xs
xsm
sm
md
lg

ลองขับ“นิสสัน นาวารา”ดีเซล 2.3 ทวินเทอร์โบ คอยล์สปริง...ลุยทะเลทรายซาฮารา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เกิดเป็นปิกอัพหนึ่งคัน มันน่าเห็นใจพอๆกับการเป็นนายกเมืองไทยช่วงนี้นะครับ เพราะต้องมีทั้งความหล่อ หรู ถึก ทน บนสมรรถนะการขับขี่อันยอดเยี่ยมจากเครื่องยนต์ เกียร์ ช่วงล่าง ความสามารถในการบรรทุกและการทรงตัว พร้อมอัตราบริโภคน้ำมันที่เป็นมิตร ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ต้องมาพร้อมกันทั้งหมดในรถรุ่นเดียว ที่สำคัญเมื่อได้ครอบครองเป็นเจ้าของแล้วต้องยืดอก เชิดหน้าชูตาได้



นิสสัน เอ็นพี300 นาวารา โมเดลเชนจ์ ที่เปิดตัวในเมืองไทยช่วงกลางปี 2557 พยายามรักษาทรงหรือความมีชื่อเสียงเรื่องความสามารถในการบรรทุกของตัวเองด้วยคอนเซปต์ Tough and Smart หรือเกิดมาแกร่งพร้อมความหล่อฉลาดครบสูตร(คือรวมข้อดีในทุกๆด้านเอาไว้)

แม้บ้านเราเปิดตัว “นาวารา โฉมใหม่” ไปสักระยะและเปลี่ยนแนวทางสื่อสารการตลาดไปหลายดอก หรือตอนนี้ไม่มีชื่อ “เอ็นพี300” นำหน้าแล้ว แต่บางภูมิภาคในโลกอาจจะเพิ่งได้สัมผัส หรือประเทศใหญ่ๆอย่าง จีน บราซิล แอฟริกา ยังไม่เริ่มขายด้วยซ้ำ ล่าสุดนิสสัน ยุโรป เป็นเจ้าภาพเชิญสื่อมวลชนจากทั่วโลกให้ไปร่วมทดสอบปิกอัพ “นาวารา” ในอารมณ์ที่ต่างไป (ในยุโรปเพิ่งเริ่มขายปลายปีที่แล้ว) ซึ่งคราวนี้ยกพลขนขบวนไปถึงทะเลทราย“ซาฮารา”

อย่างที่ทราบกันครับว่า ซาฮาราเป็นทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดของโลก กินดินแดนทวีปแอฟริกาทางเหนือตั้งแต่ฝั่งตะวันตกไปจรดตะวันออก ส่วนการลองขับครั้งนี้ นิสสันเลือกประเทศโมรอคโคที่มีพื้นที่คาบเกี่ยวกับทะเลทรายซาฮาราเป็นที่มั่น

โมรอคโคถือเป็นชัยภูมิที่ดี ด้วยความท้าทายในการทดสอบปิกอัพกับทะเลทราย อากาศไม่ร้อนมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน และการเดินทางจากยุโรปไม่ไกล ขณะที่ฐานการผลิตปิกอัพรุ่นนี้ก็อยู่ที่โรงงานนิสสันเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ใกล้ๆกันนี่เอง(เราใช้เวลาบินจากบาร์เซโลนามาที่เมือง Errachidia ประเทศโมรอคโค ประมาณ 2 ชั่วโมง)





โดยอีเวนต์นี้จัดลากยาว 3 สัปดาห์ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมแบ่งผู้สื่อข่าวออกเป็น 7 กลุ่ม ซึ่งนักข่าวไทยไปกัน 3 คนในกลุ่มสุดท้ายของอีเวนต์ พร้อมร่วมกับนักข่าวจากอาเซียนและแอฟริกา

....ด้วยภูมิประเทศที่โดดเด่น บนดินแดนทะเลทรายอันไกลโพ้น ท้องฟ้าเปิดแดดจ้าแต่อากาศแห้งและหนาว หรืออุณหภูมิช่วงเช้าต่ำ 10 องศา ไปถึง 20 กว่าองศาในช่วงบ่าย ทว่าตัวรถที่ถูกทดสอบก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

