xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ 4 หนุ่ม จากเอแบค ชนะกิจกรรม โตโยต้า Campus Challenge 2016 เรียนรู้ขับปลอดภัย ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิสิต-นักศึกษา ที่เข้ารอบสุดท้าย
Campus Challenge เป็นหนึ่งกิจกรรมภายใต้โครงการ “โตโยต้าถนนสีขาว” ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 โดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ตระหนักถึงปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและมุ่งหวังปลุกจิตสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่ใส่ใจในการแก้ไขปัญหา จึงเปิดโอกาสให้นิสิต-นักศึกษาทั่วประเทศ วางแผนการรณรงค์และลงมือปฏิบัติจริงในรั้วมหาวิทยาลัย
ภีมะ ฮัดเจสสัน ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ
ปัญหาของอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว ซึ่งถือเป็นวัยเริ่มต้นของการใช้รถใช้ถนน ดังนั้นเพื่อเป็นการทำให้เยาวชนเกิดการตระหนักถึงสาเหตุ ปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้น โครงการโตโยต้าถนนสีขาวจึงได้ริเริ่มกิจกรรม “Campus Challenge 2016” โดยให้นิสิต-นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการรณรงค์สร้างความปลอดภัยบนท้องถนนซึ่งโตโยต้าเล็งเห็นถึงความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กังลังเติบโตขึ้นมาเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยในการทำให้สังคมไทยน่าอยู่ขึ้นและสามารถทำให้ถนนปลอดอุบัติเหตุและกลายเป็นถนนสีขาวอย่างแท้จริง
นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สามารถนำแคมเปญ “เซฟโคน เซฟคน”  (Save Cone Save Khon) ชนะใจกรรมการได้
แผนการรณรงค์ดังกล่าวมีนิสิต-นักศึกษา เข้าร่วมประกวดกว่า 670 ทีม และในวันที่ 17 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้ประกาศทีมชนะเลิศคือ ทีม AVEM ซึ่งประกอบไปด้วย ชยกร สุทธิศิริ (สกาย) ,โชคชัย ธีระจันทเศรษฐ (หมิง) ,กฤษณ์ โสภาราษฎร์ (บอม) และ พอล เวียนนี ลาปุส มาริสเตล่า (พอล) จากคณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สามารถนำแคมเปญ “เซฟโคน เซฟคน (Save Cone Save Khon) ที่มี Big Idea คือ Put Life into Cones ชนะใจคณะกรรมการคว้าชัยในปีที่ผ่านมา

โดยไอเดียความคิด น้อง ๆ ทั้ง 4 คน บอกว่า พบปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยมาจากการขับขี่ที่เร็วเกินไป และการขับขี่โดยไม่ระมัดระวัง ซึ่งมาจากการที่ถนนภายในมหาวิทยาลัยมีความกว้างและค่อนข้างโล่ง จึงกลายมาเป็นแคมเปญที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้มหาวิทยาลัยมีความปลอดภัยด้วยการลดความเร็วในการขับขี่และต่อยอดไปถึงการลดอุบัติเหตุ โดยการนำ “กรวยจราจร” มาใช้เป็นตัวแก้ปัญหา เนื่องจากในมุมมองของผู้ขับขี่กรวยจราจร คือหนึ่งในอุปสรรคบนท้องถนนนั่นเอง
“เซฟโคน เซฟคน”  (Save Cone Save Khon)
สำหรับรางวัลที่นักศึกษาทั้ง 4 คนได้รับ เป็นทริปทัศนศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมรับทุนการศึกษา 100,000 บาท และทุนสนับสนุนอาจารย์ที่ปรึกษา 50,000 บาท และยังมีโอกาสฝึกงานที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 600,000 บาท
นักศึกษาทั้ง 4 คนได้รับรางวัลเป็นทริปทัศนศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น
MGR MOTOING ได้รับเกียร์ติเป็นหนึ่งในหลายสื่อร่วมติดตามการเดินทางทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับนักศึกษาทั้ง 4 คน โดยวันแรกได้เดินทางไป Toyota Mega Web สัมผัส และทำความรู้จักกับเทคโนโลยีในอนาคต ที่ทางโตโยต้าสร้างขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นระบบการทดลอง Toyota Safety Sense Virtual Drive จำลองระบบความปลอดภัยของโตโยต้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และToyota Driving Simulator จำลองการขับขี่รถของโตโยต้า รวมถึงชม- ศึกษารถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นรถยนต์ไฮบริด รถยนต์แบบเซลล์เชื้อเพลิง และยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ในอนาคต
สถานที่แรกที่ไป Toyota Mega Web
ชมเทคโนโลยีของ PRIUS
Toyota Driving Simulator จำลองการขับขี่รถของโตโยต้า
โตโยต้า KIKAI
รถโตโยต้า รุ่น C-HR  จอดโชว์อยู่กลางฮอลล์
Toyota Safety Sense Virtual Drive จำลองระบบความปลอดภัยของโตโยต้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
นักศึกษา ทั้ง 4 คน พรีเซนต์โครงการ“เซฟโคน เซฟคน ให้ผู้บริหารญี่ปุ่น ฟัง

