xs
xsm
sm
md
lg

“เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์”ลุยมัณฑะเลย์-พุกาม-ย่างกุ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ใจถึงก็ไปถึง” เป็นสโลแกนเปิดตัว “เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์” เมื่อปี 2555ซึ่งคำคำนี้สะท้อนถึงสมรรถนะ และความอเนกประสงค์ของพีพีวีขาลุยได้เป็นอย่างดี

ผู้เขียนเคยใจถึงไปเวียงจันทน์ สปป.ลาว กับเทรลเบลเซอร์ เมื่อปลายปีก่อน ล่าสุดในโอกาสที่เชฟโรเลตปรับปรุงเครื่องยนต์และออปชันให้เทรลเบลเซอร์ โมเดลปี 2014 จึงจัดทริปให้บรรดาผู้สื่อข่าวได้ขับตะลุยพม่ากันแบบถึงใจ

…ก็ไม่ทราบว่าทีมงานจีเอ็มติดใจอะไรหนักหนากับประเทศเพื่อนบ้านสองฝั่งไทย แต่ที่แน่ๆการจัดทริปไปลาวและพม่าติดต่อกันสองปี ได้ตอกย้ำแนวคิด “ลุยไปได้ทุกที่” หรือ “Go Anywhere” ของเทรลเบลเซอร์ (ก็คล้ายๆสโลแกน“ใจถึงก็ไปถึง”นั่นแหละ) พร้อมๆกับจัดงานแถลงข่าวประกาศลุยธุรกิจในสองประเทศนี้เต็มตัว ซึ่งในลาวได้กลุ่ม“มะนียม”มาดูแลตลาด ส่วนพม่าเป็นหน้าที่ของ“แปซิฟิก อัลไพน์”(กลุ่มทุนสิงคโปร์ร่วมกับนักธุรกิจในพม่า)

อย่างในประเทศพม่าที่มีประชากรระดับ60 ล้านคน ปัจจุบันมีรถจดทะเบียนเป็นทางการประมาณ 2.3 ล้านคัน และในจำนวนนี้ 90% เป็นรถอายุการใช้งานเกิน 5 ปี ดังนั้นนับจากนี้ไปตลาดรถยนต์พม่าจึงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งค่ายรถไหนเริ่มขยับตัวก่อนย่อมมีโอกาสทางธุรกิจก่อน

เรื่องถนนหนทางในพม่าปัจจุบันพัฒนาขึ้นมากครับ อย่างทริปนี้วิ่งกันยาวๆจากตอนกลางของประเทศคือ เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) ลงมาถึงย่างกุ้ง (Yangon) ซึ่งเป็นถนนคล้ายๆมอเตอร์เวย์บ้านเรา แบ่งเป็นฝั่งละ 2 เลนมีเกาะกลางขั้น

โดยเริ่มนับระยะกันตั้งแต่หลักไมล์ที่ 365เมืองมัณฑะเลย์ จนถึงหลักไมล์ 0 ที่เมืองหลวงเก่าย่างกุ้ง เรียกว่าขับกันยาวๆ 584 กิโลเมตร ภายในเวลา 2 วัน


ที่บอกว่าขับสองวัน นั่นเพราะวันแรกหลังจากขบวนเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ออกจากสนามบินนานาชาติเมืองมัณฑะเลย์ได้ไม่นาน พวกเรามีกำหนดพักค้างและเที่ยวชมเมืองโบราณ“พุกาม”(Bagan) เป็นจุดหมายแรก โดยใช้ถนนที่แยกออกไปจากเส้นทางหลักอีกประมาณ 100 กิโลเมตร

สำหรับ“พุกาม”น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ครับ เพราะพุกามถือเป็นราชอาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต ช่วงศตวรรษที่ 11-13 (ก่อนอาณาจักรสุโขทัย) พร้อมอุดมไปด้วยเจดีย์น้อยใหญ่หลายพันองค์ เห็นว่าในยุครุ่งเรื่องมีวัดและเจดีย์รวมกันมากกว่า 10,000 แห่งเลยทีเดียว

หลังจากแวะพักคืนแรกที่โรงแรมในพุกาม ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับทีมงานที่ดูแลโปรดักต์ของจีเอ็ม เพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเทรลเบลเซอร์วันรุ่นขึ้น(วันแรกขอนั่งเป็นผู้โดยสารก่อน)



