xs
xsm
sm
md
lg

พลิกปูมหญิงเหล็กธุรกิจยานยนต์ 'พรทิพย์ ณรงค์เดช'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เช้าของวันพายุ “นารี” ถล่มกรุงเทพฯ วงการธุรกิจของไทยต้องสูญเสียบุคคล ผู้ได้ชื่อว่าเป็นหญิงเหล็กแห่งวงการยานยนต์ไทย “คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช” ทายาทผู้ก่อตั้งบริษัทสยามกลการ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์รายใหญ่ของไทย และเธอได้ก้าวขึ้นกุมบังเหียนอาณาจักรธุรกิจหมื่นล้านบาทต่อจากพ่อ ก่อนที่จะแยกออกมาสร้างอาณาจักรของตนเอง “เคพีเอ็น กรุ๊ป” ที่มีมูลค่าไม่ได้ด้อยกว่ากันเลย

โดยจากรายงานข่าวแจ้งว่า คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อเวลา 07.00 น. ของวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา นับถึงปัจจุบันอายุ 67 ปี โดยเป็นบุตรของ ดร.ถาวร และนางรำไพ พรประภา แต่งงานกับ ดร.เกษม ณรงค์เดช โดยมีบุตรชายด้วยกัน 3 คน คือ นายกฤษณ์ ณรงค์เดช, นายณพ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช

การเสียชีวิตของคุณหญิงพรทิพย์ นับเป็นการปิดตำนานของผู้ที่ได้ชื่อว่า... “หญิงเหล็กวงการธุรกิจยานยนต์” เนื่องเพราะเธอรับไม้ต่อจากรุ่นพ่อ “ถาวร พรประภา” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรกลุ่มบริษัทสยามกลการ ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ “นิสสัน” รวมถึงธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และธุรกิจการค้าอื่นๆ อีกมากมาย นับเป็นรุ่นสองของตระกูลพรประภาที่เข้ามาบริหารสยามกลการ รวมบริษัทในเครือขณะนั้นมากกว่า 40 บริษัท ซึ่งอยู่ภายใต้อุ้งมือดอกไม้เหล็กคนนี้

การเข้ามาบริหารงานของคุณหญิงพรทิพย์ในช่วงนั้น ถือเป็นอีกยุครุ่งโรจน์หนึ่งของสยามกลการ หลังจากได้มีการดึง “นุกูล ประจวบเหมาะ” มาแก้ไขสถานการณ์วิกฤตทางการเงิน จนทำให้สยามกลการกลับยืนได้มั่นคงอีกครั้ง และได้รับการสานต่อจากคุณหญิงพรทิพย์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น จนสามารถทำให้ธุรกิจในกลุ่มขณะนั้น พุ่งสูงสุดกว่า 8,000 ล้านบาท

โดยเฉพาะรถยนต์นิสสันในขณะนั้น สามารถทำยอดขายได้เป็นอันดับที่ 3 ของตลาดรถยนต์เมืองไทย เป็นรองแค่โตโยต้าและอีซูซุ เนื่องจากกำลังการผลิตของนิสสันนั้นน้อยกว่า และคุณหญิงพรทิพย์ยังเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมส่งเสริมภาพพจน์ของรถยนต์นิสสันให้ดีขึ้น ด้วยโครงการต่างๆ ที่โดดเด่นคือโครงการ “ถนนน้ำใจ” ที่ออกมารณรงค์ให้คนไทยมีน้ำใจในการขับรถแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยกัน รวมถึงตัวแมสคอทที่เป็นช้างน้อย-ช้างโหน่ง แต่งตัวเป็นเด็กนักเรียน และทำเป็นสติ๊กเกอร์ติดอยู่ที่รถของนิสสันทุกรุ่น
คุณหญิงพรทิพย์ กับคุณพ่อ ดร.ถาวร พรประภา
คุณหญิงพรทิพย์ กับพี่น้องพรประภา
กลุ่มธุรกิจสยามกลการในช่วงการดูแลของคุณหญิงพรทิพย์ มิได้โดดเด่นในเรื่องของธุรกิจรถยนต์นิสสันเพียงอย่างเดียว ด้วยความที่เป็นผู้ที่ชื่นชอบในเสียงดนตรีของเธอ จึงได้จัดให้มีการประกวดร้องเพลงระดับประเทศ ภายใต้ชื่อ “นิสสัน อวอร์ด” และระดับยุวชน ยามาฮ่า อวอร์ด หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่าการประกวดร้องเพลงสยามกลการ ที่ถึงวันนี้สร้างนักร้องระดับประเทศแล้วหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย ,นันทิดา แก้วบัวสาย , รวิวรรณ จินดา หรือจะเป็น ทาทา ยัง ล้วนผ่านการเป็นแชมป์จากการประกวดรายการนี้ ซึ่งถือว่าเป็นภาพที่ติดหูติดตากับคนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การบริหารงานสยามกลการของ คุณหญิงพรทิพย์นั้น ได้ใช้เงินไปกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพพจน์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันมีการขยายงานบริษัทต่างๆ และจำนวนบริษัทในเครือเพิ่มมากขึ้น จนทำให้การบริหารงานควบคุมไม่ทั่วถึง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคโลกานุวัตร หรือ GOLOBALIZATION จนก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อธุรกิจของกลุ่มสยามกลการอีกครั้ง