อีกวัน ไปสนามทดสอบรถ โมบิลิต้าส์ (Mobilitas)
วันที่สองนักศึกษาและสื่อมวลชนเดินทางไป ณ ศูนย์ศึกษาความปลอดภัยโตโยต้า สนามโมบิลิต้าส์ (Mobilitas) เพื่อให้ผู้ชนะเลิศของโครงการได้รับประสบการณ์การเรียนรู้-อบรมการขับขี่รถบนท้องถนนอย่างไรให้ปลอดภัย ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจริง เริ่มจากท่านั่งขับรถที่ถูกต้อง การจับพวงมาลัย การทดสอบการเบรก บนถนนธรรมดา และถนนเปียก ถนนลื่น เสมือนขับรถบนหิมะ การขับสลาลม (Slalom) และการใส่แว่นที่เมื่อใส่แล้วจะเหมือนคนเมา ให้ลองดูว่าสามารถควบคุมรถอยู่หรือไม่ ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ในการขับรถอย่างปลอดภัยและถูกวิธีให้แก่ผู้ชนะเลิศในโครงการนี้
พวกเราถ่ายรูปได้แค่ภายนอก เจ้าหน้าญี่ปุ่น ไม่ให้เข้าไปในสนาม
ผู้ฝึกสอน กำลังอธิบาย การขับขี่ปลอดภัย
กรวย เสมือนสิ่งของบางอย่างที่อยู่รอบรถ ทุกครั้งก่อนขึ้นรถ เราควรเดินสำรวจรอบรถเสียก่อน
ก่อนจะขึ้นรถ เราควรเช็ครอบรถก่อน รวมถึงใต้ท้องรถด้วย เผื่อมีอะไรอยู่
2 หนุ่ม หมิง กับ บอม ร่วมเรียนทดสอบขับขี่ปลอดภัย พร้อมสื่อมวลชน
4 หนุ่ม ให้สัมภาษณ์ ก่อนลงเรียน
มาเยื่ิยมชม โยต้า หอนิทรรศการโตโยต้าไคคัง (Toyota Kaikan)
นอกจากนี้ยังเดินทางไปเยี่ยมชมและทำความรู้จักกับเทคโนโลยีล้ำอนาคตของโตโยต้า หอนิทรรศการโตโยต้าไคคัง (Toyota Kaikan) ชมเทคโนโลยียานยนต์ รถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดและรถในอนาคต ตลอดจนแนวคิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า พร้อมชมโรงงานประกอบรถยนต์ Motomachi ซึ่งประกอบรถ 4 รุ่น Crow ,Mark X ,GS , MIRAI นักศึกษาได้เรียนรู้การประกอบรถเป็นอย่างไร มีกี่ขั้นตอน กว่ารถ 1 คันจะออกจากสายการผลิตและส่งไปจำหน่ายให้กับลูกค้า และสุดท้ายก่อนบินกลับ ทางโตโยต้าได้พาไปเรียนรู้กิจกรรมล่าสุด Driving Barista คือการใช้แอปพลิเคชันรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ไม่จับสมาร์ทโฟนในระหว่างการขับขี่ในระยะทางที่กำหนด ถ้าทำได้จะสามารถรับประทาน กาแฟฟรี



