มิตซูบิชิแย้มวิสัยทัศน์ใหม่ เผยกำลังปรึกษากับนิสสันเรื่องการร่วมผลิตไทรทันและนาวารารุ่นใหม่ในไทยก่อนขยับขยายโครงการความร่วมมือสู่ฐานการผลิตแห่งอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่กลุ่มเรโนลต์-นิสสัน อัลลายแอนซ์เล็งหาวิธีลดต้นทุนเพิ่มเติม มิตซูบิชิยังวาดฝันร่วมผลักดันกลุ่มพันธมิตรสามเส้า เรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ ก้าวขึ้นเป็นค่ายรถเบอร์ 2 หรือ 3 ของโลกในแง่ยอดขาย
ปลายสัปดาห์ที่แล้ว เทรเวอร์ แมนน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ ให้สัมภาษณ์ในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ ยอมรับว่า บริษัทมีจุดอ่อนสำคัญหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม เขามั่นใจว่า หลังจากผจญมรสุมมาตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา สถานะปัจจุบันของมิตซูบิชิดูดีกว่านิสสัน มอเตอร์เมื่อปี 1999 ที่มีหนี้สินหลักหมื่นล้าน เพราะนอกจากจะไม่มีหนี้แล้ว มิตซูบิชิยังมีเงินสดพอประมาณและอัตรากำไรจากการดำเนินงานถึง 6% ตลอดช่วง 4-5 ปีล่าสุด
มิตซูบิชินั้นถูกเรโนลต์-นิสสัน อัลลายแอนซ์เข้าซื้อหุ้นที่มีสิทธิ์ควบคุม 34% ด้วยวงเงิน 2,300 ล้านดอลลาร์เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากยอมรับในเดือนเมษายนว่า แต่งตัวเลขการประหยัดน้ำมันในรถบางรุ่น ส่งผลให้ยอดขายร่วงและคาดว่า จะขาดทุนหนักในปีการเงินปัจจุบันที่จะสิ้นสุดปลายเดือนนี้
ส่วนแมนน์เป็นผู้บริหารลูกหม้อที่คาร์ลอส กอส์น ประธานเรโนลต์-นิสสัน อัลลายแอนซ์ มอบหมายให้พลิกฟื้นสถานการณ์มิตซูบิชิ และขณะนี้ แมนน์กำลังจัดเตรียมวิสัยทัศน์ใหม่ที่คาดว่า จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปลายเดือนนี้
แมนน์มองว่า แม้มิตซูบิชิมีจุดแข็งที่เอสยูวี ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ยอดนิยมของตลาดในวันนี้ ตลอดจนถึงประสิทธิภาพจากการใช้ต้นทุน เทคโนโลยีขับเคลื่อนสี่ล้อ ต้นทุนอิงกับปิ๊กอัพที่ดีกว่านิสสัน และกระบะไทรทันที่ขายดีในออสเตรเลีย แต่ในส่วนรถยนต์นั่งเริ่มล้าสมัยและไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะแลนเซอร์
นอกจากนั้น แม้มิตซูบิชิมียอดขายปีละ 1 ล้านคันแต่ยังไม่ถือว่ายั่งยืน เนื่องจากไม่ได้ทำให้บริษัทมีเงินทุนมากพอที่จะหมุนเวียนกลับไปลงทุนในแพล็ตฟอร์มและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่า เป็น กติกาบังคับสำหรับยานยนต์ยุคใหม่
ทว่า ด้วยการเป็นพันธมิตรกับนิสสัน-เรโนลต์ มิตซูบิชิจะสามารถเข้าถึงทุกสิ่งที่กล่าวมา และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการแชร์แพล็ตฟอร์มและเทคโนโลยีระหว่างกันในอนาคตข้างหน้า
ปัจจุบัน นิสสันและมิตซูบิชิพัฒนาปิ๊กอัพและรถยนต์โดยอิงกับโครงรถซึ่งมีพื้นฐานการออกแบบต่างกัน และต่างคนต่างผลิตในโรงงานของตนเองในไทย
แต่การเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างเดียวกันจะเปิดโอกาสให้โรงงานของมิตซูบิชิเน้นหนักที่ปิ๊กอัพ ขณะที่โรงงานของนิสสันทุ่มเทผลิตรถเก๋งและเอสยูวี ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ดี แมนน์ย้ำว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการตัดสินใจแต่อย่างใด
