xs
xsm
sm
md
lg

“เทคนิคสกลนคร” แชมป์ฮอนด้าท้าประหยัด ทุบสถิติใหม่ 2,889.927 กม./ลิตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทีม “Genuine 2” จากวิทยาลัยเทคนิค สกลนคร สร้างสถิติใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิง ปีที่ 19 พร้อมรับสิทธิ์เดินทางเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันระดับนานาชาติ The 37th Honda Eco Mileage Challenge 2017 ที่ประเทศญี่ปุ่น
จัดแข่งขันในสนามระดับโลกเป็นปีที่สองติดต่อกัน
บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดการแข่งขันฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิง ปีที่ 19 ประจำปี พ.ศ. 2559 “Honda Eco Mileage Challenge” ภายใต้โครงการเอ.พี. ฮอนด้า จุดพลังฝัน ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ โดยมีทีมเข้าร่วมชิงชัยรวม 476 ทีม

ผลปรากฎว่าผู้ชนะที่สามารถทำสถิติประหยัดเชื้อเพลิงได้ดีที่สุดในประเภทรถประดิษฐ์เป็นของ ทีม “Genuine 2” จากวิทยาลัยเทคนิค สกลนคร สนับสนุนโดย บจก. ศิริยนต์วัฒนา (1995) มีสถิติค่าประหยัดน้ำมัน 2,889.927 กม./ลิตร และความเร็วเฉลี่ย 28.178 กม. /ชม.(สถิติสูงสุดตลอดการจัดงาน 18 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,879.77กม./ลิตร) คว้าแชมป์และถ้วยพระราชทานฯ ไปครองได้สำเร็จ
บรรยากาศช่วงปล่อยตัว
“Genuine 2” จากวิทยาลัยเทคนิค สกลนคร คว้ารางวัลชนะเลิศ
อาจารย์ประมวล รอนยุทธ ครูชำนาญการพิเศษ แผนกช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิค สกลนคร และผู้จัดการทีม Genuine 2 เผยว่า ความสำเร็จครั้งนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเป็นชัยชนะครั้งที่ 3 จากการเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่ 19

“ต้องขอบคุณฮอนด้าที่จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ เพราะนักศึกษาที่เรียนช่าง มีโอกาสนำความรู้ด้านทฤษฎีมาทดลองปฏิบัติจริง ทำให้พวกเขาได้ฝึกความสามัคคีผ่านการทำงานเป็นทีม ซึ่งสิ่งนี้เองคือเบื้องหลังความสำเร็จที่นอกเหนือจากถ้วยรางวัลที่เด็กๆ ได้รับ” ผู้จัดการทีม Genuine 2 กล่าว
คันนี้หน้าตาคุ้นๆ
ส่วนผู้ชนะอันดับ 2 คือ ทีม “RANGO 01” จากวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ สถิติประหยัดน้ำมัน 2,678.466 กม. /ลิตร และความเร็วเฉลี่ย 27.211 กม./ชม. ซึ่งทั้งคู่ยังครองอันดับ 1 และ 2 ของการแข่งขันในระดับอาชีวศีกษาด้วยเช่นกัน โดยทั้งสองทีมนี้จะได้สิทธิ์เดินทางร่วมเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันระดับนานาชาติ The 37th Honda Eco Mileage Challenge 2017 ที่ประเทศญี่ปุ่น

ขณะที่ผู้ชนะในประเภทอื่นๆ มีดังนี้ รถประดิษฐ์ ระดับอุดมศีกษา : ทีมตะโกราย.1 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา สนับสนุนโดย หจก. ซ้งเกษตรยนต์ (1,257.448 กม./ลิตร และ 25.559 กม./ชม.) , รถประดิษฐ์ ระดับประชาชนทั่วไป : ทีม Infernal deva จากร้านซ้งบริการ จ.นครปฐม (1,003.405 กม./ลิตร และ 31.661 กม./ชม.) , รถตลาด : ทีมกระเทียมโทน จากวิทยาลัยเทคนิค ศรีสะเกษ สนับสนุนโดย บจก. ศรีสะเกษกิจเจริญไทย (265.382 กม./ลิตร และ 26.881 กม./ชม.) และรถประดิษฐ์ ประเภทสวยงาม : ทีม GOLD GEAR2 จากสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล กรุงเทพฯ
รถประดิษฐ์เฟรมต้องทำขึ้นเอง แต่เครื่องยนต์ต้องใช้ของฮอนด้าแบบหัวฉีด PGM-FI เท่านั้น
สำหรับการแข่งขันฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิง ปีที่ 19/2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมทักษะด้านวิศวกรรมยานยนต์ทั้งระบบให้แก่อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทั้งในด้านวิศวกรรมยานยนต์และ ความคิดสร้างสรรค์ ตั้งแต่การวางแผน การประดิษฐ์โครงสร้าง และเฟรมตัวถังรถ จนถึงการคิดค้นพัฒนาระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเพื่อเป็นการต่อยอดให้ได้มีการเรียนรู้นอกห้องเรียน รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การทำงานร่วมกันเป็นทีม มีความรับผิดชอบ และกล้าแสดงออกที่ถูกต้อง ตลอดจนปลูกฝังและรณรงค์ให้เยาวชนมีจิตสานึกเรื่องการลดใช้พลังงาน ตระหนักถึงสภาวะโลกและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยมีหลักเกณฑ์ในการแข่งขัน จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วยประเภทรถประดิษฐ์ และประเภทรถตลาด โดยในประเภทรถประดิษฐ์จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา และระดับประชาชนทั่วไป กำหนดกติกาให้รถทุกคันใช้ตัวถังที่มาจากการประดิษฐ์ขึ้นเองเท่านั้น และติดตั้งเครื่องยนต์ระบบหัวฉีด PGM-FI ที่ฮอนด้าให้การสนับสนุน ส่วนในประเภทรถตลาด จะเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าแข่งขันได้โดยใช้รถจักรยานยนต์ฮอนด้าเวฟ110ไอ, ฮอนด้าซีแซดไอ และ ฮอนด้าดรีม110ไอ โดยสามารถปรับแต่งเครื่องยนต์ได้ตามกติกาที่กำหนดไว้ และลงแข่งขันโดยใช้น้ำมันแก๊ซโซฮอลล์ 91 ด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 25 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ทุกทีมแข่งสามารถดัดแปลงเครื่องยนต์ภายใต้เงื่อนไข กติกา เทคนิค ที่เหมือนกัน เน้นเรื่องของความปลอดภัย โดยทีมที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ (สถิติคำนวณในหน่วยของ กม./ลิตร)
“RANGO 01” จากวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ ได้ที่สอง
ทีมกระเทียมโทน จากวิทยาลัยเทคนิค ศรีสะเกษ ได้ที่หนึ่งกลุ่มรถตลาด
อันดับหนึ่ง ประเภทรถสวยงาม ทีม GOLD GEAR2 จากสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
ประเภทรถสวยงาม อันดับสอง ทีม PN-TECH 2016 จากวิทยาลัยเทคโนโลยี เอ็น-เทคบริหารธุรกิจ ปากคาด
ประเภทรถสวยงาม อันดับสาม ทีม KTCM AUTO จากวิทยาลัยเทคนิค กาญจนาภิเษก มหานคร
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ MGR Motoring

กำลังโหลดความคิดเห็น