มีเด็ก ๆ เข้ามาเรียนรู้ตลอดเวลา

Driving Barista เป็นแคมเปญที่มีความคิดสร้างสรรค์มากๆ
แอปพลิเคชันท้าทายให้ผู้ขับขี่ไม่เล่นมือถือขณะขับรถ
ถึงบรรทัดนี้ อยากบอกว่า กิจกรรมทัศนศึกษาและอบรมด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ที่โตโยต้าจัดให้กับนักศึกษาผู้ชนะเลิศ เพื่อให้ทุกคนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ได้อบรมด้านความปลอดภัยบนท้องถนน และได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ตลอดจนกระตุ้นให้มีการปลูกจิตสำนึกในการร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างยั่งยืน
นอกจากเรียนรู้งานแล้ว ยังได้ไปเที่ยว สวนสนุกยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ
เปิดใจ 4 หนุ่ม จาก ABAC ต่อการเยือน ญี่ปุ่น

ผู้ชนะโครงการ Campus Challenge 2016 เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สามารถนำแคมเปญ “เซฟโคน เซฟคน” (Save Cone Save Khon) ชนะใจกรรมการมาได้ จากคู่แข่ง 670 ทีม ถือว่าพวกเขาไม่ธรรมดาเลย เราลองมาฟังที่มา-ที่ไปของแผนการรณรงค์ความปลอดภัยบนท้องถนน พร้อมความรู้สึกต่อการเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้กัน
ชยกร สุทธิศิริ (สกาย)
เริ่มจากคนแรก ชยกร สุทธิศิริ (สกาย)

คิดอย่างไรถึงร่วมโครงการ

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ Toyota Campus Challenge 2016 นั้น ผม(สกาย) และเพื่อนๆในทีม AVEM ได้รับทราบรายละเอียดจากทางคณะภาควิชาการตลาด ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญครับ สำหรับสาเหตุในการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนที่ต้องการจะพัฒนาความสามารถของตนเองอยู่เสมอครับ ผมรู้สึกว่ายังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมยังไม่รู้ ยังมีอีกหลายเรื่องราวมากมายรอคอยให้ผมได้สัมผัสและทดลอง ดังนั้น เมื่อผมได้เห็นโอกาสให้ผมได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากข้างนอกห้องเรียน ผมจึงไม่รอช้าที่จะคว้าโอกาสนั้น และเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้อย่างสุดตัวครับ

ไอเดีย เซฟโคน เซฟคน เกิดขึ้นได้อย่างไร

แนวความคิดของ เซฟโคน เซฟคน นั้น อันที่จริงแล้วเริ่มต้นจากการค้นคว้า ปัญหาที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุภายในวิทยาเขตครับ ซึ่งเมื่อพวกเราทราบว่า ความเร็ว คือเป้าหมายหลัก การระดมสมองของทุกๆคนในทีมจึงเกิดขึ้นครับ พวกเราต้องการจะสร้างแคมเปญอะไรสักอย่าง ที่สามารถสร้างผลกระทบ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ขับขี่ภายในมหาวิทยาลัยของเราได้จริง แคมเปญที่สนุกสนาน เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน และยังแฝงถึงข้อความที่พวกเราต้องการจะสื่อนั่น ทำให้พวกเราได้เลือกที่จะใช้ กรวยจราจร หรือ โคน เป็นเครื่องมือหลักครับ เพราะด้วยประโยชน์ใช้สอยของกรวยจราจรนั้น มีหน้าที่ในการแบ่งช่องทาง พร้อมทั้งป้องปรามการขับขี่ให้ช้าลง ซึ่งตรงกับเป้าประสงค์ที่พวกเราได้วางเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรก นอกจากนี้เรายังต้องการใส่คามคิดสร้างสรรค์และข้อความลงไปด้วย จึงเกิดเป็นแก่นความคิด Put Life Into Cones หรือ การใส่ชีวิตลงไปในตัวกรวยจราจรนั่นเอง สิ่งที่พวกเราต้องการจะสื่อให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ คือ คุณจะขับรถอย่างไร หากกรวยจราจรบนท้องถนนคือผู้คนจริงๆ ซึ่งแน่นอนครับ ผู้ขับขี่ย่อมต้องชะลอลงเพื่อไม่ไปชนผู้คน และเมื่อคุณขับรถช้าลง ไม่เพียงแต่คุณจะช่วยกรวยจราจรเหล่านี้แล้ว คุณยังสามารถช่วยชีวิตของผู้คนจริงๆในพื้นที่ด้วยเช่นกันครับ