เขาบอกว่า มิตซูบิชิและนิสสันกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมผลิตปิ๊กอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อลดต้นทุน โดยอาจรวมการสนับสนุนทางเทคนิคและการผลิตเข้าด้วยกันสำหรับนิสสัน นาวาราและมิตซูบิชิ ไทรทันรุ่นใหม่ที่ผลิตในไทย และมีแนวโน้มว่า จะใช้โครงสร้างรถปิ๊กอัพของมิตซูบิชิเป็นพื้นฐาน
โครงการความร่วมมือนี้จะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่มิตซูบิชิและนิสสันมีโรงงานอยู่แล้ว ทว่า ฐานการผลิตปิ๊กอัพจะยังคงอยู่ในไทยที่ทั้งสองบริษัทมียอดขาย 40%
นาวาราและไทรทันรุ่นปัจจุบันเปิดตัวในปี 2014 และจะยังไม่มีรุ่นใหม่มาแทนก่อนปี 2022 ซึ่งหมายความว่า นิสสันและมิตซูบิชิยังมีเวลาตัดสินใจเรื่องนี้อีกอย่างน้อย 2 ปี
ปัจจุบัน นิสสันและมิตซูบิชิร่วมมือกันในด้านการขนส่งรถและระบบโลจิสติกส์อื่นๆ แล้ว และกำลังคิดค้นวิธีการประหยัดต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการจัดซื้อร่วมกัน
นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มว่า เรโนลต์-นิสสัน อัลลายแอนซ์ที่หยั่งรากยาวนานถึง 18 ปี และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นผ่านการถือหุ้นส่วนน้อยระหว่างกันนั้น อาจใช้เทคโนโลยีปลั๊ก-อินไฮบริดของมิตซูบิชิ ซึ่งเรื่องนี้ แมนน์ย้ำว่า เป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม เรโนลต์อาจต้องรอนานกว่านิสสันสำหรับการเข้าถึงตลาดและการประหยัดที่พันธมิตรน้องใหม่จะนำมาให้
แมนน์อธิบายว่า เรื่องนี้ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ และเนื่องจากมิตซูบิชิต้องแบ่งปันเงินทุนกับนิสสัน จึงสมควรที่จะเริ่มต้นความร่วมมือกับนิสสันก่อน
ทั้งนี้ ภายใต้การเป็นเจ้าของของนิสสันนั้น มิตซูบิชิยังคงอยู่ระหว่าง “การเก็บกวาด” ผลพวงจากข่าวฉาวกรณีการแต่งตัวเลขการประหยัดเชื้อเพลิงเมื่อปีกลาย
แมนน์บอกว่า มิตซูบิชินำแนวทางการแบ่งแยกความรับผิดชอบ การควบคุมความเสี่ยง และจรรยาบรรณทางธุรกิจมาใช้ภายในบริษัท และย้ำว่า จากนี้ไป หากพบเรื่องไม่ชอบมาพากล บริษัทจะออกมาเปิดเผยด้วยวิธีการที่เหมาะสม
สำหรับในระยะสั้นนั้น มิตซูบิชิจะโฟกัสที่เอสยูวี โดยประเดิมด้วยการเปิดตัวอีคลิปส์ ครอสส์รุ่นใหม่ที่วางตำแหน่งอยู่ระหว่าง ASX กับเอาต์แลนเดอร์ ภายในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 9-19 มีนาคม
แมนน์ยังหวังว่า ปีหน้ายอดขายของมิตซูบิชิจะดีดกลับเป็นเกิน 1 ล้านคันทั่วโลก หลังจากตกไป 8% จาก 1.05 ล้านคันก่อนเจอมรสุมข่าวฉาวและแม้ยอดขายยังห่างชั้นจากนิสสันและเรโนลต์ ทว่า แมนน์หวังว่า หากทั้งสามบริษัทยังคงเติบโตต่อเนื่อง เรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ อัลลายแอนซ์อาจทำยอดขายรวมกันทะลุหลัก 10 ล้านคัน และก้าวขึ้นเป็นกลุ่มการผลิตรถใหญ่ที่สุดของโลกอันดับ 2 หรือ 3 ในด้านยอดขาย