แน่นอนว่าโครงสร้าง แชสซีส์ ตัวถัง สำหรับนิสสัน นาวารา โฉมใหม่ใช้พื้นฐานเดียวกันทั่วโลก แต่โมเดลที่ทำตลาดในยุโรปจะวางเครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 2.3 ลิตร ทวินเทอร์โบ บล็อกใหม่ที่นำมาจากพันธมิตร “เรโนลต์” ส่วนประสิทธิผลก็เท่ากับ YD25DDTi ขนาด 2.5 ลิตร เทอร์โบแปรผันที่ขายในไทย ด้วยความแรง 190 แรงม้า และแรงบิด 450 นิวตัน-เมตร (เมืองไทยมีรุ่น 163 แรงม้า แรงบิด 403 นิวตัน-เมตร เป็นทางเลือกด้วย)

ขณะที่ระบบส่งกำลังมีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 6 สปีด และอัตโนมัติ 7 สปีด ด้านช่วงล่างของนาวาราที่ขายในยุโรปก็น่าสนใจเพราะโมเดลใหม่นี้เลือกใช้แบบมัลติลิงค์และคอยล์สปริงในด้านหลัง ต่างจากรุ่นเก่าและรุ่นปัจจุบันที่ขายในบ้านเราที่เป็นแหนบแผ่นซ้อน

ส่วนรูปลักษณ์ภายนอกดูผ่านๆแทบไม่ต่างกับโฉมเมืองไทย มีเพียงการตกแต่งภายในที่แผงแดชบอร์ดและคอนโซลหน้าดูหรูหราต่างออกไป แถมบนหลังคามีซันรูฟ รวมถึงออปชันเด่นที่เพิ่มเข้าคือกล้องมองรอบคันหรือ Around View Monitor เหมือนที่ใช้ใน “นิสสัน เอ็กซ์เทรล” ส่วนรุ่นที่ลองขับในอีเวนต์นี้ทั้งหมดเป็นตัวถังดับเบิลแค็บ พวงมาลัยซ้าย เกียร์อัตโนมัติ ขับเคลื่อนสี่ล้อ พร้อมตัวถังสีส้มซึ่งเป็นสีโปรโมต ดูกลมกลืนเข้ากันดีกับทะเลทรายและโดดเด่นเมื่อตัดกับท้องฟ้าสีเข้ม(ถ่ายรูปสวยว่ากันอย่างนั้น)

โดยเริ่มขับกันเป็นขบวนตั้งแต่เช้าตรู่ ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ ผมเห็นการค้าขายและการสัญจร ซึ่งคนที่นี่ใช้ทั้ง จักรยาน มอเตอร์ไซค์ขนาดเล็ก เก๋งเล็ก ปิกอัพ ไปจนถึงเอสยูวีคันโต แต่ล้วนเป็นสภาพเก่าและมีจำนวนน้อย ส่วนบ้านเรือนในเมืองก็เป็นตึกแถวเล็กๆที่ไม่มีสีสันอะไร ตลาดสดดูจะเป็นที่ชุมนุมที่มีความคึกคักมากที่สุด

เมื่อออกนอกเมือง เส้นทางยังเป็นถนนสองเลนสวน ด้านข้างโล่งราบ แต่มีหลายช่วงเห็นความเขียวของต้นไม่และหญ้าเตี้ยๆ ดีหน่อยก็เห็นสวนอินทผาลัมแทรกเป็นแนวยาว ซึ่งน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันมากในแถบนี้

อย่างไรก็ตาม ขบวนนิสสัน นาวารา ขับอยู่บนทางดำถนนดี พร้อมซึมซับวิถีชีวิตชาวบ้านอยู่เพลินๆได้ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร พลันทีมงานก็สั่งให้ขบวนชะลอและเลี้ยวหัวลงข้างทาง ซึ่งนั่นก็เป็นสัญญาณว่า ไฮไลต์ของงานกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว

เมื่อขบวนเลี้ยวซ้ายลงข้างทาง ผมมองไปข้างหน้าเห็นแต่ทะเลทรายตัดขอบฟ้า ด้วยเส้นทางที่จะเรียกถนนก็ไม่เต็มปาก บรรยากาศดูแล้งและท้อแท้ มีเพียงความมั่นใจเดียวที่อยู่กับเราคือน้ำดื่มขวดใหญ่ และสมรรถนะของปิกอัพ นาวารา รุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งทีมงานแนะนำให้เปลี่ยนระบบขับเคลื่อนเป็น 4H สามารถหมุนเปลี่ยนได้ทันทีในขณะขับรถ หรือ Shift on the fly บนความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม. ช่วงนี้ขับตามกันไปแบบชิลชิล