ได้อะไรกับการมาญี่ปุ่นครั้งนี้

อันดับแรกเลย คือความสนุกครับ บอกได้เลยว่าทริปศึกษาดูงานครั้งนี้สนุกมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ต่างๆที่พวกผมมีโอกาสได้ไปสัมผัส นอกจากนี้เรายังได้ความรู้มากมายจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจากบริษัท Toyota Motor Corporation ผ่านเทคโนโลยีและงานวิจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Toyota Safety Sense ซึ่งจำลองให้เราได้เห็นถึงระบบรักษาความปลอดภัยอันล้ำสมัย หรือ Drive Stimulator ที่ทำให้พวกเราได้เห็นถึงความแตกต่างทางด้านศักยภาพของรถยนต์แต่ละแบบอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีระบบ Passive ในการรักษาความปลอดภัยต่อตัวผู้ขับขี่หลังเกิดอุบัติเหตุ รวมไปถึงแนวความคิดดีๆที่ซึ่งทำให้พวกผมสามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาโครงการของพวกผมให้ดียิ่งๆขึ้นไปได้อีกครับ
ได้เห็น ภูเขาไป ฟูจิ แบบใกล้ชิด
ชอบที่ไหนมากสุด เพราะอะไร

สำหรับสถานที่ที่ผมชอบที่สุด คือพิพิธภัณฑ์ของทางโตโยต้าครับ ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบฟังเรื่องราวความเป็นมาอยู่แล้ว ทำให้รู้สึกถูกใจการไปเยือนพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้เป็นพิเศษ นอกจากนี้ ภายในพื้นที่จัดแสดงยังมีการโชว์นวัตกรรม ทั้งที่พัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้ว และอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิจัย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ทำให้ผมรู้สึกตื่นตาตื่นใจมากๆครับ

อีกสถานที่ที่ชอบมากๆคือ Universal Studio Japan ครับ คือเป็นสถานที่ที่ผมอยากไปมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว พอได้มีโอกาสไปในทริปนี้เลยดีใจมากๆ โดยเฉพาะในโซนของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่อลังการ ตรึงตาตรึงใจได้มากที่สุดครับ

จากการมาดูงาน มีโครงการไหน นำมาปรับปรุงใช้ในเมืองไทยได้บ้าง

จากที่ได้ไปศึกษาดูงานกับทางโตโยต้า สำหรับผมแล้ว ผมมองว่ามีหลายส่วนที่สามารถนำมาใช้ และพัฒนาสภาพความปลอดภัยของเมืองไทยครับ อาทิ ปัจจัยสามปัจจัยที่ทำให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งต้องมาจากสภาพแวดล้อม รถยนต์และตัวบุคคล ซึ่งอย่างในญี่ปุ่นได้มีการออกนโยบายต่างๆมากมายเพื่อรองรับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายต่างๆ หรือความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ในการผลิตรถยนต์ที่เหมาะสม หรือมีความปลอดภัยสูง หรือการปลูกฝังจิตสำนึกขับขี่ปลอดภัยตั้งแต่วัยเด็กๆ

อีกหนึ่งโครงการจากโตโยต้า ที่ผมประทับใจมากๆคือ Driving Barista ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันท้าทายให้ผู้ขับขี่ไม่เล่นมือถือขณะขับรถ โดยทำการวางคว่ำมือถือเป็นระยะทางที่กำหนดเพื่อแลกกับคูปองกาแฟฟรี ผมรู้สึกว่า Driving Barista เป็นแคมเปญที่มีความคิดสร้างสรรค์มากๆ แถมยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วยเพื่อเพิ่มลูกเล่นใหม่ๆ เชื่อว่าหากนำเข้ามาประยุกต์ในเมืองไทยจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากๆครับ
กฤษณ์ โสภาราษฎร์ (บอม)
กฤษณ์ โสภาราษฎร์ (บอม)

คิดอย่างไรถึงร่วมโครงการ

เรื่องมันเริ่มจากการที่ผมได้เรียนห้องเดียวกับ สกายและหมิงซึ่งทั้งสองมีความสนใจในการทำกิจกรรมต่างๆภายในมหาวิทยาลัยพอได้ทราบข่าวเรื่องการแข่งกันโตโยต้าขึ้นมา ทั้งสองได้เข้ามาชวนผมเข้าร่วมโครงการในฐานะหนึ่งในสมาชิกของทีม AVEM ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่าจะเข้ามาทำกิจกรรมดังเกล่าซึ่งผมมองว่าในเทอมดังเกล่านี้มีวิชาเรียนที่หนักมากหลายตัวอยู่แล้วแต่พอผมเห็นความมุ่งมั่นและกระตือรือร้นของทั้งสองคนในการที่จะทำการแข่งขันครั้งนี้สุดท้ายผมก็เปลี่ยนใจอยากที่จะช่วยพวกเขาไปถึงชัยชนะ จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมเดินทางไปกับพวกเขา

ไอเดีย เซฟโคน เซฟคน เกิดขึ้นได้อย่างไร

เกิดขึ้นจากการที่ในทีมได้ลองคิดลองผิดลองถูกในการที่จะหาวิธีในแก้ปัญหาในการลดความเร็วที่มีประสิทธิภาพที่สุดมาใช้ในมหาวิยาลัยอัสสัมชัญ ประกอบกับข้อจำกัดในหลายๆด้านทั้งตัวของงบประมานเองหรือของจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ของมหาลัย ทางทีมต้องการที่จะวางสิ่งกีดขวางลงบนท้องถนนภายในเอแบคซึ่งมีความกว้างขวางมากเพื่อให้แคบลงและมีการแบ่งเลนของถนนอย่างชัดเจนเพื่อที่จะช่วยในการลดความเร็วของผู้ที่สัญจรไปมาภายในเอแบคและแล้วทีมก็ได้เล็งเห็นการใช้ประโยชน์จากกรวยจราจรธรรมดาๆ ประกอบกับการดัดแปลงเหล่ากรวยจราจรให้มีชีวิตโดนการติดสติ๊กเกอร์หน้าคนที่สามารถช่วยลดความเร็วได้จริง และสามารถสร้างความแตกต่างขึ้นมาได้
สนุกสนาน พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ เท็มโปะซาน
ได้อะไรกับการมาญี่ปุ่นครั้งนี้

จากการที่ผมได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของรถและความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศญี่ปุ่น ผมได้เห็นอะไรใหม่ๆมากมายที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นวิธีการคิดของคนญี่ปุ่น การใส่ใจในทุกๆรายละเอียด การใช้ชีวิตของผู้คน การบริหารบ้านเมือง ซึ่งผมมีความเห็นว่าความรู้ที่ผมได้รับสามารถนำกลับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและประเทศของผมเองได้อย่างดีเยี่ยมครับ

ชอบที่ไหนมากสุด เพราะอะไร

ผมชอบนาโกยาที่สุดครับ เนื่องจากเมืองนี้เป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ แต่ผู้คนกลับไม่พลุกพล่านมากนัก มีทุกอย่างครบครันที่เมืองใหญ่ควรจะมี สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆก็มากมาย สรุปแล้วเมืองนี้มีการผสมผสานของหลายๆอย่างเข้าด้วยกันซึ่งส่วนตัวผมคิดว่ามันลงตัวมากครับ

จากการมาดูงาน มีโครงการไหน นำมาปรับปรุงใช้ในเมืองไทยได้บ้าง

ผมคิดว่าโครงการการทำแอปพลิชันเพื่อช่วยในการรณรงค์งดใช้ smart phone ขณะขับขี่รถยนต์ โดนการคว่ำหน้า smart phone ลงในรถและไม่แตะต้อง smart phone เลยระหว่างขับขี่เพื่อที่จะสะสมคะแนนไปแลกกาแฟ สามารถนำมาปรับปรุงใช้ในเมืองไทยได้ดีเลยทีเดียวครับ
โชคชัย ธีระจันทเศรษฐ (หมิง)
โชคชัย ธีระจันทเศรษฐ (หมิง)

คิดอย่างไรถึงร่วมโครงการ

ผมรู้สึกอยากทำแคมเปญนี้มากเพราะได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอุบัติเหตุภายในมหาวิทยาลัยและถือเป็นการรณรงค์ให้คนขับรถช้าลงอีกด้วย

ไอเดีย เซฟโคน เซฟคน เกิดขึ้นได้อย่างไร

แนวคิด save cone save คน คือการที่เรามีกรวยสีฟ้าวางคั่นระหว่างเลนเพื่อให้คนขับช้าลงและเมื่อเราไม่ชนกรวย (โคน) เราก็ไม่ชนคน กรวยก็เปรียบเหมือนชีวิตคนหนึ่งคน เปรียบเสมือนคนในครอบครัว ฉะนั้นขับช้าๆจะได้ไม่ชนกรวยและไม่ชนคน