จนที่สุดต้องการมีการผลัดไม้อีกครั้ง เมื่อประมาณปี 2536... “พรเทพ พรประภา” ผู้เป็นน้องชายได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลงานสยามกลการแทนพี่สาว ซึ่งสร้างความปั่นปวนให้กับสยามกลการในยุคนั้นอย่างมาก เพราะนอกจากปัญหาเรื่องของธุรกิจแล้ว ยังมีปัญหาภายในที่ต้องแก้ไข จนสื่อหนังสือพิมพ์ยุคนั้นต่างพากันพาดหัวข่าว “ศึกสายเลือด” กลายเป็นข่าวใหญ่อยู่นาน

ที่สุดคุณหญิงพรทิพย์ แยกตัวออกจากสยามกลการ ออกมาปลุกปั้นธุรกิจของตนเองร่วมกับสามี “เกษม ณรงด์เดช” ที่ทำมาก่อนหน้านี้ ในชื่อกลุ่มบริษัท “เคพีเอ็น” (KPN) โดยจะเน้นไปทางธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์เป็นหลัก แต่การก้าวออกมาครั้งนี้ได้สร้างความฮือฮาเช่นกัน เมื่อคุณหญิงพรทิพย์ได้ดึงรถจักรยานยนต์ “ยามาฮ่า” ที่อยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มสยามกลกลการมานานกว่า 30 ปี โดยบริษัทในเครือ “สยามยามาฮ่า”

เกมธุรกิจครั้งนี้มาจากการที่กลุ่มเคพีเอ็นของคุณหญิงพรทิพย์ ได้จับมือเซ็นสัญญากับ ยามาฮ่า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าในไทย แทนที่จะเลือกสยามยามาฮ่าพันธมิตรเดิม ที่กำลังจะหมดสัญญาการค้าในอีกไม่นาน โดยข้ออ้างเหตุผลของดีลนี้ เพราะฝ่ายคุณหญิงพรทิพย์เข้าใจผลิตภัณฑ์ยามาฮ่ามากกว่า และทำตลาดในไทยมานาน จากการที่เกษมเป็นผู้แลมาตลอดในยุคของสยามยามาฮ่า นับตั้งแต่แต่งงานกับคุณหญิงพรทิพย์มา

จากนั้นมาเคพีเอ็นได้เป็นผู้บริหารรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าในไทย แต่ที่สุดต้องขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับยามาฮ่า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่นไป เพราะไม่สามารถฝ่าฟันการแข่งขันรุนแรง และสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังฟองสบู่แตกได้ เป็นเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์รายอื่นๆ ในไทย และที่สุดบริษัทแม่เข้ามาดำเนินธุรกิจเอง
นั่งดูการแสดงกับลูกชาย กร ณรงค์เดช

เส้นทางเคพีเอ็นภายใต้การกุมบังเหียนของ “คุณหญิงพรทิพย์-เกษม” เติบโตแข็งแกร่งจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเป็นหลัก โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ แต่ด้วยความรักเสียงดนตรีของคุณหญิงพรทิพย์ จึงได้สานต่อด้วยการเปิดสถาบันดนตรี “เคพีเอ็น” และจัดการประกวด “เคพีเอ็น อวอร์ด” เป็นที่รู้จักของชาวไทยทั่วประเทศ

กลุ่มธุรกิจเคพีเอ็นปัจจุบันมีธุรกิจหลากหลาย ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้า และพลาสติก การลงทุนต่างๆ กลุ่มดนตรีและการศึกษา และอสังหาริมทรัพย์ รวมมูลค่าธุรกิจหลายพันล้านบาท โดยคุณหญิงพรทิพย์-เกษมได้วางมือทางธุรกิจปล่อยให้ลูกชายทั้ง 3 เข้ามาบริหารงานแทน

กำลังโหลดความคิดเห็น