xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ผสานมูลนิธิอุทกพัฒน์ รวมพลังประชารัฐ สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำน่าน ตั้งเป้าฟื้นฟูเขาหัวโล้นกว่า 3,000 ไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต (แถวหน้าที่ 4 จากขวา) รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดกิจกรรม “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ สร้างฝายชะลอน้ำและปลูกกล้าไม้ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน” โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยดร.รอยล จิตรดอน (แถวหน้าที่ 5 จากขวา) เลขาธิการมูลนิธิ และกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย โดยนายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร (แถวหน้าที่ 3 จากขวา) กรรมการผู้จัดการกองทุน พร้อมด้วยพลตรีผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข (แถวหน้าที่ 5 จากซ้าย) รองแม่ทัพภาคที่ 3  และนายทา อุปจักร (แถวหน้าที่ 2 จากซ้าย) นายกเทศมนตรีตำบลบ่อเกลือใต้ ร่วมกิจกรรม ณ ชุมชนบ้านดงผาปูน ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เมื่อเร็วๆ นี้
กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย ผสานความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อยอดความสำเร็จจากการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี สู่การพัฒนาฯ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ที่ประสบปัญหาเขาหัวโล้นก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งและดินถล่ม คาดหลังการดำเนินงานในปี 2562 ทั้ง 2 ลุ่มแม่น้ำจะช่วยให้ประชากร 4,757 ครัวเรือนมีน้ำอุปโภค-บริโภค และเพิ่มแหล่งน้ำสำรองสำหรับการเกษตรรวม 15,256 ไร่ ให้ทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืนตลอดทั้งปี รวมทั้งฟื้นฟูพื้นที่เขาหัวโล้นกว่า 3,000 ไร่ ให้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและป้องกันดินถล่ม

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย กล่าวว่า "ปัญหาเรื่องน้ำเป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย เห็นถึงความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่แม่น้ำปราจีนบุรี มาตั้งแต่ พ.ศ.2558 จนสัมฤทธิ์ผลสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่ตำบลนาแขมและตำบลเมืองเก่าที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน ให้กลายเป็นชุมชนต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนสูงสุดแก่ส่วนรวมอย่างแท้จริง จึงขยายผลการดำเนินงานสู่พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน บริเวณชุมชนบ้านดงผาปูนและบ้านนาบง ซึ่งประสบปัญหาเขาหัวโล้น ที่ควรได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบอย่างเร่งด่วน โดยผสานพลังประชารัฐในจังหวัดน่าน ร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำให้กลับมาอย่างยั่งยืน”

“โครงการ "พัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน่าน" มีระยะการดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2560 - พ.ศ.2562 โดยกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยให้การสนับสนุนงบประมาณรวม 12 ล้านบาท โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วยการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้สามารถพัฒนาและบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง และพร้อมขยายผลความสำเร็จสู่พื้นที่ใกล้เคียง คาดว่าหลังโครงการฯ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2562 จะสามารถฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบปัญหาเขาหัวโล้นกว่า 3,000 ไร่ ให้กลับเป็นป่าต้นน้ำดังเดิม เพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ป้องกันดินถล่ม ส่งผลให้ประชากร 272 ครัวเรือนมีน้ำอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรตลอดทั้งปี โดยจัดกิจกรรมนำร่องการดำเนินงานระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เป็นบริเวณบ้านดงผาปูน ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ด้วยการสร้างระบบน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในดินและการปรับปรุงดิน ด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นในบริเวณลำห้วยจำนวน 5 ฝาย และการปลูกพืชอุ้มน้ำบริเวณร่องน้ำ เช่น กล้วยป่า กล้วยน้ำว้า และต๋าว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ให้สามารถอุ้มน้ำได้ดีขึ้น และเกิดเป็นแผนแม่แบบการดำเนินงานฟื้นฟูเขาหัวโล้นเพื่อการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำอื่นต่อไป” นายพิทักษ์ กล่าวเสริม