โดยเทรลเบลเซอร์ที่นำมาขับในทริปนี้เป็นรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตรทั้งหมด ขณะที่รูปลักษณ์ของโมเดลปี 2014 แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากรุ่นเดิม มีเพียงนำสัญลักษณ์ตัวอักษร(Emblem) คำว่า DURAMAX มาแปะไว้กับประตูคู่หน้า ใต้กระจกมองข้าง เพื่อให้รู้ว่าเป็นรุ่นใหม่ใช้เครื่องยนต์ ดูราแมกซ์ เจเนอเรชันที่สอง

สำหรับเครื่องยนต์ ดูราแมกซ์ เจเนอเรชันที่สองนี้น่าสนใจครับ แม้จะอิงโครงสร้างของบล็อกเดิมแต่วิศวกรเขาก็พัฒนาใหม่ในหลายๆจุดทั้ง ระบบรางร่วมคอมมอนเรลแรงดันสูง 2,000 บาร์ และมีการใช้ระบบหล่อเย็นด้วยน้ำที่โข่งเทอร์โบ (เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ใช้เทอร์โบแปรผัน) เสริมด้วยระบบวาล์วหมุนเวียนไอเสียควบคุมด้วยไฟฟ้าพร้อมใช้ตัวหล่อเย็นขนาดใหญ่ขึ้น

ตลอดจนใช้ท่อร่วมไอดีเป็นพลาสติกหวังลดน้ำหนักเครื่องยนต์ ปรับการไหลเข้าไหลออกของไอดี-ไอเสีย พร้อมขยายพอร์ทไอเสียและทางเดินน้ำหวังเพิ่มประสิทธิภาพการหล่อเย็น รวมถึงปรับปรุงเพลาข้อเหวี่ยงเพื่อลดการสั่นสะเทือนและเสียงรบกวน สุดท้ายเปลี่ยนซอฟท์แวร์ใหม่ที่จะให้การสั่งงานฉลาดรวดเร็วมากขึ้น


ทั้งหลายทั้งปวงจีเอ็มเคลมว่า เครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ 2.8 ลิตร ให้กำลังมากกว่าเดิม 11 % แรงบิดเพิ่มขึ้น 6 % กินน้ำมันน้อยลง 4.3% ส่วนเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร พลังเพิ่ม 8.6% แรงบิดมากขึ้น 9 %และกินน้ำมันลดลง 5.17 %

หรือจะว่ากันชัดๆก็คือในรุ่นเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 200 แรงม้า(เดิม180 แรงม้า) ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดมหาศาล 500 นิวตัน-เมตร(เดิม 470 นิวตัน-เมตร)ที่ 2,000 รอบต่อนาที

ส่วนรุ่นเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้า(เดิม150 แรงม้า)ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 380นิวตัน-เมตร(เดิม 350 นิวตัน-เมตร) ที่ 2,000 รอบต่อนาที

เอาละครับรู้จักกันพอหอมปากหอมคอ ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะได้สัมผัสกับความแรง 500 นิวตันเมตรของรุ่นเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ซึ่งถือว่ามากที่สุดในบรรดาปิกอัพที่ทำตลาดในบ้านเราตอนนี้


….มาว่าถึงการขับขี่รถในประเทศพม่า ที่นี่เขาขับรถชิดขวากันนะครับ แม้สภาพความเป็นจริงในปัจจุบันจะมีทั้งรถพวงมาลัยซ้ายและขวาวิ่งปนกันอยู่ แต่รัฐบาลพม่าก็ฟันธงแล้วว่า รถยนต์รุ่นใหม่ที่จะขายต่อไปนี้ต้องเป็นพวงมาลัยซ้ายเท่านั้น (แต่รถพวงมาลัยขวาเดิมก็ไม่ได้ห้ามขับ)

หลายคนอาจแปลกใจว่าพม่าที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทำไมไม่ใช้รถพวงมาลัยขวาเหมือนอังกฤษและเหมือนบ้านเรา แถมหลักวัดระยะทางก็ยังเป็นไมล์ไม่เป็นกิโลเมตร

ประเด็นก็คือรัฐบาลพม่า พยายามจะลบลืมทุกอย่างที่อังกฤษวาง สร้าง และออกแบบสังคมไว้ กล่าวคือไม่อยากทับรอยประเทศที่เคยเข้ามายึดครองแบบเอาเปรียบ โดยหาเหตุทำสงครามถึง 3 ครั้ง จนพม่าเสียบ้านเสียเมืองและถูกยัดให้เป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย ซึ่งปกครองโดยอังกฤษอีกขั้นหนึ่ง

