ยานยนต์ไร้คนขับที่ฝ่ายสนับสนุนเชียร์ว่า จะช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้นับพัน ช่วยลดภาระผู้ขับขี่ตลอดจนถึงปัญหาการจราจรติดขัด กลับกลายเป็นภัยคุกคามที่อาจทำให้คนเป็นล้านตกงาน ซ้ำยังมีแนวโน้มนำไปสู่สถานการณ์ก้ำกึ่งด้านจริยธรรม ทั้งนี้ ตามความเห็นของผู้นำธุรกิจและนักการเมืองหลายคนที่ไปร่วมประชุมกันที่ดาวอสช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา
มิสซี คัมมิงส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนส์ แอนด์ ออโตโนมี แล็บ มหาวิทยาลัยดุ๊คในนอร์ธแคโรไลนา สหรัฐฯ เรียกร้องให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสนใจผลกระทบแง่ลบจากเทคโนโลยีล้ำยุคนี้ด้วย
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนขานรับโดยยกตัวอย่างในอเมริกาว่า อาจมีคนราว 4 ล้านคนที่ทำมาหากินเป็นคนขับรถบรรทุก โชเฟอร์แท็กซี่ และงานอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบเมื่อรถยนต์ไร้คนขับแพร่หลายบนท้องถนน
คำเตือนนี้ไม่ใช่อาการตื่นตูมแน่นอน เพราะเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว บรรดาคนขับรถส่งของเริ่มไม่มั่นใจกับอนาคตของตัวเอง หลังจากรถบรรทุกไร้คนขับที่พัฒนาโดยอ็อตโต้ บริษัทในเครือของอูเบอร์ ขนเบียร์ไปส่งถึงที่หมายปลายทางอย่างราบรื่น
นอกจากนี้ อูเบอร์ยังอยู่ระหว่างโครงการนำร่องบริการแท็กซี่ติดตั้งเทคโนโลยีไร้คนขับในพิตสเบิร์กและซานฟรานซิสโกโดยใช้รถเอสยูวี XC90 ของวอลโว่และฟอร์ด โฟกัส อย่างไรก็ดี แท็กซี่รุ่นนี้ยังไม่ใช่ระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบเนื่องจากยังต้องมีวิศวกรควบคุม
ปัจจุบัน รถหลายรุ่นในท้องตลาดติดตั้งฟังก์ชันอัตโนมัติหลากหลายภายในรถ อาทิ ความสามารถในการปรับความเร็ว และบริษัทรถกว่าสิบแห่ง ซึ่งรวมถึงบีเอ็มดับเบิลยู, เกีย, โฟล์คสวาเกน และเจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) กำลังแข่งขันเพื่อนำรถยนต์ไร้คนขับครบวงจรออกจำหน่ายในปี 2020
ฝ่ายสนับสนุนเทคโนโลยีนี้ชี้ความเป็นไปได้ในการลดการเสียชีวิตบนท้องถนนทั่วโลกได้ถึงปีละ 1.3 ล้านคน ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญเกิดจากคนขับที่เหนื่อยล้าหรือเสียสมาธิ หรือเพียงแค่มีปฏิกิริยาตอบสนองไม่เร็วพอเท่านั้น
มูลนิธิรูเดอร์แมน แฟมิลี่และซีเคียวริ่ง อเมริกาส์ ฟิวเจอร์ อิเนอร์จี (เซฟ) พบว่า การช่วยขจัดอุปสรรคต่างๆ ในการเคลื่อนไหวของรถยนต์ไร้คนขับจะช่วยให้ผู้ทุพพลภาพ 2 ล้านคนในอเมริกา ออกไปทำงานนอกบ้านได้ และยังช่วยลดต้นทุนสุขอนามัยปีละ 19,000 ล้านดอลลาร์จากการที่ผู้ทุพพลภาพเหล่านี้ไม่ต้องผิดนัดหมอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งค่ายรถและภาครัฐต้องใส่ใจกับความต้องการของผู้ทุพพลภาพมากขึ้นด้วย เป็นต้นว่า อนุโลมให้ผู้ใช้รถไร้คนขับระดับ 4 และ 5 ไม่ต้องมีใบขับขี่ ขณะที่ผู้ผลิตต้องรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนผู้ทุพพลภาพเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดคล้องมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
อุตสาหกรรมรถขณะนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากการปรากฏตัวของบริการอย่างเช่น อูเบอร์และรถไฟฟ้า ซึ่งบรรดาผู้ผลิตต่างมองสถานการณ์เหล่านี้ว่า เป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคาม
คาร์ลอส กอส์น ประธานเรโนลต์-นิสสัน ฟันธงบนเวทีเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัมที่จัดขึ้นที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เป็น “การล้างไพ่” ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากถือเป็นการเปิดเกมใหม่ที่ต้องติดตามลุ้นกันว่า ใครจะอยู่หรือไป
ขณะเดียวกัน กระแสเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับที่กำลังมาแรงดึงดูดผู้เล่นใหม่ลงสู่สนามยานยนต์ โดยเฉพาะกูเกิล, แอปเปิล และแบล็กเบอร์รี่
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า แม้อาจคุกคามอนาคตการทำงานของหลายอาชีพ แต่ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีนี้ก็นำมาซึ่งโอกาสในการสร้างงานใหม่ๆ อาทิ วิศวกรในบริการแขนงต่างๆ นอกจากนี้ยังเริ่มมีคนพูดถึงการทำศัลยกรรมเคลื่อนที่และซาลอนแต่งเล็บติดล้อกันบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม วิโอเลตา บุลก์ กรรมาธิการการขนส่งของสหภาพยุโรป (อียู) เตือนว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ค่อนข้างเจ็บปวด ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากการที่คนขับรถแท็กซี่และรถบรรทุกไม่สามารถพัฒนาตัวเองเพื่อเข้าสู่บทบาทด้านวิศวกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะภาครัฐขาดแผนการให้ความรู้และการฝึกฝนอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้แรงงานปรับตัวตามทันเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และครอบคลุมกว้างขวาง
นอกจากนี้ บรรดาผู้คุมกฎทั่วโลกยังกำลังปวดหัวกับการร่างมาตรการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ
อิงกา บีล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ลอยด์ ออฟ ลอนดอน บริษัทประกันภัยเก่าแก่ของอังกฤษ ขานรับว่า บริษัทประกันภัยเองก็ต้องขบคิดเกี่ยวกับความรับผิดในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุด้วยเช่นกัน
แม้เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกรอบโครงข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทว่า บรรดาค่ายรถยังต้องเผชิญสถานการณ์ก้ำกึ่งด้านจริยธรรมและกฎหมาย เช่น ถ้าต้องเลือกระหว่างชีวิตคนขับเพียงคนเดียวกับการหักหลบและพุ่งเข้าใส่กลุ่มคน 5 คน รถอัจฉริยะควรตัดสินใจอย่างไร
กระนั้น อุตสาหกรรมรถพอเบาใจได้บ้าง หลังจากเมื่อกลางเดือนมกราคม รัฐบาลสหรัฐฯ แถลงว่า ไม่พบข้อบกพร่องเกี่ยวกับความปลอดภัยในอุบัติเหตุที่คนขับรถเทลซาที่ติดตั้งระบบ Autopilot เสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน ในส่วนความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น บรรดานายใหญ่ค่ายรถต่างทุ่มเทความสนใจกับวิธีการที่จะทำให้เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ดียิ่งขึ้น
กอส์นยกตัวอย่างโลกที่สะดวกสบายขึ้นที่เราไม่ได้แค่เช็คอีเมลหรือดูทีวีขณะนั่งหลังพวงมาลัยได้เท่านั้น แต่ยังอาจทำทุกอย่างได้เหมือนตอนอยู่บ้านหรือที่ทำงานไม่ผิดเพี้ยน
กลุ่มผู้สนับสนุนยังอวดอ้างว่า ในที่สุดระบบขนส่งอัตโนมัติและนวัตกรรม อาทิ การเป็นเจ้าของรถยนต์ร่วมกัน อาจทำให้ถนนหนทางไม่แออัดเหมือนเดิม ส่งผลให้อากาศสะอาดขึ้น
แต่สำหรับตอนนี้ จุดโฟกัสของเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับคงมุ่งที่ความปลอดภัยเป็นอันดับแรก และอาจเป็นด้วยเหตุนี้ รถส่งเบียร์คันแรกของอูเบอร์จึงยังต้องมีพนักงานนั่งไปด้วย แถมมีรถตำรวจวิ่งตามติดจนถึงจุดหมาย