ดร.รอยล จิตรดอน เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “แนวทางการพัฒนาและขยายผลปัญหาเขาหัวโล้นในชุมชนบ้านดงผาปูนและบ้านนาบง เป็นการน้อมนำกรอบแนวคิคและการทำงานตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ความว่า “การจัดการน้ำชุมชนนั้น เห็นความสำเร็จในบางชุมชนแล้ว ให้ชุมชนชาวบ้านที่มีความรู้ ประสบความสำเร็จ มีประสบการณ์จัดการและพัฒนาน้ำในพื้นที่ มาช่วยขยายผลไปยังชุมชนอื่น” ด้วยการเชื่อมโยงหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อความยั่งยืนในการจัดการน้ำชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นการขานรับคำสั่งการของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่พบว่าพื้นที่เขาส่วนใหญ่ในจังหวัดน่านมีสภาพเป็นเขาหัวโล้น เนื่องจากชาวบ้านยังคงทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวในพื้นที่เขา อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ไม่มีระบบน้ำสำหรับปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น ด้วย 3 แนวทางในการจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำ ประกอบด้วย 1) การปรับเพิ่มโครงสร้างน้ำทั้งระบบถังสำหรับอุปโภค-บริโภคที่มีอยู่เดิม ขนาด 130 กว่าลิตร ให้ใช้การได้ทั้ง 7 ถัง 2) การพัฒนาระบบน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดิน ด้วยฝายชะลอความชุ่มชื้น ปรับปรุงดิน ปลูกกล้วยป่า ต๋าว และพืชเสริมอื่นๆ และ 3) การเพาะปลูก โดยมุ่งเน้นให้ในพื้นที่มีการปรับปรุงพื้นที่การเกษตรทั้งแนวราบและแนวสูง ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืชใหม่เป็นแบบ “ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง” และเกษตรผสมผสานเพื่อให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำสำรองสำหรับอุปโภค-บริโภค และการเกษตรได้อย่างพอเพียงในฤดูน้ำแล้ง เป็นพื้นที่ต้นแบบของความสำเร็จในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เกิดเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน และขยายผลความสำเร็จสู่ชุมชนอื่นต่อไป”

"ผมรู้สึกยินดีที่ได้เห็นการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาชน กองทัพภาคที่ 3 และนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพปัว จังหวัดน่าน อาสาสมัครพนักงานในกลุ่มบริษัทฮอนด้า ผู้จำหน่ายรถยนต์และจักรยานยนต์ฮอนด้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนบ้านดงผาปูนและบ้านนาบง ที่ได้ร่วมมือกันสำรวจ ศึกษา รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาเชิงลึก สู่การเสนอแนวทางการแก้ไขและพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นแบบแผนการบริหารจัดการพื้นที่ต้นน้ำอย่างยั่งยืน ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และขอยืนยันว่าเราพร้อมที่จะสนับสนุน และมอบความช่วยเหลือแก่พี่น้องชาวไทยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดการน้ำที่เป็นรากฐานสำคัญในการดำรงชีวิต" นายพิทักษ์ กล่าวทิ้งท้าย













เกี่ยวกับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย

กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย ได้ร่วมกันประกาศจัดตั้งกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฮอนด้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 เพื่อเตรียมความพร้อมในการมอบความช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับประชาชนไทยในยามที่ประเทศไทยอาจเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว ดินถล่ม ภัยหนาว ภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินงานภายใต้กองทุนดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที โดยมอบเงินสมทบ 1,000 บาทต่อการขายรถยนต์หนึ่งคัน 100 บาทต่อการขายรถจักรยานยนต์หนึ่งคัน และ 10 บาทต่อการขายเครื่องยนต์อเนกประสงค์ 1 เครื่อง ปัจจุบัน กองทุนมียอดเงินสะสมอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559 ทั้งนี้ กองทุนฯ ได้กำหนดภารกิจในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเงินทุน 2) ด้านวัสดุอุปกรณ์ 3) ด้านการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และ 4) ด้านการส่งเสริมความรู้ในการรับมือภัยพิบัติ

(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)

กำลังโหลดความคิดเห็น