จนกระทั่งขับไปถึงหนึ่งในจุดขายของอีเวนต์นี้คือ เส้นทางที่จะให้วิ่งทับรอยการแข่งขันแรลลี่ดาการ์ซึ่งเป็นลานยาวโล่ง โดยทีมงานปล่อยให้นักข่าวซัดกันได้เต็มที่ ผมเห็นเพื่อนนักข่าวบางคนเร่งความเร็วจากด้านหลัง ตั้งใจวิ่งขึ้นมาเทียบเรียงหน้ากระดานเป็นแผงขึ้นมา(แต่ทิ้งระยะห่าง) เพราะถ้าวิ่งตามหลังก็จะเห็นแต่ฝุ่นตลบจากคันหน้า



...จัดหนักอัดเต็ม ด้วยพละกำลังจากเครื่องยนต์ดีเซล 2.3 ลิตร ทวินเทอร์โบ ม้า 190 ตัวทำงานขมีขมัน ด้วยหลักการทำงานแบบเทอร์โบสองขั้น ลูกเล็ก-ลูกใหญ่ ช่วยอัดอากาศตั้งแต่รอบต่ำยันรอบสูงให้รถแรงดีไม่มีตก เสริมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด ส่งกำลังไหลลื่นลงตัว อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 10.8 วินาที ก็ถือเป็นปิกอัพพลังช้างรุ่นหนึ่ง

ส่วนการวิ่งผ่านเส้นทางร่วนๆของทราย ตัวรถไม่ได้ดิ้นหรือปัดส่าย ขับความเร็ว 80 - 100 กม./ชม. การทรงตัวยังอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้สบาย ด้านช่วงล่างหลังแบบคอยล์สปริง ผมยอมรับว่าขับทางออฟโรดแบบนี้ มันจะสะเทือนก็สะเทือนจริงตามสภาพของปิกอัพ ไม่ถึงกับนุ่มเทพจนสัมผัสถึงความแตกต่างจากช่วงล่างแบบแหนบได้อย่างชัดเจน

แต่กระนั้น ที่พอรู้สึกได้กับนาวารา เวอร์ชันยุโรป คือการลดอาการโคลง หรือโยนตัวขณะเข้าโค้ง ดูนิ่งบนความสมดุลในระดับที่น่าพอใจ แถมสอดคล้องกับบุคลิกของเบรกที่ตอบสนองหนึบแน่นแม่นยำ

....หลังจากอัดกันมาเต็มที่ในช่วงเช้า พอถึงรอบบ่ายทีมงานเปลี่ยนฉากให้มาขับขึ้นเนินทราย (Sand dune) คราวนี้เปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ 4Low ที่รถต้องจอดนิ่งแล้วเข้าเกียร์ว่าง แล้วค่อยหมุนเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนให้เข้าที่ ขณะเดียวกันทีมงานยังปรับแรงดันลมยาง คือปกติเติมมา 34 ปอนด์(PSI) ปล่อยออกให้เหลือประมาณ 18 ปอนด์ หวังให้หน้ายาง (225/60 R18)สัมผัสกับพื้นผิวทางมากที่สุดพร้อมส่งแรงบิดได้เต็มที่ในการปีนป่ายไต่เนินสูง




เหนืออื่นใด ก่อนลุยนิสสันจัดผู้ฝึกสอนซึ่งเป็นอดีตนักแข่งแรลลี่ดาการ์ ให้ช่วยแนะนำเทคนิคการขับรถบนเนินทราย ที่จะว่าง่ายก็ง่าย ยากก็ยากครับ

