xs
xsm
sm
md
lg

เดมเลอร์ดึงบ๊อชทำ“โรโบแท็กซี่” คาดงานนี้อูเบอร์-ดีดีมีสะเทือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เดมเลอร์ดึงบ๊อชร่วมพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติและโรโบ-แท็กซี่ ซึ่งเป็นตลาดที่มีอนาคตไกลและการแข่งขันร้อนแรงอย่างยิ่ง
เดมเลอร์จับมือบ๊อช พัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติเพื่อเร่งรัดนวัตกรรม “โรโบ-แท็กซี่” เผยพร้อมขึ้นสายการผลิตต้นทศวรรษหน้า งานนี้บอกได้เลย อูเบอร์และดีดีนั่งไม่ติดแน่

การผนึกกำลังระหว่างเดมเลอร์ ผู้ผลิตรถหรูรายใหญ่ที่สุดของโลกและบริษัทแม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ กับโรเบิร์ต บ๊อช ซัปพลายเออร์ยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก ที่จัดงานแถลงข่าวไปเมื่อวันอังคาร (4) ถือเป็นข่าวที่สั่นสะเทือนวงการยานยนต์แขนงใหม่ เช่น บริษัทรถร่วมโดยสาร (ride-hailing) อย่างอูเบอร์และดีดี ที่กำลังพัฒนารถขับขี่อัตโนมัติอยู่เช่นกัน

ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีและผู้ผลิตรถกำลังพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในอุตสาหกรรมยานยนต์จากการที่ผู้บริโภคใช้สมาร์ทโฟนเพื่อค้นหา เรียก และเช่ารถมากขึ้น แทนการซื้อรถเป็นของตัวเอง

ความเชี่ยวชาญด้านระบบและฮาร์ดแวร์ของบ๊อชจะช่วยให้เมอร์เซเดส-เบนซ์พัฒนาเทคโนโลยีรถอัตโนมัติที่สามารถขึ้นสายการผลิตแบบแมส

ปัจจุบัน บ๊อชถือเป็นหนึ่งในซัปพลายเออร์ระบบช่วยขับขี่ขั้นสูงรายใหญ่ของโลก และเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งประกาศเป็นพันธมิตรกับเอ็นวิเดีย บริษัทเทคโนโลยีอเมริกา เพื่อพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ควบคุมระบบขับขี่อัตโนมัติ ขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ก็เป็นพันธมิตรกับเอ็นวีเดียเหมือนกัน

การเป็นพันธมิตรระหว่างบ๊อช-เดมเลอร์จะพึ่งพิงระบบแผนที่ดิจิตอลของ HERE ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนของบีเอ็มดับเบิลยู, เมอร์เซเดส, ออดี้ และอินเทล

ความเคลื่อนไหวนี้ไม่เพียงเป็นจุดสิ้นสุดความพยายามในการพัฒนารถยนต์ขับขี่อัตโนมัติตามลำพังของเดมเลอร์เท่านั้น แต่ยังนำความทะเยอทะยานของอุตสาหกรรมรถยนต์ไปไกลกว่าแค่การพัฒนารถต้นแบบ แต่เป็นการมุ่งหน้าสู่การผลิตรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติเชิงอุตสาหกรรม

บ๊อชที่ก่อตั้งเมื่อปี 1886 ปีเดียวกับที่คาร์ล เบนซ์ ผู้ก่อตั้งเมอร์เซเดสจดสิทธิบัตรรถยนต์ จะร่วมกับเดมเลอร์พัฒนาซอฟต์แวร์และอัลกอริธึมส์ที่จำเป็นสำหรับระบบขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 และ 5 รถอัตโนมัติระดับ 4 หมายถึงรถที่ไม่ต้องการการแทรกแซงจากคนขับในสถานการณ์ที่กำหนด ส่วนระดับ 5 เป็นการขับขี่ไร้คนขับอย่างสมบูรณ์

ข้อตกลงนี้จะช่วยให้สถานะของบ๊อชมั่นคงขึ้นในเซ็กชันระบบขับขี่อัตโนมัติที่มีการแข่งขันเข้มข้น และคู่แข่งสำคัญอย่างคอนติเนนตัลและเดลฟายกำลังทุ่มทุนขนานใหญ่

สำหรับเดมเลอร์และเมอร์เซเดสนั้น การร่วมทีมกับบ๊อชช่วยเพิ่มทรัพยากรด้านวิศวกรรมระบบขับขี่อัตโนมัติ และเร่งรัดกระบวนการสร้างระบบที่พร้อมสำหรับการผลิตรถอัตโนมัติให้เร็วกว่าเป้าหมายเดิมหลายปี

เดมเลอร์แถลงว่า ระบบขับขี่อัตโนมัติจะพร้อมสำหรับการผลิตภายในต้นทศวรรษหน้า แต่ไม่ได้บอกว่า จะเปิดตัวโรโบ-แท็กซี่เมื่อใด

ปัจจุบัน เดมเลอร์กำลังทุ่มเทกับธุรกิจรถร่วมโดยสารและการแชร์รถใช้ (car-sharing) ผ่านแอปพลิเคชันที่มีดีดีของจีน รวมทั้งอูเบอร์และลิฟต์ของอเมริกา เป็นเจ้าตลาดอยู่ แมกคินซีย์คาดว่า ตลาดนี้มีแนวโน้มขยายตัวถึงปีละ 28% จนถึงปี 2030

แถลงการณ์ร่วมระบุว่า เดมเลอร์และบ๊อชหวังว่า การร่วมมือกันของทั้งคู่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ควบคู่กับการยกระดับความปลอดภัยของรถอัตโนมัติ ด้วยการนำเสนอการขับขี่อัตโนมัติสำหรับคนเมือง โดยลูกค้าสามารถขอใช้บริการแชร์รถใช้ผ่านสมาร์ทโฟนภายในพื้นที่ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และรถอัตโนมัติจะขับไปรับ ภายใต้แนวคิดที่ว่า รถควรไปหาคนขับแทนที่คนขับจะต้องไปหารถ

