xs
xsm
sm
md
lg

ลอนดอนยลโฉมชัตเติลบัสอัตโนมัติ ประชาชนแห่สมัครทดสอบใช้บริการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งแรกสำหรับชาวลอนดอนที่จะได้ทดสอบใช้บริการชัตเติลบัสอัตโนมัติ (ภาพจากออกซ์โบติกา)
ในช่วงสามสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนนี้ ชาวลอนดอนผู้โชคดี 100 คนจะได้เดินทางในเกรนิช ลอนดอน ด้วยชัตเติลบัสไร้คนขับ

ชัตเติลบัสนี้ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ วิ่งด้วยความเร็ว 16.1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในรถมี 4 ที่นั่ง ไม่มีพวงมาลัยและเบรก แต่มีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมประจำอยู่บนรถเพื่อสั่งหยุดรถหากจำเป็น

ระหว่างการทดสอบ กล้อง 5 ตัวและเลเซอร์ 3 ตัวจะช่วยนำทางในเส้นทางริมแม่น้ำระยะทาง 3.2 กิโลเมตร รอบยูเค สมาร์ท โมบิลิตี้ ลิฟวิง แล็บ ใกล้โอทู อารีนาในลอนดอน ซึ่งเป็นย่านที่มีทั้งคนเดินถนนและจักรยาน

ชัตเติลบัสขับขี่อัตโนมัติมองเห็นทางข้างหน้าในระยะ 100 เมตร และจะจอดสนิทเมื่อตรวจพบวัตถุบนเส้นทาง รวมทั้งสามารถเบรกฉุกเฉินหากจำเป็น

ออกซ์โบติกา บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับชัตเติลบัสนี้เผยว่า มีผู้สมัครเข้าร่วมทดสอบถึง 5,000 คน

ทั้งนี้ ออกซ์โบติกา หรือเดิมคือ โมบิล โรโบติกส์ กรุ๊ปของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พัฒนาต้นแบบชัตเติลบัสโดยให้ชื่อว่า “แฮร์รี่” เพื่อเป็นเกียรติแก่จอห์น แฮร์ริสัน ผู้คิดค้นนาฬิกาจับเวลาสำหรับใช้บนเรือ

เกรม สมิธ ประธานบริหารออกซ์โบติกา บอกว่า มีคนน้อยมากที่มีประสบการณ์กับรถอัตโนมัติ นี่จึงเป็นโอกาสให้ผู้คนได้ทดลองทำความรู้จักด้วยตัวเอง และบริษัทหวังว่า ประชาชนจะยอมรับการเดินทางรูปแบบนี้ รวมทั้งจะใช้โอกาสนี้ศึกษาปฏิกิริยาของผู้โดยสารระหว่างการเดินทางด้วย

สมิธเสริมว่า ชัตเติลบัสอัตโนมัติได้รับการออกแบบให้ปลอดภัยและป้องกันภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่มีคนเดินเท้า

จุดประสงค์หลักของการทดสอบนี้คือ ความง่ายดายในการใช้งานในสภาพแวดล้อมจริงที่มีคนเดินถนน รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการนั่งรถไร้คนขับ และอุปสรรคที่กีดขวางการยอมรับผ่านการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมทดสอบอย่างละเอียดทั้งก่อนและหลังนั่งรถ

ชัตเติลบัสนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเกตเวย์ (เกรนิช ออโตเมต ทรานสปอร์ต เอนไวรอนเมนต์) และใช้ระบบซอฟต์แวร์เซเลเนียมที่ช่วยให้สามารถนำทาง วางแผน และรับรู้ตามเวลาจริง

สำหรับตัวรถนั้นผลิตโดยเวสต์ฟิลด์ร่วมกับฮีทโธว์ เอนเตอร์ไพรส์ และออกซ์โบติกา

ผู้พัฒนาในโครงการเกตเวย์ระบุว่า วัตถุประสงค์ของโครงการคือสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของระบบขับขี่อัตโนมัติ รวมถึงค้นหาสิ่งที่ต้องทำก่อนที่จะสามารถนำรถเหล่านี้ลงสู่ท้องถนนจริง

