xs
xsm
sm
md
lg

มาสด้า 2 เบนซิน1.3VS ดีเซล1.5 ดีคนละแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภายใต้โปร์เจคอีโคคาร์เฟสสอง เมื่อต้นปี 2015 ส่งผลให้มาสด้าปล่อย มาสด้า2 ออกมาด้วยความลงตัวอย่างบอกไม่ถูก ทำตลาดผ่านไปครบสองปีเต็ม บัดนี้ได้เวลากระตุ้นตลาดอีกครั้ง มาสด้าจับเอา มาสด้า2 มาไมเนอร์เชนจ์ แน่นอนว่าดูเหมือนจะเร็วเกินไปสำหรับอายุในการยืนทำตลาด แต่คนที่ซื้อไปก่อนแล้วคงไม่เสียใจเท่าใดนัก เพราะอะไร MGR มอเตอริ่งไปทดลองขับและนำคำตอบมาให้เรียบร้อย

ไมเนอร์เชนจ์ เปลี่ยนตรงไหน?

ที่บอกว่าไม่ต้องเสียใจนั้นก็ด้วยเหตุผลหลักคือ รูปร่างภายนอก แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ต่อให้มองอย่างตั้งใจก็ยังยากในการหาจุดที่แตกต่างระหว่างรุ่นเดิมกับรุ่นที่ไมเนอร์เชนจ์แล้ว ซึ่งจุดที่ปรับเปลี่ยนหลักแบบเห็นชัดที่สุดคือ ไฟตัดหมอก ที่ปรับเป็นแบบLED มีขนาดเล็กลง ดวงไฟในโคมปรับเป็นแบบLED เพิ่มเสาอากาศแบบครีบฉลาม และล้ออัลลอยสีใหม่(ลายเดิม) เพียงแค่ไม่กี่รายการนี้เท่านั้นสำหรับการไมเนอร์หนนี้

มาดูในส่วนของภายในกันบ้าง สิ่งที่เห็นได้ชัดสุดคือ เบาะนั่ง ปรับโทนสีจากเดิม ดำตัดแดง กลายมาเป็นแบบสีดำล้วนมีสีน้ำตาลเสริมนิดหน่อย เรือนไมล์ ปรับตัวเลขจอแสดงผลให้ดูง่ายขึ้น และพวงมาลัยรูปทรงใหม่ถอดแบบมาจากรุ่น ซีเอ็กซ์-9 แตกต่างจากเดิมเล็กน้อย ทั้งหมดเพียงเท่านี้สำหรับสิ่งที่เปลี่ยนไปแบบจับต้องได้

มาดูหัวใจสำคัญของการไมเนอร์หนนี้ การเพิ่มเข้ามาของระบบ “GVC” หรือจี-เวคเตอริ่ง คอนโทรล แปลง่ายๆ ให้เข้าใจก็คือ ระบบควบคุมการขับขี่ของรถให้มีความเสถียรและมั่นคงยิ่งกว่าเดิม เป็นระบบประมวลผลที่รวมทุกอย่างทั้งเครื่องยนต์ เกียร์ ระบบช่วงล่าง ให้ทำงานสอดคล้องลงตัวเพื่อตอบสนองการขับขี่ให้ดีที่สุดตามสไตล์มาสด้า แล้วผลลัพท์เป็นอย่างไร ติดตามกันต่อได้

เบนซิน1.3 VS ดีเซล 1.5

ในส่วนของการทดลองขับนั้น มาสด้า เลือกเส้นทาง กรุงเทพฯ-พัทยา-กรุงเทพฯ โดยขาไปเราได้ขับรุ่นเบนซิน 1.3 ลิตรก่อน หลังจากนั้นขากลับจึงมาขับรุ่น 1.5 ดีเซล(ทั้งสองคันเป็นรุ่นท้อปสุดตัวถังแฮทแบ็ค 5 ประตู) เรียกว่า ได้ขับเปรียบเทียบกันแบบพอใจผู้ร่วมขบวนกว่า 20 ชีวิตของทริปนี้ โดยเราขอโฟกัสด้านการขับและไม่เล่าซ้ำในส่วนของอุปกรณ์และฟังก์ชันซึ่งเหมือนเดิม (อ่านย้อนที่ลิ้งค์)


ช่วงแรกของการขับเริ่มต้นยามเช้าถนนพระราม4 ที่การจราจรพลุกพล่านแบบขีดสุด มาสด้า 2 แสดงให้เราเห็นถึงความคล่องตัวแบบ 10 เต็ม10 พวงมาลัยเบามือ แม่นยำควบคุมง่าย ทัศนวิสัยกว้างขวางและด้วยมุมมองที่กว้างนี่เองทำให้เรารู้สึกว่า ห้องโดยสายกว้างขวางนั่งสบาย เบาะนั่งด้านหลังมีพื้นที่เหลือเพียงพอเข่าไม่ชนเบาะหน้า แม้คนที่สูงราว 175 ซม.ก็ตาม ยังคงนั่งได้สบาย