ทั้งสองบริษัทเชื่อว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยกระตุ้นความสนใจในการแชร์รถใช้ และช่วยให้ลูกค้าใช้เวลาในรถอย่างคุ้มค่าที่สุด

การมอบความสะดวกสบายและการเดินทางที่ไม่ต้องขับขี่เองในราคาที่จ่ายไหวให้แก่ผู้พิการ เด็ก ผู้สูงวัย หรือผู้ที่ไม่มีใบขับขี่ คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่บริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่และบริษัทเทคโนโลยีมากมายเชื่อว่า รถอัตโนมัตินำเสนอโอกาสทางธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล

โกลด์แมน แซคส์คาดไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ตลาดระบบช่วยการขับขี่ขั้นสูงและรถอัตโนมัติจะเติบโตฉูดฉาดจาก 3,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 เป็น 96,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2025 และ 290,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2035

อูเบอร์นั้นเริ่มทดสอบบริการแท็กซี่อัตโนมัติแล้วในอเมริกา โดยใช้ฟลีทวอลโว่ เอ็กซ์ซี90 ที่มีวิศวกร 2 คนเตรียมพร้อมเข้าควบคุมหากเกิดปัญหา ขณะเดียวกัน เทสลา ผู้พัฒนารถไฟฟ้าชื่อดังของอเมริกา เผยว่า รถทุกคันที่ออกจากโรงงานของบริษัทติดตั้งฮาร์ดแวร์การขับขี่อัตโนมัติสมบูรณ์แบบ เพียงแต่ตอนนี้ฮาร์ดแวร์ที่ว่าต้องรอให้ซอฟต์แวร์และกฎหมายปรับตัวตามทัน

การแข่งขันดุเดือดในการเปิดตัวรถอัตโนมัติบีบให้ค่ายรถต้องเปลี่ยนกลยุทธ์จากแนวทางวิวัฒนาการเป็นการปฏิวัติ พูดง่ายๆ ก็คือแทนที่จะพัฒนาระบบช่วยการขับขี่เพื่อให้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ บริษัทต่างๆ กำลังทดลองด้วยดีไซน์รถแนวใหม่ที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง ควบคู่กับการพัฒนาซอฟต์แวร์ และนี่คือเหตุผลที่ชักนำให้บริษัทรถมากมายชักชวนบริษัทเทคโนโลยีมาร่วมสานฝัน

ตัวอย่างเช่น ปีที่แล้ว บีเอ็มดับเบิลยู คู่แข่งตลอดกาลของเมอร์เซเดส-เบนซ์ จับมือโมบายอาย บริษัทเทคโนโลยีรถยนต์อัตโนมัติจากอิสราเอล และอินเทล ผู้ผลิตชิปชั้นนำ พัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำรถอัตโนมัติลงสู่ท้องถนนภายในปี 2021

และหลังจากนั้น อินเทลก็ตกลงใจซื้อโมบายอายด้วยวงเงิน 15,300 ล้านดอลลาร์ แต่ก่อนหน้านั้น ควอลคอมม์เพิ่งควักกระเป๋า 47,000 ล้านดอลลาร์ซื้อเอ็นเอ็กซ์พี ผู้ผลิตชิปสำหรับยานยนต์จากเนเธอร์แลนด์

สำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์นั้น ก่อนตัดสินใจร่วมทีมกับบ๊อช บริษัทมีทีมวิศวกรรมรถอัตโนมัติ 2 ทีม ทีมแรกใช้แนวทางวิวัฒนาการคือยกระดับศักยภาพของรถยนต์ดั้งเดิม ส่วนอีกทีมมุ่งหน้าปฏิวัติการออกแบบรถ

คริสตอฟ วอน ฮิวโก ผู้จัดการอาวุโสแผนกความปลอดภัยของเมอร์เซเดส-เบนซ์ เผยว่า เมอร์เซเดส อี-คลาสรุ่นปัจจุบันใช้ระบบอัตโนมัติระดับ 2 ทำให้สามารถวิ่งบนทางหลวงโดยไม่ต้องป้อนข้อมูล รักษาระยะห่างกับรถคันหน้า และควบคุมให้รถอยู่ในช่องทาง

วอน ฮิวโกเสริมว่า บริษัทจะไม่รอให้รถอัตโนมัติระดับ 3 ออกมาก่อนแล้วจึงเริ่มพัฒนาระดับ 4 และ 5 เพราะถึงตอนนั้นก็สายเกินไป และสำทับว่า แนวโน้มรายได้ใหม่จากการซ่อมบำรุงฟลีตโรโบ-แท็กซี่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ค่ายรถต่างๆ ทุ่มความพยายามในการค้นคว้าวิจัยเป็นสองเท่า

ทั้งนี้ รถอัตโนมัติเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นหลังจากกูเกิลเปิดตัวรถต้นแบบที่พัฒนาร่วมกับบ๊อชเมื่อปี 2012 และเมอร์เซเดส-เบนซ์ตอบโต้ด้วยการพัฒนาเอส-คลาสที่ทำความเร็วได้ถึง 103 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในปีต่อมา

โอลา คัลเลเนียส สมาชิกคณะกรรมการบริหารและประธานแผนกวิจัยของกลุ่มกิจการและแผนกพัฒนารถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทิ้งท้ายว่า แอปพลิเคชันสำหรับรถอัตโนมัติจะทยอยออกมาระหว่างปี 2020-2025
กำลังโหลดความคิดเห็น