ดังนั้นหลังได้รับเอกราชในปีพ.ศ. 2491 พร้อมสร้างบ้านแปลงเมืองได้อย่างมั่นคง รัฐบาลพม่าก็ค่อยๆเปลี่ยนทุกอย่างที่อังกฤษเคยทิ้งไว้เป็นอนุสรแห่งความช้ำ ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเมียนมาร์ ย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งมาที่กรุง “เนปีดอว์” (Nay Pyi Taw) หรือจากหลักกิโลเมตรก็เปลี่ยนเป็นหลักไมล์ และใช้รถพวงมาลัยซ้าย เป็นต้น

...ลองไปศึกษาหาอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่า หรือการทำสงครามกับอังกฤษดูนะครับ ผู้เขียนว่าน่าสนใจดี แล้วเราจะรู้ว่าพม่าเป็นชาตินักรบ คนหัวใจสู้จริงๆ

หลักไมล์ 333 บ่งบอกระยะทางที่จะถึงย่างกุ้ง ส่วนตัวเลข3 ด้านล่างเป็นหน่วยวัดย่อยที่พม่าเรียกว่า ฟาลอง โดย 8 ฟาลองเท่ากับ 1 ไมล์
กลับมาที่เรื่องการขับเทรลเบลเซอร์ของเราในทริปนี้ หลังชมเจดีย์น้อยใหญ่ในช่วงเช้า พร้อมบรรรยากาศสวยๆของแม่น้ำอิระวะดี ขบวนเราลาจากพุกามด้วยความประทับใจ โดยเส้นทางช่วงนี้คดเคี้ยว ขึ้นเนินลงเขาด้วยถนนราดยางสภาพพอใช้ ซึ่งผู้เขียนได้สัมผัสประสิทธิภาพช่วงล่าง และการควบคุมของเทรลเบลเซอร์ พบว่าบุคลิกโดยรวมไม่ต่างไปจากเดิมครับ

กล่าวคือช่วงล่างยังหนึบแน่นใช้ความเร็ว 80-100 กม./ชม. การทรงตัวให้ความมั่นใจ โค้งแคบ โค้งยาว เกาะถนนมั่นคง บางช่วงกระโดดผ่านเนินไม่ทันได้แตะเบรก ช่วงล่างของรถยังช่วยรองรับการกระแทกได้สบาย ไม่เจ็บตัวปวดตับ

โดยช่วงล่างด้านหน้าแบบปีกนกสองชั้น หลังแบบมัลติลิงค์ 5 จุดยึดพร้อมคอยล์สปริง ล้ออัลลอยด์ขนาด 18 นิ้ว ประกบยางไฮเวย์เทอเรน ของบริดจสโตน 265/60 R18 เอาอยู่ทุกสภาพถนน การถ่ายเทน้ำหนักหน้า-หลังค่อนข้างสมดุล อาการโยกคลอนน้อย แต่การนั่งเป็นผู้โดยสารด้านหลังอาจจะรู้สึกเด้งแข็งบ้าง แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้ยินเสียงบ่นจากน้องๆผู้โดยสารด้านหลัง แถมยังนั่งหลับกันตาพริ้ม(มีช่องแอร์ส่วนตัว)

อย่างไรก็ตามการขับขี่บนเส้นทางดังกล่าว การควบคุมผ่านพวงมาลัยแบบแรคแอนด์พิเนียนผ่อนแรงด้วยพาวเวอร์ไฮดรอลิกยังตึงมือ ซึ่งเป็นความรู้สึกเดิม ทั้งน้ำหนักพวงมาลัยที่ต้องใช้แรงควบคุม และเหลือระยะฟรีของการสั่งงานซ้ายขวาอยู่นิดๆ

หลังผ่านเส้นทางคดเคี้ยวจากพุกาม วิ่งกลับมายังถนนสายหลักมัณฑะเลย์ - ย่างกุ้ง คราวนี้เป็นถนนคอนกรีต 2 เลน ตรงๆ สลับโค้งยาว โดยรวมวิ่งสบาย ปลอดภัยดี แม้จะมีมอเตอร์ไซค์และเกวียนสัญจรของชาวบ้าน ขับอยู่ข้างๆสลับออกมาทักทาย แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะชาวบ้านเขาก็ระมัดระวังอยู่พอสมควร


แล้วที่นี่ก็แปลกอยู่อย่างครับ ในขณะที่ถนนวัดระยะเป็นหลักไมล์ แต่ป้ายจำกัดความเร็วยังเป็น กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่สำคัญยังทันสมัยขนาดใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับความเร็วแล้วนะครับ ซึ่งนานๆทีจะเห็นป้ายไฟตั้งเด่นเป็นสง่า และถ้าเราขับผ่านป้ายนี้ด้วยความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม. ก็ไม่เป็นไร ไฟก็จะโชว์ความเร็วที่เราขับเป็นสีเขียว