เริ่มจากอย่าไปทะลึ่งเปิดกระจกข้างให้ทรายมันตีเข้ามาใส่หน้าเล่นๆ ซึ่งเทคนิคนี้ยังมีประโยชน์เพราะเราควรฟังเสียงของเครื่องยนต์ หรือให้แน่ใจว่าการขับต้องรักษาให้เครื่องยนต์ทำงานอย่างมีความสุข กล่าวคือถ้าเครื่องยนต์ร้องดังมาก แสดงว่าทำงานหนักหรือรอบสูงเกินไป หรือรถติดหล่มเร่งไปก็จม ดังนั้นควรเรียนรู้อาการของรถและไม่ฝืนเกินไป

ถ้าเนินไม่สูงมากตอนวิ่งขึ้นให้ใช้โมเมนตั้มของการปล่อยไหล (ได้แรงเฉื่อยมาจากตอนลง) แล้วค่อยไปเบาหรือจอดบนยอดเนิน เล็งไลน์ที่จะไปจากนั้นค่อยเร่งเครื่องยนต์ลงเนินทรายมา แต่ถ้าเป็นเนินสูงต้องเร่งขึ้นก็ให้เร่งอย่างเต็มที่อย่างลังเล และเลือกขึ้นไปที่จุดสูงสุดตรงกลางของเนินทราย ส่วนการเบรกและการควบคุมพวงมาลัยควรจะทำอย่างนุ่มนวลที่สุด

ทั้งนี้การขับในเนินทรายยังไม่ควรซ้ำรอยเดิมที่มีอยู่ (รถเพื่อนข้างหน้าอาจจะตะกุยทรายไปลึกแล้ว จึงเสี่ยงต่อการติดหล่ม) อาจจะเลือกขยับออกมาด้านข้างนิดหน่อยแล้วเปิดเลนใหม่ พร้อมทิ้งระยะห่างระหว่างรถยนต์คันหน้าพอสมควร เพื่อความปลอดภัยและมองเห็นไลน์การขับขี่

หลายเทคนิคครับ ที่ผู้ฝึกสอนแนะนำซึ่งผมได้ทำบ้าง ทำไม่ได้บ้าง บางช่วงขึ้นเนินสูงชันระดับ 5-6 เมตร ส่งแรงกระชากขึ้นไปทีเดียวอยู่ แต่มีบางเนินเหมือนจะติดหล่ม แต่ผมไม่ดื้อรั้น(ฟังเสียงเครื่องยนต์) เลือกหยุดและเข้าเกียร์ถอยหลังลงมาแล้วหาไลน์ใหม่ขึ้นไป ก็ผ่านอุปสรรคไปได้อย่างสนุกสนาน

มุ่งตะลุยไปแต่ละเนิน สูงต่ำสลับกันไปพร้อมลัดเลาะวิ่งบนสันทราย และเมื่อขับผ่านไปได้มักจะมีรางวัลตอบแทนเป็นทิวทิศน์ที่สวยงามในมุมสูง ซึ่งการมองกลับลงไปคุณแทบจะไม่เชื่อว่า “ฉันมายืนอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร” เหมือนประสบความสำเร็จอะไรบางอย่างละครับ

….รถพิสูจน์ว่าไปได้ในเส้นทางที่สมบุกสมบัน ส่วนคนได้เปิดประสบการณ์ใหม่ที่ท้าทายและไปถึง


สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล 2.3 ลิตร ทวินเทอร์โบ บล็อกใหม่ในอนาคตมีโอกาสถูกจับมาวางในปิกอัพ นาวาราบ้านเราเช่นกัน ส่วนช่วงล่างหลังแบบคอยล์สปริงอาจจะมายากเพราะมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษี ซึ่งใครอยากได้ก็รอใช้พีพีวีรุ่นใหม่ไปเลย

รวบรัดตัดความ...ลุยป่า ฝ่าฝน ใช้ขนผัก ขายปลา สร้างอาชีพทำเงิน พร้อมรองรับการขับขี่ในชีวิตประจำวัน ปิกอัพเมืองไทยต้องทำหน้าที่ได้หลากหลาย สำหรับนิสสัน นาวารา (หรือย้อนไปถึงพวกฟรอนเทียร์ บิ๊กเอ็ม) อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน สร้างชื่อเสียงเรื่องความแกร่งและการบรรทุกไว้เยอะ ส่วนรุ่นใหม่สมรรถนะ ออปชัน ไม่เป็นรองคู่แข่ง คนใช้ใครก็รักครับ








กำลังโหลดความคิดเห็น