ได้อะไรกับการมาญี่ปุ่นครั้งนี้

ทริปญี่ปุ่นนี้ ผมยินดีและดีใจเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสมาทัศนศึกษากับทางโตโยต้าและยังได้ความรู้มากมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆที่เข้ามาช่วยในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ชอบที่ไหนมากสุด เพราะอะไร

ผมชอบการไปดู โรงงานการผลิตรถยนต์โตโยต้า ทำให้ได้รู้ว่ากว่าจะได้รถมาคันหนึ่ง ต้องผ่านกระบวนการผลิตอะไรบ้าง และมีการใช้กลยุทธ์ใดในการผลิต

จากการมาดูงาน มีโครงการไหน นำมาปรับปรุงใช้ในเมืองไทยได้บ้าง

ชอบถนนที่ญี่ปุ่นซึ่งมีการติดป้ายลดความเร็วตามทางทำให้คนขับตระหนักในการขับรถช้าลงมากขึ้น และมีการใช้กฎหมายที่รุนแรงทำให้คนไม่กล้าทำผิดกฎหมาย
เข้าวัด อาซะกุสะ  ก็ต้องรับพระ หน่อย
พอล เวียนนี ลาปุส มาริสเตล่า (พอล)
พอล เวียนนี ลาปุส มาริสเตล่า (พอล)

คิดอย่างไรถึงร่วมโครงการ

พวกเราได้ทราบข่าวการแข่งขันนี้จากวิชา Integrated Marketing Communication ซึ่งหลังจากที่ได้ฟังก็รู้สึกว่าเป็นการแข่งขันที่น่าสนใจ และสามารถเปิดโอกาสใหม่ๆ และพัฒนาตัวพวกเราไปยังอีกขั้น อีกหนึ่งสาเหตุคือทีมพวกเราต้องการที่จะไปญี่ปุ่นด้วยครับ

ไอเดีย เซฟโคน เซฟคน เกิดขึ้นได้อย่างไร

เรามุ่งไปที่การหาไอเดียในส่วนการปฎิบัติจริง ถึงวิธีที่จะช่วยทำให้รถขับขี่ช้าลง เพราะก่อนหน้านี้ พวกเราได้ทำการศึกษาและพบว่าความเร็วคือปัจจัยสำคัญ ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งพวกเราก็ได้คิดถึงไอเดียในการทำให้ถนนแคบลงด้วยการวางกรวยจราจร จากนั้นพวกเราได้มีการต่อยอดมากขึ้น จนเกิดเป็น Save Cone Save คน ครับ

ได้อะไรกับการมาญี่ปุ่นครั้งนี้

จากทริปไปญี่ปุ่นครั้งนี้ พวกเราได้เรียนรู้หลายๆอย่างจาก Toyota Safety Sense และเป้าหมายของทางบริษัทที่ต้องการทำให้โลกเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น ด้วยการผลิตรุ่น Mirai ที่ขับเคลื่อนด้วย Hydrogen ซึ่งพวกเขาได้ตั้งใจว่า ภายในปี 2050 พวกเขาจะต้องสามารถทำปณิธาณ Zero Carbon Footprint ให้สำเร็จครับ

ชอบที่ไหนมากสุด เพราะอะไร

ผมชอบการทัวร์โรงงานครับ เป็นเรื่องที่ดีมากๆที่ได้มีโอกาสเยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตของ Toyota รวมถึงวิธีแบบ คัมบัง (Kanban) ระบบการใช้บัตร ป้าย บันทึกสั้น ๆ ในระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี, ระบบ จิโดกะ (Jidoka) การควบคุมตัวเองอัตโนมัติ เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการผลิตจะหยุดไลน์การผลิตเพื่อแก้ไขทันที และไคเซ็น (Kaizen) คือพนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นต่อหัวหน้างานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น (Kaizen)

จากการมาดูงาน มีโครงการไหน นำมาปรับปรุงใช้ในเมืองไทยได้บ้าง

ผมสามารถใช้ความรู้เรื่องสามปัจจัยที่ Toyota ตั้งไว้ในการทำให้เกิด Zero Accident ครับ ซึ่งสามปัจจัยนั้นคือ ยานพาหนะ คน และสิ่งแวดล้อม ด้วยสามปัจจัยเหล่านี้ เราสามารถบรรลุเป้าหมายลดอุบัติเหตุได้ครับ
ภาพหมู่ผู้เข้ารอบ สุดท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น