแรก ซึ่งจะจัดส่งให้ลูกค้าบางรายในอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น

ในส่วนวอลโว่นั้นได้ริเริ่มเปิดตัววอลโว่ ทรัคส์ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาไอเสียจากรถบรรทุก โดยรถต้นแบบของวอลโว่นำเสนอวิธีปรับปรุงการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพผ่านแนวคิดแอโรไดนามิกและการลดน้ำหนักของรถ

ล่าสุด บริษัทรถสัญชาติสวีเดนแห่งนี้ติดตั้งระบบส่งกำลังไฮบริดให้รถบรรทุกต้นแบบรุ่นใหม่ ซึ่งจะกู้คืนพลังงานขณะที่รถวิ่งลงเนินหรือเบรก และนำพลังงานนั้นมาเปิดใช้งานระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าบนทางเรียบและถนนที่มีความลาดชันต่ำ
วอลโว่ระบุว่า รถบรรทุกต้นแบบล่าสุดสามารถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งหมดในระยะทาง 10 กิโลเมตร

ในการใช้งานปกติ รถบรรทุกสามารถใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน 30% ของจำนวนเวลาทั้งหมด จึงช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงลง 5-10%

ก่อนหน้านี้ วอลโว่เปิดเผยว่า การปรับปรุงแอโรไดนามิก รวมทั้งการลดน้ำหนักของรถบรรทุก ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับรถบรรทุกแบบดั้งเดิม
คอนเซ็ปท์ทรัคล่าสุดยังติดตั้งระบบช่วยผู้ขับขี่ I-See ของวอลโว่เวอร์ชันไฮบริด ที่จะวิเคราะห์ลักษณะภูมิประเทศโดยใช้ข้อมูลจากระบบ GPS และแผนที่ดิจิตอล
นอกจากนี้ยังติดตั้งซอฟต์แวร์ที่จะเป็นตัวกำหนดว่า รถควรใช้เครื่องยนต์ดีเซลหรือมอเตอร์ไฟฟ้าจึงจะมีประสิทธิภาพที่สุดในแต่ละสภาพพื้นผิวถนน รวมถึงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการกู้พลังงานคืน

ตัวรถอิงกับรุ่น FH 420 ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 12.9 ลิตร 6 สูบเรียง วอลโว่ยังเปลี่ยนกระจกมองข้างเป็นกล้อง

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพด้านแอโรไดนามิกถึง 40% เมื่อเทียบกับรถบรรทุกทั่วไป

คอนเซ็ปท์ทรัคของวอลโว่ยังใช้ยางที่มีการต้านทานแรงหมุนต่ำ ขณะที่ตัวรถพ่วงมีน้ำหนักเบาลง 2.2 ตันจากรถบรรทุกปกติ

ต้นแบบรถบรรทุกนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2011 และเริ่มทดสอบในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2015

แม้ไม่ได้นำออกจำหน่าย แต่วอลโว่เผยว่า องค์ประกอบด้านแอโรไดนามิกบางส่วนถูกนำไปติดตั้งในรถที่ขายจริง และบริษัทจะพัฒนารถบรรทุกต้นแบบอย่างต่อเนื่องโดยวางเป้าหมายสูงสุดไว้ที่การลดการใช้เชื้อเพลิงลง 50% จากรถบรรทุกปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น