ระบบนี้แตกต่างจากระบบอื่นๆ ที่คล้ายกัน เช่น ระบบของเทสลา บริษัทผลิตรถไฟฟ้ามาแรงของอเมริกา ตรงที่ผู้โดยสารสามารถลงจากรถเฉพาะสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ใช่ลงได้ตามใจชอบ

โครงการนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนเกือบ 7 ล้านดอลลาร์จากกระทรวงขนส่งและกระทรวงธุรกิจ นวัตกรรม และทักษะ รวมถึงอีก 3 ล้านดอลลาร์จากบริษัทพันธมิตร อาทิ ฮีทโธว์ เอนเตอร์ไพรส์, โอทู และรอยัล ซัน อัลลายแอนซ์ นอกจากนี้ยังได้รับการอัดฉีดจากเซ็นเตอร์ ฟอร์ คอนเน็กต์ แอนด์ ออโตโนมัส เวฮิเคิล (ซีซีเอวี) ของรัฐบาลอังกฤษ

เจ้าหน้าที่ที่อยู่เบื้องหลังโปรเจ็กต์เกตเวย์เชื่อว่า ชัตเติลบัสนี้จะสามารถปรับปรุงการเชื่อมโยงระบบขนส่งในเกรนิชได้ และเสริมว่า ประชาชนจะได้ใช้ระบบนี้ในปี 2019 ในขั้นทดสอบ และในอนาคตจะเปิดให้บริการในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

นิก เฮิร์ด รัฐมนตรีอุตสาหกรรมของอังกฤษ กล่าวว่า โครงการนี้คือตัวอย่างนวัตกรรมที่สหราชอาณาจักรมีความเป็นเลิศ และกลยุทธ์อุตสาหกรรมที่มีอยู่ช่วยรับประกันว่า อังกฤษจะยังคงเป็นผู้เล่นแถวหน้าในเทคโนโลยีล้ำสมัย

เฮิร์ดเสริมว่า เทคโนโลยีประเภทนี้มีศักยภาพในการรักษาชีวิตผู้คน รวมทั้งมอบเสรีภาพในการเดินทางสำหรับผู้สูงวัยและผู้พิการ และสิ่งสำคัญอีกประการก็คือการที่ประชาชนได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ขณะที่เทคโนโลยีเหล่านี้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้นทุกที

แม้ก่อนหน้านี้เคยมีการทดสอบรถบัสอัตโนมัติในลอนดอนและอังกฤษมาแล้วหลายครั้งโดยเชิญชวนผู้สื่อข่าวและพนักงานบริษัทเข้าร่วม แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ชาวลอนดอนได้ทดลองนั่งชัตเติลบัสไร้คนขับ

เมื่อไม่นานมานี้ ออกซ์โบติกาเคยชักชวนผู้สื่อข่าวทดสอบรถไร้คนขับในเมืองมิลตัน คีนส์

นอกจากนั้น ยังเคยมีการทดสอบยานยนต์ไร้คนขับในประเทศอื่นทั่วโลก เช่น เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ลาสเวกัสเปิดโอกาสให้ประชาชนทดลองนั่งรถบัสอัตโนมัติในย่านประวัติศาสตร์บนถนนฟรีมอนต์ และเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นูโตโนมีในสิงคโปร์ ประกาศตัวว่า เป็นบริษัทแรกที่ให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับผ่านแอปพลิเคชัน

อย่างไรก็ตาม บริการของนูโตโนมีในระยะแรกยังจำกัดในระยะทาง 4 กิโลเมตรเท่านั้น รวมทั้งมีรถให้บริการไม่มากนัก และจำกัดจุดรับ-ส่งผู้โดยสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น