แต่กรณีขับขี่มันมือสนุกเท้า หรือใช้ความเร็วตั้งแต่ 101 กม./ชม.ขึ้นไป ป้ายไฟจะโชว์ความเร็วเป็นสีแดงเพื่อบอกให้รู้ว่าเราใช้ความเร็วเกินที่กฎหมายพม่ากำหนด ส่วนจะไปจับปรับกันอย่างไร ประเด็นนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจเหมือนกัน

ด้านการตอบสนองของเครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตรปรับปรุงใหม่ แรงบิดระดับ 500 นิวตัน-เมตร ดูเหมือนมหาศาลและมาในรอบต่ำเพียง 2,000 รอบ แต่การขับจริงสมรรถนะไม่ได้พุ่งพล่านอย่างที่จินตนาการ คือเชฟโรเลตยังเซ็ตบุคลิกของรถไว้เหมือนเดิม คือเน้นปลอดภัย ไม่สปอร์ตจัดจ้านเหมือนรถญี่ปุ่น ด้วยแป้นคันเร่งแข็งๆและต้องใช้น้ำหนักเท้ากดลงไปลึกหน่อยถึงจะรับรู้ถึงอาการฉุดกระฉาก ขณะที่เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ก็คอยรักษารอบให้นิ่ง ไม่สวิงวูบวาบ พร้อมส่งพลังลงสู่ล้อแบบนุ่มนวล

หลังขับกันมาทั้งวันตั้งแต่เช้ายันค่ำ เข้าเขตเมืองย่างกุ้งที่หลักไมล์ 0 ผู้เขียนตรวจสอบอัตราบริโภคน้ำมันที่หน้าจอแสดงตัวเลขอยู่ 14.9 กม./ลิตร กับความเร็วเฉลี่ย 100 กม./ชม.

หลังจากคาราวานเทรลเบลเซอร์เข้าเขตย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของประเทศ คราวนี้ผู้เขียนได้เปิดประสบการณ์ใหม่กับถนนในเมืองที่การจราจรพลุกพล่าน แม้รัฐบาลจะห้ามมอเตอร์ไซค์และจักรยานวิ่งในเขตเมืองเพื่อความปลอดภัย แต่การขับรถยนต์ในตอนค่ำนั้นลำบากสุดๆกับการเปิดไฟสูงของรถท้องถิ่น วิ่งสวนกันทีไฟยิงเข้าตาเต็มๆทุกดอกครับ

ขณะเดียวกันถนนหนทางยังออกแบบได้คดเคี้ยว เส้นแบ่งเลนแทบไม่เห็น รถชาวบ้านขับกันฉวัดเฉวียน ทั้ง กลับรถเปลี่ยบนเลน บีบแตร ปาดแซง(บางคัน) รวมๆดูอลม่าน (ส่วนกลางวันการจราจรค่อนข้างหนาแน่น เรียกว่ารถติดน้องๆกรุงเทพกันเลยทีเดียว)

สรุปสุดท้ายกับการผจญภัยบนท้องถนนพม่า ผ่านมอเตอร์เวย์ขับกันยาวๆ หรือวิ่งเส้นทางชาวบ้านในพุกาม ลุยการจราจรวุ่นวายในย่างกุ้ง แต่“เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์” ก็ทำหน้าที่เต็มความสามารถ พาเราไปถึงจุดหมายได้อย่างมั่นใจ สมกับสโลแกน “ไปถึงก็ใจถึง...???”

รวบรัดตัดความ...“เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์” กับเครื่องยนต์ดีเซลดูราแมกซ์ใหม่ รุ่น 2.8 ลิตร เทอร์โบแปรผัน การทำงานรวมๆดู“สมูท”นุ่มนวลขึ้น กำลัง 200 แรงม้า แรงบิด 500 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ตอบสนองการขับขี่ราบรื่น ปลดปล่อยพลังได้ต่อเนื่อง โดดเด่นด้วยช่วงล่างที่เกาะถนนมั่นใจ สมรรถนะรวมๆไม่เป็นรองใครในตลาด(แต่บุคลิกต่างกันออกไปในแต่ละยี่ห้อ) ใครอยากได้พีพีวีขาลุย...คันนี้กำลังสด ซื้อได้ครับ
วันที่สามหลังเสร็จสิ้นการทดสอบ มีโอกาสได้มาสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ก่อนกลับเมืองไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น