ขับเคลื่อนออกตัวแรงกำลังดี คิกดาวน์มาง่ายทันใจ การขับในเมืองทำให้เราได้ลองระบบ i-stop เครื่องยนต์ดับอัตโนมัติเมื่อรถจอดหยุดนิ่ง ซึ่งผสานการทำงานกับระบบ i-ELOOP ที่ดึงเอาพลังงานจลน์ที่สูญเสียไปจาการชะลอหยุดและการเบรก เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อนำกลับมาใช้รองรับระบบต่างๆของรถ

ซึ่งทันที่ที่ระบบไฟสำรองมากพอและรถหยุดนิ่ง เครื่องยนต์จะดับสนิท โดยแอร์ยังคงทำงานเป็นปกติ เย็นฉ่ำ สบาย บางครั้งรถหยุดแต่เครื่องยนต์ไม่ดับอาจจะต้องรอ 3-5 วินาทีหรือมากกว่านั้น เพราะ i-stop จะทำงานได้ต้องเพิ่งพา i-ELOOP ในการสำรองไฟ และเมื่อเราปล่อยเบรก กดคันเร่งออกตัวเครื่องยนต์ติดขึ้นพร้อมทำงานทันที

เมื่อเราขึ้นทางด่วนได้ คราวนี้เป็นช่วงเวลาของการทดลองขับด้วยความเร็วสูงบ้าง ความเร็วเฉลี่ยที่เราขับคือราว 120-140 กม./ชม. บอกได้เลยว่า อัตราเร่งทันใจในทุกย่านความเร็ว กดคิกดาวน์มาทุกครั้งแบบทันท่วงทีไม่ว่าจะเร่งแซงในสถานะการคับขันเพียงใด แต่การทรงตัวที่ความเร็วเกินกว่า 120 กม./ชม.ของรุ่นเบนซินนั้น ยังทำได้ไม่ประทับใจเราและเมื่อสอบถามกับผู้ร่วมขบวนทดลองขับว่า การทรงตัวของรุ่นเบนซินเป็นอย่างไร ทุกท่านตอบเหมือนกันว่า รุ่นดีเซลนิ่งกว่า

และถึงเวลาของการเปลี่ยนรถ เราได้มาประจำการในรุ่นดีเซล ความรู้สึกแรกหลังกดคันเร่ง คือ พุ่งดี น่าจะแรงไม่ต่างจากรุ่นเบนซิน แต่แล้วเมื่อออกวิ่งบนถนนใหญ่ตั้งลำได้ ลองคิกดาวน์ที่ย่านความเร็วปานกลางราว 70-80 กม./ชม. ทำไมไม่ตอบสนองเหมือนเบนซิน ดีเซลมีอาการรอรอบให้สัมผัสได้ และเมื่อลองคิกดาวน์ที่ความเร็วระดับ 100-120 กม./ชม. อาการรอรอบชัดเจน ความเร็วค่อยๆ ขึ้น เป็นบุคลิกดั้งเดิมแท้ๆ ของเครื่องยนต์ดีเซล หากคิดจะแซงแบบคับขับคาดว่าจะไม่ทันการณ์ หากจำเป็นจริงๆ คงต้องพึ่งปุ่มแพดเดิ้ลชิฟท์ที่ให้การขับขี่แบบสปอร์ต ช่วยในการเร่งแซง

เหตุผลของการรอรอบในเครื่องยนต์ดีเซล คงมาจากปัจจัยในเรื่องของอัตราการบริโภคน้ำมันและการปล่อยไอเสีย ให้ได้ตามมาตรฐานของรถในโครงการอีโคคาร์เฟสสองที่จับตาเข้มในเรื่องของมลพิษมากกว่าเฟสแรก

สำหรับความเร็วสูงสุดที่เราทดลองขับ ทั้งเบนซินและดีเซลทำได้ราว 150 กม./ชม. พอๆ กัน แต่การทรงตัว ทุกคนที่ร่วมทริปลงคะแนนเป็นเสียงเดียวกันว่า รุ่นดีเซล มีการทรงตัวที่ดีกว่ารุ่นเบนซิน ถามกลับไปยังทีมงานมาสด้า คำตอบที่ได้กลับมาคือ มีการเซตช่วงล่างที่เปลี่ยนไปจากโฉมก่อน และแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ไม่น่าจะรู้สึกแตกต่่างได้ขนาดนี้ ดังนั้นขอเก็บไว้เป็นการบ้านส่งต่อไปยังทีมผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์

อัตราการบริโภคน้ำมัน คันที่เราขับ รุ่นเบนซิน ตัวเลขหน้าจอแสดงผลเฉลี่ยที่ 14.9 กม./ลิตร และรุ่นดีเซล 19.7 กม./ลิตร ขณะที่ตัวเลขที่มาสด้าเคลมไว้คือ เบนซินเฉลี่ยราว 23.3 กม./ลิตร และดีเซลเฉลี่ยราว 26.3 กม./ลิตร

เหมาะกับใคร?
คนที่กำลังมองหารถเล็ก เทคโนโลยีแน่น มาสด้า 2 คือตัวเลือกแรกอย่างแน่นอน เบนซินจะให้การตอบสนองที่ทันใจกว่าทุกย่านความเร็ว ดีเซลจะได้ในเรื่องของการทรงตัวและความประหยัด แต่เมื่อเอาราคาเข้ามาเป็นตัวแปร คำตอบของความคุ้มค่า หวยจะมาออกที่ “เบนซิน” เป็นคำตอบสุดท้าย