xs
xsm
sm
md
lg

รถกระบะห้ามนั่งแค็บ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลายเป็นเจตนาดีที่ส่งผลกระทบในด้านลบกับผู้ใช้รถยนต์ทันที หลังจากกรณีที่มีการใช้มาตรา 44 เกี่ยวกับการจราจรทางบกเพื่อหวังลดอุบัติเหตุ ด้วยการบังคับให้ทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงรถกระบะต้องใช้บรรทุกสิ่งของเพียงอย่างเดียว ห้ามให้คนนั่งอย่างเด็ดขาด โดยเริ่มดีเดย์ใช้จับปรับจริง เริ่มแล้ววันนี้(5 เม.ย.)
ภาพจาก กรมการขนส่งทางบก
สำหรับข้อบังคับนี้จะใช้ควบคู่กับ พ.ร.บ.รถยนต์ ปี 2522 เกี่ยวกับการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก คือ กลุ่มรถเก๋ง รถแท็กซี่ รถลิมูซีน รถกระบะ 4 ประตู ถ้าจดทะเบียนก่อน ม.ค. 2531 จะไม่มีเข็มขัดนิรภัยเลย แต่ถ้าจดทะเบียน 1 ม.ค. 2531 ถึง 1 ธ.ค. 2553 เฉพาะที่นั่งคนขับ คู่นั่งตอนหน้า ถ้าตั้งแต่ 1 ม.ค. 2554 จะมีเข็มขัดทุกที่นั่ง

กลุ่มที่ 2 เป็นตู้ส่วนบุคคล จดทะเบียนเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ก่อน 1 ม.ค. 2537 จะไม่มีเข็มขัด แต่ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2555 จะมีเข็มขัดทุกที่นั่ง เพราะฉะนั้นรถที่จดทะเบียนหลังปี 2555 เป็นต้นมาจะต้องรัดเข็มขัดทุกที่นั่ง

กลุ่มที่ 3 ปิกอัพ สองแถว ที่มีด้านหลังเป็นที่นั่งและที่บรรทุก กฎหมายบอกว่าให้บรรทุกสิ่งของและสัตว์ ห้ามคนนั่ง อันนี้ก็บังคับให้รัดเข็มขัดเบาะนั่งคู่หน้า

กลุ่มที่สี่รถสี่ล้อเล็ก หรือรถกะป๊อ ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2555 บังคับให้รัดเข็มขัด 2 คนหน้า ส่วนลักษณะของเข็มขัดรถจะมี 2 แบบ แบบแรกคือ แบบ 3 จุด รัดตักและรัดพาดไหล่ ใช้กับที่นั่งคนขับและที่นั่งตอนหน้า ส่วนอีกแบบ คือ คาดเอว 2 จุด ใช้กับที่นั่งตรงกลาง รถบรรทุกทุกชนิดต้องขาดเข็มขัดคนขับและคนนั่งตอนหน้า บรรทุกผู้โดยสารทุกที่นั่ง โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด หรือวิ่งระหว่างจังหวัดด้วยกันก็ต้องคาดทุกที่นั่ง รถโดยสารขนาดเล็กก็คาดเฉพาะคนขับกับคนนั่งตอนหน้า ข้างหลังให้จัดมีหลังคาและที่นั่งตามแนวยาวรถ 2 ข้าง และจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยหรือไม่ก็ได้

หากว่ากันตามจริง ประกาศคำสั่งจากมาตรา 44 แทบไม่มีอะไรใหม่เลย เนื่องจากกฏหมายก็กำหนดชัดอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ว่าในรถแต่ละประเภทต้องมีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยอยู่แล้ว ส่วนผู้โดยสารจะใช้หรือไม่ อยู่ที่สามัญสำนึกด้านความปลอดภัยของแต่ละบุคคล

แต่จุดสังเกตุที่น่าสนใจอยู่ในกลุ่มที่ 3 ที่เป็นปิกอัพ ซึ่งแม้จะมีพื้นที่หลังคนขับหรือที่เรียกว่า “แค็บ” ต่อไปนี้ก็ห้ามคนนั่ง (ถ้าดูจาก พ.ร.บ. ฉบับปี 2522 ก็ห้ามคนนั่งตั้งแต่แรกเช่นกัน)

ยิ่งเมื่อล่าสุด พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ชี้แจงถึงจุดสังเกตุนี้ในรายการ “ถามตรงๆ” ทางไทยรัฐทีวี ไว้ว่า รถกระบะที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (ป้ายสีขาว ตัวอักษรสีฟ้า) ซึ่งเป็นรถกระบะที่มีหลังคาและมีที่นั่งสองแถว “ไม่ห้าม” สามารถนั่งตามที่นั่งที่จัดไว้ได้

ส่วนรถกระบะที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (ป้ายสีขาว ตัวอักษรสีเขียว) และเดินทางบนถนนทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงระหว่างจังหวัด ทางหลวงระหว่างอำเภอ ทางหลวงชนบท และทางหลวงตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 “ห้าม” นั่งท้ายกระบะ มีความผิดฐานใช้รถผิดประเภท

ขณะที่รถกระบะมีแค็บ “ห้าม” นั่งในแค็บ เพราะส่วนที่เป็นแค็บไม่ได้ออกแบบให้เป็นที่นั่งแต่ไว้สำหรับใส่สิ่งของ มีความผิดฐานใช้รถผิดประเภท

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามกันต่อไปว่า บทสรุปของคำสั่งการประกาศบังคับใช้นี้จะมีผลกระทบต่อผู้ใช้รถอย่างไร

แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้จำไว้เลยว่า แค็บหลังห้ามนั่ง!

คลิ๊กอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ใครซื้อรถกระบะตอนครึ่งซวย! แค็บหลังก็ห้ามนั่ง ผิด กม.จับปรับ! และ ดีเดย์ 5 เม.ย.ปรับเริ่มต้น 100 บาท นั่งเบาะหลังไม่คาดเข็มขัด-นั่งท้ายกระบะ
กำลังโหลดความคิดเห็น